บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สิ้นสมเด็จพระเจ้าตากสิน -
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มิทันนึกแผนงานเป็นการใหญ่ รีบยกทัพกลับกรุงอย่างเร็วไว ชนชาวไทยยินดีแสนปรีดา
พากันแห่ห้อมล้อมพร้อมถวาย บังคมรายเรียงตัวอยู่ทั่วหน้า เชิญประทับบัลลังก์ทองผ่องโสภา เป็นราชาดำรงวงศ์จักรี
พระเจ้าตากสินผู้สิ้นสิทธิ์ ยอมรับผิดทุกประการให้บั่นศีรษ์ ปิดตำนานจอมคนธนบุรี ฝากฝังวีรกรรมไว้ให้ชื่นชม |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงให้ท่านอ่านกันถึงตอนที่พระยาสรรค์บุรีร่วมกับนายบุนนากกำนันบ้านแม่ลากรุงเก่าเป็นกบฏ ยกกำลังเข้าล้อมกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสสั่งสู้ ยิงกันตลอดคืน รุ่งขึ้นทรงเห็นว่าจะสู้ต่อไปไม่ได้ จึงขอให้พระสังฆราชกับพระราชาคณะออกไปเจรจายอมแพ้ ขอสละราชสมบัติออกบวชเป็นภิกษุ ณ วัดแจ้ง พระยาสรรค์เข้าพระนครได้แล้วก็ว่าราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน ยามนั้น พระยาสุริยอภัย (หลานชายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก)รายงานให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ทราบแล้วยกทัพจากนครราชสีมาลงมากรุงธนบุรีทันที พระยาสรรค์ได้ให้การต้อนรับพระยาสุริยอภัยเป็นอันดี อ้างว่าจะรักษาราชบัลลังก์ไว้ถวายแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปรึกษากันแล้วเห็นชอบ จับพระภิกษุตากสินมาให้ลาสิกขาแล้วจำจองไว้รอเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาพิจารณาโทษต่อไป แต่แล้วพระยาสรรค์กลับใจคิดจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง คืนนั้นจึงปลดปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์) จากที่คุมขัง ให้นำกำลังจู่โจมตีกองกำลังของพระยาสุริยอภัย กรมขุนอนุรักษ์สงครามให้จุดเพลิงเผาอาคารบ้านเรือนในบริเวณบ้านปูน อันเป็นบ้านของพระยาสุริยอภัยและเป็นที่ตั้งกองกำลังจากนครราชสีมา ทั้งสองฝ่ายยิงปืนโต้ตอบกันตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้าแล้วยังรบกันอยู่ถึง ๕ โมงเช้า กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงพ่ายแพ้ พระยาสุริยอภัยให้ทหารตามจับตัวได้แล้วให้จำครบไว้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่ได้บันทึกเรื่องไว้ดังนี้
 “ฝ่ายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น เมื่อสั่งให้พระยาสุริยอภัยยกทัพนครราชสีมาลงมายังกรุงธนบุรีแล้ว จึงแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินเป็นจลาจลให้คนสนิทถือไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ที่เมืองพนมเพญ ให้กองทัพเขมรพระยายมราชเข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย) ไว้อย่าให้รู้ความ แล้วรีบยกทัพกลับกรุงธนบุรีโดยเร็ว พร้อมกับให้บอกไปถึงพระยาธรรมาซึ่งตั้งทัพอยู่เมืองกำพงสวาย ให้จับกรมขุนรามภูเบศร์ (พระเจ้าหลานเธอบุญจันทร์) จำครบไว้แล้วให้เลิกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที
 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นทรงช้างแล้วยกทัพช้างม้ารี้พลประมาณ ๕,๐๐๐ เศษ ดำเนินทัพมาทางด่านพระจารึกถึงเมืองปราจีนบุรี ข้ามแม่น้ำเมืองปราจีนเมืองนครนาย ก ตัดลงมาทุ่งแสนแสบ ชาวพระนครทราบข่าวการกลับมาของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็พากันยินดีปรีดายกมือขึ้นถวายบังคมพร้อมกันอย่างทั่วถ้วน กล่าวตรงกันว่า ครั้งนี้การยุคเข็ญจะสงบแล้ว แผ่นดินจะราบคาบ บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป หลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุทัยธานีซึ่งลงมาอยู่ ณ กรุงธนบุรีก็ขึ้นม้าออกไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบแล้วนำทัพเข้ามายังพระนคร
ณ วันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เพลาสองโมงเช้าเศษ ทัพหลวงก็มาถึงกรุงธนบุรีฟากตะวันออก พระยาสุริยอภัยให้ปลูกพลับพลารับ ณ สะพานท่าวัดโพธาราม ให้แต่งเรือพระที่นั่งกราบข้ามมาคอยรับ ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในพระราชวังก็ลงเรือพระที่นั่งมาคอยรับด้วย เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงช้างมาถึงพลับพลาหน้าวัดแล้ว ท้าวทรงกันดาลกราบถวายบังคมทูลเชิญลงเรือกระที่นั่งข้ามไปเข้าพระราชวัง ขึ้นประทับบนศาลาลูกขุนมหาดไทย ข้าราชการทั้งหลายก็มาเฝ้ากราบถวายบังคม พระยาสรรค์บุรีและพรรคพวกก็กลัวเดชานุภาพเป็นกำลัง มิรู้ที่จะหนีจะสู้ประการใด ก็พากันมาเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมด้วยข้าราชการขุนนางทั้งปวง
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงปรึกษาขุนนางข้าราชการทั้งปวงว่าควรจะจัดการอย่างไรกับพระเจ้าตากสิน ก็เห็นเป็นอันเดียวกันว่า “พระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย” จึงสั่งให้มีกระทู้ถามพระเจ้าตากสินถึงความผิดทั้งปวง พระเจ้าตากสินก็ทรงรับผิดทุกประการ จึงสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสียที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ โดยเพชฌฆาตตัดศีรษะแล้ว นำศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้
 พระเจ้าตากสินดำรงราชอาณาจักรอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๕ ปี ก็เสียให้แก่พระยาสวรรค์บุรี และเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายพระชนมชีพนั้นมีพระชนมายุได้ ๔๘ ปี
 ** ท่านผู้อ่านครับ การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินตามพงศาวดารก็มีความดังกล่าวแล้ว แต่ในตำนานมีความต่างออกไป บ้างก็ว่าพระเจ้าตากสินมิได้ถูกประหารชีวิตตามความในพระราชพงศาวดาร หากแต่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ผู้ทึ่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นตัวแทน ตัวจริงได้หลบหนีไปอยู่ ณ เทือกเขาพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วสิ้นพระชนม์ในผ้ากาสวาพัตร ณ วัดเขาขุนพนม พรหมคีรี นั้นเอง
บ้างก็ว่า พระเจ้าตากสินแสร้งสิ้นพระชนม์เป็นการเมือง เนื่องจากได้กู้หนี้ยืมสินจากเมืองจีนมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก แล้วไม่มีเงินใช้คืน จึงสละราชบัลลังก์ให้เพื่อนรักคือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แล้วแสร้งทำเป็นเสียพระจริตจนถูกประหารชีวิต เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วหนี้สินทั้งปวงก็เป็นอันล้างกันไป ตำนานดังกล่าวนี้เท็จจริงประการใดก็ใคร่ครวญด้วยสติปัญญากันเอาเองเถิด
* เมื่อสิ้นสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารกันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๖ เมษายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เสวยราชสมบัติสร้างวังใหม่ -
สมเด็จพระเจ้าตากสินสิ้นรัชสมัย ประชาไทยเชิดชูผู้เหมาะสม “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”กรม จึงบังคมทูลนั่งบัลลังก์แทน
ทรงชำระสะสางเรื่องทั้งหมด ถือกำหนดยุติธรรมที่หนักแน่น ประหารเสี้ยนหนามสิ้นทั้งดินแดน ตัดตอแค้นขาดวิ่นสิ้นเยื่อใย
ที่ตั้งวังเดิมนั้นมีปัญหา ถูกวัดวาตั้งขนาบรับมิได้ จึงหาที่ดีงามตามต้องใจ สร้างวังใหม่ประทับโดยฉับพลัน |
อภิปราย ขยายความ............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงกาลอาวสานกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสิ้นพระชนม์ในเงื่อนปมปัญหาที่ยังหาข้อยุติแน่นอนมิได้ เพราะความในพระราชพงศาวดารกับตำนานขัดแย้งกันอยู่ ในที่นี้จะไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บให้ยุ่งยากนะครับ เพราะหน้าที่ของผมมีเพียงบอกเล่าเรื่องราวตามพงศาวดารและตำนานให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่พิสูจน์ว่าเรื่องที่บอกเล่านั้นเท็จจริงประการใด ดังนั้นจึงขอยุติเรื่องกรุงธนบุรีไว้ตามพระราชพงศาวดารดังแสดงมาแล้ว
วันนี้จะขอเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ตามพระราชพงศาวดาร โดยยึดเอาพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลัก มีเรื่องราวสืบต่อจากหลังการสิ้นพระเจ้าตากสินและกรุงธนบุรี ดังต่อไปนี้
“เมื่อสิ้นพระเจ้าตากสินแล้วท้าวพระยามุขมนตรีกวีชาติและราษฎรทั้งหลายก็พร้อมกันกราบวิงวอนอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ขึ้นเสวยราชสมบัติดำรงแผ่นดินสืบไป เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรับการอัญเชิญด้วยอาการดุษณีภาพ แล้วดำเนินไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และประทับแรมอยู่ ณ พลับพลาหน้าโรงพระแก้วนั้น
ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ พระยาสุริยอภัย พระเจ้าหลานเธอให้ตำรวจคุมตัวกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กับ ขุนนางมีชื่อซึ่งเป็นสมัครพรรคพวก ๓๙ คน มีพระยาเพชรพิชัย พระยามหาอำมาตย์ พระยากลางเมือง พระยามหาเทพ หลวงราชรินทร์ หลวงคชศักดิ์ เป็นต้น เข้ามาถวายหน้าพระที่นั่ง แล้วกราบทูลว่า คนเหล่านี้เข้าพวกกรมขุนอนุรักษ์สงครามยกมารบ จึงดำรัสให้เอาขุนนาง ๓๙ เก้าคนนั้นไปประหารชีวิตเสีย ตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามนั้นให้เอาไว้ก่อน แล้วให้พิจารณาชำระเอาพวกเพื่อนอีก ได้ความว่าพระยาสรรค์และหลวงเทพผู้น้องกับเจ้าพระยามหาเสนา พระยารามัญวงศ์จักรีมอญ พระพิชิตณรงค์ หลวงพัสดีกลาง คนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังการรบกับพระเจ้าหลานเธอ จึงดำรัสให้เอาตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามกับขุนนางที่ถูกซัดทอดดังกล่าวนั้นไปประหารชีวิตเสียสิ้น
พอดีในวันนั้นกองทัพพระยาธรรมาจากกัมพูชาเดินทางมาถึงพร้อมกับคุมเอาตัวกรมขุนรามภูเบศเข้ามาถวาย จึงให้เอาตัวกรมขุนรามภูเบศและญาติวงศ์พระเจ้าตากสินที่เป็นชายทั้งสิ้นไปประหารเสียพร้อมกันด้วย พระญาติวงศ์พระเจ้าตากสินจึงยังคงเหลืออยู่แต่พระราชบุตรและราชบุตรีน้อย ๆ มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์อันเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ และเจ้าฮั้นซึ่งเป็นพระเจ้าน้าของพระเจ้าตากสิน และเจ้าส่อนหอกลาง ซึ่งเป็นกรมหลวงบาทบริจาอัครมเหสี กับพระญาติวงศ์ซึ่งเป็นหญิงนั้น ให้จำไว้ทั้งสิ้น
ณ วันจันทร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่ข้าราชการผู้มีความชอบกับทั้งพวกข้าหลวงเดิมทั้งปวงตามสมควรแก่ฐานานุรูป แล้วดำรัสว่า พระราชคฤหฐานใกล้อุปจารพระอารามทั้งสองข้างคือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดมิบังควรยิ่งนัก จึงดำรัสแก่พระยาธรรมาธิบดี พระยาวิจิตรนาวี ให้เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปก่อสร้างตั้งพระราชนิเวศน์วังใหม่ ณ บริเวณฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังเดิม คือฟากฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านพระยาราชาเศรษฐีและจีนทั้งปวง ให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายลงไปตั้งบ้านเรือนใหม่ในที่สวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มไปถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง ต่อมาอีก ๔ วันก็ดำรัสให้ชำระโทษพวกเจ้าจอมข้างใน
กล่าวถึงเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) พระราชอนุชา ครั้นได้ทราบหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินแล้วจึงสั่งให้พระยายมราชคุมกองเขมร ๓,๐๐๐ เข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย) และพระยากำแหงสงครามรวมทั้งไพร่พลไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร และเลิกทัพรีบกลับเข้ามากรุงธนบุรี ถึงกรุง ณ วันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ เพลาห้าโมงเช้า
ครั้นขึ้นเฝ้าสมเด็จพระเชษฐาธิราช ณ ท้องพระโรงแล้วจึงดำรัสปรึกษาราชการแผ่นดินด้วยกัน จากนั้นเสด็จออกจากเฝ้าสั่งให้ตำรวจไปจับข้าราชการทั้งปวงบรรดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน ให้ประหารชีวิตเสียทั้งสิ้น ๘๐ คนเศษ”
** เป็นอันว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับการกราบทูลเชิญขึ้นครองแผ่นดินสยามประเทศ แล้วทรงชำระคดีการเมืองด้วยความสุขุมรอบคอบ และเรียบร้อยเป็นอันดี ทรงพิจารณาเห็นว่า พระราชวังเดิมตั้งอยู่ระหว่างวัดที่ตั้งขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ดูไม่เหมาะสม จึงตรัสให้พระยาธรรมาธิบดีเป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ ไปก่อสร้างพระราชนิเวศน์ใหม่ ณ ฟากฝั่งน้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับพระราชวังเดิม (คือที่ตั้งพระบรมมหาราชวังปัจจุบัน) สถานที่ตรงนี้เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐี หัวหน้าชุมชนชาวจีน โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหมดย้ายออกไปตั้งชุมชนใหม่ในบริเวณวัดสามปลื้มไปจนถึงวัดสำเพ็ง
เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ แผ่นดินใหม่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร. ๑) - ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ -
กรมขุนอินทรพิทักษ์หักวงล้อม พาพวกพร้อมหลบหนีขมีขมัน มาถึงปราจีนบุรีสิรู้กัน ว่าเกิดผันแปรพลัดผลัดแผนดิน
จึงหลบหนีซุ่มซ่อนแถบเขาน้อย มิอาจลอยนวลนานในฐานถิ่น ถูกตามจับซักถามตามระบิล ขอยอมสิ้นชีวิตตามบิดา
เดือนแปดแรกปีขาลจัตวาศก ฤกษ์ยามยกมงคลดลมาหา ทรงปราบดาภิเษกเอกราชา เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินปิ่นนาคร |
อภิปราย ขยายความ..................................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงให้ได้อ่านกันถึงตอนที่ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) รับการเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม สืบแทนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และโปรดให้สร้างพระราชวังใหม่ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ตรงข้ามกับพระราชวังเดิม ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ผู้น้องนั้นสั่งให้พระยายมราชล้อมกองกำลังกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย) และพระยากำแหงสงครามไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร แล้วรีบยกกำลังกลับมายังกรุงธนบุรี เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เปิดอ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมต่อไปครับ
 “ฝ่ายกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงคราม มิทราบข่าวว่าในกรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินใหม่ เมื่อเห็นกองเขมรของพระยายมราชยกเข้าล้อมพวกตนไว้ จึงแต่งหนังสือบอกให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลว่า เขมรกลับเป็นกบฏยกเข้ามาล้อมกองทัพระเจ้าลูกเธอไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร แต่กองทัพเจ้าพระยามหากษัตริ์ศึกกับทัพเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเลิกหนีไป มิรู้ว่าจะไปแห่งใด
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงทราบในหนังสือบอกดังนั้นก็ทรงพระสรวล จึงดำรัสว่า อ้ายหูหนวกตาบอดมิได้รู้การแผ่นดินเป็นประการใด กลับบอกกล่าวโทษกูเข้ามาถึงกูอีกเล่า
 เมื่อหนังสือบอกลงมายังกรุงธนบุรีดังกล่าวแล้ว กรมขุนอินทรพิทักษ์กับพระยากำแหงสงครามก็ยกพลทหารออกตีกองทัพเขมรที่ตั้งล้อมเมืองพุทไธเพชรอยู่นั้น แหกออกมาได้ก็รีบยกทัพมาถึงเมืองปราจีน จึงได้รับแจ้งเหตุว่ากรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินใหม่แล้ว ไพร่พลทหารทั้งปวงก็หนีกระจัดกระจายเข้ามาหาครอบครัวของตน ยังเหลือคนอยู่กับกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามเพียง ๕ คนเท่านั้น กรมขุนอินทรพิทักษ์กับพระยากำแหงสงครามกับคนสนิทอีก ๕ คนรวมเป็น ๗ คน จึงพากันหนีไปอยู่ตำบลเขาน้อยแห่งหนึ่งใกล้เขาปัถวี กรมการเมืองจึงบอกเข้ามากราบทูลให้ทราบ
 ณ วันอาทิตย์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ สมเด็จพระอนุชาธิราชจึงกราบถวายบังคมลายกพล ๖,๐๐๐ เศษขึ้นไปถึงเมืองสระบุรี แล้วให้แยกกันออกไปเที่ยวค้นหาตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์กับพวก และเข้าล้อมจับได้ที่เขาน้อย คุมตัวทั้งหมดลงมาถวาย ณ กรุงธนบุรี ดำรัสให้จำครบไว้แต่ตัวกรมขุนอินทรพิทักษ์กับพระยากำแหงสงคราม ส่วนบ่าวทั้ง ๕ คนนั้นทรงพระกรุณาดำรัสว่าเป็นคนมีกตัญญูไม่ทิ้งเจ้า โปรดให้ปล่อยเสียไม่เอาโทษแต่ประการใด
ต่อมาได้ ๖ วัน ทรงพระกรุณาให้ถามกรมขุนอินทรพิทักษ์ว่า ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยง ด้วยตัวหาความผิดมิได้ กรมขุนอินทรพิทักษ์ให้การว่าไม่ยอมอยู่ จะขอตายตามบิดา จึงดำรัสให้เอาตัวนายจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์ และขุนชนะพระยากำแหงสงครามนั้นไปประหารชีวิตเสีย
 * ณ วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ.๒๓๒๕) ให้ตั้งการพระราชพิธียกหลักเมือง วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ จับการตั้งพระราชวังใหม่ และล้อมด้วยระเนียดก่อน ยังมิได้ก่อกำแพงวัง
ครั้นถึงวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ แรก ให้การพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป นิมนต์พระราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ เพลาเช้าแล้วสี่บาท ได้มหาอุดมวิชัยมงคลนักขัตฤกษ์ พระสุริยเทพบุตรทรงกลดจำรัสดวงปราศจากเมฆผ่องพื้นนภากาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาด ประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง แห่โดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จเสด็จข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามา ณ ฝั่งฟากตะวันออก เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ ทรงพระเสลี่ยง ตำรวจแห่หน้าหลัง เสด็จขึ้นยังมนเทียรสถาน ทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัย แล้วเถลิงสถิตเบื้องบนมงคลราชมัญจาพระกระยาสนาน พระสงฆ์ถวายพระปริตโตทกธารเบญจสุทธคงคามุทธาภิสิตวารี ชีพ่อพราหมณ์ถวายตรีสังข์หลั่งมงคลธารา อวยอาเศียรพาทพิษณุอิศวรเวทถวายชัยวัฒนาการ พระโหราลั่นฆ้องชัย ให้ประโคมขานเบญจางคดุริยดนตรีแตรสังข์ ประนังศัพทสำเนียงนฤนาท พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสถิตเหนือภัทรบิฐอันกั้งบวรเศวตราชาฉัตร พระครูราชปโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอสุริยราชสมบัติ และเครื่องเบญจพิธราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ อัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเสวยสวรรยาธิปัตย์ ถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืบไป เมื่อได้เสวยราชสมบัตินั้น ทรงมีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา
 ในยามนั้นสมเด็จพระสังฆราชราชาคณะคามวาสีอรัญญวาสีและชีพ่อพราหมณ์พฤฒาจารย์ทั้งหลาย พร้อมกันถวายพระนามว่า “พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาสกรวงศ์องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายกดิลกรัตนราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรบรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน” ได้จารึกพระนามดังกล่าวนี้ลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ คือแผ่นทองคำ ตามพระราชประเพณีแต่ก่อนมา”
 ** พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองแผ่นดิน กระทำพอสังเขป โดยนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ ณ พระราชวังใหม่ วันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ แรก เพลาเช้าเป็นมงคลฤกษ์ ทรงแปรพระราชฐานจากพระราชวังเดิมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาประทับ ณ พระราชวังใหม่ ประทับเหนือบัลลังก์แล้ว พราหมณ์ประโคมแตรสังข์ พระราชครูกราบบังคมทูลถวายไอสูรย์สมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระสังฆราชราชาคณะและชีพ่อพราหมณ์ พร้อมกันถวายพระนาม ตามที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำ) แล้วเป็นอันเสร็จพิธี ทรงเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามเมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา
พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ดูเรื่องราวกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- สถาปนาแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ -
“เจ้าพระยาสุรสีห์”ที่วังหน้า เป็น“มหาอุปราช”ไม่ยิ่งหย่อน ครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน “พระราชวังบวร”กระฉ่อนนาม
ทรงแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ตำแหน่งถ้วน ทุกคนล้วนพอใจไม่ถูกข้าม คุณหลวงคุณพระพระยาสง่างาม เป็นไปตามความดีที่ทำมา |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกกล่าวถึงเรื่องราวที่เป็นรอยต่อระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ โปรดให้สร้างพระราชวังใหม่ทางฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกันข้ามกับพระราชวังเดิมแห่งกรุงธนบุรี จากนั้นก็มีพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เฉลิมพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี..... วันนี้มาดูความพระราชพงศาวดารฉบับนี้ต่อไปครับ
 เมื่อเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช (เจ้าพระยาสุรสีห์) เสด็จเถลิงราชมไหศวรรย์ ณ ที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง โดยดังโบราณจารีตราชประเพณีมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนมา เจ้าพระยาสุรสีห์เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ทรงให้สร้างพระราชนิเวศน์ขึ้นใหม่ ตั้งเป็นพระราชวังหน้าในที่ใกล้พระราชวังหลวงทางด้านทิศเหนือ
 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระเทพสุดาวดี เจ้ากรมตั้งเป็นพระยา และตั้งพระเชษฐภคินีพระองค์น้อย เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระยาศรีสุดารักษ์ โปรดให้พระยาสุริยอภัย พระราชนัดดาผู้ใหญ่เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ภายหลังทรงเห็นว่ายศศักดิ์ยังไม่สมควรแก่ความดีความชอบจึงโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง รับพระราชบัญชาตั้งวังอยู่ที่สวนลิ้นจี่ในเมืองฟากตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย ดำรัสให้หาพระยาอภัยสุริยาราชนัดดามาแต่เมืองนครราชสีมา แล้วโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร ให้เสด็จไปอยู่ ณ วังเก่าพระเจ้าตากสิน ครั้นหลวงนายฤทธิ์ราชนัดดาซึ่งพระเจ้าตากสินให้เป็นอุปทูต ออกไปกรุงปักกิ่งนั้นกลับเข้ามาถึงจึงโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ คนทั้งหลายเรียกพระองค์ว่า “เจ้าปักกิ่ง” ให้ตั้งวังอยู่ ณ สวนมังคุด กรมพระราชวังหลัง กับกรมหลวงทั้งสองพระองค์นี้ เป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่
เจ้าตันราชนัดดาซึ่งเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยนั้น โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าลาพระอนุชาต่างพระมารดาของพระองค์นั้น โปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา นายกวดมหาดเล็กสามีเจ้ากุอันเป็นพระกนิษฐภคินีต่างพระมารดาของพระองค์นั้น โปรดตั้งเป็นพระองค์เจ้ากรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ สำหรับพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษานั้น ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ให้เสด็จอยู่ ณ บ้านหลวงที่วังเดิม พระราชทานเครื่องราชูปโภคมีพานพระศรีทองเป็นต้นโดยควรแก่ยศถาบรรดาศักดิ์ทุกพระองค์
* เมื่อทรงสถาปนาบรรดาศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรัสให้สึกพระรัตนมุนีแก้ว กับพระพนรัตนทองอยู่ออกจากเพศบรรพชิต ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน แล้วตั้งให้นายแก้วรัตนมุนีเป็นพระอาลักษณ์ตามเดิม ให้มีหน้าที่ขนานพระนามเจ้าต่างกรมทั้งนั้น นายทองอยู่พนรัตนนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรเอาตัวไปลงพระอาชญาเฆี่ยนร้อยที ทั้งนี้ด้วยเคยมีความผิดกับพระองค์มาแต่ก่อน เฆี่ยนเสร็จแล้วจะให้ประหารชีวิตเสีย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขอชีวิตไว้แล้วเอามาตั้งเป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์อยู่ในกรมมหาดไทย
 จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดตั้งแต่งข้าราชการเก่าและข้าหลวงเดิมทั้งปวงตามที่มีความดีความชอบมากและน้อยโดยควรแก่ฐานานุศักดิ์ดังต่อไปนี้
ตรัสให้พระอักขระสุนทร เสมียนตรามหาดไทยข้าหลวงเดิม เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธว่าที่สมุหนายก ให้พระยาทุกขราษฎร์เมืองพระพิษณุโลก เป็นเจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหกลาโหม ให้พระยาพิพัฒโกษา เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ให้พระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นเจ้าพระยายมราช ให้เสมียนปิ่นข้าหลวงเดิม เป็นเจ้าพระยาพลเทพ ให้พระยาธรรมาธิบดี เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาว่ากรมวังอยู่ตามเดิม ให้นายบุนนากแม่ลาซึ่งเป็นต้นคิดทำการปราบจลาจลในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเจ้าพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชผู้รักษากรุงเก่า ให้เสมียนหงส์ข้าหลวงเดิม เป็นพระยาเพชรพิชัย ให้พระยาราชนิกูลเป็นพระยามหาอำมาตย์ ให้ขุนไชยเสนีข้าหลวงเดิม เป็นพระยาราชนิกูล ให้หม่อมบุนนากทนายข้าหลวงเดิม เป็นพระยาอุทัยธรรม ให้พระราชประสิทธิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒ ให้พันพุฒอนุราช เป็นพระยาราชสุภาวดี ให้พระยาชลบุรี เป็นพระยาราชวังสัน ให้เสมียนปานข้าหลวงเดิม เป็นพระยาประชาชีพ ให้นายบุญจันทรบ้านถลุงเหล็ก ข้าหลวงเดิม เป็นพระยากำแพง ให้พระยาอินทรอัครราช อุปราชเก่าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระยาราชวังเมือง ให้ขุนสิทธิรักษ์ข้าหลวงเดิม เป็นพระยาศรีสุริยพาห ให้เสมียนสาข้าหลวงเดิม เป็นพระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ให้เสมียนเปิ่นข้าหลวงเดิม เป็นอักขระสุนทรเสมียนตรามหาดไทย ให้พระยาเจ่งรามัญ เป็นพระยามหาโยธา ว่ากองมอญทั้งสิ้น แล้วทรงตั้งผู้มีความชอบทั้งปวงเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้ในในกรุงครบหมดทุกตำแหน่ง
 สำหรับพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งห่างไกลออกไปนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นเจ้าราชนิกูลคือ
ให้หม่อมทองด้วง เป็นพระฦๅราชสุริยวงศ์ ให้หม่อมเงิน เป็นพระบำเรอราช ให้หม่อมฮวบ เป็นพระอนุรุทธเทวา ให้หม่อมทองคำ เป็นพระราชานุวงศ์
จากนั้นก็ตั้งผู้มีความชอบ ออกไปเป็นพระยา พระ หลวง ครองหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงทุก ๆ เมือง”
** บุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับแต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเหล่านี้ ต่อมาได้มีบทบาทในหน้าที่ราชการ และเป็นต้นตระกูลวงศ์ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากบ้างน้อยบ้างตามฐานานุรูป จดจำกันไว้บ้างก็ดีนะครับ หลังจากแต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งตามโบราณราชประเพณีแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ทะนุบำรุงพระศาสนา -
แต่งตั้งฝ่ายอาณาจักรเป็นหลักฐาน จึงจัดด้านพุทธจักรศาสนา ด้วยพระสงฆ์ส่ำสอนคลอนศรัทธา คือพร้อมพาธรรมไปตามใจคน
ประจบประแจงคฤหัสถ์วิบัติศีล ยอมกราบตีนพระเจ้าตากสินมากหน ผิดทั้งศีลและธรรมตำแหน่งตน ทรงล้างผลงานงานเก่าเจ้าแผ่นดิน
ให้พระดีสามองค์กลับคงยศ เคยถูกปลดตำแหน่งใดให้คืนถิ่น ทรงยกย่องว่าสะอาดปราศมลทิน ให้สงฆ์สิ้นเชื่อฟังคำสั่งการ |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเปิดวางให้อ่านรายละเอียดการสถาปนา แต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ภายหลังจากขึ้นเสวยราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นทุกพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บุคคลสำคัญที่ควรจะนำมากล่าวย้ำในที่นี้อีกครั้ง คือ
 ทรงสถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) พระอนุชาธิราชเป็นมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง โปรดให้ตั้งพระราชวัง ณ ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาฟากทิศตะวันออก ด้านเหนือพระบรมมหาราชวัง (คือที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และสนามหลวงในปัจจุบัน) สถาปนาพระยาสุริยอภัย เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ภายหลังทรงเลื่อนขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข ฝ่ายหลัง (วังหลัง) ให้ตั้งพระราชวังที่สวนลิ้นจี้ในเมืองฟากตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย (คือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน) สถาปนาพระยาอภัยสุริยา เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร โปรดให้ประทับอยู่ ณ พระราชวังเก่าพระเจ้าตากสิน (พระราชวังเดิม) สถาปนาหลวงนายฤทธิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ ซึ่งคนทั้งหลายเรียกพระองค์ว่า “เจ้าปักกิ่ง” เพราะพระเจ้าตากสินทรงตั้งให้เป็นราชทูตไปปักกิ่งก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สถาปนาพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ซึ่งปีนั้นมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ให้ประทับ ณ บ้านหลวงที่วัง
ส่วนบุคคลอื่นๆที่มีความสำคัญลดหลั่นกันลงมา มีรายละเอียดดังได้แสดงมาแล้ว ขออนุญาตไม่นำมากล่าวซ้ำในที่น้นะครับ เชิญท่านอ่านความในพระราชพงศาวดารฯ ต่อไปครับ
 * “ทางฝ่ายพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรนั้นก็มีพระราชบัณฑูรโปรดตั้งแต่งขุนนางข้าราชการวังหน้าโดยควรแก่ความชอบตามลำดับฐานาศักดิ์ดังต่อไปนี้คือ
ให้พระยาพลเทพเดิม เป็นสมเด็จเจ้าพระยา ให้พระชัยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยากลาโหมราชเสนา ให้พระพลเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาจ่าแสนยากร ให้หม่อมสดทนายข้าหลวงเดิม เป็นพระยามนเทียรบาล ให้นายทองอินข้าหลวงเดิมเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก
แล้วตั้งแต่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยครบตำแหน่งในวังหน้าทั้งสิ้น
สำหรับหม่อมเรือง ชาวเมืองชลบุรีข้าหลวงเดิมนั้นเป็นคนสนิทเหมือนเชื้อพระวงศ์ จึงโปรดตั้งให้เป็นที่เจ้าราชนิกูลมีชื่อว่าพระบำเรอภูธร
 จากนั้นเสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลว่า บรรดาบุตรชายน้อย ๆ ของพระเจ้าตากสิน จะขอรับพระราชทานเอาใส่เรือไปล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยอยู่ในเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์พระราชนัดดา จึงดำรัสขอชีวิตไว้ทั้งสิ้นด้วยกัน และยังโปรดให้ปล่อยหม่อมฮั้น หม่อมส่อนหอกลางออกจากเวรจำให้พ้นโทษ
 วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)) ในปีขาล จัตวาศกนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษากับกรมพระราชวังบวรว่า ทางฝ่ายอาณาจักรนั้นเราได้จัดแจงตั้งแต่งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว ต่อไปควรจัดแจงฝ่ายพระพุทธจักรทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป จึงดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม ที่พระเจ้าตากสินลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะนั้น โปรดให้กลับคืนคงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า และให้คืนไปครองพระอารามเดิม ทรงสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าเจ้าทั้งสามองค์นี้มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคงดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่กายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพบูชา แม้นมีข้อสงสัยใดในพระบาลีไปภายหน้าจะได้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ว่าอย่างนี้แล้ว และพระราชาคณะอื่น ๆ จะว่าอย่างหนึ่งไป ก็คงเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ซึ่งจะเชื่อถ้อยฟังคำพระราชาคณะอื่น ๆ ที่พวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นจิตใจเสียแล้ว
 วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร) จากนั้นก็โปรดให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่ และวัดโพธารามเข้ามาบิณฑบาตในพระราชวังหลวงทั้งสองพระอาราม โดยให้ผลัดเวรกันวัดละเจ็ดวัน ให้รื้อพระตำหนักทองของพระเจ้าตากสินไปปลูกเป็นกุฎีถวายสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดบางหว้าใหญ่
* ท่านผู้อ่านครับ ผมนำรายพระนามและนามพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่โปรดตั้งแต่มาแสดงให้ท่านฟังก็เพื่อให้รู้จักบุคคลต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารบ้านเมืองตามพระยุคลบาท จำไว้ก็ไม่หนักอะไรหรอกครับ ส่วนพระมหาเถระที่ถูกพระเจ้าตากสินลงโทษนั้นก็กลับได้รับตำแหน่งตามเดิม สำหรับพระเถระที่พระเจ้าตากสินทรงตั้งแต่งไว้นั้นจะมีผลเป็นอย่างไร วันนี้ยังไม่นำมาให้อ่าน เพราะข้อความยาวไป บางท่านอ่านแล้วตาลาย และบางท่านก็เวียนหัวด้วย วันพรุ่งนี้ค่อยอ่านต่อก็แล้วกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- จัดการปกครองคณะสงฆ์ -
คดีธรรมกำหนดตั้งยศศักดิ์ ปรับภาพลักษณ์สงฆ์ไทยหลายสถาน แม้พระมอญในไทยไร้อาจารย์ พระราชทานให้เด่นเช่นสงฆ์ไทย |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวความตามในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจัดแจงฝ่ายอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงหันมาเริ่มจัดแจงทางฝ่ายพุทธจักร โดยให้พระมหาเถระที่พระเจ้าตากสินลงโทษถอดออกจากตำแหน่งนั้นมากลับดำรงตำแหน่งตามเดิม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป จะขอเก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
“สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม ที่ถวายพระพรพระเจ้าตากสินว่า พระสงฆ์ปุถุชนกราบไหว้ฆราวาสที่เป็นพระโสดาบันไม่ได้ เป็นเหตุให้พระเจ้าตากสินทรงขัดเคืองแล้วให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และลงโทษกักกันไว้ ณ วัดหงส์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นพระดีที่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พ้นโทษและคืนดำรงตำแหน่งเดิม และกลับสู่สำนักเดิมทั้งหมด
 วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร จากนั้นดำรัสว่า สมเด็จพระสังฆราชชื่นวัดหงส์ ที่พระเจ้าตากสินทรงตั้งขึ้นใหม่นั้นเป็นพวกอาสัตย์ สอพลอพลอยว่าไปตามนายแก้วนายทองอยู่ มิได้เป็นตัวต้นเหตุ แต่มีความรู้พระไตรปิฎกมาก หากจะให้สึกเสียก็เป็นที่น่าเสียดาย ในระหว่างนั้นตำแหน่งพระวันรัตนว่างอยู่ จึงโปรดให้ถอดตำแหน่งพระสังฆราชชื่นเสีย แล้วให้ตั้งเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี ว่าที่พระวันรัตน ส่วนพระราชาคณะที่ว่าตามนายแก้วนายทองอยู่นั้นก็เพราะกลัวพระราชอาชญาพระเจ้าตากสิน หาได้มีความจริงใจในการกล่าวไม่ จึงทรงพระกรุณาให้ยกโทษเสียทั้งสิ้น
 วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สำหรับนามว่าพระธรรมโคดมนั้นต้องกับพระนามพระสัพพัญญูเจ้า จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่ แล้วโปรดให้พระเทพกวี เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมอุดม ให้พระธรรมโกศา วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) เป็นพระเทพกวี ให้มหานากเปรียญเอก วัดบางหว้าใหญ่ (ระฆังโฆสิตาราม) เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ให้มหาเรืองข้าหลวงเดิม อยู่วัดบางหว้าใหญ่เป็นพระเทพมุนี ให้มหาเกสรเปรียญโท วัดโพธาราม (พระเชตุพนฯ) เป็นพระญาณสิทธิอยู่ในวัดเดิมทั้งสิ้น
 วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทรารามวรวิหาร) ส่วนชื่อพระอุบาลีนั้นต้องกับนามพระอรหันต์จึงดำรัสให้แปลงนามเสียใหม่ ให้มหามีเปรียญเอกวัดเลียบ (ราชบูรณะ)เป็นพระวินัยรักขิตแทนชื่อพระอุบาลี พระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) นั้นชราภาพอาพาธแล้วมรณภาพลง ทรงพระกรุณาให้ทำฌาปนกิจ แล้วให้นิมนต์พระเทพมุนีวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ไปครองวัดบางหว้าน้อยแทน แล้วให้เลื่อนพระพรหมมุนีวัดบางหว้าใหญ่เป็นพระพุฒาจารย์ ให้มหาทองดีเปรียญเอกวัดหงส์ (รัตนาราม) เป็นพระนิกรมไปครองวัดนาค (พระยาทำ) โปรดให้พระครูสิทธิเทพาธิบดี พระครูศรีสุนทราษรวิจิตร เป็นตำแหน่งคู่สวดในสมเด็จพระสังฆราชไปอยู่วัดกลาง (น่าจะเป็นวัดอินทาราม บางยี่เรือนอก)
 สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน วัดพลับ (วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร) ให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอยคลองตะเคียนแขวงกรุงเก่า มาอยู่ครองวัดพลับ (ราชสิทธาราม) แล้วตั้งให้เป็นพระญาณสังวรเถร (ต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน) ให้พระอาจารย์วัดสมอราย (ราชาธิวาส) เป็นพระปัญญาวิสารเถร ให้พระญาณไตรโลกวัดเลียบ (ราชบูรณะ) เลื่อนเป็นพระพรหมมุนี
 วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) สำหรับหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการีขวา ซึ่งเป็นพระพิมลธรรมสมัยพระเจ้าตากสิน และถูกข้อหาอทินนาทานนั้น ทรงแคลงพระทัยอยู่ จึงให้ไต่สวนหาความจริงดูใหม่ ผลก็ออกมาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้ต้องปาราชิกตามข้อกล่าวหา จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กลับมาบวชใหม่แล้วตั้งให้เป็นพระญาณไตรโลกอยู่วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์) ให้มหามีปากแดงเปรียญเอกวัดคอกกระบือ (ยานนาวา) เป็นพระโพธิวงศ์
ในส่วนพระราชาคณะฝ่ายรามัญนั้นยังไม่มี จึงให้หาพระเถระรามัญผู้มีความรู้พระวินัยปริยัติได้สามองค์ แล้วทรงตั้งให้เป็นพระสุเมธาจารย์องค์หนึ่ง พระไตรสรณธัชองค์หนึ่ง พระสุเมธน้อยองค์หนึ่ง
 วัดตองปุ (วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร) และในยามนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ทรงสร้างพระอารามใหม่ขึ้นวัดหนึ่งให้นามว่าวัดตองปุ (วัดชนะสงครามในปัจจุบัน) นิมนต์พระสงฆ์ชาวรามัญมาอยู่ จึงให้พระสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาราม
 วัดบางหลวง (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) พระไตรสรณธัชนั้นโปรดให้อยู่วัดบางหลวง (โมลีโลกยาราม) เป็นเจ้าคณะรามัญแขวงเมืองนนทบุรีและเมืองสามโคก
