Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> คำประพันธ์ แยกตามประเภท >> กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม >> ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
หน้า: 1 ... 8 9 [10]   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร  (อ่าน 42813 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #135 เมื่อ: 17, มิถุนายน, 2568, 06:41:06 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๖/๖) ๓๗.สัลเลขสูตร

(๑๗) สัมมาสติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของ ผู้มีความระลึกผิด
(๑๘) สัมมาสมาธิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
(๑๙) สัมมาญาณะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของ ผู้มีความรู้ผิด
(๒๐) สัมมาวิมุตติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของ ผู้มีความหลุดพ้นผิด
(๒๑) ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
(๒๒) ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
(๒๓) ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีความสงสัย
(๒๔) ความไม่โกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มักโกรธ
(๒๕) ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ผูกโกรธ
(๒๖) ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ลบหลู่คุณท่าน
(๒๗) ความไม่ตีเสมอ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ตีเสมอ
(๒๘) ความไม่ริษยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทของ ผู้มีความริษยา
(๒๙) ความไม่ตระหนี่ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ตระหนี่
(๓๐) ความไม่โอ้อวด เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้โอ้อวด
(๓๑) ความไม่มีมารยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีมารยา
(๓๒) ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ดื้อรั้น
(๓๓) ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ถือตัวจัด
(๓๔) ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ว่ายาก
(๓๕) ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีมิตรชั่ว
(๓๖) ความไม่ประมาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ประมาท
(๓๗) สัทธา เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ไม่มีศรัทธา
(๓๘) หิริ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ไม่มีความละอายบาป
(๓๙) โอตตัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ไม่เกรงกลัวบาป
(๔๐) พาหุสัจจะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
(๔๑) การปรารภความเพียร เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้เกียจคร้าน
(๔๒) ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีสติหลงลืม
(๔๓) ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้มีปัญญาทราม
(๔๔) ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อความดับสนิทของผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก


รายนามผู้เยี่ยมชม : ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..

แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #136 เมื่อ: 16, กรกฎาคม, 2568, 09:35:55 AM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

ประมวลธรรม :  ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร (สูตรว่าด้วยความเห็นชอบ)

วารินทร์นาคราชฉันท์ ๒๘

  ๑.พระพุทธ์เจ้าประทับ ณ "เชตฯ"............สิใกล้เขต"สวัตฯ"บุรี
พระสารีฯแสดงและคลี่.............................พระธรรม"สัมมะทิฏฐิ"เห็น

  ๒.ผิมีผู้ซิกล่าวและย้ำ.............................วะมีสัมมะทิฏฐิเป็น
เพราะเหตุใดอะไรซิเด่น...........................อรีย์ฯสงฆ์ก็สัมมะฯหนา

  ๓.พระสารีฯแสดงอรีย์............................ผิรู้ดีกะบาปประดา
เจาะเหง้ากรรมซิชั่วระอา..........................และพร้อมรู้กะเหง้ากุศล

  ๔.ก็เหตุนี้อรีย์ฯเหมาะชื่อ........................วะสัมฯลือประพฤติและยล
ผิคิดตรงปสาทะผล..................................เลาะสู่แน่วพระสัทฯซิหนา

  ๕.อกูศลสิคืออะไร..................................ก็ชั่วไซร้กุบาปคณา
ก็สิบอย่าง"ขโมย,ริฆ่า".............................."ละเมิดกาม,และอยากสิของ

  ๖.เจาะฆาต,พจนากระเดียด....................กุหยาบ,เสียดริทิฏฐิตรอง
"มุสาพูด"สิเพ้อประคอง............................เกาะกรรมชั่วสกลมหันต์

  ๗.และเหง้ากรรมสิชั่วเลาะสาม................ริ"โลภ"ลามลุโทสะครัน
ซิมีโมหะหลงประชัน.................................ก็มูลจากประพฤติถลำ

  ๘.กุศลตั้งหทัยจะเว้น..............................มิพฤติเด่นสิชั่วระกำ
อกูศลซิสิบจะงำ.......................................มิทำเลยเพราะเลิกเจาะดี

  ๙.เลาะรากเหง้ากุศลก็สาม......................สิตรงข้าม"อโลภะ"ชี้
มิมีโกรธลิโมหะปรี่....................................ก็มูลรากประพฤติกุศล

