บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ยึดทวายไม่สำเร็จ -
ยึดทวายไม่สำเร็จเสด็จกลับ ทรงเลิกทัพลาจรก่อนเสียหาย องเชียงสือคิดกลับญวนชวนเพื่อนตาย ทั้งแจวพายนาวาออกทะเล |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานก่อนนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาบอกเล่าถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยกทัพหลวงไปตีเมืองทวาย ทรงพยามยามเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทข้ามยอดเขาสูงไปได้ด้วยความลำบากยิ่ง กองทัพหน้าตีค่ายพม่าที่ยกมาตั้งรับแตกพ่ายไปทั้ง ๓ ค่าย แล้วยกเข้าประชิดเมืองทวาย นายทัพนายกองพม่าส่วนมากหนีออกจากเมืองข้ามแม่น้ำไป แต่ปิดประตูเมืองไว้ ทัพหน้าทหารไทยไม่กล้าทลายประตูเมืองเข้าไปด้วยเกรงว่าจะเป็นกลอุบายของข้าศึก จึงตั้งค่ายล้อมเมืองอยู่ทั้ง ๓ ด้าน โดยเว้นทางด้านแม่น้ำไ ว้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปมาดูกันต่อครับ
* “ นายทัพนายกองพม่าเห็นว่ากองทัพไทยไม่กล้าเข้าตีเมืองทวาย จึงพากันข้ามแม่น้ำลอบกลับเข้าในเมือง แล้วเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองเป็นสามารถ ในขณะนั้นกองทัพหลวงของไทยก็ยกตามกองทัพหน้าเข้าไปตั้งใกล้กำแพงเมืองทวาย ห่างจากค่ายกองทัพหน้าประมาณห้าสิบเส้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ยกไปตั้งค่ายใหญ่หนุนค่ายกองทัพหน้าอยู่หน้าทัพหลวง
ขณะนั้นช้างต้นพังเทพลีลาพระราชคชาธารเกิดป่วยลง โดยไม่จับหญ้าถึงสามวัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกยิ่งนัก ด้วยพังเทพลีลาเชือกนี้เป็นช้างพระที่นั่งข้าหลวงเดิม ได้เคยทรงเสด็จไปงานพระราชสงครามมาแต่ก่อนทุกครั้ง ทรงพระอาลัยด้วยเกรงว่าพระราชพาหนะเพื่อนทุกข์เพื่อนยากจะล้มเสีย จึงทรงพระอธิษฐานเสกข้าวสามปั้นให้ช้างกิน ด้วยเดชะพระบารมีเป็นอัศจรรย์ปรากฏว่าช้างนั้นหายไข้เป็นปกติ ทรงดีพระทัยเป็นยิ่งนัก นายทัพนายกองพม่าที่ตั้งรักษาเมืองทวายอยู่นั้นเห็นจะเกรงกลัวพระเดชานุภาพเป็นกำลัง จึงมิได้ยกพลออกมาต่อรบนอกเมือง พากันนิ่งรักษาเมืองมั่นอยู่ กองทัพไทยก็ไม่กล้ายกเข้าหักเอาเมืองทวายจึงตั้งล้อมเมืองอยู่นานถึงกึ่งเดือน เสบียงอาหารก็เบาบางลง
ขณะนั้นเจ้าอินซึ่งเป็นบุตรพระเจ้าล้านช้างเก่าจึงกราบทูลขออาสายกเข้าปีนปล้นเอา มีพระราชโองการตรัสห้ามว่า ทัพหลวงตั้งใกล้เมืองนัก เกรงจะไม่สมคะเนลาดถอยมาแล้วข้าศึกได้ทีจะยกออกมจากเมืองไล่ติดตามกระทั่งปะทะค่ายหลวง จะเสียทีเหมือนเมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งก่อน
จากนั้นพระยาสีหราชเดโชและท้าวพระยานายทัพนายกองหลาย กราบบังคมทูลอาสาจะเข้าปล้นเอาเมือง ก็ดำรัสห้ามเสียเหมือนเดิม พอเสบียงอาหารขัดลงก็ดำรัสให้เลิกทัพถอยมาทางถม่องส่วย ให้กองทัพหน้ารอรั้งมาเบื้องหลัง พม่าก็ยกทัพมาติดตาม กองหน้าก็รอรบมาจนสิ้นแดนเมืองทวาย
* กล่าวถึงสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ ขณะประทับจัดแจงบ้านเมืองอยู่ในล้านนาไทยนั้นทรงทราบว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงยกทัพหลวงไปตีเมืองทวาย ก็เสด็จยาตราทัพจากเมืองนครลำปางกลับมายังกรุงเทพมหานคร แล้วเสด็จทางชลมารคออกไปตามสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า เมื่อไปถึงแม่น้ำน้อยก็พอดีกับทัพหลวงเสด็จกลับมาถึงพระตำหนักค่ายท่าเรือ จึงเสด็จเข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลให้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร โดยพระองค์จะตั้งทัพอยู่ดูทีพม่าว่าจะเป็นประการใด จะคิดอ่านป้องกันสู้รบรักษาพระราชอาณาเขตจนสุดความสามารถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย จึงเสด็จกรีธานาวาทัพกลับคืนยังกรุงเทพมหานคร
กองทัพพม่าที่ยกติดตามกองทัพไทยมานั้น เมื่อมาสิ้นสุดแดนเมืองทวายก็ยั้งทัพ โดยไม่กล้าล่วงล้ำเข้าเขตแดนไทย แล้วก็เลิกทัพกลับเมืองทวายในที่สุด สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯทรงจัดแจงให้พลเมืองอยู่รักษาด่านทางมั่นคงแล้วก็เลิกทัพเสด็จกลับพระนคร
 * กล่าวถึงองเชียงสือซึ่งโดยเสด็จทัพหลวงไปตีเมืองทวายนั้น เมื่อกลับมาแล้วได้ปรึกษาขุนนางญวนและพรรคพวกของตนว่า “เราหนีข้าศึกเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงได้ความสุข แล้วโปรดให้กองทัพยกไปตีข้าศึก จะคืนเอาเมืองให้ถึงสองครั้งก็ยังหาสำเร็จไม่ บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกังวลด้วยการศึกพม่า ยังรบติดพันกันอยู่ เห็นจะช่วยธุระเรามิได้ ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลาออกไปรบข้าศึกตีเอาบ้านเมืองคืนด้วยกำลังเราเอง ก็เกรงพระราชอาชญาอยู่ เห็นจะไม่โปรดให้ไป จำจะหนีไปจึงจะได้” ครั้นปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้วก็เขียนหนังสือทูลลาเอาไว้ในเรือน แล้วจัดแจงเรือทะเลได้สี่ลำ ลอบพาสมัครพรรคพวกขุนนางและไพร่ครอบครัวทั้งปวงลงเรือหนี รีบแจวเรือออกไปทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการในเพลากลางคืน พวกชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงบ้านพักองเชียงสือรู้เรื่องจึงเข้าแจ้งต่อเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงเข้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทันที”
** ท่านผู้อ่านครับ การยกทัพไปตีทวายไม่สำเร็จ เพราะทัพหน้าที่ไล่ตีพม่าจากค่ายนอกเมืองหนีเข้าเมือง เจ้าเมืองและกรมการเมืองพากันปิดประตูเมืองแล้วหนีออกทางหลังเมือง นายทัพหน้าไทยไม่กล้าบุกเข้ายึดเมือง เพราะเกรงพม่าซ่อนกลศึกไว้ในเมือง ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้จนพม่าพากันกลับเข้ารักษาเมืองได้อีก จึงพลาดโอกาสยึดครองเมืองทวายไปอย่างน่าเสียดาย
เสร็จศึกทวายแล้ว องเชียงสือ อดีตกษัตริย์ญวน ซึ่งร่วมไปในการศึกสงครามด้วย ได้เกิดความคิดที่จะกลับไปกอบกู้ราชบัลลังก์ของตนคืนด้วยตนเอง จึงพาสมัครพรรคพวกลงเรือหนีไป เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- องเชียงสือหนีกลับญวน -
ทรงตรัสห้ามมิให้ใครตามจับ ปล่อยให้กลับญวนไปไม่ร่อนเร่ เปิดโอกาสตั้งตนไม่ปนเป เห็นเขาเซเราซ้ำทำไม่ลง
องเชียงสือเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ลมว่าวผ่านพัดแรงเป็นแรงส่ง เรือแล่นใบไวว่องสิ้นพะวง มุ่งหน้าตรงเกาะกูดเกาะร้างไกล |
อภิปราย ขยายความ....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาให้ได้อ่านกันถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงยกทัพไปตีเมืองทวาย ตั้งค่ายล้อมเมืองอยู่จนขาดเสบียงอาหารจึงเลิกทัพกลับกรุงเทมหานคร ในการศึกครั้งนี้องเชียงสือกษัตริย์ญวนพลัดถิ่นได้ร่วมไปในกองทัพด้วย เมื่อกลับมากรุงเทพฯแล้ว ได้ปรึกษาสมัครพรรคพวกในการกลับไปกอบกู้ราชบัลลังก์บ้านเมืองด้วยตนเอง ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลาก็มิกล้า ด้วยเกรงพระราชอาชญา จึงเขียนหนังสือกราบทูลถวายบังคมลาใส่พานวางไว้บนโต๊ะบูชา แล้วลงเรือหนีออกไปในยามค่ำคืน ชาวบ้านรู้เรื่องจึงแจ้งให้เจ้าพระยาพระคลังทราบ เจ้าพระยาพระคลังจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล เรื่องราวจะเป็นอย่างไร อ่านต่อเถิดครับ