 วัดบางยี่เรือใน (วัดราชคฤห์วรวิหาร) พระสุเมธน้อยนั้นให้เป็นเจ้าอารามวัดบางยี่เรือใน (ราชคฤห์)”
 พระอาจารย์สุข (สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน) * ท่านผู้อ่านครับ รายนามพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการตั้งพระสมณะศักดิ์ ให้ประจำอยู่ในอารามต่าง ๆ นั้น มีพิเศษอยู่องค์หนึ่ง คือองค์ที่นิมนต์มาจากวัดท่าหอยกรุงเก่านั้น คือ พระอาจารย์สุข (หรือ สุก) เป็นพระผู้ชำนาญในวิปัสสนากรรมฐาน จึงทรงตั้งสมณะศักดิ์ว่า “ญาณสังวรเถร” เป็นราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีเรื่องเล่ากันเป็นตำนานว่า ท่านมีเมตตาธรรมล้ำลึก สามารถเลี้ยงสัตว์ที่ดุร้ายให้เป็นสัตว์เชื่อง ไม่ดุร้ายได้ แม้แต่ไก่เถื่อน (ไก่ป่า) ที่เลี้ยงไม่ได้ ท่านก็สามารถเลี้ยงให้เชื่องเหมือนไก่บ้าน โดยท่านเสกข้าวให้กินแล้วเชื่องหมด (มีคาถาหัวใจไก่เถื่อนเสกว่า “เวทาสากุ กุสาทาเว” (ว่า ๓ ครั้ง) ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช คนทั่วไปเรียกท่านว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน” พระนาม “ญาณสังวร” ของท่านหลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีการสถาปนาพระภิกษุรูปใดใช้พระนามนี้อีกเลย
 พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวัฒโน) (สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๙) จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเห็นว่า พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวัฒโน) มีคุณธรรมสูงสมควรแก่พระนามนี้ จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” และแม้ต่อมา สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ทรงให้ใช้พระนามนี้จนถึงสิ้นพระชนม์ ดังนั้นนาม “ญาณสังวร” จึงมีพระภิกษุไทยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงนามนี้เพียง ๒ รูป คือพระอาจารย์สุข วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กับ พระสาสนโสภณ (เจริญ) วัดบวรนิเวศฯ) เท่านั้น
พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขั้ผึ้งไทย ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 วัดอินทารามวรวิหาร - จัดการคณะสงฆ์ลงตัว -
เรื่องยุ่งยุ่งมีอยู่ในหมู่สงฆ์ จึงต้องทรงดูแลเข้าแก้ไข เมื่อภิกษุเหยียบย่ำธรรมวินัย คณะสงฆ์จงใจไม่เอาภาร
ต้องอาศัยอำนาจราชอาณาจักร เข้าไปซักฟอกกวาดสะอาดสะอ้าน “อลัชชี”ที่ทรามตามสันดาน ต้องใช้การลงโทษกฎหมายเมือง |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำเรื่องราวตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงให้เห็นถึงการจัดแจงงานด้านพุทธจักร มีการแต่งตั้งและถอดถอนสมณะศักดิ์พระเถระระดับราชาคณะ และให้ดำรงตำแหน่งปกครองดูและพระอารามต่าง ๆ ไปส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องราวยังไม่จบสิ้นนะครับ วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมกันดังต่อไปนี้
“ อนึ่ง ในแผ่นดินพระเจ้าตากสินนั้น ทรงให้พระราชาคณะฐานาเปรียญทั้งปวงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเหมือนข้าราชการฝ่ายฆราวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไม่เป็นการสมควร จึงทรงเปลี่ยนมาให้ถวายเงินเดือนเป็นนิตยภัตรทุก ๆ เดือน แต่พระธรรมธิราชมหามุนี (มหาเรือง) ถวายพระพรว่า จะทรงถวายเงินแก่พระสงฆ์นั้นไม่เป็นการสมควร เพราะถ้าพระสงฆ์รับเงินจะต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ด้วยเงินเป็นนิสสัคคียวัตถุ คือสิ่งที่ทำให้ภิกษุจับต้องหรือยินดีรับแล้วเป็นอาบัติ ต้องเสียสละแล้วจึงจะแสดงอาบัติตกไปได้
จึงทรงเปลี่ยนเป็นให้พ่อครัว (วิเสทนอก) แต่งสำรับคาวหวานไปถวายแก่พระราชาคณะและพระเปรียญในเพลาเช้าทุก ๆ พระอาราม แต่พระเทพมุนีกลับถวายพระพรว่า สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าจะเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำของสมเด็จเจ้าชื่นนั้นไม่ควรนัก ด้วยสมเด็จเจ้าชื่นองค์นี้เป็นคนอาสัตย์สอพลอ ทำให้แผ่นดินพระเจ้าตากสินฉิบหายเสียครั้งหนึ่งแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธว่า พระเทพมุนีมาเจรจาหยาบช้าแสร้งจะให้เหมือนแผ่นดินเจ้าตาก จึงดำรัสให้ถอดเสียจากพระราชาคณะ แล้วโปรดให้พระเทพโมลีวัดสังขจายเป็นพระเทพมุนีแทน และโปรดให้มหาศรีเปรียญเอกวัดพลับเป็นพระเทพโมลี
จากนั้นดำรัสว่า วัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) วัดท้ายตลาด (โมลีโลกยาราม) ทั้งสองพระอารามนี้แต่ก่อนเป็นวัดในพระราชวัง ไม่มีพระสงฆ์อยู่ จึงโปรดให้สร้างกุฎีเสนาสนสงฆ์ทั้งสองอาราม โปรดให้นิมนต์พระเทพโมลีวัดพลับกับพระสงฆ์อันดับมาอยู่วัดท้ายตลาด ให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระโพธิวงศาจารย์ ให้พระครูเมธังกรเป็นพระศรีสมโพธิ แล้วให้พระราชาคณะทั้งสองพร้อมพระอันดับจากวัดบางหว้าใหญ่ลงมาอยู่วัดแจ้ง วัดทั้งสองจึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำแต่นั้นมา และโปรดให้แจกกฎหมายประกาศ ห้ามมิให้พระสงฆ์ทั้งปวงรับวัตถุปัจจัยของทายกทายิกาต่อไป
ต่อมาพระพุฒาจารย์ศิษย์สมเด็จพระสังฆราชไปเข้ากับพระธรรมธิราราชมหามุนีวัดหงส์ แล้วปรึกษาเห็นพ้องกันว่าวัดนาคกลางมีอุปจารใกล้กันนักควรจะรวมสีมาเป็นอันเดียวกัน จึงควรจึงให้พระพุฒาจารย์นำความไปถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ประชุมพระราชาคณะปรึกษากัน ณ วัดบางหว้าใหญ่เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าควรมิควรประการใด
พระราชาคณะอันมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานได้ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า อารามทั้งสองนั้นมีคลองคั่นเป็นเขต ควรจะมีพัทธสีมาต่างกันได้ ด้วยมีตัวอย่างมาแต่โบราณ ครั้งกรุงเก่านั้นพระอารามก็ใกล้ ๆ กัน มีอุโบสถพัทธสีมาต่าง ๆ กัน มีมาแต่ก่อนเป็นอันมาก ซึ่งจะว่าเป็นพัทธสีมาอันเดียวกันนั้นมิชอบ พระธรรมธิราราชมหามุนี กับ พระพุฒาจารย์ ผู้เสนอเรื่องนี้จึงแพ้ในที่ประชุมใหญ่ของพระราชาคณะ ราชบุรุษนำความเข้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าอยู่หัวทรงพิโรธว่าพระพุฒาจารย์เจรจาอวดรู้กว่าผู้ใหญ่ จึงให้ถอดเสียจากพระราชคณะ ซ้ำสมเด็จพระสังฆราชยังประกาศเรียกว่า มหาอกตัญญู มิได้นับถือถ้อยคำชีต้นอาจารย์ตน ไปเข้าด้วยพวกวัดหงส์
อยู่มามินานพระปลัดจันทร์ซึ่งเป็นปลัดของพระรัตนมุนีแก้ว มาฟ้องว่า พระธรรมธิราราชมหามุนีผู้ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวห้ามมิให้พระสงฆ์รับวัตถุปัจจัยนั้น บัดนี้ได้เอาผ้าส่านซึ่งทรงถวายเป็นบริขารเครื่องยศนั้นไปขายแก่พระศุภรัตถีได้มูลค่าแปดตำลึง สมเด็จพระสังฆราชจึงให้ราชบุรุษนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ
เมื่อทรงทราบความนั้นแล้วจึงดำรัสให้พระยาพระเสด็จเป็นตุลาการชำระคดี พิจารณาสืบสวนได้ความสัตย์สมจริงตามคำฟ้อง ทรงพระพิโรธดำรัสให้พระสังฆราชพิพากษาลงโทษพระธรรมธิราราชมหามุนี โดยลงทัณฑกรรมให้ขนทรายห้าร้อยตะกร้า แล้วให้ลดยศลงมาเป็นพระธรรมไตรโลก แล้วโปรดเลื่อนพระธรรมเจดีย์วัดสลักขึ้นเป็นพระวันรัตนแทน ให้พระญาณสมโพธิวัดหงส์เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมเจดีย์
ลำดับนั้นพระปลัดจีนวัดนาคมาฟ้องว่าพระนิกรมเจ้าอาวาสวัดนั้นจูบผ้าห่มนางฉิมภรรยาพระมหานุภาพ สมเด็จพระสังฆราชให้ราชบุรุษนำความขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อทรงทราบแล้วจึงให้พระยาพระเสด็จชำระคดี ได้ความเป็นความจริงแล้วจึงให้สึกเสีย แต่กรมพระราชวังบวรทูลขอไว้โดยให้เหตุผลว่า เพียงแค่จูบผ้าห่มสตรีเท่านั้นศีลยังไม่ขาด พระเจ้าอยู่หัวจึงให้ถอดพระนิกรมเสียจากพระราชาคณะไล่ออกจากวัด ให้ไปอาศัยอยู่กับพระสุเมธน้อยวัดบางยี่เรือใน (ราชคฤห์) ให้มหาเรืองเทพมุนีที่ถูกถอดไปนั้นเป็นพระโกศาครองวัดบางหว้าน้อยดังเก่า ให้อาจารย์เป้าเปรีญเอกแต่ครั้งกรุงเก่าลงจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมา ตั้งให้เป็นพระพุฒาจารย์ครองวัดบางยี่เรือใต้ (อินทาราม)
แล้วประกาศยกเลิกกฎหมายที่ห้ามพระสงฆ์รับวัตถุปัจจัยนั้นเสีย ทรงถวายเงินตราเป็นค่าบิณฑบาตปัจจัยแก่พระราชาคณะเปรียญทุก ๆ พระอารามเป็นนิตยภัตทุก ๆ เดือนมิได้ขาด.”
** ท่านผู้อ่านครับ อ่านพระราชพงศาวดารฯมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์มีเรื่องวุ่นวายที่จัดการกันเองไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจัดการจึงจะได้ ฝ่ายอาณาจักรกับพุทธจักรจำเป็นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในด้านพระธรรมวินัย เป็นเรื่องของพระสงฆ์ แต่เรื่องความผิดพระธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ฝ่ายอาณาจักรต้องเข้าไปจัดการแก้ไข เพราะพระสงฆ์ไม่มีพลังอำนาจอะไรที่จะจัดการแก้ไขได้ ดังเรื่องในอดีตตามความในพระราชพงศาวดารฯ นี้แหละครับ
เมื่อทรงจัดการการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ต่อไปจะทรงดำเนินการอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อก็แล้วกัน.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศ -
กลับกล่าวทางฝ่ายราชอาณาจักร ทรงเปลี่ยนหลักการใหม่ในหลายเรื่อง “พระยาปังกลิมา”น่าแค้นเคือง ที่พลันเปลื้องปลดแอกแยกจากไทย
ให้จับมาทรมานประหารโหด แล้วทรงโปรดแต่งตั้งขุนนางใหญ่ พระยายมราชแบนแสนเกรียงไกร จึงตั้งให้ปกครองกัมพูชา
ในนาม“เจ้าพระยาอภัยภูเบศ” ปกครองเขตแดนเขมรโดดเด่นหล้า มีอำนาจเทียมทัดกษัตรา ช่วยรักษาเขตคามสยามยง |
อภิปราย ขยายความ.........................
เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่า ถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ ทรงจัดแจงการปกครองฝ่ายพุทธจักรเรียบร้อยไปแล้ว วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อไปครับ
 “ เมื่อทรงจัดแจงฝ่ายพุทธจักรเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศกลับออกไปครองเมืองพุทไธมาศ(เมืองเปี่ยมเขมร= ฮาเตียนเวียดนาม)ดังเก่า และทรงเห็นว่าเมืองพุทไธมาศนี้เป็นเมืองหน้าศึกใกล้กันกับแดนเมืองญวน จึงโปรดให้พระยาทัศดาออกไปช่วยราชการป้องกันเมืองด้วย
 กล่าวถึงพระยาปังกลิมาเจ้าเมืองกำปอด เมื่อรู้ข่าวว่ากรุงธนบุรีผลัดแผ่นดินใหม่ก็คิดกบฏแข็งเมืองไม่ยอมมาขึ้นเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเหมือนแต่ก่อน เมื่อพระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาบอกเข้ามากราบทูล จึงดำรัสให้มีตราออกไปให้พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาช่วยกันคิดอ่านหาวิธีจับตัวพระยาปังกลิมาส่งเข้ามากรุงเทพฯ
 พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาจึงยกทัพจากเมืองพุทไธมาศไปเข้าล้อมเมืองกำปอดและจับตัวพระยาปังกลิมาได้แล้วส่งมาถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้เอาตัวพระยาปังกลิมาไปตัดเท้าเสีย แล้วผูกขึ้นแขวนห้อยศีรษะลงมาเบื้องต่ำ กระทำประจานไว้ที่ป่าช้าวัดโพธาราม (พระเชตุพนฯ) นอกพระนครด้านตะวันออก จนถึงแก่ความตาย
ขณะนั้นเจ้าพระยาพระคลังมีความผิดในราชการร้ายแรงจึงทรงให้ถอดเสีย แล้วโปรดตั้งให้พระยาศรีอัครราชช่วยราชการในกรมท่า ดำรัสให้เอาพระยาพิพัฒโกษาเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลังแทน และให้เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีข้าหลวงเดิม เป็นเจ้าพระยาพิพัฒโกษา
 ทางฝ่ายกัมพุชประเทศนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปตั้งพระยายมราชเขมร (แบน) ผู้มีความชอบ เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศครองกรุงกัมพูชา แล้วให้ส่งเจ้าสี่องค์ราชบุตรนักพระอุทัยราชาเข้ามากรุงเทพฯ
เจ้าพระยาอภัยภูเบศ (แบน) เมื่อได้รับพระกรุณาแต่งตั้งแล้วจึงไปตั้ง ณ ตำบลอุดงลือชัย มิได้อยู่ที่เมืองพุทไธเพชร แล้วส่งราชบุตรของนักพระอุทัยราชาทั้ง ๔ องค์เข้ากรุงเทพฯ ตามรับสั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงนักพระองค์เองเป็นพระราชบุตรบุญธรรม แต่นักพระองค์มินนั้นถึงแก่พิราลัย พระองค์อีกับพระองค์เภาซึ่งเป็นหญิงทั้งสองนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรขอพระราชทานไปเลี้ยงไว้เป็นพระสนมอยู่ในพระราชวังหน้า
 ทางฝ่ายแผ่นดินมลาวประเทศหรือประเทศลาวนั้น เจ้าบุญสารพระเจ้าล้านช้างซึ่งหนีไปอยู่เมืองคำเกิดแต่คราวที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองยกทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้กลับมาล้านช้างแล้วจับพระยาสุโภผู้รักษาเมืองฆ่าเสียและเข้าตั้งอยู่ในเมือง
ท้าวเพี้ยขุนนางซึ่งไม่ยอมเข้าด้วยนั้นก็หนีลงมากรุงเทพฯ กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสโปรดให้เจ้านันทเสนราชบุตรซึ่งอยู่ ณ กรุงเทพฯ นั้น กลับไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบไป พระเจ้านันทเสนจึงกราบทูลขอพระราชทานพระบางซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมากรประจำกรุงศรีสัตนาคนหุตที่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์อัญเชิญมานั้นกลับคืนไปด้วย ก็ทรงพระราชทานให้ตามที่ขอ ครั้นเจ้านันทเสนกลับไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ไม่นาน เจ้าบุญสารผู้บิดาก็ถึงแก่พิราลัย เจ้านันทเสนกระทำฌาปนกิจพระศพแล้วก็ส่งเจ้าอินทร เจ้าพรหม และเจ้าน้องทั้งปวงลงมาถวาย ณ กรุงเทพฯ ให้ทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้
 ในปีขาลจัตวาศกนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบุตรราชบุตรี พระราชนัดดา ซึ่งยังทรงพระเยาว์นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทั้งสิ้น ในส่วนพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์นั้นพระราชทานพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศร์สมมุติวงศ์ พงศ์อิศวรราชกุมาร”
 * เมืองคำเกิดที่พระเจ้าบุญสารหนีไปอยู่นั้น ปัจจุบันคือ หลักซาว บอลิคำไซ อยู่ติดกับแขวงเชียงขวาง คำม่วน ทางหนึ่งติดญวน (เวียดนาม) ทางหนึ่งติดไทย เป็น “ลาวใต้” ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรเมืองหนึ่ง เหตุที่ทรงหนีไปอยู่เมืองนี้ เพราะสะดวกในการหนีต่อเข้าไปในญวนนั่นเอง
 * พระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอภัยธิเบศฯ พระองค์นี้ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินกับพระธิดาพระองค์ใหญ่(ชื่อฉิม) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติเมื่อคราวพระองค์ยังเป็นที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองลาวได้ และอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมา พระราชมารดาสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติได้เพียง ๑๒ วัน ครั้นพระชนม์ได้ ๓ พรรษา พระราชบิดาก็ถูกพระเจ้าตาสำเร็จโทษ เดิมมีพระนามว่า “เหม็น” แม้จะมีพระนามเป็นทางการว่า เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ คนทั่วไปก็เรียกว่า “เจ้าฟ้าเหม็น” และแม้จะพระราชทานพระนามใหม่ว่า “เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศ์สมมุติวงศ์” คนทั่วไปก็ยังเรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น อยู่นั่นเอง
* ฝ่ายพระยายมราชเขมร มีความชอบใหญ่หลวงจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศ ปกครองกัมพูชาทั้งประเทศ เรื่องราวทางกัมพูชาจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารฉบับนี้กันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ความต่างในพงศาวดาร -
พระราชพงศาวดารอื่น ซึ่งก็ยืนยันได้เรื่องไม่หลง รายละเอียดต่างกันความนั้นตรง เชิญอ่านพงศาวดารที่สรรมา |
อภิปราย ขยายความ........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงตอนที่ เจ้าบุญสาร พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัตนาคนหุต(ลาว ล้านช้าง) กลับจากเมืองคำเกิดและจับพระยาสุโภผู้รักษานครเวียงจันทน์ฆ่าเสีย แล้วตั้งอยู่ในเมือง ท้าวเพี้ยขุนนางส่วนหนึ่งหนีเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระกรุณาโปรดให้เจ้านันทเสนราชบุตรเจ้าบุญสารซึ่งอยู่ ณ กรุงเทพฯนั้นกลับไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้านันทเสนได้ทูลขออัญเชิญพระบางกลับไปล้านช้างตามเดิมด้วย ครั้นไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุตแล้วไม่นาน เจ้าบุญสารก็ถึงแก่พิราลัย หลังจากจัดการพระศพราชบิดาแล้วเจ้านันทเสนได้ส่งเจ้าอินทร เจ้าพรหม และเจ้าน้องทั้งปวงเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯให้ทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้
ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนที่ว่าด้วยการตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศนั้น ยังไม่ชัดเจนนัก จึงใคร่ขอนำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) ได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๒ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ๘๗ ปีแล้ว โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียบเรียงไว้ดังต่อไปนี้
 ภาพวาดองเชียงสือในปี พ.ศ.๒๓๒๖ ขณะอยู่ในกรุงเทพฯ * “จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕) ปีขาล จัตวาศก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ในครั้งนั้นพวกญวนไกเซินยกเข้าตีไซ่ง่อน องเชียงสือให้มาขอกองทัพเขมรไปช่วย สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ(มู) สมเด็จเจ้าพระยา(ชู) จึงให้พระยากลาโหม(ปา) คุมคนห้าพันไปช่วยองเชียงสือ พระยากลาโหม (ปา) ตายในที่รบ ณ ทุ่งป่ายุง เสียไพร่พลเป็นอันมาก องเชียงสือหนีลงเรือเข้ามาในเขตแดนกรุงเทพฯ ในเดือน ๘ ปีเดียวกันนั้น
สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสาบานของพระยายมราช (แบน) ได้มีหนังสือมาถึงพระยายมราช (แบน) ซึ่งเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯ ให้กราบบังคมทูลลาออกไปช่วยราชการ ด้วยจะให้คิดเอาเมืองเขมรมาขึ้นต่อกรุงเทพฯ ดังเก่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้พระยายมราช (แบน) ออกไปเมืองพระตะบอง สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) ทราบแล้วก็มีความยินดี รีบมารับพระยายมราช (แบน) ไปเมืองบันทายเพ็ชร แล้ววางแผนการศึกยกไปรบสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) กับพระยาจักรี (เปียง)
สมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) สู้ไม่ได้ก็หนีไปอยู่เมืองป่าสัก พระยาอาทิตยวงศา (ลวด) เจ้าเมืองป่าสักจับตัวได้จึงส่งให้สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) พระยายมราช (แบน) ก็ฆ่าเสีย พระยาจักรี (เปียง) หนีเข้าไปอยู่ในป่า เมื่อตามจับตัวได้ก็ฆ่าเสีย
ต่อมาถึงเดือนสิบสองแรมสิบห้าค่ำ พระยายมราชก็ลอบฆ่าสมเด็จเจ้าพระยา (ชู) เสีย เหตุจำต้องฆ่าเพื่อนร่วมน้ำสาบานนั้นก็เพราะว่า สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) เป็นคนทรยศทำร้ายเจ้านายตัวเอง
จากนั้นพระยายมราชแบนก็ฆ่าขุนนางที่ทำร้ายสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นนท์) เสียทั้งหมด แล้วก็ยกตัวเองขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ และตั้งขุนนางพรรคพวกของตนขึ้นเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่ง ให้พระยาจักรี (แกบ) ไปจับพระยาเดโช (แทน) ที่เมืองกระพงสวาย พระยาเดโชหนีไปเมืองจำปรัง ฝ่ายพระยามหาเทพ พระยาวรชุน กับพวกแขกจามเมืองตะบงคะมุม ร่วมคิดกันยกทัพเรือมาเมืองพนมเพ็ญ หมายจะจับพระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม(ปก) ฆ่าเสีย
พระยายมราช (แบน) พระยากลาโหม (ปก) เห็นจะสู้ไม่ได้ เพราะยังไม่ทันได้เตรียมตัว ก็พาพระท้าวสองนางผู้เป็นกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ราชา(นักองค์ตน) กับพระเรียมสามนางผู้เป็นบุตรี และนักองเองโอรสสมเด็จพระนารายณ์ราชา พร้อมกับกวาดต้อนครอบครัวเขมรเข้ารีดประมาณ ๕๐๐ คน ลงเรือหนีมาขึ้นที่เมืองพระตะบองแล้วเลยเข้ามากรุงเทพฯ
ในปีนั้น นักพระองเองมีพระชนม์ได้ ๑๐ พรรษา ส่วนนักองเมนป่วยถึงแก่พิราลัยเสียก่อน ยังเหลือพระเรียมสององค์คือ นักองอี นักองเภา ทั้งสองพระเรียมนี้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ทูลขอไปเป็นพระสนมเอก นักองเองนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรม โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กับพระท้าวสองนางและพระยากลาโหม (ปก) พี่เลี้ยง ณ ตำบลคอกกระบือ เขมรเข้ารีดพวกออกญาแป้น ออกญานวน นั้นให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดสมอราย สำหรับพระยายมราช (แบน) นั้น ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร วิเศษสงคราม รามนรินทรบดี อภัยพิริยปรากรมพาห”
* ความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองนพรัตน์ ราชบุตรสมเด็จพระนโรดม แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ มีความคล้ายกันกับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ แต่ชื่อของสมเด็จเจ้าพระยาต่างกัน คือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า สมเด็จเจ้าพระยามีชื่อเดิมว่า ชู แต่ นักองนพรัตน์ว่ามีชื่อเดิมว่า โสร์ พระยายมราช เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่ามีชื่อเดิมว่า แบน แต่นักองนพรัตน์ว่ามีชื่อเดิม แป้น ส่วนเจ้าฟ้าทะละหะนั้นมีนามเดิมตรงกันคือ มู พระยาจักรีนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าเดิมชื่อ เปียง แต่นักองนพรัตน์ว่าชื่อ เบียง
นักองนพรัตน์ว่า พระเยาจักรีเบียงกับเจ้าฟ้าทละหะมูอยู่คนละแห่ง เจ้าพระยาจักรีนั้นถูกจับได้และประหารชีวิตไปก่อน ส่วนเจ้าทะละหะมูซึ่งอยู่ที่โพธิกำบอ รู้ข่าวก็หนีไปเมืองป่าสัก ออกญาอธิกรวงษา สัวะซ์ จับตัวได้ก็ส่งให้สมเด็จเจ้าพระยาโสร์กับพระยายมราชแป้น แล้วถูกประหาร
พระโอรสพระธิดาสมเด็จพระนารายณ์ราชา(นักองค์ตน) มีชื่อต่างกันอยู่องค์หนึ่ง คือ พระธิดาที่เสียชีวิตไปก่อนนั้น พระราชพงศาวดารฉับพระราชหัตถเลขาว่ามีชื่อ นักพระองค์มิน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าชื่อ พระองเมน แต่นักองนพรัตน์ว่าชื่อ นักองเม็ญ ทั้งสามพระเรียมล้วนเป็นพระพี่นางของนักองค์เอง ตอนที่เข้ามากรุงเทพฯ นั้นเริ่มเป็นสาวรุ่นวัยกำดัดแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงทูลขอไปเป็นพระสนมเอก
สำหรับพระยายมราชแป้นนั้น นักองนพรัตน์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งให้เป็น เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ ไม่ใช่ อภัยภูเบศร ความนอกนั้นตรงกันกับที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียบเรียงไว้ทุกประการ”
** เห็นไหมครับ ความในพระราชพงศาวดารแม้จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่รายละเอียดมักจะแตกต่างกัน ในพระราชหัตถเลขาว่า พระยายมราช (แบน) ซึ่งเป็นชาวเขมร เข้าช่วยรบกับกองทัพสยามคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปปราบเขมร แล้วเจ้าพระยาสุรสีห์มอบหมายให้พระยายมราช (แบน) คุมกองกำลังล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยากำแหงสงครามไว้ ณ เมืองพุทไธเพชร ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศ ปกครองกัมพูชา เป็นประเทศราชแห่งสยาม
 ภาพวาดจักรพรรดิซาลอง (องเชียงสือ) ที่แพร่หลายในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนาม แต่ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองนพรัตน์ กล่าวว่า เกิดความวุ่นวายขึ้นในญวน-เขมร โดย ญวนไกเซินยกลงมาตีเมืองไซ่งอน องเชียงสือขอกำลังจากเขมรไปช่วย แต่ก็พ่ายแพ้แก่ญวนไกเซิน องเชียงสือหนีเข้ามาในเขตแดนสยาม สมเด็จเจ้าพระยา (ชู) เพื่อนสนิทของพระยายมราช (แบน) มีหนังสือมาขอให้พระยายมราช (แบน) ซึ่งขณะนั้นเข้ามาอยู่ ณ กรุงเทพฯให้กราบบังคมลาออกไปช่วยคิดการโค่นล้มพวกสมเด็จเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เมื่อสำเร็จแล้วจะเอากัมพูชามาขึ้นต่อกรุงสยามดังเดิม พระยายมราช (แบน) กราบบังคมลาออกไปเมืองพระตะบอง แล้วร่วมคิดกับสมเด็จเจ้าพระยา (ชู) จนยึดครองกัมพูชาได้สำเร็จ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดฯตั้งให้เป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศฯ ปกครองกัมพูชา ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ และกรุงกัมพูชา ดังได้แสดงแล้ว ค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจให้ดี อย่าสับสนนะครับ
ตอนนี้มีพระราชพงศาวดารมาช่วยฉบับพระราชหัตถเลขาเพิ่มขึ้นอีกคือ ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- พม่าแย่งชิงอำนาจกันวุ่น -
เมืองพม่าเกิดกบฏซ้อนกบฎ ตำแหน่งยศอำนาจวาสนา “อะแซหวุ่นกี้”ที่ได้เป็นราชา ก็ถูกฆ่าสิ้นกรรมเพียงข้ามคืน
แล้ว“ปดุง”โดดเด่นขึ้นเป็นใหญ่ ยึด“ยะไข่”เด็ดขาดไม่อาจขืน เสวยอำนาจราชบัลลังก์ดูยั่งยืน พม่ากลืนรามัญหมดทันที |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดาร ๓ ฉบับมาบอกเล่าถึงเรื่องราววุ่นวายในกัมพูชา พระยายมราช (แบน) จากเมืองไทยกลับเข้าไปมีบทบาทสำคัญ แล้วได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามให้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศ (ซึ่งทางเขมรเรียกว่า เจ้าพระยาอภัยธิเบศ) ได้ส่งพระธิดาพระโอรสนักพระอุทัยราชาเข้ามากรุงเทพฯ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงขอพระธิดาทั้งสององค์ไปเป็นพระสนม ส่วนพระโอรสคือนักองเองนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงไว้ในฐานะพระราชบุตรบุญธรรม วันนี้มาดูเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ
 “ในปีฉลู ตรีศกนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินพม่า กล่าวคือ พระเจ้าจิงกูจาซึ่งเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้ามังระผู้บิดานั้น ยกพลจากกรุงรัตนบุระอังวะขึ้นไปนมัสการพระสิหด่อซึ่งอยู่ทางเหนือระยะทางเดินจากอังวะไปเป็นเวลา ๕ คืน