  ๑๐.อรีย์ทราบกะชั่วและเหง้า...................กุศลเนาและเหง้าซิยล
ก็บรรเทา"ปฏีฆะฯ"ดล...............................ละ"ราคาฯ"กิเลสลาย

  ๑๑.ลิ"ทิฏฐาฯ"ซิผิดละหนา......................ละ"มานาฯ"มิให้ขจาย
วะเป็นเรากิเลสก็วาย.................................อวิชชาละวิชชะใส

  ๑๒.ก็ทุกข์สิ้นเพราะเหตุละแล้ว................จะเรียกแน่วและสัมฯคระไล
อรีย์ฯคิดสิตรงไสว....................................กุศรัทธาปสาทะหนา

  ๑๓.พระสงฆ์ชมพระสาฯเจาะกิจ...............กะภาษิตและถามลุนา
อรีย์ฯพร้อมกะสัมมะฯกล้า..........................จะยังมีสิอยู่ไฉน

  ๑๔.พระสารีฯก็ตอบจะมี...........................ก็ตราบที่อรีย์ฯเจาะไกล
สิเกิด,ดับอะหารชไม..................................วิธีดับสิมรรคเสาะสรรค์

  ๑๕.สิเหตุนี้อรีย์ฯก็นอบ.............................วะเห็นชอบเหมาะสัมมะฯครัน
เจาะเลื่อมใสพระธรรมมิผัน.........................และแน่วแน่พระสัทฯกศานติ์

  ๑๖.ผิอาหารเจาะเกิดและดับ.....................วิธีขับและตัดมลาน
เจาะอาหารสิช่วยประทาน...........................ชิวิตสัตว์ยะยืนอุบัติ

  ๑๗.ก็อาหารเจาะสี่เจอะ"ข้าว".....................สิก้อนขาว"กระทบ"เจาะชัด
และ"จงใจ,มโนฯ"มุจัด..................................กะ"วิญญาฯ"ก็ภัตรซิสี่

  ๑๘.เพราะตัณหากุเกิดจะก่อ......................ซิเหตุจ่ออะหารก็มี
เพราะตัณหาลิดับฉะนี้.................................สิอาการก็ดับประสงค์

  ๑๙.วิธีดับอะหารก็ด้วย...............................เจาะมรรคช่วยสิแปดยะยง
อรีย์ฯรู้สิทางลิบ่ง.........................................กิเลสตัดลุวิชชะเผย

  ๒๐.อรีย์ฯเรียกวะสัมมะฯเด่น.......................เพราะความเห็นซิตรงและเชย
เจาะเลื่อมใสพระธรรมซิเอย..........................พระสงฆ์ถามจะมีไฉน

  ๒๑.พระสารีฯริตอบซิมี................................เพราะสงฆ์คลี่เจาะ"ทุกข์"คระไล
ซิ"เหตุทุกข์"และ"ดับ"ละไว............................ก็ทางดับสิทุกข์สถล

  ๒๒.ก็ทุกข์คืออะไรซิแน่...............................ก็เกิด,แก่และเจ็บทุรน
เจาะตาย,เศร้าและพรากมิพ้น........................มิต้องใจมิได้สิหวัง


รายนามผู้เยี่ยมชม : ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #137 เมื่อ: 16, กรกฎาคม, 2568, 04:39:41 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๒/๘) ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร

  ๒๖.ก็เหตุนี้ก็ชื่อเหมาะนา.............กะสัมมาฯซิตรงวิบูลย์
พระสงฆ์ถามอรีย์ซิพูน...................สิอย่างนี้จะมีระหรือ

  ๒๗.พระสารีฯซิแจ้งก็มี.................ผิรู้รี่ชรากะตายวะครือ
สิเหตุเกิดและดับก็ถือ....................วะมีสัมมะทิฏฐิเผย

  ๒๘.ชราคือเจาะ"แก่"ผิหนัง...........ก็ย่นจังและฟันลิเอย
สิผมหงอกกะจำมิเชย....................ผเดินหงอยกระเผลกมิไหว

  ๒๙.สิตายคืออะไรก็หมด..............ชิวีจดทลายคระไล
สิขันธ์ห้าก็แตกประลัย...................และเน่าเปื่อยสภาพซิแปร

  ๓๐.เพราะมีเกิด,ชราและตาย........จะย่อมกรายสิตามมิแช
ผิไม่"เกิด"ก็ไร้ชรา..........................มฤตย์นามิมีจะเห็น