 * “สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยเรือข้าราชการทั้งปวงออกติดตามไปก็มิทัน ด้วยเรือองเชียงสือได้ออกพ้นปากน้ำตกถึงท้องทะเลเสียแล้ว จึงเสด็จกลับพระนคร ครั้นรุ่งเช้าเสด็จขึ้นเฝ้ากราบทูลว่าจะจัดแจงเรือรบเรือทะเลยกกองทัพออกไปติดตามเอาตัวองเชียงสือให้จงได้ พอดีเวลาเช้าวันนั้นพวกข้าหลวงไปค้นเรือนองเชียงสือ พบหนังสือที่เขียนทูลลาไว้จึงนำมาถวาย ทรงพระกรุณาให้อ่านเป็นใจความว่า
 “ข้าพระพุทธเจ้าองเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงก็ได้ความสุข บัดนี้มีความวิตกถึงบ้านเมือง ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลากลับออกไปก็กลัวพระราชอาชญานัก จึงต้องคิดอ่านหนีด้วยเป็นความจำเป็น ใช่จะคิดการกบฏกลับมาประทุษร้ายนั้นหามิได้ ขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทไปตราบเท่าชีวิต ซึ่งถวายบังคมลาไปทั้งนี้ ด้วยจะไปตั้งซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าตีเอาเมืองคืนให้จงได้ แม้นขัดสนกระสุนดินดำและเหลือกำลังประการใด ก็จะบอกมาขอพระราชทานลูกดินและกองทัพออกไปช่วยกว่าจะสำเร็จ การสงครามคืนเอาบ้านเมืองได้แล้ว ก็จะขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป”
 ครั้นได้ทรงทราบความในหนังสือนั้นแล้ว จึงตรัสห้ามสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าว่า อย่ายกทัพไปติดตามจับเขาเลย เขาเห็นว่าเราจะช่วยธุระเขามิได้ ด้วยมีการศึกติดพันกันอยู่ จึงหนีไปตีเอาบ้านเมืองคืน เรามีคุณแก่เขาเขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยเท้ามิควร สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจึงกราบทูลว่า "องเชียงสือคนนี้ แม้นทรงพระกรุณาจะละไว้ มิให้ติดตามเอาตัวให้ได้ นานไปภายหน้าหาบุญเราไม่แล้ว มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแท้อย่าสงสัยเลย" ตรัสดังนั้นแล้วก็กราบถวายบังคมลากลับไป”
 * ความตอนที่องเชียงสือหนีกลับญวนนี้ เจ้าพระทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เขียนไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ให้รายละเอียดมากกว่าความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา คือ ให้รายละเอียดว่า องเชียงสือนั้น เวลาเสด็จพระราชดำเนินการทัพศึก ก็ได้ตามเสด็จไปช่วยราชการบ้าง เวลาเสด็จอยู่ในพระนครก็เข้าเฝ้าแหนและรับราชการบ้าง และยังได้คิดฝึกหัดซักซ้อมญวนหก ญวนรำกระถาง สิงโตล่อแก้วสำหรับเล่นกลางวัน สิงโตคาบแก้วสำหรับเล่นในเวลากลางคืน เป็นการเล่นอย่างญวนถวายตัว จึงโปรดให้เล่นหน้าพลับพลาในเวลามีการมหรสพ เป็นแบบแผนสืบมาจนทุกวันนี้
ตอนที่หนีจากกรุงเทพฯนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้รายละเอียดว่า หลังจากปรึกษาจนเห็นพ้องต้องกันและเขียนหนังสือกราบถวายบังคมลาแล้ว วางหนังสือนั้นไว้ที่โต๊ะบูชา สั่งให้องกว้าน องญี่ เอาเรือใหญ่เดิมของตัวไปคอยอยู่ที่เกาะสีชัง ครั้นเพลาค่ำ องเชียงสือจึงให้หาตัวนายจันท์ นายอยู่ นายเมือง ตำรวจในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ซึ่งเป็นคนชอบพอกันไปเลี้ยงสุราที่เรือนองเชียงสือ แล้วให้แพรย่นสีทับทิมคนละผืน ทั้งสามคนเมาสุราถึงขนาดไม่รู้สึกสมประดี จึงให้จับตัวคนทั้งสามมัดมือแล้วให้คนหามลงไว้ในท้องเรือ จากนั้นองเชียงสือก็พาครอบครัวกับพวกญวนเก่าที่กรุงเทพฯไป องเฮียวเจ้ากรมช่างสลัก ๑ องหับเจ้ากรมช่างไม้ ๑ องเกาโลเจ้ากรมช่างหล่อ ๑ รวม ๓ คนลงเรือแล้วถอนสมอรีบแจวไปในเวลากลางคืนวันนั้น เรือ ๔ ลำ คนประมาณ ๑๕๐ เศษ
 ตอนที่กรมพระราชวังบวรฯเสด็จตามไปนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวว่า เสด็จไปถึงปากอ่าวยามรุ่งอรุณแลเห็นเรือองเชียงสือ ฝ่ายองเชียงสือก็เห็นเรือตามมา ออกปากอ่าวแล้วใช้ใบไม่ได้เพราะไม่มีลม องเชียงสือตกใจคิดว่าคงจะถูกจับได้และถูกฆ่าเสียแน่แล้ว ตัดสินใจว่า เราเป็นคนไม่มีวาสนาแล้วจะอยู่ไปไยให้หนักแผ่นดิน ว่าแล้วก็ชักดาบออกจะเชือดคอตายเสีย องภูเวกระโดดเข้าชิงดาบในมือองเชียงสือไว้ จากนั้นองภูเวก็แนะนำให้อธิษฐานเสี่ยงทายดู หากมีบารมีพอจะเป็นเจ้าแผ่นดินญวนก็คงจะมีลมมาช่วยให้ใช้ใบแล่นเรือหนีไปได้ หลังจากนั้นก็ปรากฏว่ามีลมว่าวพัดมา เรือญวนทั้งสี่ลำก็ใช้ใบแล่นหนีไปโดยเร็ว จากนั้นก็แล่นเรือไปพำนักอยู่ที่เกาะกูดซึ่งมีน้ำจืดบริบูรณ์ และในเวลานั้นเกาะนี้เป็นเหมือนเกาะร้าง เพราะหาผู้คนอยู่อาศัยมิได้เลย”
** ท่านผู้อ่านครับ องเชียงสือหนีกลับญวน จะชิงเมืองคืนได้หรือไม่ อย่างไร ติดตามอ่านกันในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, กลอน123, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- องเชียงสือตั้งหลักกู้บัลลังก์ -
องเชียงสือซ่อนตนบนเกาะกูด รอพิสูจน์ให้เห็นตนเป็นใหญ่ อุปสรรคนานาฟันฝ่าไป เดินเข้าใกล้ความหวังบัลลังก์ญวน |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้พูดถึงองเชียงสือพาพรรคพวกหนีกลับญวน สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลขอส่งกองเรือรบออกตามจับตัวกลับมา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามไว้ เพราะได้ทอดพระเนตรหนังสือที่องเชียงสือเขียนข้อความกราบบังคมลาใส่พานไว้ในเรือน ว่าจะกลับไปกู้เมืองญวนคืนมา สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าไม่พอพระทัย กราบทูลว่า "องเชียงสือคนนี้ แม้นทรงพระกรุณาจะละไว้มิให้ติดตามเอาตัวให้ได้ นานไปภายหน้า หาบุญเราไม่แล้ว มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแท้อย่าสงสัยเลย" ดำรัสดังนั้นแล้วก็กราบถวายบังคมลาเสด็จกลับไปพระราชวัง เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วันนี้มาดูกันต่อไปครับ
 * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า ในปีมะแม จุลศักราช ๑๑๔๙ พ.ศ. ๒๓๓๐ นั้น พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพุทไธมาศถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้บุตรพระยาราชาเศรษฐีญวนเจ้าเมืองพุทไธมาศคนเก่านามว่าองเทียม เป็น พระยาราชาเศรษฐี ออกไปครองเมืองพุทไธมาศแทน แล้วตรัสปรึกษาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ถึงเมืองสมุทรปราการว่า เมืองนี้หามีกำแพงเมืองไม่ เกรงว่าจะมีราชศัตรูหมู่ปัจจามิตรยกมาทางทะเล ไม่มีที่มั่นจะป้องกันรับข้าศึกศัตรู ทรงเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงให้เกณฑ์ทำอิฐแล้วเกณฑ์ข้าราชการให้ก่อป้อมและกำแพงไว้ที่ริมแม่น้ำใต้ปากลัด ฟากฝั่งตะวันออก เป็นที่มั่นป้องกันอริราชไพรีอันจะมีมาทางทางทะเลนั้น
 และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กอง ปรุงเครื่องบนพระมณฑปพระพุทธบาทขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในคราวที่พม่ายกมาล้อมกรุงเก่านั้น พวกจีนค่ายคลองสวนพลูคบคิดกันเอาเพลิงไปจุดเผาพระมณฑปเดิมนั้นเสีย ตกมาถึงสมัยพระเจ้าตากสินนั้นทรงให้ทำเป็นแต่หลังคามุงกระเบื้องกั้นพระพุทธบาทไว้ หาได้สร้างเป็นพระมณฑปดังแต่ก่อนเก่าไม่ เมื่อก่อนยังมิได้เสด็จยกทัพหลวงไปตีทวายนั้นทรงตรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า เป็นแม่การยกพระมณฑปพระพุทธบาท สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าจึงเสด็จทางชลมารคถึงที่ประทับท่าเจ้าสนุก แล้วมีพระราชบัณฑูรให้เกณฑ์ข้าราชการไพร่นายช่วยกันขนตัวไม้เครื่องบนพระมณฑปขึ้นไปยังพระพุทธบาท ด้วยพระราชศรัทธาเปี่ยมล้น พระองค์ทรงยกตัวลำยองเครื่องบนพระมณฑป ทรงแบกด้วยพระองค์เองแล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทไปตามทาง ให้ตั้งขาหยั่งและพลับพลาที่ประทับไปตามระยะทางจนถึงพระพุทธบาท เมื่อให้ช่างยกเครื่องบนพระมณฑปเสร็จแล้ว ให้จัดการลงรักปิดทองประดับกระจก ให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้งสี่กับเครื่องบนและยอดล้วนแผ่ทองคำหุ้มทั้งสิ้น
 * คราวนี้ขอกล่าวถึงเรื่องราวขององเชียงสือ(เหงียน ฟลุ๊ค แอ๋ง ?) ที่หนีจากกรุงเทพมหานครกลับไปเมืองญวน โดยจะขอเก็บความในพระราชพงศาวดารกัมพูชา ฉบับนักองค์นพรัตน ที่ พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) แปลจากภาษาเขมร ตอนที่ว่าด้วยองเชียงสือ (หรือ เหงียน ฟลุ๊ค แอ๋ง) กอบกู้เมืองญวน ดังต่อไปนี้
 ถึงปีจุลศักราช ๑๑๔๙ (พ.ศ.๒๓๓๐) ปีมะแม องเชียงสือเจ้าเวียดนาม ซึ่งพ่ายเจ้าไกเซิน พาครอบครัวหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยามนั้น ได้ลอบพาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองไทยมาปักหลักอยู่ ณ เกาะตรน (เกาะกูด?) เกลี้ยกล่อมได้ไพร่พลญวนเป็นสมัครพรรคพวกจำนวนมากพอสมควรแล้วจึงยกไปตีได้เมืองตึกเขมา เมืองกระมวนสอ ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์(แป้น) หรือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(แบน) เมื่อได้ทราบข่าวว่า องเชียงสือเจ้าเวียดนามกลับมาตีเมืองญวนคืน ก็จัดแจงไพร่พลออกจากเมืองพระตะบอง มาที่เมืองอุดงฦๅชัย ทั้งนี้ด้วยมีพระราชดำรัสจากพระเจ้ากรุงสยามให้ยกกองทัพไปช่วยองเชียงสือ ความในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาตอนนี้กล่าวไม่ค่อยชัดเจนนัก ดังนั้นจึงจักขอนำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ที่ท่านเขียนไว้ชัดเจนที่สุดมาแสดง ดังนี้
 * องเชียงสือซึ่งหนีไปอยู่ที่เกาะกูดนั้น หมดสิ้นเสบียงอาหารจนต้องกินแต่เนื้อเต่ากับมันกลอย วันหนึ่งแลเห็นเรือแล่นเข้าไปใกล้เกาะกูด ๑ ลำ องเชียงสือตกใจจึงให้ครอบครัวเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า แล้วให้องจวงลงเรือเล็กไปถามว่าเรือนี้มาแต่ไหน จีนฮุ่นสามีอำแดงโตด ญวนเมืองจันทบุรีบอกว่า เรือบรรทุกข้าวสารมาแต่เมืองจันทบุรี ๓๐ เกวียน จะไปจำหน่ายที่เมืองเขมา เมืองเต๊กเซีย ต้องพายุซัดเรือออกไป องจวงจึงบอกความจริงแก่จีนฮุ่นว่าองเชียงสือหนีมาอยู่ที่เกาะนี้ ให้จีนฮุ่นขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน จีนฮุ่นก็คิดว่าเรือเราลำเดียวพลัดเข้ามาถึงที่นี่ หากไม่ไปหาองเชียงสือ เขาก็จะหักหาญเอา ที่ไหนจะพ้นมือไปได้ จำจะคิดทำคุณไว้ดีกว่า คิดแล้วจึงลงเรือไปกับองจวง เมื่อพบกับองเชียงสือแล้วก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โดยองเชียงสือบอกเล่าว่ามาอยู่ที่เกาะนี้นานแล้วจนเสบียงอาหารหมดสิ้น ไม่มีข้าวจะกิน เมื่อเรือจีนฮุ่นบรรทุกข้าวสารมาถึงที่นี่ก็ดีแล้ว ยังพอมีเงินตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ไว้เหลืออยู่ ๑๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เงินทั้งหมดนี้จะขอซื้อข้าวสารจีนฮุ่นตามแต่จะขายให้ได้ จีนฮุ่นบอกว่า ท่านมาอยู่ที่ลำบากยากแค้น ข้าวสาร ๓๐ เกวียนของเรานั้นจะขอมอบให้ท่านทั้งสิ้นโดยให้เปล่าไม่ขอรับเงินแม้แต่น้อย องเชียงสือจึงเขียนหนังสือสัญญาประทับตรารูปมังกรให้จีนฮุ่นไว้ว่า ถ้าออกไปตีเอาบ้านเมืองคืนได้เป็นเจ้านายฝ่ายญวนแล้ว ขอให้จีนฮุ่นออกไปหาองเชียงสือ จะทดแทนคุณให้ถึงขนาด จ ากนั้นก็ให้คนลงไปขนข้าวสารจากเรือจีนฮุ่นจนสิ้น จีนฮุ่นก็อำลากลับเมืองจันทบุรี”
 * ท่านผู้อ่านครับ ในที่สุดองเชียงสือก็หนีจากกรุงเทพมหานครไปได้สำเร็จ เขาขึ้นไปอยู่บนเกาะร้างชื่อ เกาะกูด อยู่กลางทะเลระหว่างแดนต่อแดน ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เขาเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามก็มิได้เข้ามาอยู่เปล่า นอกจากร่วมออกรบในราชการสงครามกับกองทัพไทยแล้ว ยังรับราชการเฝ้าแหนมิได้ขาด ผลงานที่ยังคงอยู่ขององเชียงสือคือ การแสดงญวนหก ญวนรำกระถาง สิงโตล่อแก้วสำหรับแสดงเวลากลางวัน และ สิงโตคาบแก้วสำหรับแสดงเวลากลางคืน เพลงประกอบการรำที่ชื่อว่า ญวนรำกระถาง นั้นสำเนียงทำนองดนตรีไพเราะมาก ท่ารำก็สวยงามอย่างหาที่ติมิได้
 ดวงชะตาขององเชียงสือจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินญวน ตอนที่หนีออกจากกรุงเทพฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชติดตามจับตัวใกล้จะได้แล้ว ก็เกิดลมว่าวพัดมาอย่างแรง ช่วยให้กางใบแล่นเรือหนีไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่น่าอัศจรรย์ ตอนที่ตกอยู่บนเกาะกูดซึ่งเป็นเกาะร้างโดดเดี่ยวนั้น เกิดความขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก ก็เกิดมีลมพัดพาเรือบรรทุกข้าวสารของจีนฮุ่น จากจันทบุรีที่จะไปค้าขายนั้น ลอยไปถึงเกาะกูด เขาจึงได้ข้าวสารเลี้ยงชีวิตทุกคนบนเกาะพ้นความเดือดร้อนไปได้
เรื่องราวขององเชียงสือ(หรือจักรพรรดิยาลอง) จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ วันพรุ่งนี้เปิดอ่านกันได้ตามใจครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กลอน123, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- หนุนองเชียงสือตีไซ่ง่อน -
ทรงให้เรือให้ปืนดินดำกระสุน สนับสนุนตามขออย่างครบถ้วน องเชียงสือไม่จบการรบกวน ทุกอย่างล้วนได้จากแผ่นดินไทย |
อภิปราย ขยายความ...................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มาบอกเล่าถึงตอนที่ องเชียงสือใช้เรือแล่นใบจากกรุงเทพฯไปถึงเกาะกูดอันเป็นเกาะร้าง ได้พาพรรคพวกขึ้นอยู่อาศัยจนเสบียงอาหารหมดลง ก็พอดีมีเรือค้าข้าวสารของจีนฮุ่นจากเมืองจันทบุรีนำข้าวสารไปขายยังต่างเมือง ถูกลมพัดพาไปถึงเกาะกูด องเชียงสือได้ขอซื้อข้าวสารทั้งหมด แต่จีนฮุ่นกลับยกให้ทั้งหมด เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านความต่อจากนี้ครับ