 ขณะนั้นมังหม่องราชบุตรพระเจ้ามังลอกบวชเป็นสามเณรอยู่ ได้ซ่องสุมผู้คนเป็นอันมากแล้วสึกออกมาเป็นกบฏเข้าปล้นชิงเอาเมืองอังวะได้แล้วเชิญอาทั้งสามคือ ตะแคงปดุง ตะแคงปคาน ตะแคงแปลตแล มาพร้อมกันแล้วมอบราชสมบัติให้ แต่อาทั้งสามไม่ยอมรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มังหม่องจึงครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอังวะเสียเอง แล้วไปขอบุตรีอะแซหวุ่นกี้มาเป็นมเหสี
 พวกข้าไทมังหม่องนั้นเป็นคนหยาบช้าเที่ยวข่มเหงอาณาประชาราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นอะแซหวุ่นกี้จึงคิดการกบฏ เพลาเย็นวันหนึ่ง ขณะที่มังหม่องกำลังเสวยอาหารอยู่ อะแซหวุ่นกี้ก็พาพรรคพวกเข้าไปในพระราชวังแล้วจับตัวมังหม่องประหารชีวิตเสียหลังจากที่มังหม่องเสวยราชสมบัติได้เพียง ๗ วัน แต่อะแซหวุ่นกี้ก็นั่งเมืองได้เพียงคืนเดียวเท่านั้น เพราะตะแคงปดุง ตะแคงปคาน ตะแคงแปงตแล ร่วมกับขุนนางทั้งปวงยกเข้าปล้นเอาพระราชวังได้แล้วจับอะแซหวุ่นกี้ประหารเสีย
 จากนั้นขุนนางทั้งปวงก็เชิญตะแคงปดุงขึ้นเสวยราชสมบัติ ณ เมืองอังวะ พระเจ้าปดุงจึงตั้งตะแคงอินแซะราชบุตรองค์ใหญ่ เป็นมหาอุปราช ให้มหาศีลวอำมาตย์ กับจอกตลุงโบ่เป็นนายทัพเรือ ๕๐ ลำ กำลังพล ๒,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปจับกุมตัวพระเจ้าจิงกูจาซึ่งขึ้นไปไหว้พระสิหด่อได้พร้อมทั้งบุตรภรรยาและบริวาร ทรงให้เอาตัวพระเจ้าจิงกูจาไปประหารด้วยการถ่วงน้ำเสีย พระเจ้าจิงกูจาอยู่ในราชสมบัติได้ ๖ ปีเศษก็สิ้นพระชนม์
 องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๑ วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง) ส่วนเหตุการณ์ทางเมืองญวนนั้นปรากฏว่า องไก่เซินเจ้าเมืองกุยเยิน ยกกองทัพไปตีไซ่ง่อน องเชียงสือเจ้าเมืองยกพลออกต่อต้าน แต่สู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย พาบุตรภรรยาและบริวารลงเรือแล่นหนีมาทางทะเล แล้วขึ้นอาศัยเกาะโดดหน้าเมืองพุทไธมาศ พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดาได้ทราบดังนั้นจึงส่งคนไปเกลี้ยกล่อม ได้ตัวองเชียงสือกับพรรคพวกทั้งสิ้นแล้วส่งเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้โดยส่งให้ไปอยู่ตำบลคอกกระบือ ฝ่ายองไก่เซินนั้นเมื่อตีเมืองไซ่ง่อนได้แล้วก็มอบให้องติงเวืองผู้เป็นน้องชายคนกลางอยู่รักษาเมือง ให้องลองเญืองน้องชายคนน้อยไปเป็นเจ้าเมืองเว้ แล้วไก่เซินก็เลิกทัพกลับไปเมืองกุยเยิน
 ถึงปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ.๒๓๒๖) พม่าคนหนึ่งชื่องะพุง มีพรรคพวกประมาณ ๓๐๐ คน คิดกบฏเข้าปล้นเมืองอังวะ พระเจ้าปดุงให้ขุนนางคุมทหารออกต่อรบ งะพุงแตกพ่าย ทหารตามจับตัวได้แล้วพระเจ้าปดุงสั่งให้ฆ่าเสียทั้งสิ้น และในปีนั้นเองพระเจ้าปดุงได้ให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลบ้านทองกา ทางทิศตะวันตกเมืองอังวะระยะทางไกล ๓๐๐ เส้น
 พระราชวังอมรปุระ เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วจึงให้นามเมืองว่าอมรปุระ พระเจ้าปดุงจึงยกจากเมืองอังวะไปอยู่เมืองอมรปุระ โดยให้ถือว่าเมืองใหม่นี้เป็นเมืองหลวง จากนั้นก็แต่งกองทัพไปตีเมืองธัญวดี คือเมืองยะไข่
 * ให้แอกกะบัดหวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นทัพหน้า ให้ตแคงจักกุราชบุตรคนที่สองถือพล ๑๐,๐๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกไปทางหนึ่ง * ให้แมงดุงหวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นทัพหน้า ให้ตแคงกามะราชบุตรคนที่สามถือพล ๑๐,๐๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกไปทางหนึ่ง * ให้ศิริกะเหรี่ยง ๑ แยฆ่องเดชะ ๑ แจกกะเรจอโบ่ ๑ ถือพล ๔,๐๐๐ เป็นทัพหน้า ให้อินแซะมหาอุปราชถือพล ๑๖,๐๐๐ เป็นแม่ทัพยกไปทางหนึ่ง
รวมเป็นสามทัพไปตีเมืองธัญวดี
ส่วนทัพเรือนั้นให้มหาจอแทงตละยาเป็นแม่ทัพ แยจออากา ๑ แยจอสมุท ๑ ถือพล ๕,๐๐๐ เรือรบเรือทะเล ๓๐๐ ลำยกไปทางทะเล
 กองทัพบกทัพเรือทั้งสี่ยกไปตีหัวเมืองขึ้นของยะไข่รายทางได้เป็นลำดับ จนถึงเมืองธัญวดีอันเป็นเมืองหลวงของยะไข่ พระเจ้ายะไข่ออกสู้รบก็สู้ไม่ได้ พม่าหักเอาเมืองได้แล้วจับตัวพระเจ้ายะไข่พร้อมไพร่พลครอบครัวประมาณ ๕๐,๐๐๐ เศษ กวาดต้อนเอามาเมืองอมรปุระ ตั้งจอกะชูคุมกำลังพม่า ๑๐,๐๐๐ อยู่รักษาเมืองธัญวดี พระเจ้ายะไข่นั้นพระเจ้าปดุงให้เลี้ยงไว้ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ป่วยจนถึงแก่ความตาย”
** ท่านผู้อ่านครับ พระเจ้าจิงกูจาครองบัลลังก์แผ่นดินพม่าได้เพียง ๖ ปีเศษ ก็ถูกมังหม่องเป็นกบฏยึดครองบัลลังก์มอบให้เสด็จอาทั้ง ๓ แต่ไม่มีใครยอมรับ จึงขึ้นนั่งบัลลังก์เสียเอง แล้วสู่ขอธิดาอะแซหวุ่นกี้มาเป็นมเหสี เสวยราชสมบัติอยู่เพียง ๗ วัน ก็ถูกอะแซหวุ่นกี้พ่อตาตัวเองจับประประหารเสีย อะแซหวุ่นกี้ขึ้นนั่งบัลลังก์ได้เพียงชั่วข้ามคืน ก็ถูกปล้นพระราชวังแล้วจับตัวประหารเสีย จากนั้นขุนนางทั้งปวงก็เชิญ “ตะแคงปดุง” ขึ้นครองราชย์บัลลังก์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองพม่าต่อไป
ทางฝ่ายเมืองญวนนั้น ปรากฏว่าไก่เซินยกกำลังลงมาตีเมืองไซ่ง่อนแตก องเชียงสือพาครัวหนีลงมาอาศัยอยู่ที่เกาะโดด หน้าเมืองบันทายมาศ (เมืองเปี่ยมหรือฮาเตียน) พระยาราชาเศรษฐีกับพระยาทัศดา ส่งคนไปเกลี่ยกล่อมให้เข้ามาเป็นข้ากรุงสยาม องเชียงสือกับพวกยินยอม จึงส่งตัวเข้ามาถวาย ณ กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้ โดยให้อาศัยอยู่ ณ ตำบลคอกกระบือ
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เกิดกบฏวังหน้า -
เกิดกบฏวังหน้าเรื่องเล็กน้อย “ไอ้ทิด”ถ่อยสองนายกลายเป็นผี พวกพ้องถูกประหารผลาญชีวี ทั้งอ้ายอีไม่เหลือเป็นเชื้อพาล |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงถึงตอนที่ตะแคงปดุงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่า ทรงสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลบ้านทองกาห่างจากเมืองอังวะไปทางตะวันตกระยะทางสามร้อยเส้น ให้นามเมืองที่สร้างใหม่และใช้เป็นเมืองหลวงว่า อมรปุระ แล้วเริ่มแผ่พระราชอำนาจด้วยการจัดทัพไปตีเมืองธัญวดี แคว้นยะไข่ พระเจ้ายะไข่สู้ไม่ได้จึงถูกจับตัวมาไว้ที่เมืองอมรปุระ ไม่นานนักก็ป่วยตายไป วันนี้มาอ่านพระราชพงศาวดารกันต่อนะครับ
“ในขณะที่ทางแผ่นดินพม่าเกิดการเปลี่ยนแปลงและวุ่นวายนั้น ทางกรุงเทพมหานครก็เกิดกบฏอ้ายบัณฑิตขึ้น โดยอ้ายบัณฑิตสองคนมาแต่เมืองนครนายก อวดตัวว่ามีความรู้วิชาการล่องหนหายตัวได้ คบคิดกับขุนนางหลายคน มีพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น กับทั้งหญิงพวกวิเสทปากบาตรพระราชวังหน้า ในยามเช้าของวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ พวกหญิงวิเสท (แม่ครัว) ขนกระบุงใส่ข้าวทรงบาตรเข้าไปทางประตูดินวังหน้า เอี้ยง ผู้เป็นนายวิเสทปากบาตรพาอ้ายบัณฑิตสองคนที่นุ่งห่มผ้าแบบผู้หญิงถือดาบซ่อนในผ้าห่ม ปลอมตัวเข้าไปในวังหน้าเพื่อที่จะทำร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ
ด้วยเดชะบารมี เช้าวันนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราชหาได้เสด็จลงทรงบาตรทางพระทวารมุขนั้นไม่ เหมือนเทพยดาดลพระทัยให้คิดจะเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชวังหลวง จึงเสด็จออกทางประตูมุขข้างหน้า เสด็จสู่พระราชวังหลวง อ้ายกบฏบัณฑิตทั้งสองจึงหมดโอกาสจะทำร้ายพระองค์ ยามนั้นนางพนักงานเฝ้ามาพบเห็นอ้ายบัณฑิตทั้งสองเข้าก็ตกใจร้องโวยวายขึ้นอื้ออึงว่า มีผู้ชายสองคนถือดาบขึ้นมาอยู่ที่พระทวารบนที่ อ้ายบัณฑิตทั้งสองก็ไล่นางเฝ้าที่นั้นลงมา
ขณะนั้นขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่งคุมไพร่พลเข้าไปก่อถนนในพระราชวัง อ้ายบัณฑิตก็เอาดาบฟันขุนหมื่นผู้นั้นศีรษะขาดล้มลงตายอยู่กับที่ พวกเจ้าจอมข้างในและจ่าโขลนก็ตกใจร้องอื้ออึง วิ่งออกมาบอกข้าราชการข้างหน้า ข้าราชการข้างหน้าทั้งปวงก็เข้าไปในพระราชวัง พากันไล่ล้อมจับอ้ายบัณฑิตทั้งสอง บ้างเอาไม้พลองและอิฐทุตีทิ้งขว้างปาเป็นอลหม่าน บ้างก็วิ่งลงมายังพระราชวังหลวงกราบทูลเหตุให้ทรงทราบ
 พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงทราบ จึงดำรัสให้ข้าราชการทั้งปวงและตำรวจทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า เร่งขึ้นไปจับอ้ายกบฏ ช่วยกันทุบตีจนล้มลงจับตัวได้มัดไว้ แล้วจำครบติดไม้เฆี่ยนถาม ให้การซัดทอดพวกเพื่อนร่วมคิดกบฏด้วยกันเป็นอันมาก ถูกข้าราชการทั้งวังหลวงวังหน้าเป็นหลายคน มีพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นต้น กับทั้งพวกหญิงวิเสท (แม่ครัว) ปากบาตรวังหน้าทั้งนายทั้งไพร่ มีพระราชบัณฑูรให้เฆี่ยนสอบกับอ้ายบัณฑิต รับเป็นความสัตย์ ดำรัสให้ประหารชีวิตอ้ายบัณฑิตสองคนกับพวกเพื่อนชายหญิงทั้งสิ้น”
* เรื่องกบฏบัณฑิตสองคนเข้าวังหน้า หรือกบฏวังหน้านี้ ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียงไว้นั้น ในตอนต้นเป็นเช่นเดียวกันกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แต่ตอนท้ายที่ว่าด้วยการจับตัวสองบัณฑิตได้แล้วนั้น มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย คือกล่าวว่า “เอี้ยง นายวิเศษปากบาตรให้การว่า หลงเชื่อฟังอ้ายบัณฑิตจนสาบานตัวให้ว่าจะขอพึ่งบุญ จะยอมยกบุตรหญิงให้เป็นภรรยาเมื่อสำเร็จการที่คิดไว้แล้วจะได้เป็นมเหสี”
 พระแสงขรรค์ไชยศรี พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความต่อไปว่า “วันศุกร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เจ้าพระยาอภัยภูเบศผู้ครองกรุงกัมพูชา ให้พระยาพระเขมรเอาพระขรรค์ไชยศรีแต่ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เข้ามาทูนเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนั้นเกิดพายุใหญ่ ฝนตก ฟ้าผ่าลงศาลาลูกขุนใน และในปีเถาะ เบญจศกนั้น ทรงมีพระดำรัสให้พระยานครสวรรค์ยกกองทัพออกไปกรุงกัมพูชา ให้เกณฑ์เอากองทัพเขมรเข้าบรรจบด้วยแล้วยกไปรบญวน ตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืนให้องเชียงสือ ผู้ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระยานครสวรรค์กราบถวายบังคมลายกทัพไปตามพระราชกำหนด วันศุกร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เกิดพายุใหญ่พัดเหย้าเรือนในพระนคร ทำลายใบเสมากำแพงเมืองก็หักพังลงเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้จับก่อกำแพงทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า แล้วให้ฐาปนาพระราชมนเทียรทั้งข้างหน้าข้างใน สำเร็จบริบูรณ์”
** ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงเวลาเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะเห็นได้ว่าบ้านเมืองตั้งอยู่ในความสงบจากข้าศึกศัตรูภายนอกมารุกราน มีเพียงฝ่ายกรุงเทพมหานครส่งกำลังเข้าไปจัดการภายในกรุงกัมพูชา และคดีกบฏวังหน้าเท่านั้น
 พระแสงขรรค์ไชยศรี พระราชพงศาวดารบันทึกไว้เพียงว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศมอบหน้าที่ให้พระยาและพระชาวกัมพูชาอัญเชิญ “พระขรรค์ชัยศรี” ของเก่าแต่ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงก์ แห่งกรุงกัมพูชา มาทูนเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมิได้ให้ความสำคัญของพระขรรค์ไชยศรีนัก
ซึ่งความจริง พระขรรค์ไชยศรี เป็นพระแสงคู่ราชบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินมาแต่ครั้งกรุงสุโขไท โดยพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด(คนไทยสุโขไท) พระราชบุตรเขยเจ้ากรุงศรีโสธรปุระ(กัมพูชา) มอบนาม “ศรีอินทรปตินทราทิตย์” และ “พระขรรค์ไชยศรี” ให้ขุนบางกลางท่าวขึ้นครองกรุงสุโขไทเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง จากนั้นเป็นต้นมาพระแสงขรรค์ไชยศรีจึงเป็นพระแสงคู่ราชบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดินตลอดมา
 พระแสงขรรค์ไชยศรี สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏพระแสงขรรค์ไชยศรีในการขึ้นครองบัลลังก์กษัตริย์สยาม การที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศให้พระยาและพระ อัญเชิญพระแสงขรรค์ไชยศรีมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการปรากฏขึ้นแห่งพระแสงขรรค์ไชยศรี จึงควรถือว่าเป็นมงคลแก่พระราชวงศ์จักรีเป็นอย่างยิ่ง
และการศึกสงครามระหว่างประเทศก็ได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว เมื่อทรงส่งกองทัพไทยไปตีเมืองไซ่ง่อนเพื่อชิงเมืองคืนให้องเชียงสืออดีตกษัตริย์เวียดนาม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามอ่านกันต่อวันพรุ่งนี้นะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ประหารพระยานครสวรรค์ -
ทรงสร้างวัดในวังทั้งสองแห่ง ตั้งตำแหน่ง“เทพบิดร”ประดิษฐาน เจ้าจอมทำเสน่ห์ตามเล่ห์มาร ทรงประหารทั้งมวลโทษควรตาย
พระยานครสวรรค์นั้นรบเก่ง ญวนกลัวเกรงทุกครั้งรบพังพ่าย ยึดเรือและอาวุธพลไพร่นาย ผลสุดท้ายกลับคืนแก่แม่ทัพญวน