  ๓๑.จะดับลิสองก็ต้อง...................ตริมรรคผองสิแปดประเด็น
ก็เริ่มสัมมะทิฏฐิเด่น........................ลุสัมมาสมาธิใส

  ๓๒.พระสงฆ์ชื่นและชมตะถาม......ก็"ชาติ"ความสิเป็นอะไร
ผิดับ"เกิด"กระทำซิไย.....................วิถีทางจะดับซิแฉ

  ๓๓.พระสารีฯแสดงว่าชาติ.............ก็"เกิด"ยาตรกะขันธ์นะแล
และพร้อม"อายต์นา"สิแน่.................จมูก,ตา,หทัย..จะเผย

  ๓๔.เพราะมีภพสิชาติก็ครบ............ผิไร้ภพก็ชาติลิเอย
สิชาติดับเพราะมรรคลุเชย...............ริแปดเริ่มเจาะสัมมะฯไข

  ๓๕.พระสงฆ์ถามสิภพเจาะเกิด.......ละดับเถิดวิธีอะไร
พระสาฯตอบติภพซิไขว่...................สิ"กามภพ"รตีมุกาม

  ๓๖.ก็"รูปาวะฯ"รูปซิมี......................"อรูฯ"ปรี่มิมีเจาะลาม
"อุปาทาน"เหมาะเกิดสิผลาม.............ติภพจึงลุมีสิพลัน

  ๓๗.จะดับภพกระทำลุมรรค............ตริแปดจักลิภพละทัน
เผดิมสัมมะทิฏฐิครัน.........................ลุสัมมาสมาธิศรี

  ๓๘.พระสงฆ์ถามอุปาฯเซาะเกิด.......จะดับเพริดซิไยวิธี
พระสารีฯแสดงเจาะชี้.......................อุปาทานจะยึดมิไส

  ๓๙.อุปาฯเกิดเพราะ"อยาก"ลุพา......ก็"ตัณหา"นะแลซิไว
สิตัณหาเจาะเกิดลุไซร้.....................อุปาทานก็มีสิฉาย

  ๔๐.ผิตัณหาลุดับมลาน...................อุปาทานก็ดับลิวาย
จะดับตัวอุปาฯสลาย.........................ก็มรรคแปดเจาะครบประสงค์

  ๔๑.ก็ตัณหาซิเกิดไฉน....................จะ"อยาก"ไซร้ซิหกยะยง
เจาะรูป,เสียงกะกลิ่น..พะวง..............เพราะเวท์นาอุบัติกุ"อยาก"

  ๔๒.ผิรู้,เวทนาลิพา..........................ก็ตัณหาจะดับละจาก
ลิตัณหาก็ต้องละพราก.....................วิธีตัดก็มรรคประหาร

  ๔๓.พระสงฆ์ถามซิเวทนา................เจาะเหตุมาจะดับมลาน
พระสารีฯแจรงฉะฉาน.......................ก็"รู้,เวทนา"คละทาง

  ๔๔.ก็มีหกกระทบกะตา...................จมูกกล้าและหู..จะวาง
เพราะมีผัสสะเกิดกระจ่าง.................เจาะ"รู้เวทนา"จะมี

  ๔๕.ผิผัสสาลิดับละหนา..................ก็เวท์นาลิดับกลี
ลิเวท์นาก็ด้วยวิธี..............................มุมรรคแปดก็ดับสลาย


รายนามผู้เยี่ยมชม : ข้าวหอม, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #138 เมื่อ: 17, กรกฎาคม, 2568, 10:39:42 AM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๓/๘) ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร

  ๔๖.พระสงฆ์ถามก็ผัสสะเกิด...........กุหกเชิดกระทบกระจาย
ก็สัมผัสเจาะ"ตา"ขยาย.....................จมูก,หูและกลิ่น..เฉลย

  ๔๗.เพราะ"อายาตะฯ"หกอุบัติ..........ก็มีผัสสะเกิดนะเอย
ผิอายาตะหกลิเอ่ย............................และผัสสามิมีลิผลาม

  ๔๘.จะดับผัสสะได้เพราะมรรค........ซิแปดจักพิชิตลิตาม
ประเดิมสัมมะทิฏฐินาม.....................ลุสัมมาสมาธิแฉ

  ๔๙.พระสงฆ์ถามสิอายะฯเหตุ.........ฉขอบเขตกะตาซิแล
จมูก,หูและลิ้น..สิแท้.........................อุบัติมีเพราะรูปและนาม