 * “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าองเชียงสือไปตั้งอยู่ ณ เกาะกูด จึงโปรดให้จัดเรือตระเวนหลายลำพร้อมปืนและกระสุนดินดำ ให้กรมการเมืองตราดส่งไปพระราชทานแก่องเชียงสือที่เกาะกูด ให้เป็นกำลังและช่วยลาดตระเวนสลัดให้ด้วย องเชียงสือได้รับพระราชทานเรือลาดตระเวนและเครื่องศาสตราวุธดังนั้น ก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปตีเอาเมืองเขมา เมืองประมวนสอได้ แล้วแต่งให้เรือออกไปลาดตระเวนสลัด จับสลัดญวนได้บ้าง ยอมเข้าสวามิภักดิ์องเชียงสือบ้าง องเชียงสือให้ฆ่านายสลัดเสียคนหนึ่ง ให้เอาศีรษะใส่ถังมอบให้พระยาราชาเศรษฐีส่งเข้ามากรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะไปตีเมืองเขมา และเมืองประมวนสอได้นั้น ได้ให้องจวงลอบไปสืบการบ้านเมืองตลอดถึงเมืองไซ่ง่อน องจวงกลับมาแจ้งว่าได้ไปเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองพระตะพัง สมัครเข้าด้วยเป็นอันมาก แล้วองจวงก็พาองเชียงสือไปพักอยู่ที่ปากน้ำเมืองป่าสัก
กล่าวถึงญวนสองพี่น้องคือ องโหเตืองดึก กับ องทงยุงยาน พาครอบครัวหนีจากเมืองญวนมาทางเมืองลาว มาตามองเชียงสือถึงกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานนำขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า องเชียงสือนั้นให้ลงไปอยู่ข้างล่างใกล้ทะเลจึงหนีไปโดยง่าย ญวนพวกนี้ต้องให้อยู่ข้างบน ถึงจะคิดหนีออกไปก็ลำบากไม่สะดวก จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯว่า องเชียงสือหนีออกไปจากกรุงเทพมหานครเสียแล้ว ขอให้องโหเตืองดึก องทงยุงยาน พักครอบครัวไว้ที่บ้านบางโพก่อนเถิด
 อยู่มาถึงวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ องเชียงสือได้มีหนังสือเข้ามาถึงพระยาพระคลังให้นำความกราบบังคมทูลว่า “ข้าพเจ้าได้หนีเข้ามาพึ่งพระบารมีพระเดชพระคุณ ทรงพระเมตตากรุณาให้กองทัพออกไปตีเมืองญวนคืนให้ การก็ยังไม่สำเร็จ เพราะด้วยที่กรุงมีการศึกพม่าติดพันอยู่ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระคุณแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก เมืองประเทศราชทั้งปวงก็รู้แจ้งอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้รับหนังสือเจ้าเมืองตังเกี๋ยและญวนพวกพ้องข้าเก่าของปู่และบิดาข้าพเจ้าว่า ให้ออกไปคิดเอาบ้านเมืองคืนให้จงได้ ข้าพเจ้าจะกราบบังคมก็เกรงพระราชอาชญาจะไม่โปรด จึงได้ทำหนังสือตามเรื่องความกราบถวายบังคมลาวางไว้ที่โต๊ะเครื่องบูชาแล้ว จึงได้หนีออกมา ทราบว่าพวกญวนที่รบพุ่งเป็นศึกกับพวกไกเซินไม่มีที่พึ่ง ลงเที่ยวเป็นโจรผู้ร้ายอยู่ในท้องทะเล ข้าพเจ้าปราบปรามไม่ทิ้งพยศร้าย จึงได้ตัดศีรษะให้เจ้าเมืองบันทายมาศส่งเข้ามาครั้งก่อนแล้ว ครั้งนี้ข้าพเจ้าให้กายดาวคุมเครื่องยศที่พระราชทานแก่ข้าพเจ้า คือกระบี่บั้งทอง เล่ม ๑ คนโททอง ๑ ถาดหมากทอง ๑ เข้ามาส่ง ขอรับพระราชทานเรือตระเวนปืนกระสุนดินดำที่พระราชทานให้ข้าพเจ้าออกไปลาดตระเวนนั้น ไปทำศึกกับไกเซินต่อไป ถ้าเสร็จการแล้วจึงจะส่งคืนเข้ามาถวาย” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความตามหนังสือนั้นแล้ว จึงพระราชทานปืน กระสุนดินดำ เพิ่มเติมออกไปให้อีก ครั้นกายดาวถวายบังคมลากลับไปแล้ว ได้บอกความแก่องเชียงสือว่า องโหเตืองดึก องทงยุงยาน ได้พาครอบครัวอพยพหนีไกเซินเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครแล้ว
 ถึงวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ องเชียงสือมีหนังสือมากราบทูลฉบับหนึ่ง ใจความว่า “ด้วยโปรดให้กายดาวคุมสิ่งของออกไปพระราชทานนั้น ระยะทางไกลไปมากันดารนัก ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมาก บัดนี้นายทัพนายกองและไพร่พลพวกไกเซินหาปรกติกันไม่ หนีมาหาข้าพเจ้าหลายพวกหลายเหล่า ข้าพเจ้าทราบว่าองโหเตืองดึก องทงยุงยาน หนีไกเซินมาอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร และองโหเตืองดึก องทงยุงยาน รู้แยบคายกลศึกอยู่ ขอรับพระราชทานองโหเตืองดึก องทงยุงยาน ออกไป จะได้ช่วยข้าพเจ้าทำศึกกับไกเซินต่อไป และปืนกระสุนดินดำมีน้อย ขอรับพระราชทานปืนกระสุนดินดำให้องโหเตืองดึก องทงยุงยานคุมออกไปพระราชทานข้าพเจ้าด้วย”
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดพระราชทานเรือรบให้องโหเตืองดึก ๑ ลำ องทงยุงยาน ๑ ลำ มีปืนกระสุนดินดำพร้อม ให้ออกไปช่วยการศึกองเชียงสือยึดเมืองญวนให้จงได้ องโหเตืองดึก องทงยุงยาน กราบถวายบังคมลาไปด้วยกายดาวเมื่อพบกับองเชียงสือที่ปากน้ำเมืองป่าสักแล้ว ก็ร่วมกับองเชียงสือเกลี้ยกล่อมญวน เขมร เข้าเป็นพวกด้วยเป็นอันมาก ครั้นตระเตรียมพลรบพรักพร้อมแล้วก็ยกทัพเรือ จากเมืองป่าสักขึ้นไป ถึงแพรก ทะเลิง ญวนพวกไกเซินชื่อองดกเซม ยกลงมาจากเมืองไซ่ง่อนได้สู้รบกันเป็นสามารถ องดกเซมสู้มิได้ก็แตกทัพหนีไป องเชียงสือก็ได้รี้พลเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก โดยรี้พลเหล่านี้นับถือว่าองเชียงสือเป็นเป็นเจ้านายของตน จึงเข้าเป็นไพร่พลขององเชียงสือพร้อมกันด้วยความยินดี เป็นเหตุให้องเชียงสือยกกองทัพเรือขึ้นไปยึดเมืองไซ่ง่อนได้โดยง่าย”
 ** ท่านผู้อ่านครับ งานกอบกู้บ้านเมืองขององเชียงสือเริ่มขึ้นแล้ว ด้วยความยากลำบากยิ่ง เพราะแม้จะได้กำลังพลเพิ่มขึ้น แต่อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นไม่มีมากพอที่จะทำศึกใหญ่ ดีที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระเมตตาให้การช่วยเหลือในเรื่องนี้ ผลจะเป็นอย่างไร ติดตามรับอ่านกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทบ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- องเชียงสือกู้บัลลังก์ได้ -
องเชียงสือยึดไซ่ง่อนสำเร็จ เป็นบำเหน็จความยากที่อยากได้ ชาวเวียดนามมากมวลล้วนร่วมใจ ยกย่องให้นั่งแท่นเจ้าแผ่นดิน |
อภิปราย ขยายความ ..................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกกล่าวถึงองเชียงสือมีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทูลขอตัวองโหเตืองดึก กับ องทงยาน ไปช่วยรราชการสงคราม พร้อมทูลขอกระสุนดินดำเพิ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา พระราชทานให้ตามคำทูลขอ เรื่องราวจะเป็นอยางไรต่อไป วันนี้มาดูกันต่อครับ
 * พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้โดยย่อว่า “เจ้าฟ้าทะละหะ (แทน) กับ ออกญากระลาโหม (อุก) แห่งเขมรได้ไปร่วมประชุมกับองพดเส็ม(องดกเซม?) พวกญวนไกเซิน ที่ตำบลคลองเถลิง ในเขตเมืองป่าสัก เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์(แป้น) ผู้รับคำสั่งจากกรุงเทพมหานครให้ยกทัพไปช่วยองเชียงสือนั้น ได้ให้ออกญาจักรี(แกบ) เป็นแม่กองใหญ่กับออกญายมราช(กัน) เป็นที่ปรึกษา ยกกองทัพเรือไปทางน้ำ ผ่านทะเลตึกวิล(น้ำวน) อันลงสาน(วังสาน) ถึงเมืองเมี๊ยดจรูก(ปากหมู) แลพระสตึงจาสเดา(แม่น้ำจาสเดา) ก็ได้ปะทะกับกองทัพญวนขององพดเส็มที่เจ้าฟ้าทะละหะ(แทน) เป็นผู้ควบคุม ทัพญวนผสมเขมร กับทัพไทยผสมเขมรได้รบกันเป็นสามารถ กองทัพออกญาจักรี(แกบ) เข้มแข็งกว่าจึงได้รับชัยชนะ ตีทัพญวนผสมเขมรแตกกระเจิง องพดเส็มหนีรอดไปไซ่ง่อน เจ้าฟ้าทะละหะ(แทน) และพรรคพวกชาวเขมรถูกจับตัวได้ ออกญาจักรีจึงบอกส่งตัวไปให้เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (อภัยภูเบศร์) ณ เมืองอุดงฦๅไชย
เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ให้ชำระไต่สวน ผู้ใดมีโทษหนักก็ให้ฆ่าเสีย ผู้ใดโทษเบาก็เอาตัวไว้ ส่วนตัวเจ้าฟ้าทะละหะ(แทน) นั้น ได้บอกส่งตัวไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาไม่เอาโทษ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้คงเป็นที่เจ้าฟ้าทะละหะตามเดิม
 ลุถึงจุลศักราช ๑๑๕๑ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๓๒ เจ้าพระยาอภัยธิเบศร์(แป้น) พร้อมด้วยออกญาจักรี(แกบ) ออกญายมราช(กัน) ร่วมกับองเชียงสือ ได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองไซ่ง่อน ได้รบกับกองทัพญวนไกเซินจนมีชัยชนะ จับตัวองพดเส็มได้แล้วให้ฆ่าเสีย”
 * ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้กล่าวถึงเรื่องการตีเมืองไซ่ง่อน โดยเมื่อตีเมืองไซ่ง่อนได้แล้ว องเชียงสือถวายต้นไม้ทองเงินครั้งที่ ๑ ว่า “ครั้นมาถึง เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ในปีวอกสัมฤทธิศกนั้น องเชียงสือมีหนังสือบอกเข้ามาฉบับ ๑ ใจความในหนังสือว่า เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ องเชียงสือตีได้เมืองไซ่ง่อน เมืองโลกนาย เมืองบาเรียแล้ว ครั้นมาถึงเดือน ๑๒ องเชียงสือคิดถึงพระเดชพระคุณ จึงได้ทำต้นไม้เงิน ๑ ทอง ๑ ด้วยฝีมือช่างลายแทงทั้งต้น และกระถางสูง ๒๐ นิ้ว แต่งให้องโบโฮคุมเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย ก็โปรดให้ไปบูชาไว้ในหอพระเจ้า ในหนังสือนั้นว่า อ้ายเชียงซำผู้รักษาเมืองไซ่ง่อนแตกหนีมาอยู่เมืองป่าสัก และขอพระราชทานยืมเรือรบ ๓๐ ลำ กับปืนหน้าเรือปืนท้ายเรือ กระสุนดินดำออกไป และขอกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมร ๓,๐๐๐ คน จะให้ตัดผมเป็นไทยไปช่วยตีเมืองป่าสักจับอ้ายเชียงซำ ก็โปรดให้องโบโฮ องโหเตืองดึก องไกจัด ไปเลือกเรือรบ ก็มีแต่เรือชำรุด ได้เรือดี ๕ ลำ พระราชทานปืนนกโพรงออกไปด้วย ๗๐ กระบอก กระสุนดินดำสำหรับเรือพร้อม และมีตราออกไปให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แต่งกองทัพเขมรลงไปช่วยองเชียงสือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ไปถึงพร้อมกับองเชียงสือ ก็เข้าล้อมเมืองป่าสักไว้ อ้ายเชียงซำก็เข้าหาองเชียงสือ แล้วองเชียงสือก็ให้พระยาจักรี(แกบ)เขมรรักษาเมืองป่าสักไว้เป็นเมืองเขมร เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ก็กลับไปเมืองเขมร”
รุ่งขึ้นปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๒ ปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า เดือน ๕ แรม ๑ ค่ำ องเชียงสือได้จัดข้าวสาร ๒๐๐ เกวียนเข้ามาถวายตามที่มีท้องตราออกไป แสดงให้เห็นว่าองเชียงสือยังคงมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงสยามอยู่อย่างมั่นคง จากนั้นถึงปีจุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๓ ความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันนี้กล่าวถึงองเชียงสือไว้ว่า
 “ลุจุลศักราช ๑๑๕๒ ปีจอ โทศก องเชียงสือซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอนัมก๊ก แต่งให้องโบโฮ ๑ องเบ็ดเลือง ๑ องโดยเวียน ๑ คุมต้นไม้ทองเงิน กับเครื่องราชบรรณาการระย้าแก้วคู่ ๑ เชิงเทียนคู่ ๑ กระจกคู่ ๑ ตัวอย่างเรือพระที่นั่งที่จะต่อถวาย ๑ ลำ เข้ามาทูลเกล้าฯถวาย และมีหนังสือให้โบโฮถือเข้ามาถึงพระยาพระคลังว่า ฝนแล้ง อาณาประชาราษฎรเมืองไซ่ง่อนทำนาได้ผลน้อย ถ้าเรือลูกค้าจะออกไปค้าขาย ณ เมืองไซ่ง่อน ขอได้โปรดให้บรรทุกข้าวสารออกไปจำหน่าย จะได้เป็นกำลังแก่ไพร่พลทำการศึกต่อไป”
 * เรื่องของญวนและองเชียงสือยังมีในบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พอสรุปได้ว่า พวกญวนไกเซินยกมารุกรานลาว โดยเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์บอกลงมายังกรุงเทพมหานครว่า องลองเยือง องดึก องแอม ให้องเจียงบา องเจียงเวียน เป็นแม่ทัพคุมญวนไกเซิน ๓,๐๐๐ สมทบกับกองทัพลาวเมืองพวนอีก ๓,๐๐๐ ยกมารุกราน เจ้าเวียงจันทน์แต่งทัพลาวออกไปสู้รบกับพวกญวนที่เมืองพวน กองทัพลาวใช้ความเข้มแข็งเข้าตีทัพญวนเมืองตังเกี๋ยแตกกระจัดกระจายล้มตาย ยึดได้ปืนและเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก จับได้ลาวคือนายภูทหาร นายทอง นายปาน กับไพร่ ๓๐ คน ส่งลงมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาตัวนายภูทหาร นายทอง นายปาน กับญวนมีชื่อ ๓๐ คน ไปให้องโบโฮ องเบ็ดเลือง องโดยเวียน ถามเอาปากคำนำความไปแจ้งแก่องเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก และจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กับองเชียงสือ
 ทางฝ่ายองเชียงสือมีหนังสือเข้ามากราบทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ฝ่ายเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ก็มีหนังสือกราบทูลกล่าวโทษองเชียงสือ แต่เรื่องก็สงบระงับไปด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความ “นิ่ง” ไม่สอบสวนทวนความใด ๆ สาเหตุของเรื่องนี้ก็คือ หลวงจำนง กับ ขุนสนิทเสนหา ข้าหลวงของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ไปลักผู้หญิงญวนเข้ามาแล้วถูกจับได้แล้วก็โกรธ ขู่ว่าเมื่อเข้ากรุงเทพฯแล้วจะทูลกล่าวโทษองเชียงสือ และก็มีหนังสือกล่าวโทษถึง ๓ ฉบับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงเชื่อ ภายหลังทรงให้มีหนังสือไปถึงองเชียงสือว่าป่าวร้องให้บรรดาเรือลูกค้านำข้าวสารไปขายเมืองไซ่ง่อนตามที่ทูลขอ พร้อมกันนั้นก็ให้จัดม้าผู้สีขาว สูง ๒ ศอกคืบ ๑ ม้า สีแดง สูง ๒ ศอกคืบ ๑ ม้า เครื่องม้าอย่างไทยคร่ำเงิน ๑ สำรับ อย่างฝรั่ง ๑ สำรับ พรมใหญ่ ๑ ผืน ศิลาปากนก ๑๐,๐๐๐ ศิลาฝนหมึก ๑ อัน พู่กัน ๑ หีบ แพรมังกรอย่างดีสีต่าง ๆ ๑๐ ม้วน ฆ้องใหญ่ ๔ ฆ้อง และสิ่งของอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ให้พระราชมนตรี ขุนศรีเสนา นำออกไปกับองโบโฮ องเบ็ดเลือง องโดยเวียน ซึ่งมาถวายต้นไม้ทองเงินนั้นคุมออกไปพระราชทานเจ้าอนัมก๊ก โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องหลวงจำนง และพวกข้าหลวงเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ที่องเชียงสือกล่าวโทษนั้นเลย”
** ท่านผู้อ่านครับเรื่องขององเชียงสือก็ได้กล่าวมาอย่างยืดยาวแล้ว เห็นควรพักไว้แค่นี้ เพราะยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่นสงครามพม่า รออยู่ วันพรุ่งนี้พบกันใหม่ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ปราบนักมวยพนันฝรั่งเศส -
มีกำปั่นฝรั่งเศสสองพี่น้อง หยิ่งผยองท้าพนันกันถึงถิ่น ชกมวยไม่มีรูปแบบบ่งระบิล แล้วแต่ศิลปะใครจะใช้กัน
สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า คัดเลือกเอามวยดีที่ก๋ากั๋น “หมื่นผลาญ”ล่ำคนเหิมสู้เดิมพัน ทาน้ำมันว่านลื่นขึ้นเวที
เชิงมวยไทยร้ายกาจฉลาดสู้ ฝรั่งจู่โจมจับขยับหนี จับคว้าไหล่ไม่ติดถูกโต้ตี ฝรั่งพี่ผลักหลังหวังช่วยน้อง
จึงถูกรุมอุตลุดหยุดไม่อยู่ ฝรั่งคู่ล้มดิ้นสิ้นผยอง เข็ดจนตายไม่อยู่ยอมประลอง กางใบล่องเรือลับไม่กลับมา |
อภิปราย ขยายความ..........