มีผู้ฟ้องพระองค์ทรงเรียกกลับ ถามแล้วรับเป็นจริงทุกสิ่งถ้วน โทษร้ายแรงสอบความตามกระบวน เห็นสมควรประหารในทันที |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงในพม่า และเกิดกบฏขึ้นในวังหน้าของกรุงเทพฯ ครั้นประหารพวกกบฏแล้ว เจ้าพระยาอภัยภูเบศผู้ครองกัมพูชาได้ส่งพระขรรค์ไชยศรีของเก่าสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เข้ามาถวาย จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสให้พระยานครสวรรค์ยกทัพไปกัมพูชา ให้เกณฑ์กองทัพเขมรไปตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้แก่องเชียงสือ วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ
 พระอุโบสถ กำแพงแก้ว ซุ้มใบเสมา และศาลารายต่าง ๆ “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้ากรุงสยาม โปรดให้สถาปนาพระอารามขึ้นภายในพระราชวังพร้อมทั้งอุโบสถ วิหาร เจดีย์ และศาลารายเป็นหลายหลัง ให้ขุดสระน้ำทำหอไตรในสระเพื่อใส่ตู้พระไตรปิฎก โปรดให้พระอาลักษณ์แก้วเป็นพระยาธรรมปโรหิตจางวางราชบัณฑิต ให้หลวงอนุชิตพิทักษ์เป็นพระยาพจนาพิมล ช่วยราชการในกรมราชบัณฑิต
 ปราสาทพระเทพบิดร แล้วให้พระราชบัณฑิตทั้งปวงบรรดาที่เป็นอาจารย์นั้น บอกพระไตรปิฎกแก่พระภิกษุสามเณรเป็นอันมากบนหอไตร และหอไตรนั้นให้นามว่า หอพระมนเทียรธรรม แล้วให้อัญเชิญรูปพระเทพบิดร คือสมเด็จพระรามาธิดีอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยามาแปลงเป็นพระพุทธหุ้มเงินปิดทอง แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น ให้นามว่า หอพระเทพบิดร โดยที่พระอารามนั้นยังมิได้สำเร็จเสร็จสิ้นลง
 พระเจดีย์ภายในพระมณฑป และ พระระเบียงวัดนิพานาราม ทางฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ทรงปฏิสังขรณ์วัดสลัก ให้กระทำพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญและมณฑปขึ้นใหม่ ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในพระมณฑป ก่อพระระเบียงล้อมรอบ แล้วสร้างกุฎีเสนาสนะฝากระดานถวายสงฆ์ กับให้ก่อตึกสามหลังถวายพระวันรัตนผู้เป็นเจ้าอาราม แล้วให้ก่อกำแพงแก้วล้อมรอบพระอาราม และตั้งนามวัดสลักเสียใหม่ว่า วัดนิพพานาราม
 ในปีเดียวกันนั้น เจ้าจอมทองดีบุตรีหลวงอินทรโกษา เป็นคนหนึ่งที่อยู่งานในพระราชวังหลวง คบคิดกับหม่อมบุญศรีพระพี่เลี้ยงสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร และ แทน ผู้เป็นข้าหลวงตำหนักใหญ่ ให้ แทน ไปหาหมอเสน่ห์ เพื่อทำเสน่ห์ให้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมาก ๆ ได้รู้เห็นด้วยกันกับทั้งมารดาและทาสคนหนึ่ง เรื่องนี้ทาสในเรือนรู้เรื่องเข้าจึงนำความมาฟ้องเจ้าขรัวนายท้าวนางผู้ใหญ่ นายท้าวนางผู้ใหญ่จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสสั่งให้ พิจารณาความจนได้ความเป็นสัตย์ มีพระราชโองการตรัสสั่งให้เอาตัวเจ้าจอมทองดีกับพวกสี่คนและหมอเสน่ห์คนหนึ่งไปประหารชีวิตเสียที่วัดตะเคียน”
 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และ วัดนิพพานนาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ท่านผู้อ่านครับ พระอารามภายในพระราชวังดังกล่าวนั้นคือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในปัจจุบัน ส่วนวัดนิพพานารามในพระราชวังหน้านั้นก็คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ในปัจจุบัน
 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงยกย่องสมเด็จพระรามาธิบดี หรือ พระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า เป็น “พระเทพบิดร” โปรดให้อัญเชิญพระรูปจากกรุงเก่า มาแปลงเป็นพระพุทธรูปแล้วหุ้มองค์ด้วยเงินและปิดทอง ให้พระนามว่า “พระเทพบิดร” แล้วให้ประดิษฐานไว้ในพระวิหารเป็นที่เคารพบูชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น “พระเทพบิดร” จึงมิใช่เทพเจ้าองค์ใด หากแต่เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
 “กล่าวถึงพระยานครสวรรค์ที่รับพระราชโองการให้นำทัพไปเกณฑ์กองทัพเขมรเข้าสมทบ แล้วยกไปตีไซ่ง่อนนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า เมื่อพระยานครสวรรค์ยกทัพไปถึงกัมพูชาแล้วก็เกณฑ์กองทัพเขมรรวมเข้ากับกองทัพไทย จัดเป็นกองทัพเรือยกไปเมืองญวน ฝ่ายองติงเวืองเจ้าเมืองไซ่ง่อนทราบว่ากองทัพไทยยกล่วงล้ำแดนเข้าไป จึงเกณฑ์ทัพเรือให้ขุนนางเมืองไซ่ง่อนยกออกต่อรบป้องกันเมืองสักแดก ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของตน กองทัพไทยกับญวนได้รบกันเป็นสามารถ พระยานครสวรรค์นั้นมีฝีมือเข้มแข็งยิ่งนัก ยกทัพเรือเข้าตีทัพเรือญวนแตกเป็นหลายครั้ง ยึดได้เรือญวนและไพร่พลญวนพร้อมศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก แต่กลับส่งคืนไปให้แก่แม่ทัพญวนเสียทั้งสิ้น พระยาพิชิตณรงค์กับข้าหลวงมีชื่อหลายนายเห็นพฤติการณ์ดังนั้นก็คิดเห็นตรงกันว่า พระยานครสวรรค์กระทำผิดคิดการกบฏ จะไปเข้าด้วยข้าศึก จึงพากันบอกกล่าวโทษลงมา ณ กรุงเทพฯ
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในหนังสือบอกกราบทูลนั้นแล้วก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปให้หากองทัพพระยานครสวรรค์กลับคืนมา เมื่อพระยานครสวรรค์ยกทัพกลับคืนมากรุงเทพฯ แล้ว ทรงพระกรุณาให้เสนาบดีพิจารณาไต่สวน ได้ความจริงตามหนังสือบอกกล่าวโทษนั้นแล้ว จึงให้เอาตัวพระยานครสวรรค์กับขุนนางพรรคพวกสิบสองคนที่ร่วมคิดด้วยกันนั้น ไปประหารชีวิตเสียที่ป่าช้าวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) นอกพระราชวัง ให้เอาศีรษะเสียบประจานไว้ทั้งสิ้น”
 ** ท่านผู้อ่านครับ การทำเสน่ห์ยาแฝดเป็นความเชื่อ และทำกันแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบัน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังนิยมทำกันอยู่ ถึงกับเจ้าจอมบังอาจจ้างหมอเสน่ห์มาทำเสน่ห์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลงใหลในตัวนาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงยิ่งนัก จึงมีพระราชโองการให้เอาตัวเจ้าจอมและพวกรวมทั้งหมอทำเสน่ห์ไปประหารชีวิตเสียที่วัดตะเคียน (ปัจจุบันคือวัดมหาพฤฒาราม)
การรบญวนเพื่อชิงเมืองไซ่ง่อนคืนแก่องเชียงสือไม่สำเร็จ เพราะพระยานครสวรรค์แม่ทัพไทย ที่รบชนะญวนแล้วเกิดเมตตาญวน มอบเรือและไพร่พลพร้อมอาวุธคืนแก่แม่ทัพญวนเสียสิ้น นายกองได้ทำเรื่องกราบบังคบทูล ทรงทราบแล้วพิโรธยิ่งนัก เรียกกองทัพพระยานครสวรรค์กลับมา ไต่สวนแล้วได้ความเป็นจริงตามฟ้อง จึงตรัสให้เอาตัวพระยานครสวรรค์กับขุนนางพรรคพวก ไปประหารชีวิตที่วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) แล้วตัดศีรษะเสียบประจานไว้
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 พระบรมรูปทรงม้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้) - พระราชทานเพลิงศพเจ้าตาก -
ทรงขุดหีบศพพระเจ้าตากสิน ณ วัดอินทารามคามวาสี ตั้งพระเมรุสมโภชราชพิธี จัดให้มีพระราชทานเพลิงผ่านไป |
อภิปราย ขยายความ.............................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาแสดงถึงตอนที่ พระยานครสวรรค์ที่รับพระราชโองการให้ไปรบญวน เขารบชนะญวนหลายครั้งแล้วยึดเรือรบ อาวุธยุทโธปกรณ์และไพร่พลได้เป็นอันมาก แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด เขากลับคืนเรือรบ อาวุธ และไพร่พลที่ยึดได้มานั้น ไปให้แม่ทัพญวนเสียสิ้น เมื่อมีผู้ฟ้องร้องมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกกลับมา สอบสวนแล้วได้ความจริงตามที่มีผู้ฟ้องร้องมา จึงตรัสให้ประหารเสียที่ป่าช้าวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ) แล้วตัดหัวเสียบประจานไว้ วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ต่อไปครับ
 ต่อมาถึงศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ. ๒๓๒๗) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เป็นแม่ทัพ ถือพลทหาร ๕,๐๐๐ ยกกองทัพเรือออกไปตีไซ่ง่อนคืนแก่องเชียงสือให้จงได้ โดยให้เอาตัวองเชียงสือไปในกองทัพด้วย
 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ถวายบังคมลายกกองทัพเรือไปถึงเมืองพุทไธมาศ จึงเกณฑ์กองทัพพระยาราชาเศรษฐี พระยาทัศดาเมืองพุทไธมาศเข้าร่วมกองทัพไทยด้วย แล้วยกไปตั้งค่ายอยู่ที่อ่าวมะนาวริมแม่น้ำแดงเมืองสักแดกเป็นหลายค่าย แล้วให้องเชียงสือแต่งขุนนางญวนกับข้าหลวงไทยไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรญวนในแว่นแคว้นเมืองสักแดก เมืองล่งโห้ เมืองสม่าถ่อ ทั้งสามเมืองให้มาเข้าด้วยได้เป็นอันมาก
 องติงเวืองเจ้าเมืองไซ่ง่อนทราบว่าทัพไทยยกมาคราวนี้ใหญ่กว่าคราวก่อน จึงแต่งขุนนางญวนเป็นแม่ทัพเรือ ยกออกมาตั้งรับอยู่ที่เมืองสักแดก กองทัพทั้งสองยกเข้ารบกันเป็นสามารถหลายครั้งหลายคราไม่รู้แพ้ชนะแก่กัน แต่แล้ววันหนึ่ง ทัพเรือฝ่ายไทยลงไปรบญวนแล้วถอยกลับมาจอดเรือรบ โดยเอาหัวเรือจอดหน้าค่ายปล่อยให้รี้พลขึ้นบกเข้าค่าย ทิ้งเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือด้วยความประมาทมิได้ระวังข้าศึก
 ครั้นถึงเวลาน้ำขึ้นทัพเรือญวนยกตามขึ้นมาถึงหน้าค่ายแล้วยิงปืนขึ้นมาทำลายค่ายต้องทหารไทยตายหลายคน พลทหารไทยเสียทีจะลงเรือออกต่อรบก็ไม่ทัน จึงต้องทิ้งค่ายแตกหนีเป็นอลหม่านนายทัพนายกองกดไว้ไม่อยู่ก็พากันแตกหนีไปทั้งสิ้น
 ยามนั้นเป็นเทศกาลเดือนสิบสองน้ำนองเต็มไปทั้งทุ่ง พลทหารทัพไทยต้องลุยน้ำลึกเพียงเอวบ้าง เพียงอกบ้างหนีข้าศึกศัตรูด้วยความยากลำบากยิ่ง ในส่วนเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์นั้นทรงจับกระบือได้ตัวหนึ่งก็ขี่ลุยน้ำพากำลังพลหนีเข้าเขตแดนกัมพูชา
 ฝ่ายญวนนั้นเมื่อได้ชัยชนะแล้วก็มิได้รุกไล่ติดตามกำจัดพลทหารไทย เพียงแต่เก็บได้เรือรบและเครื่องศัสตราวุธทั้งปวงในเรือรบไทยนั้นกับได้คนที่หนีไม่ทันได้บ้างแล้วก็เลิกทัพกลับไปไซ่ง่อน กรมหลวงเทพหริรักษ์พากำลังพลพร้อมองเชียงสือหนีเข้ามาหยุดพักอยู่ในกัมพูชา แล้วมีหนังสือบอกเรื่องการพ่ายแพ้ญวนเข้ามากรุงเทพฯ กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ
 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้) ในขณะที่กองทัพไทยนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีญวนเมืองไซ่ง่อนนั้น ทางกรุงเทพฯ ก็มีพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์กล่าวคือ ดำรัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้ จัดให้มีมหรสพสมโภช พระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล แล้วทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ในเวลานั้นพวกเจ้าจอมข้างในทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้าซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินพระเจ้าตาก คิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้ พระเจ้าอยู่หัวเห็นดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสให้ลงพระราชอาชญาโบยหลังเสียทั้งสิ้น
 จากนั้นทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระมหาปราสาทในพระราชวังหลวง และการสร้างปราสาทนั้นยังมิสำเร็จ ทรงให้ขุดคลองปากลัดนั้นให้กว้างออกกว่าเดิมจนน้ำทะเลขึ้นแรงน้ำเค็มขึ้นมาถึงพระนคร
ดังนั้น ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรงศักราช ๑๑๔๖ (พ.ศ.๒๓๒๗) นั้น พระเจ้าอยู่หัวจึงพร้อมด้วยเจ้าต่างกรมทั้งปวง เสด็จโดยทางชลมารคลงไปปิดคลองปากลัด ให้เกณฑ์ข้าราชการขนมูลดินและอิฐหักถมทำเป็นทำนบกั้นน้ำ และให้เกณฑ์กันขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมาถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง น้ำเค็มจะไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดไม่ได้ก็ไหลอ้อมไปทางแม่น้ำใหญ่ น้ำเค็มจึงไหลขึ้นมาไม่ถึงพระนคร ราษฎรทั้งหลายก็ได้รับพระราชทานน้ำจืดเป็นสุขทั้งสิ้น”
 วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือใต้) ** ท่านผู้อ่านครับ อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาถึงตรงนี้ พบเรื่องสมเด็จเด็จพระเจ้าตากสินอีกครั้ง ประเด็นที่ว่า พระเจ้าตากมิได้ถูกประหาร หากแต่ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุแล้วหลบหนีไปอยู่ในเทือกเขาเขตเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ข้อความในพระราชพงศาวดารตรงนี้น่าจะลบล้างความเชื่อในตำนานนั้นได้บ้าง เพราะพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์โปรดให้ขุดเอาหีบศพพระเจ้าตากสินขึ้นมา ตั้งการพระเมรุ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) หลังจากนำพระศพมาฝังไว้ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินเก็บไว้เป็นเวลา ๒ ปี จึงมีพิธีพระราชเพลิง
กองทัพไทยที่ยกไปตีญวน พ่ายแพ้แก่ญวนอย่างหมดรูปเลยนะครับ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 ภาพพิมพ์แม่พิมพ์โลหะ ในหลวง ร.๑ ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม - เชิญพระแก้วสถิตราชวัง -
สร้างเสร็จ“ดุสิตมหาปราสาท ขยายราชวังอออกอีกกว้างใหญ่ เชิญพระแก้วมรกตศูนย์รวมใจ สถิตในโบสถ์วัดพระราชวัง
เกณฑ์ผู้คนมากมายจากหลายแห่ง ก่อกำแพงพระนครตามแผนผัง ป้อมประตูคูคลองขุดรองรัง เชื่อมสองฝั่งโค้งลำเจ้าพระยา |
อภิปราย ขยายความ...........................
เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงเรื่องราวของกองทัพไทย นำโดยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ยกไปรบญวนเพื่อชิงเมืองไซ่ง่อนคืนแก่องเชียงสือ แต่ทัพไทยกระทำการโดยความประมาท จึงพ่ายแพ้แก่ญวนอย่างยับเยิน แตกพ่ายมาหยุดพักอยู่ที่กัมพูชา ในขณะที่ทัพไทยรบกับญวนอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดหีบศพพระเจ้าตากสินซึ่งบรรจุไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ (อินทาราม) ขึ้นมาตั้งพระเมรุจัดงานสมโภชแล้วพระราชทานเพลิง จากนั้นทรงให้ขุดคลองปากลัด ให้กว้างออกกว่าเดิมจนน้ำเค็มไหลเข้ามาถึงพระนคร จึงต้องเสด็จไปเกณฑ์คนทำทำนบกั้นน้ำเค็มที่ปากลัด ในการนี้ได้สั่งให้คนขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมาถมทำนบด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ขอเก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้มาบอกเล่าดังนี้ครับ
 “วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ สมุหนายกได้นำหนังสือบอกข้อราชการของกรมหลวงเทพหริรักษ์ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงพระพิโรธ ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับเข้ามาพระนคร แล้วลงพระราชอาชญาจำสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งเสียทัพกับทั้งเรือรบเรือลำเลียง พร้อมเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยแก่ข้าศึกนั้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ และท้าวพระยาข้าราชการซึ่งอยู่ในเวรจำนั้นพ้นโทษด้วยกันทั้งสิ้น
 พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ครั้นการสร้างพระมหาปราสาท ยกเครื่องบนสำเร็จบริบูรณ์ ลงรักปิดทองแล้ว ถึง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ เดือน ๔ เพลาเช้าสองโมงสี่บาท ได้อุดมฤกษ์ จึงให้ยกยอดเอกพระมหาปราสาทข้างต้นมีพรหมพักตร์ แล้วปักพุ่มข้าวบิณฑ์ปลายยอดด้วย พระราชทานนามมหาปราสาทนี้ว่า "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"
 พระแก้วมรกต และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ถึง ณ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต จากโรงในวังเก่าฟากตะวันตกลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ ให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น และการพระอารามนั้นสำเร็จบริบูรณ์แล้วจึงทรงตั้งนามว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)"
ศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็งสัปตศก (พ.ศ.๒๓๒๘) สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร ทรงพระประชวรพระโรคมารทะลุน ถึงวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ หลังก็สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จไปสรงน้ำพระศพแล้วใส่พระโกศ โปรดให้ปลูกพระเมรุที่วัดแจ้งในวังเก่า เชิญพระโกศขึ้นยานมาศแห่เป็นกระบวนเข้าพระเมรุ ให้มีการมหรสพสามวัน นิมนต์พระสงฆ์สดัปกรณ์ ถวายไตรจีวรไทยทานแล้วพระราชทานเพลิง
 ในปีมะเส็งสัปตศกนั้น ทรงให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลก (ชายฉกรรจ์) หัวเมืองทั้งเดิมทั้งหมดขึ้น สักหลังมือทั้งสิ้น แล้วให้เกณฑ์เลกหัวเมืองขึ้นทั้งไทยลาวเขมรทั้งปวง กับเลกไพร่หลวงสมกำลังให้ร่วมกันทำอิฐเพื่อใช้ก่อกำแพงสร้างพระนครใหม่ ให้รื้อป้อมวิไชเยนทร์และกำแพงเมืองเก่าเสีย ขยายพระนครให้กว้างกว่าเก่า
 แผนผังป้อมกำแพงรอบพระนคร เกณฑ์เลกลาวเขมรหัวเมือง ให้ขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุข) ขึ้นมาถึงวัดสะแกไปถึงวัดบางลำพู ออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง วัดสะแกนั้นพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ แล้วให้มีตราให้หาท้าวพระยาหัวเมืองทั้งปวงเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน แล้วให้เกณฑ์หน้าที่ข้าราชการในกรุงฯทั้งพระราชวังหลวงวังหน้าวังหลังและหัวเมืองทั้งปวง ร่วมกันขุดรากก่อกำแพงพระนครทั้งด้านแม่น้ำและด้านในคลองบรรจบกันโดยรอบ ให้ก่อเชิงเทินและป้อมทำประตูใหญ่น้อยเป็นอันมากรอบพระนคร
 แล้วให้ขุดคลองหลอดออกจากคลองคูเมืองเดิมสองคลองไปออกบรรจบคลองคูใหม่นอกเมือง ให้ทำสะพานช้างและสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครเป็นหลายตำบล แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศ และพระราชทานนามว่า คลองมหานาค เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครลงเรือไปประชุมกันเล่นเพลงเล่นสักวาเทศกาลน้ำเหมือนครั้งกรุงเก่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปจะให้ก่อสะพานช้างข้ามคูคลองเมืองที่เหนือคลองมหานาคนั้น แต่พระพิมลธรรมวัดโพธาราม(วัดพระเชตุพนฯ)ออกไปถวายพระพรห้ามว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าจะให้ทำสะพานใหญ่ข้ามคลองคูพระนครฉะนี้ หามีอย่างธรรมเนียมมาแต่บุราณไม่ แม้มีการสงครามมาถึงพระนคร ข้าศึกก็จะได้โอกาสข้ามเข้ามาถึงชานกำแพงโดยง่าย ประการหนึ่งแม้นจะแห่กระบวนเรือรอบพระนครก็จะเป็นที่กีดขวางอยู่” สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเห็นชอบตามที่พระพิมลธรรมถวายพระพรนั้น จึงยกเลิกการสร้างสะพานเสีย แล้วให้ทำแต่ท่าช้างสองฟากคลองไว้สำหรับให้ช้างเดินข้ามคูลองเท่านั้น”
การตกแต่งพระนครยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อ่านความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ต่อวันพรุ่งนี้นะครับ
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ขนานนามพระนคร -
จัดสมโภชพระนครบวรรัตน์ ฉลองวัดเถลิงวังทั้งหลวง,หน้า ขนานนามตามกรุงอโยธยา ปวงประชาชื่นชมนิยมยิน
เกิดทุพภิกขภัยทวยไทยร้อน ทรงผันผ่อนแก้ไขผ่านได้สิ้น ข่าวข้าศึกยกมามืดฟ้าดิน พม่าหมิ่นน้ำใจไทยอีกแล้ว |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงถึงเรื่องราวตอนที่หลังจากทรงสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเสร็จพร้อมพระอารามในพระราชวังเรียบร้อยแล้ว จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากพระราชวังเดิมมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ แล้วอาราธนาพระสงฆ์เถรานุเถระมาประชุมสวดผูกพัทธสีมา จากนั้นพระราชทานนามอารามนี้ว่า “ศรีรัตนศาสดาราม” เสร็จการภายในพระราชวังแล้ว ทรงเกณฑ์ไพร่หลวงสมกำลังมาก่อกำแพงพระนคร และขุดคูคลองด้านตะวันออกพระราชวัง มีคลองคูเมือง และคลองมหานาค เป้นสำคัญ วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ
 “ ครั้นการก่อสร้างพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว โปรดให้มีงานฉลองสมโภชพระนคร โดยให้นิมนต์พระสงฆ์ทุก ๆ อารามทั้งในกรุงนอกกรุงขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกใบเสมา เสมาละองค์รอบพระนคร พระราชทานเงินเกณฑ์ให้ข้าราชการทำข้าวกระทงมาเลี้ยงพระสงฆ์ทั่วทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นก็โปรดให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร พระราชทานเลี้ยงยาจกวณิพกทั้งปวง แล้วยังให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์รายรอบกำแพงเมือง ทิ้งทานต้นละชั่งทั้งสามวัน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมากให้มีมหรสพต่าง ๆ ทั้งละครผู้หญิงโรงใหญ่ ให้เงินวันละสิบชั่งต่อโรง สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับทั้งพระนครด้วยครบสามวันเป็นกำหนด
 เมื่อเสร็จการฉลองพระนครแล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงจากกรุงเก่าว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร มหินทรอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ดังนี้
ณ วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เกิดฟ้าผ่าลงตรงซุ้มประตูฉนวนพระราชวังหน้า และผ่าลงตรงยอดพระมหาปราสาทพระราชวังหลวงในวันเดียวกัน
และในเดือน ๑๒ ปีนั้นมีน้ำมาก ลึกถึงแปดศอกคืบสิบนิ้ว ข้าวกล้าในท้องนาเสียหายเป็นอันมาก จึงบังเกิดทุพภิกขภัยข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรทั้งหลายขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าวเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายแก่ราษฎรเป็นอันมาก
 * ในปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๘ นั้น มังโพเชียง หรือ ตะแคงแปงตะแล พระอนุชาพระเจ้าปดุงคิดการกบฏ พระเจ้าปดุงจึงให้จับกุมตัวได้แล้วประหารชีวิตเสีย แล้วดำริว่ากรุงไทยผลัดแผ่นดินใหม่คงยังไม่ทันตั้งหลักได้มั่น ควรจะยกทัพไปตีพระนครศรีอยุธยาคงจะชนะได้ไม่ยาก จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่า มอญ เมง ทวาย ยะไข่ กะแซ ลาวและเงี้ยว รวมกำลังพลได้หลายหมื่นหลายทัพ
 ให้เนมโยคุงนรัด เป็นแม่กองทัพหน้า กับ นัดมิแลง ๑ แบตองจา ๑ นักจักกีโบ่ ๑ ตองพยุงโบ่ ๑ ถือพล ๒,๕๐๐ เป็นแม่ทัพบกยกมาทางเมืองมะริด เข้าตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แก่งหวุ่นแมงญี ถือพล ๔,๕๐๐ เป็นแม่ทัพยกหนุนมาทางหนึ่ง
แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ญีหวุ่นเป็นแม่ทัพ กับ บาวาเชียง ๑ แองยิงเดชะ ๑ ปตินยอ ๑ ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตีเมืองถลาง ให้แก่งหวุ่นแมงญีเป็นโบชุกบังคับทั้งทัพบกทัพเรือ
 ทางทวายนั้นให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวายเป็นแม่ทัพหน้า กับ จิกแกปลัดเมืองทวาย ๑ มณีจอข่อง ๑ สีหแยจอข่อง ๑ เบยะโบ่ ๑ ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาทางด่านเจ้าขว้าว ให้จักสินโบ่เป็นแม่กองทัพหนุน กับ ตเรียงยามะชู ๑ มณีสินต ๑ สุรินทจอข่อง ๑ ถือพล ๓,๐๐๐ ยกหนุนมา
และให้อนอกแผกดิกหวุ่นถือพล ๔,๐๐๐ เป็นโบชุกแม่ทัพ ทั้งสามกองเป็นคน ๑๐,๐๐๐ ยกมาตีเมืองราชบุรีทางหนึ่ง
 ทางเมาะตะมะนั้นให้เมี้ยนหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้าที่ ๑ กับขุนนางสิบนายคือ กลาหวุ่น ๑ ปิลุงยิง ๑ สะเลจอ ๑ ปินญาอู ๑ อากาจอแทง ๑ ลานซางโบ่ ๑ อคุงหวุ่น ๑ ปันญีตะจวง ๑ ละไมหวุ่น ๑ ซุยตองอากา ๑ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
แล้วให้เมี้ยนเมหวุ่นเป็นแม่กองทัพหน้าที่ ๒ กับ ย่อยแหลกยาแยข่อง ๑ จอกกาโบ่ ๑ จอกแยโบ่ ๑ ตะเหรี่ยงปันญี ๑ ถือพล ๕,๐๐๐ ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง
 และทัพที่ ๓ นั้น ให้คะแคงกามะพระราชบุตรที่สามเป็นแม่ทัพ กับ ยานจุหวุ่น ๑ จิดกองสิริยะ ๑ แยแลหวุ่น ๑ อตวนหวุ่น ๑ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง
ทัพที่ ๔ นั้นให้ตะแคงจักกุ ราชบุตรที่สองเป็นแม่ทัพ กับ เมฆราโบ่ ๑ อกิตอ ๑ อากาปันญี ๑ มโยลัดหวุ่น ๑ ยกหนุนมาอีกทัพหนึ่ง……”
* * ท่านผู้อ่านครับ พระเจ้าปดุงแห่งพม่าทรงคิดเอาเองว่า ไทยผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชวงศ์ ตั้งพระนครใหม่ กำลังยังอ่อนแอ หากจะฉวยโอกาสที่ไทยเริ่มตั้งตัวใหม่นี้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาก็คงจะได้โดยง่าย จึงเกณฑ์กำลังจากชนชาติต่าง ๆ ในพม่า ประกอบด้วย มอญเมง ( มอญ เมง รามัญ เป็นอย่างเดียวกัน), ทวาย, ยะไข่ (อาระกัน), กะแชลาว (ลาวกะแช) และเงี้ยว (ไทยใหญ่) ซึ่งรวมทั้ง กะเหรี่ยง คะฉิ่น ด้วย
 การจัดทัพมาตีไทยคราวนี้ พระเจ้าปดุงกะว่าจะบดขยี้ไทยให้แหลกลาญจนไม่สามารถตั้งตัวได้อีกเลย จึงจัดทัพใหญ่ถึง ๙ ทัพ ยกมาทุกทิศทาง ดูรายชื่อและจำนวนกำลังพลที่กล่าวมาแล้วนั้นก็นับว่าน่ากลัวไม่น้อยแล้ว ยังมีทัพใหญ่ที่ยังไม่ได้นำมาบอกกล่าวอีกเล่า เอาไว้วันรุ่งพรุ่งนี้จะนำรายชื่อแม่ทัพนายกองของพม่ามาแจ้งให้ทราบต่อไป ไทยจะรับศึกใหญ่จากพม่าได้อย่างไร อดใจรอผลกันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|