  ๕๐.ผินามรูปลิดับซิหนา..................ก็อายาตะฯวายซิตาม
จะดับอายะฯสิถาม...........................ก็มรรคแปดประจักษ์วิไล

  ๕๑.พระสงฆ์ถามก็รูปและนาม........อะไรความจะดับลิไย
"มหาภูตรูป"นะไซร้..........................ก็สี่ธาตุสิ"ดิน"เยอะหนา

  ๕๒.ผนวกสร้างเจาะ"รูป"ก็กาย........มนุษย์ฉายลุยลซินา
ตะนามสี่มิเห็นกะตา.........................ก็"เวท์นากะผัสสะ,สัญฯ"

  ๕๓.ก็หนึ่ง"รูป"และ"นาม"สิสี่...........จะเรียกชี้ซิเนื่องประชัน
วะ"นามรูป"ประกอบสิครัน................กุขันธ์ห้าชิวิตสมาน

  ๕๔.เพราะ"วิญญาณ"อุบัติซิผลาม...กุนามรูปจะมีสคราญ
ผิวิญญาญลิดับมลาน.......................กะนามรูปก็ดับทลาย

  ๕๕.สินามรูปจะดับริจัก...................กระทำมรรคซิแปดประกาย
ประเดิมสัมมะทิฏฐิผาย....................ลุสัมมาสมาธิใส

  ๕๖.พระสงฆ์ถามก็วิญญะฯนับ........จะเกิดดับเพราะเหตุอะไร
ก็วิญญาณเจาะรู้และไข...................เสาะรู้หกซิทางเลาะตา..

  ๕๗.ก็วิญญาณจะเกิดเพราะมี.........สิ"สังข์ฯ"คลี่เสาะปรุงคณา
ผิสังขารลิดับก็พา............................กะวิญญาณสิดับละผลาม

  ๕๘.ริวิญญาณจะดับประจักษ์.........ก็แปดมรรคเจริญสิตาม
กุเริ่มสัมมะทิฏฐิงาม.........................ลุสัมมาสมาธิหนา

  ๕๙.กุสังขารพระสงฆ์เจาะถาม.......สิเกิดลามเพราะเหตุระดา
ลิสังขารวิธีเลาะหนา........................พระสารีฯแสดงเจาะสังข์ฯ

  ๖๐.ก็สังขารเจาะมีติแจง................ก็"ปรุงแต่งกะกาย"พลัง
"วจีสังข์ฯ"จะปรุงตริจัง.....................สิวาจาซิหยาบรึหวาน

  ๖๑.กุ"จิตต์สังข์ฯ"จิปรุงและแต่ง.....สภาพแปลงหทัยซิชาญ
เจาะดี,เลวประสพพะพาน................ลุสำเร็จฤดีซิหนา

  ๖๒."อวิชชา,มิรู้"เจาะเกิด...............และสังข์ฯเชิดลุเกิดสิมา
อวิชชาสิดับถลา.............................ก็สังขารสิดับละพลัน

  ๖๓.ผิสังขารจะดับลิไว..................ก็มรรคไซร้เจริญประชัน
เจาะเริ่มสัมมะทิฏฐิดั้น.....................ลุสัมมาสมาธิเผย

  ๖๔.พระสงฆ์ถามซิเหตุอวิชฯ.........ลุเกิดชิดและดับนะเอย
อวิชชามิรู้จะเอ่ย.............................ก็ทุกข์,เหตุและดับมิฉาย

  ๖๕.อะไรเหตุอวิชชะเกิด...............เพราะ"อาสฯ"เชิดเจาะมีกระจาย
ผิ"อาสวะ"ดับมิกราย.......................อวิชชาสิดับแถลง

  ๖๖.อวิชชาจะดับก็ด้วย.................สิมรรคช่วยประเทาซิแจรง
ปฐมสัมมะทิฏฐิแจง.........................ลุสัมมาสมาธิฉาย

  ๖๗.พระสงฆ์ถามก็อาสวะคือ..........อะไรหรือเจาะเหตุและกลาย
ลุเกิดมีละดับทลาย.........................พระสารีฯแสดงติสาม

  ๖๘.ก็"กามาสะฯ"คือเลาะกาม.........ภวาฯนามก็ภพเลาะตาม
"อวิชชาสะฯ"ไม่ตริความ..................มิรู้เรื่องกิเลสเฉลย


รายนามผู้เยี่ยมชม : ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #139 เมื่อ: 17, กรกฎาคม, 2568, 05:24:04 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๔/๘) ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร

  ๖๙.อวิชชาอุบัติเดาะอาสฯ...........ลุเกิดยาตรกิเลสนะเคย
อวิชฯดับก็อาสวะเอ่ย.....................สิดับด้วยกิเลสจะผลาญ

  ๗๐.จะดับสิอาสวะไว....................ก็มรรคไซร้ซิแปดสคราญ
ซิเริ่มสัมมะทิฏฐิชาญ......................ลุสัมมาสมาธิไข

  ๗๑.สิคราใดพระสงฆ์เจาะรู้...........กุเกิดชูริรู้เสาะไว
สิทางดับกะอาสวะไกล...................ละราคานุสัยรตี

  ๗๒.กะทิฏฐานุสัยเจาะเห็น.............สิผิดเด่นซิทอนกลี
"ปฏีฆานุฯ"เบาลุชี้............................ลิโกธขึ้งสิหมดเจาะผลาญ

  ๗๓.ก็ฆานานุสัยสิถือ......................วะตนชื่อยะยิ่งก็ราน
อวิชชาละแล้วก็พาน........................เจาะวิชชาละทุกข์ประสงค์

  ๗๔.ผิเหตุนี้อรีย์ซิหนา....................วะสัมมาและทิฏฐิคง
เจาะเห็นแน่วและถูกซิตรง................เผดินสู่พระสัทฯกสานติ์

  ๗๕.พระสารีฯสรุปพระธรรม............สิสิบล้ำและห้าประทาน
พระสงฆ์ชมรตีสราญ........................กะภาษิตสกลสิฉม ฯ|ะ

แสงประภัสสร

ที่มา : มจร.๙ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=12&siri=9

เชตฯ= วัดเชตวนาราม
สวัตฯ = กรุงสาวัตถี
พระสารีฯ = พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา ของพระโคดมพุทธเจ้า
สัมมะทิฏฐิ = สัมมาทิฎฐิ  คือ ความเห็นชอบ มี ๒ อย่าง ดังนี้
(๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ คือ กัมมัสสกตาญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน) และ สัจจานุโลมิกญาณ (ญาณหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ)
(๒) โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ ในที่นี้ คือ ปัญญาที่ประกอบด้วยอริยมรรค และอริยผล
อรีย์ฯ = พระอริยสาวก
ปสาทะ = เลื่อมใส, ศรัทธา
พระสัทฯ = พระสัทธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า, ธรรมของสัตบุรุษหรือคนดี
อกูศล = อกุศล คือ กรรมชั่ว, บาป ได้แก่
(๑) การฆ่าสัตว์ (๒)การลักทรัพย์ (๓) การประพฤติผิดในกาม (๔) การพูดเท็จ (๕) การพูดส่อเสียด (๖) การพูดคำหยาบ (๗) การพูดเพ้อเจ้อ (๘)การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น (๙) การคิดปองร้ายผู้อื่น (๑๐) มิจฉาทิฏฐิ
รากเหง้าแห่งอกุศล = มี ๓ อย่าง
(๑)โลภะ - ความโลภ (๒)โทสะ - ความคิดประทุษร้าย (๓)โมหะ - ความหลง
กุศล = คือ ความเจตนากระทำกรรมดี ได้แก่
(๑) เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ (๒) เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ (๓) เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (๔) เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ (๕) เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด (๖) เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ (๗) เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ (๘) การไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น (๙) การไม่ปองร้ายผู้อื่น (๑๐) สัมมาทิฏฐิ
รากเหง้าแห่งกุศล =มูลเหตุแห่งกุศล ได้แก่
(๑) อโลภะ - ความไม่โลภ (๒) อโทสะ - ความไม่คิดประทุษร้าย (๓) อโมหะ - ความไม่หลง
ราคาฯ = ราคานุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่อง คือราคะ(ความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความใคร่)
ปฏิฆะฯ = ปฏิฆานุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่อง คือปฏิฆะ (ความคับแค้น, ความขึ้งเคียด, ความที่จิตหงุดหงิดจากอำนาจโทสะ)
ทิฏฐาฯ = ทิฏฐานุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่อง คือทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
มานาฯ = มานานุสัย คือ กิเลสที่นอนเนื่องคือมานะ(ถือตัว)
อวิชชา= ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔
วิชชะ = วิชชา คือ ความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔
สัมฯ = สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
ปสาทะ= เลื่อมใส, ศรัทธา