เมื่อวันวานนี้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกเล่าถึงเรื่องราวขององเชียงสือกอบกู้แผ่นดินญวน โดยได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามจนสำเร็จ วันนี้ขอพักเรื่องญวนไว้ก่อน หันมาดูเรื่องราวของไทยกันต่อไปครับ
 ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวเรื่องแทรกเข้ามาว่า ในปีวอกจุลศักราช ๑๑๕๐ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๑ นั้น มีเรือกำปั่นฝรั่งเศสเข้าสู่กรุงเทพมหานครลำหนึ่ง นายกำปั่นฝรั่งเศสสองคนพี่น้องมีจิตใจกล้าหาญ คนน้องนั้นเป็นคนมวยมีฝีมือ ในขณะเดินทางยังเมืองต่าง ๆ นั้น ได้เที่ยวท้าพนันชกมวยและชนะมาหลายเมืองแล้ว เมื่อมาถึงกรุงเทพมหานครก็บอกให้ล่ามกราบเรียนเจ้าพระยาพระคลังว่า จะขอชกมวยพนันกับคนมวยในพระนครนี้
เจ้าพระยาพระคลังนำความขึ้นกราบบังคมทูล ได้ทรงทราบแล้วจึงตรัสปรึกษากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่าหากเรามิจัดแจงคนมวยของเราออกต่อสู้คนมวยฝรั่งแล้ว ฝรั่งซึ่งเป็นคนต่างประเทศก็จะดูหมิ่นว่า พระนครนี้หาคนมวยดีจะต่อสู้มิได้ ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศปรากฏไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง “ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดแจงแต่งคนมวยที่มีฝีมือออกต่อสู้กับฝรั่งเอาชัยชำนะให้จงได้” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย จึงดำรัสให้เจ้าพระยาพระคลังบอกแก่ฝรั่งรับพนันชกมวยกัน โดยวางเดิมพันกันเป็นเงิน ๕๐ ชั่ง
 สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรสั่งให้คัดเลือกหาคนมวยฝีมือดีที่สุดในกรมทนายเลือก (กรมหนึ่งมีหน้าที่กำกับมวย) ทั้งในพระราชวังหลวงและวังหน้า ก็ได้หมื่นผลาญผู้หนึ่งเป็นทนายเลือก (นักมวยผู้มีหน้าที่ป้องกันพระราชา) เป็นคนรูปกายล่ำสัน มีฝีมือดีกว่านักมวยทั้งหมดในกรมนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ปลูกพลับพลาใกล้โรงละครด้านตะวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จัดตั้งสนามมวยชั่วคราวขึ้นที่นั้น แล้วกำหนดวันชกมวยพนันกับฝรั่ง
* ครั้นจะถึงวันที่กำหนดนัดชกมวยกัน สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้ามีพระราชบัณฑูรให้แต่งตัวหมื่นผลาญ เอาน้ำมันว่านอันอยู่คงชะโลมทั่วทั้งกาย แล้วให้ขี่คอคนลงมายังพระราชวังหลวง ฝ่ายฝรั่งเศสนายกำปั่นสองพี่น้องกับพวกบ่าวไพร่ ก็ขึ้นจากเรือกำปั่นมาสู่ที่สนามมวยชั่วคราวในพระราชวังหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พลับพลา เพื่อทอดพระเนตรการชกมวยพนันพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง
 ทรงให้เอาเส้นเชือกขึงวงรอบสนามมวยชั่วคราวนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จสถิตบนพลับพลาชั้นลดที่สองเตรียมพระองค์คอยทีอยู่ ดำรัสให้พวกทนายเลือกทั้งวังหลวงและวังหน้าเตรียมตัวอยู่พร้อมกัน ก่อนที่จะชกกัน หมื่นผลาญกับฝรั่งเศสคู่มวยก็เข้ากราบถวายบังคมในกลางสนาม แล้วยืนขึ้นตั้งท่าเข้าชกกัน มวยฝรั่งเศสนั้นล้วงมือจะจับหักกระดูกไหปลาร้าหมื่นผลาญ หมื่นผลาญก็ยกมือขึ้นกันแล้วชกพลางถอยพลาง มวยฝรั่งเศสถูกต้องหมัดมิได้ฟกช้ำจึงไม่ย่อท้อ ตั้งแต่ท่าล้วงอย่างเดียว เดินหน้าไล่ตามมาจนใกล้วงเชือกซึ่งขึงไว้ แต่ก็ยังไม่สามารถจับต้องตัวหมื่นผลาญได้
ฝ่ายฝรั่งเศสนายกำปั่นผู้เป็นพี่ชายเห็นดังนั้นจึงยืนขึ้นข้างหลังหมื่นผลาญแล้วยกมือผลักหมื่นผลาญให้เลื่อนเข้าไปในกลางวงไม่ให้ถอยหนีได้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้มวยน้องชายจับหักกระดูกไหปลาร้าให้จงได้ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทอดพระเนตรเช่นนั้นก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสว่า “เล่นชกพนันกันแต่ตัวต่อตัว ไฉนจึงช่วยชกเป็นสองคนเล่า” ดำรัสแล้วก็โดดลงจากพลับพลายกพระบาทถีบเอาฝรั่งเศสพี่ชายล้มลง ขณะนั้นพวกทนายเลือกก็วิ่งกรูกันเข้าชกต่อยปะเตะถีบทุบถองฝรั่งเศสทั้งสองคนพี่น้องจนบาดเจ็บสาหัส แล้วลากออกไปจากสนามมวย พวกบ่าวไพร่ฝรั่งเศสก็เข้าแบกหามนายลงไปยังกำปั่น
ยามนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาดำรัสพระราชทานหมอนวดหมอยาให้ลงไปรักษาพยาบาลฝรั่งเศสทั้งสองนั้น ครั้นหายเจ็บป่วยแล้วก็บอกล่ามให้กราบเรียนเจ้าพระยาพระคลังช่วยกรายทูลถวายบังคมลา แล้วถอยกำปั่นเลื่อนลงไปจากพระนคร ออกปากน้ำเมืองสมุทรปราการสู่ท้องทะเลหลวง ใช้ใบกลับไปยังเมืองฝรั่งเศส และกำปั่นลำนั้นก็มิได้หวนเข้ามาสู่กรุงเทพมหานครอีกเลย”
 ** ท่านผู้อ่านครับ เรื่องนายกำปั่นชาวฝรั่งเศสมาท้าชกมวยพนันเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่ารู้ไว้บ้าง นำมาให้อ่านคั่นอารมณ์เครียดจากการอ่านเรื่องการสงคราม หลังจากเรื่องปราบนักมวยชาวฝรั่งเศสแล้ว จะมีเรื่องอะไรในพระราชพงศาวดารอีกบ้าง พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ปรารภชำระพระไตรปิฎก -
โปรดให้ลูกยาเธอทรงผนวช สามองค์รวดรวมหลานไร้ปัญหา จากนั้นทรงพินิจพิจารณา ถึงตำราไตรปิฎกบกพร่องคำ |
อภิปราย ขยายความ..................
เมื่อวันวานนีได้นำความในพระราชพงศาวดารมาให้อ่านถึงตอนที่ชาวเรือกำปั่นสองพี่น้องสัญชาติฝรั่งเศสมาท้าชกมวยพนัน สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าคัดเลือกนักมวยไทยจากทนายเลือก ได้หมื่นผลาญเป็นตัวแทนฝ่ายไทย การแข่งขันเริ่มขึ้น นักชกฝรั่งเศสเดินเข้าหาจ้องจะจับไหปลาร้าไทยหัก แต่จับไม่ติด ไล่จับรอบ ๆ เวที ฝ่ายพี่ชายยืนอยู่ข้างเวทีเอามือผลักหลังนักชกไทย สมเด็จพระอนุชาธิราชตรัสว่าฝรั่งโกง จึงโดดเตะฝรั่งผู้พี่จนเกิดการรุมบาทาใส่ฝรั่งเศสสองพี่น้องนั้น บาดเจ็บบอบช้ำสะบักสะบอม วันนี้มาอ่านความในพระราชพงศาวารกันต่อไปครับ
 * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระ ยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ตรงกันว่า ในปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๑ นั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เจริญพระชนม์ได้ ๒๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเห็นควรที่ให้ทรงบรรพชาอุปสมบทได้แล้ว อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทั้งสองพระองค์นั้นก็มีพระชนมายุเกินอุปสมบทแล้ว ยังหาได้ทรงผนวชเป็นภิกษุไม่ ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตให้ออกทรงผนวชทั้งสามพระองค์พร้อมกัน ในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๓ โมงเช้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)
ครั้นถึงกำหนดพิธีผนวช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินสู่พระอุโบสถวัดพรศรีรัตนศาสดาราม พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายก็สโมสรสันนิบาตโดยอันดับ เสนาบดีผู้ใหญ่ปรึกษาให้พ้องกันว่า ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงผนวชก่อน หรือที่เรียกกันว่า “เป็นนาคเอก” เพราะแม้จะอ่อนพระชันษาก็เป็นลูกหลวงเอก มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ซึ่งแม้จะมีพระชันษาแก่กว่า แต่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ จึงควรเป็น “นาครอง” ให้เข้าขอผนวชทีหลัง เมื่อพระสงฆ์ราชาคณะ พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์และพระอันดับมาประชุมพร้อมในโรงพระอุโบสถแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็เข้าขออุปสมบทเป็นอันดับแรก ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ ครั้นเสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จกลับราชวัง
 ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกอันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์ให้เป็นค่าจ้างช่างจารจารึกข้อความในพระไตรปิฎกลงในใบลานสิ้นพระราชทรัพย์ไปเป็นอันมาก ทรงให้แยกแยะชำระตำหรับตำราฉบับที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ให้แปลออกเป็นอักษรขอมไทย จารึกลงลานเสร็จแล้วให้ใส่ตู้ไว้ในหอพระมนเทียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนกันทุกๆพระอารามหลวง
ยามนั้นเจ้าหมื่นไวยวรนาถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้ ปรากฏว่าอักษรบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุกบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นยังมิได้ ทรงสดับดังนั้นก็ทรงพระราชปรารภว่า พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อมีผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลปริยัติปฏิปัตติศาสนาปฏิเวธศาสนานั้นมิได้ อนึ่ง ท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้ว เห็นว่าปริยัติศาสนา และปฏิปัตติศาสนา และปฏิเวธศาสนา จะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนัก สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งมิได้ในอนาคตกาลเบื้องหน้า ควรจะทำนุกบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการเป็นประโยชน์แก่เทพามนุษย์ทั้งปวง จึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี
 ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้วจึงให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเป็นประธานบนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท และให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ถานานุกรมบาเรียนร้อยรูป มารับพระราชทานฉัน ครั้นพระสงฆ์กระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด
 สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรพร้อมกันว่า พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมากมาช้านานแล้ว หากษัตริย์พระองค์ใดจะทะนุบำรุงเป็นศาสนูปถัมภกมิได้ แต่กำลังอาตมาภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทะนุบำรุงอยู่เห็นจะไม่สำเร็จ และยังถวายพระพรอีกว่า กาลเมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารานั้น มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อตถาคตนิพพานแล้ว พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น จะเป็นครูสั่งสอนท่านและสรรพสัตว์ทั้งหลายต่างพระตถาคต พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้แก่พระปริยัติธรรมฉะนี้แล้วก็เข้าสู่พระปรินิพพาน”
 ** ท่านผู้อ่านครับ พระปริยัติศาสนาอันได้แก่พระไตรปิฎกเป็นเสมือนธรรมนูญพระพุทธศาสนา มีประวัติความเป็นมายาวนานอย่างไร มีการแก้ไขปรับปรุงกันอย่างไร เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทุกคนควรรับรู้ไว้บ้างนะครับ เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพระไตรปิฎกที่มีอายุตกมาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความบกพร่องผิดเพี้ยนไปไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะมีบทบาทต่อพระไตรปิฎกอย่างไร วันพรุ่งนี้จะมาเขียนบอกเล่าให้อ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ความเป็นมาพระไตรปิฎก -
อายุกาลยาวไกลพระไตรปิฎก พระสงฆ์ยกมาเล่าเรื่องราวร่ำ สังคายนายแปดครั้งยังจดจำ โดยกระทำที่อินเดียลังกาไทย |
อภิปราย ขยายความ.............
เมื่อวันวานได้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกเล่าถึงตอนที่ว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภถึงพระปริยัติศาสนา แล้วประชุมพระราชาคณะในพระราชวังตรัสถามถึงเรื่องพระไตรปิฎก ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพรว่ามีผิดเพี้ยนบกพร่องไปตามกาลเวลา ยังหาผู้อุปถัมภ์บำรุงให้เต็มบริบูรณ์ได้ไม่ วันนี้มาอ่านเรื่องนี้กันต่อไปตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่จะเก็บความมาให้อ่านดังนี้
 จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา * “สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรให้ทราบความเป็นมาของพระไตรปิฎกพอเก็บความได้ว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้าปรารภถ้อยคำสุภัททะภิกษุผู้เฒ่า ที่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย แล้วชักชวนพระสงฆ์องค์อรหันต์ได้จำนวน ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนายรวบรวมพระธรรมวินัยไว้ให้เป็นหมวดหมู่ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าแผ่นดินมคธเป็นองค์เอกอัครศาสนูปภัมภก ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา เชิงเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ใช้เวลา ๗ เดือนจึงสำเร็จ นับเป็นปฐมสังคายนาย
 เมืองเวสาลี ประเทศอินเดีย สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๒ ๒. ครั้นพระพุทธศาสนายุกาลล่วงได้ ๑๐๐ ปี ภิกษุชาววัชชีไม่มียางอายบังอาจเหยียบย่ำพระธรรมวินัย ยกวัตถุ ๑๐ ประการขึ้นมากระทำผิดพุทธบัญญัติ พระสงฆ์องค์อรหันต์ ๘๐๐ องค์ มีพระสัพพกามีเถระเจ้าเป็นประธานกระทำสังคายนาย เป็นครั้งที่ ๒ ณ วัดวาลุการามวิหาร ใกล้เมืองเวสาลี มีพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ใช้เวลา ๘ เดือนจึงสำเร็จ
 จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย พระโมคคลีบุตรติสสเถระ และพระเจ้าอโศกมหาราช ขณะทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๓ ๓. ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๑๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญเฟื่องฟูที่สุด เหล่าเดียรถีย์ (นักบวชนอกพุทธศาสนา) หวังได้ลาภสักการะ จึงปลอมตัวเข้ามาบวชเป็นภิกษุแล้วใช้ธรรมจอมปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) กล่าวสอนประชาชนเพื่อได้ลาภสักการะ พระโมคลีบุตรติสเถระจึงดำเนินการให้พระเจ้าอโศกมหาราชชำระคดีจับพระปลอมสึกเสีย ๖๐,๐๐๐ เศษ จากนั้นจึงกระทำสังคายนายเป็นครั้งที่ ๓ โดยพระโมคลีบุตรติสเถระเป็นประธาน ร่วมด้วยพระสงฆ์องค์อรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ ณ อโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตร มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ใช้เวลากระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงส่งคณะพระสมณะทูตนำพระธรรมวินัยที่ได้กระทำสังคายนายนั้น เดินทางไปเผยแผ่ในนานาประเทศ ๙ คณะ โดยมีพระโสณะเถระกับพระอุตตรเถระนำคณะสมณะทูตนั้นมาสู่สุวรรณภูมิ
 เจดีย์ถูปาราม (Thuparama Pagoda) เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๔ ๔. ครั้นพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๓๘ ปี พระมหินทเถระเจ้า พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นหัวหน้าคณะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ ณ ลังกาทวีป ปรารภให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในลังกาทวีป จึงร่วมกับพระอรหันต์ ๓๘ องค์ กับพระสงฆ์ทรงพระปริยัติธรรม ๑๐๐ รูป กระทำสังคายนายเป็นครั้งที่ ๔ ณ ถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี มีพระเจ้าเทวานัมปิย-ดิส เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ใช้เวลา ๑๐ เดือนจึงสำเร็จ