รายนามผู้เยี่ยมชม : ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #140 เมื่อ: เมื่อวานนี้ เวลา 09:01:39 AM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๕/๘) ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร

อาหาร = ย่อมมีเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหารมี ๔ ชนิด คือ
(๑) กวฬิงการาหาร -อาหารคือคำข้าว หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
(๒) ผัสสาหาร -อาหารคือการสัมผัส
(๓) มโนสัญเจตนาหาร -อาหารคือความจงใจ
(๔) วิญญาณาหาร - อาหารคือวิญญาณ
ความดับแห่งอาหาร = เป็นอย่างไร
- เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอาหารจึงมี
- เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอาหารจึงมี
ความดับแห่งอาหาร = จะปรากฏได้เมื่อดับตัณหา ที่เป็นปัจจัยแห่งอาหารทั้งที่เป็น อุปาทินนกะและ อนุปาทินนกะได้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดับไปแม้ผลก็ย่อมดับไปโดยประการทั้งปวง
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร = คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ  - ความเห็นชอบ   
(๒) สัมมาสังกัปปะ -ความดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง มี ๓ อย่าง ได้แก่
(๒.๑) เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง
(๒.๒) อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
(๒.๓) อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้าย
(๓) สัมมาวาจา - เจรจาชอบ คือ วจีสุจริต ๔ คือ
(๓.๑) งดเว้นจากการพูดเท็จ (๓.๒) งดเว้นจากการพูดส่อเสียด (๓.๓) งดเว้นจากการพูดคำหยาบ (๓.๔) งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
(๔) สัมมากัมมันตะ - ทำการชอบ คือ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย ๓ อย่าง อันได้แก่ (๔.๑) การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ (๔.๒) การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
(๔.๓) การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
(๕) สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ ด้วยอาชีพที่สุจริตเว้นมิจฉาอาชีวะ ๕ ประเภท
(๕.๑) สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ
(๕.๒) สัตตวณิชชา คือการค้าขายมนุษย์
(๕.๓) มังสวณิชชา คือ ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารทำให้ผิดศีลข้อที่ ๑ คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
(๕.๔) มัชชวณิชชา คือ การค้าขายน้ำเมา ของเสพติดรวมถึงการเสพเอง
(๕.๕) วิสวณิชชา คือ การค้าขายยาพิษ
(๖) สัมมาวายามะ - ทำความ เพียรชอบ ให้เกิดฉันทะทำความ ประคองจิตไว้
(๖.๑) เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด ไม่บังเกิดขึ้น
(๖.๒) เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว
(๖.๓) เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
(๗) สัมมาสติ -มีสติชอบ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่
(๗.๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การกำหนดระลึกรู้ในกาย (คือ อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ)
(๗.๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา คือ เวทนาทางกายและทางใจ สุข ทุกข์ หรืออุเบกขา
(๗.๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การกำหนดระลึกรู้ในจิต คือ มีราคะรู้ จิตมีโทสะรู้ มีโมหะรู้ มีจิตหดหู่หรือจิตฟุ้งซ่านรู้ มีมหัคคตจิตรู้ มีจิตอื่นยิ่งกว่ารู้ มีสมาธิรู้ มีจิตหลุดพ้นรู้
(๗.๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ กำหนดระลึกรู้ในธรรม คือ นิวรณ์ ๕, อุปาทานขันธ์ ๕, อายตนะภายในและภายนอก ๖, โพชฌงค์ ๗, อริยสัจ ๔        
(๘) สัมมาสมาธิ - มีสมาธิชอบ คือความตั้งใจมั่นที่ถูกทาง โดยกุศลจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ไม่ฟุ้งซ่านเข้าถึง ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน
อริยสัจ ๔ = ความจริงอันประเสริฐ
(๑) ทุกข์ = สภาวะที่ทนได้ยาก
เช่น ความเกิด, ความแก่, ความตาย, ความแห้งใจ,ความพิไรรำพัน, ความไม่สบายกาย, ความเสียใจ, ความคับแค้นใจ, ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก, ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก, ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวัง แต่ละอย่างๆ ล้วนเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้งห้า เป็นทุกข์


รายนามผู้เยี่ยมชม : หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #141 เมื่อ: วันนี้ เวลา 08:37:48 AM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๖/๘) ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร

(๒) ทุกขสมุทัย = เหตุเกิดทุกข์
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีกในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยความเพลินเพลิดเพลินยิ่ง ในอารมณ์นั้นๆ คือ
(๒.๑) กามตัณหา - ความทะยานอยากในกาม
๒.๒) ภวตัณหา - ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่
(๒.๓) วิภวตัณหา - ความทะยานอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่
(๓) ทุกขนิโรธ = ความดับทุกข์
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา
(๔) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา = ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
(๑.๔) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๑.๘) สัมมาสมาธิ
อุปาทานขันธ์ = คือ กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่น ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ชราและมรณะ = มีเหตุเกิด, ความดับ, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ คือ อย่างไร
(๑) ชรา = คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ                     
(๒) มรณะ = คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ = เพราะชาติเกิด จึงมีชรา และ มรณะ
ความดับแห่งชราและมรณะ = เพราะชาติดับ ความดับแห่งชราและมรณะจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
ชาติ = ความเกิดเป็นอย่างไร
คือ ความเกิดพร้อมความหยั่งลง, ความปรากฏแห่งขันธ์(คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา, สังขาร, วิญญาณ), ความได้อายตนะ(ได้แก่ อายตนะ ๖ ที่เชื่อมต่อ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ)ในหมู่สัตว์นั้นๆ
ความดับแห่งชาติ = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะภพเกิด เหตุเกิดแห่งชาติจึงมี
(๒) เพราะภพดับ ความดับแห่งชาติจึงมี             
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
ภพ = ที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย มี ๓ ภพ ได้แก่
(๑) กามภพ - ภพที่เป็นกามาวจร ยังเกี่ยวข้องกับ กามคุณ ๕ เช่น มนุษย์ เทวดา และสัตว์ต่างๆ
(๒) รูปภพ - ภพที่เป็นรูปาวจร เป็นที่อยู่ของ รูปพรหม เป็นพรหมที่มีรูป
(๓) อรูปภพ - ภพที่เป็นอรูปาวจร เป็นที่อยู่ของ อรูปพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีรูป
เหตุเกิดแห่งภพ = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะอุปาทานเกิด เหตุเกิดแห่งภพจึงมี
(๒) เพราะอุปาทานดับ ความดับแห่งภพจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ = คือดับภพได้ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
อุปาทาน = ความยึดมั่น ถือมั่น มี ๔ ประการ คือ
(๑) กามุปาทาน - ความยึดมั่นในกาม
(๒) ทิฏฐุปาทาน - ความยึดมั่นในทิฏฐิ
(๓) สีลัพพตุปาทาน - ความยึดมั่นในศีลและวัตร นอกศาสนา
(๔) อัตตวาทุปาทาน - ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา ตัวตน
เหตุเกิดแห่งอุปาทาน = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอุปาทานจึงมี
(๒) เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอุปาทานจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน = เป็นอย่างไร
ดับอุปาทาน ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
ตัณหา = คือ ความทะยานอยาก มี ๖ ประการ คือ
(๑) รูปตัณหา - ความทะยานอยากในรูป (๒) สัททตัณหา - ความทะยานอยากในเสียง (๓) คันธตัณหา - ความทะยานอยากในกลิ่น (๔) รสตัณหา - ความทะยานอยากในรส (๕) โผฏฐัพพตัณหา - ความทะยานอยากในโผฏฐัพพะ (๖) ธัมมตัณหา - ความทะยานอยากในธรรมารมณ์
ความดับแห่งตัณหา = เป็นอย่างไร
(๑)เพราะเวทนาเกิด เหตุเกิดแห่งตัณหาจึงมี
(๒)เพราะเวทนาดับ ความดับแห่งตัณหาจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา = ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ


รายนามผู้เยี่ยมชม : ข้าวหอม, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
แสงประภัสสร
ผู้มีจินตนาการ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:4615
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 1076
จำนวนกระทู้: 652



| |
Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร
« ตอบ #142 เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:10:15 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: ประมวลธรรม: ๘.เกวัฏฏสูตร

(ต่อหน้า ๗/๘) ๓๘.สัมมาทิฏฐิสูตร

เวทนา = ความรู้สึก  มี ๖ ประการ คือ
(๑) จักขุสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา
(๒) โสตสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู
(๓) ฆานสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก
(๔) ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น
(๕) กายสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย
(๖) มโนสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ
ความดับแห่งเวทนา = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะผัสสะเกิด เหตุเกิดแห่งเวทนาจึงมี
(๒) เพราะผัสสะดับ ความดับแห่งเวทนาจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา = โดย อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
ผัสสะ = เหตุเกิดแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร มี ๖ ประการนี้ คือ
(๑) จักขุสัมผัส - สัมผัสทางตา (๒) โสตสัมผัส - สัมผัสทางหู (๓) ฆานสัมผัส - สัมผัสทางจมูก (๔) ชิวหาสัมผัส - สัมผัสทางลิ้น (๕) กายสัมผัส - สัมผัสทางกาย (๖) มโนสัมผัส - สัมผัสทางใจ
ความดับแห่งผัสสะ = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะอายตนะ ๖ เกิด เหตุเกิดแห่งผัสสะจึงมี
(๒) เพราะอายตนะ ๖ ดับ ความดับแห่งผัสสะจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
อายตนะ ๖ = เหตุเกิดแห่งอายตนะ คือ
(๑) จักขวายตนะ - อายตนะคือตา (๒) โสตายตนะ - อายตนะคือหู (๓) ฆานายตนะ - อายตนะคือจมูก (๔) ชิวหายตนะ - อายตนะคือลิ้น (๕) กายายตนะ - อายตนะคือกาย (๖) มนายตนะ - อายตนะคือใจ
ความดับแห่งอายตนะ ๖ = เป็นอย่างไร
(๑)เพราะนามรูปเกิด เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ จึงมี
(๒)เพราะนามรูปดับ ความดับแห่งอายตนะ ๖ จึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ           
นามรูป = เหตุเกิดแห่งนามรูป เป็นอย่างไร
(๑) นาม ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ
(๒) รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ อยู่ (คือ อุปาทายรูป ๒๔)
นามและรูปดังกล่าวนี้ เรียกว่า นามรูป
ความดับแห่งนามรูป = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะวิญญาณเกิด เหตุเกิดแห่งนามรูปจึงมี
(๒) เพราะวิญญาณดับ ความดับแห่งนามรูปจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
 (๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
วิญญาณ= เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ๖ คือ
(๑) จักขุวิญญาณ - ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา (๒) โสตวิญญาณ - ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู (๓) ฆานวิญญาณ - ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก (๔) ชิวหาวิญญาณ - ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น (๕) กายวิญญาณ - ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย (๖) มโนวิญญาณ - ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ
ความดับแห่งวิญญาณ = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะสังขารเกิด เหตุเกิดแห่งวิญญาณจึงมี
(๒) เพราะสังขารดับ ความดับแห่งวิญญาณจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
สังขาร ๓ = เหตุเกิดแห่งสังขาร คือ
(๑) กายสังขาร - สภาพที่ปรุงแต่งกาย (๒) วจีสังขาร - สภาพที่ปรุงแต่งวาจา (๓) จิตตสังขาร - สภาพที่ปรุงแต่งใจ
ความดับแห่งสังขาร = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งสังขารจึงมี
(๒) เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งสังขารจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
อวิชชา = เหตุเกิดแห่งอวิชชา คือ ความไม่รู้ในทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ความดับแห่งอวิชชา = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะอาสวะเกิด เหตุเกิดแห่งอวิชชาจึงมี
(๒) เพราะอาสวะดับ ความดับแห่งอวิชชาจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ (๘) สัมมาสมาธิ
อาสวะ ๓ = เหตุเกิดแห่งอาสวะ  คือ
(๑) กามาสวะ - อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ - อาสวะคือภพ (๓) อวิชชาสวะ - อาสวะคืออวิชชา
ความดับแห่งอาสวะ = เป็นอย่างไร
(๑) เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งอาสวะจึงมี
(๒) เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งอาสวะจึงมี
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ = คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาสังกัปปะ (๓) สัมมาวาจา (๔) สัมมากัมมันตะ (๕) สัมมาอาชีวะ    (๖) สัมมาวายามะ (๗) สัมมาสติ (๘) สัมมาสมาธิ
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร = อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
(๑) รู้ชัดซึ่งอกุศลและรากเหง้าอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเหง้าของกุศล
(๒) รู้ชัดซึ่งอาหารเหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร
(๓) รู้ชัดซึ่งทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(๔) รู้ชัดซึ่งชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ และทางที่จะให้ถึงความดับชรา และมรณะ


รายนามผู้เยี่ยมชม : ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอน  "แสงประภัสสร"
..
หน้า: 1 ... 8 9 [10]   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.538 วินาที กับ 109 คำสั่ง
กำลังโหลด...