 ๕. เมื่อพระพุธศาสนาล่วงมาได้ ๔๓๓ ปี พระอรหันต์ในลังกาทวีปมีความเห็นตรงกันว่า พระพุทธศาสนากำลังจะเสื่อมลง เนื่องจากพระสงฆ์ที่ทรงพระไตรปิฎกโดยการท่องจำกันไว้ด้วยปากนั้นมีจำนวนน้อยลง ควรที่จะทำการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร ไว้ให้เป็นหลักฐานมั่นคงดำรงพระพุทธศานาสืบไปนานเท่านาน จึงคัดเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ และพระสงฆ์ปุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมได้มากกว่าพันองค์ ประชุมกันทำสังคายนายแล้วจารึกพระธรรมวินัยที่สอบทานไว้ถูกต้องเป็นอันดีนั้น ลงในเปลือกไม้เป็นภาษาสิงหฬ นับเป็นสังคายนายครั้งที่ ๕ ณ อภัยคีรีวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี มีพระเจ้าวัฏคามินีอภัยเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ
 ๖. ครั้นอายุพระพุทธศาสนาล่วงได้ ๙๕๖ ปี พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าจากชมพูทวีปเดินทางสู่ลังกาทวีป ทำการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสิงหฬเป็นภาษามคธ (บาลี) นับเป็นสังคายนายครั้งที่ ๖ ณ โลหปราสาท เมืองอนุราธบุรี มีพระเจ้ามหานามเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ
 ๗. ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๑๕๘๗ ปี พระเจ้าปรักมพาหุราชได้เสวยราชในลังกาทวีปแล้วทรงย้ายเมืองหลวงจากอนุราธบุรีมาตั้ง ณ จลัตถิมหานคร แล้วทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกในการทำสังคายนายเป็นครั้งที่ ๗ ซึ่งพระมหากัสสปเถระกับพระสงฆ์ปุถุชนมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ประชุมกระทำกัน เป็นการชำระพระไตรปิฎกซึ่งเป็นภาษาสิงหฬบ้าง มคธบ้างปะปนกันอยู่ จึงแปลงแปลให้เป็นภาษามคธทั้งหมด แล้วจารึกลงในใบลาน จัดเป็นคัมภีร์ เป็นหมวดเป็นหมู่ได้ ๓ หมู่ คือ พระวินัยปิฎก พระสุตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ให้ยึดถือเป็นหลักพุทธศาสนาแต่นั้นมา และนานาประเทศทั้งปวงที่เป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้นได้ลอกต่อ ๆ กันไป เปลี่ยนแปลงอักขระ ลายลักษณ์อักษรตามประเทศภาษาของตน ถ้อยคำและข้อความจึงผิดเพี้ยนวิปลาสไปมากบ้างน้อยบ้างทุก ๆ คัมภีร์
 วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่ สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๘ ๘. เมื่อพุทธศาสนายุกาลล่วงได้ ๒๐๒๐ ปี พระธรรมทินเถระเจ้าแห่งนครพิงค์เชียงใหม่ได้พิจารณาเห็นว่า พระไตรปิฎก ทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกามีพิรุธมาก จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าติโลกราช เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ว่าจะชำระพระปริยัติให้บริบูรณ์ มหาราชนครเชียงใหม่จึงให้สร้างมหามณฑปในมหาโพธารามวิหาร ให้เป็นที่ประชุมชำระพระปริยัติธรรม พระธรรมทินมหาเถระจึงคัดเลือกพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกกว่า ๑๐๐ รูปประชุมสังคายนาย กระทำชำระพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ โดยมีพระเจ้าติโลกราชมหาราชนครพิงค์เชียงใหม่เป็นองค์เอกอัคครศาสนูปถัมภก ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ นับเป็นการสังคายนายครั้งที่ ๘ และเมื่อเสร็จการสังคายนายแล้ว จึงเฉลิมพระนามาภิไธยพระเจ้าติโลกราชว่า พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ จากนั้นเป็นต้นมายังไม่มีการทำสังคายนายหรือชำระพระไตรปิฎกกันอีกเลย”
 * ท่านผู้อ่านครับ ความเป็นมาของพระไตรปิฎกที่ยกย่อมาให้อ่านนี้ ก็พอเห็นที่มาของคัมภีร์ที่ชาวพุทธในเมืองไทยเราถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก บางคนไม่เคยอ่านความในคัมภีร์นี้เลย บางคนอ่านมาแล้วบ้างแต่ไม่เข้าใจ พระมหาเถรานุเถระแต่โบราณกาลได้ชำระแก้ไขตกทอดมาเป็นเวลานานนับพันปี สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะร่วมกันถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้ทรงทราบความเปลี่ยนแปลงเป็นมาของพระไตรปิฎกดังนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วจะมีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยประการใด พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณหุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปลายฝน คนงาม, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, กลอน123, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- กรุงสยามทำสังคายนาย -
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายตัวอุปถัมภ์บำรุงให้ ทำสังคายนายหมายการณ์ไกล ครั้งที่เก้าก้าวไปในสากล |
อภิปราย ขยายความ..........................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเรขา ว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพร ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบประวัติความเป็นมาของพระไตรปิฎก ที่บันทึกเรื่องราวการกระทำสังคายนาย ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๘ โดยครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๔ นั้น เมื่อชำระพระธรรมวินัยให้ถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว ก็ประกาศรับรอง และให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันท่องจำเป็น “มุขปาฐะ” หมั่นสาธยายให้ติดปากติดใจ ถ่ายทอดกันด้วยปากต่อปากเรื่อยมา
 จนถึงปี พ.ศ. ๔๓๓ พระสงฆ์องค์อรหันต์ในลังกาทวีปปรารภว่า การท่องจำพระธรรมวินัยแล้วถ่ายทอด“ปากต่อปาก” นั้น พระภิกษุผู้ท่องสาธยาย มีความจำไม่แมนยำมั่นคง มักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป และหาผู้ทรงจำได้น้อยลง จึงควรทำสังคายนายชำระพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้มิให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอีกต่อไป การจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกนั้น จารึกเป็นอักษรภาษาสิงหฬ ต่อมาถึงปี พ.ศ. ๙๕๖ มีพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งเป็นผู้แตกฉานในนิรุกตศาสตร์ มีนามวา พระพุทธโฆษาจารย์ เดินทางจากชมพูทวีปไปยังลังกาทวีป แล้วทำการแปลพระคัมภีร์ธรรมวินัยที่จารึกไว้เป็นภาษาสิงหฬนั้นให้เป็นภาษาบาลีทั้งหมด แล้วให้เผาต้นฉบับภาษาสิงหฬนั้นเสีย
 ตกมาถึงปี พ.ศ. ๑๕๘๗ พระมหากัสสปะ กับสงฆ์ปุถุชนชาวลังกามากกวาพันรูปประชุมกระทำสังคายนาเป็นครั้งสำคัญขึ้นในลังกา ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่า การทำสังคายนายครั้งนี้ เมื่อชำระพระธรรมวินัยที่เป็นภาษาสิงหฬปนคละกันกับภาษาบาลี ให้เป็นเป็นบาลีทั้งสิ้นแล้วจารึกลงในใบลาน แยกเป็นคัมภีร์ เป็นหมวดหมู่ได้ ๓ หมู่ เรียกว่า “ปิฎก” คือ วินัยปิฎก ๑ สุตันตปิฎก ๑ อภิธรรมปิฎก ๑ รวมเรียกว่า “พระไตรปิฎก” คำว่า พระไตรปิฎกจึงเกิดขึ้นในโลกตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๑๕๘๗ เป็นต้นมา ครั้นสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรดังนี้แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำริประการใด อ่านความในพระราชพงศาวดารกันต่อไปนะครับ
 "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับคำถวายพระพรดังนั้น จึงดำรัสว่า อาราธนาพระมหาเถรานุเถระทั้งปวงรับหน้าที่ชำระพระไตรปิฎกให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นการกระทำสังคายนายครั้งที่ ๙ โดยพระองค์ขอเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก พระสงฆ์ทั้งหลายถวายพระพรลาออกมาแล้วสมเด็จพระสังฆราชจึงเรียกประชุมพระราชาคณะถานานุกรมบาเรียน ณ วัดบางหว้าใหญ่ แล้วเลือกคัดจัดสรรพระภิกษุผู้ทรงภูมิปริยัติได้ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน เพื่อจะกระทำการชำระพระไตรปิฎกต่อไป
 จากนั้นจึงให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถกราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึงมีพระราชดำรัสให้จัดแจงสถานที่จะกระทำสังคายนาย โดยเลือกเอาวัดนิพพานาราม ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระราชวังหลวงกับพระราชวังหน้า เป็นสถานที่กระทำสังคายนาย แล้วเปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดพระศรีสรรเพชดาราม และทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมากแจกจ่ายเพื่อการนี้
 เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง วังหน้า และวังหลังให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล เพลาละสี่ร้อยสามสิบหกสำรับ ณ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ พุทธศักราช ๒๓๓๑ เวลาบ่ายสามโมง พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินสู่วัดพระศรีสรรเพชดาราม(คือวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ ในปัจจุบัน) เข้าโรงพระอุโบสถถวายนมัสการพระรัตนตรัยแล้ว อาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านประกาศเทวดาในท่ามกลางสังฆสมาคม ขออานุภาพเทพเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภ์มหาสังคายนายได้สำเร็จกิจ
 จากนั้นแบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสี่กอง
สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตันตปิฎก พระวันรัตนเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษ
โปรดให้แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกองหนึ่ง ณ พระวิหารกองหนึ่ง ณ พระมณฑปกองหนึ่ง ณ การเปรียญกองหนึ่ง
 พระสงฆ์กับทั้งราชบัณฑิตนั้นประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ สอบสวนพระบาลี กับ อรรถกถา ฎีกา ที่ผิดเพี้ยนวิปลาส ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกต้องบริบูรณ์ทุก ๆ พระคัมภีร์น้อยใหญ่ทั้งสิ้น เริ่มทำการชำระตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสิบสอง ไปตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือนห้า เป็นเวลา ๕ เดือน ก็สำเร็จกิจสังคายนาย
 ครั้นเสร็จสิ้นการสังคายนายแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จำหน่ายพระราชทรัพย์ให้เป็นค่าจ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกที่ชำระบริสุทธ์บริบูรณ์แล้วนั้นลงในลานใหญ่ เสร็จแล้วให้ปิดทองทึบทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายกเชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุก ๆ คัมภีร์
 ตู้พระไตรปิฎกประดับมุก สมัยรัชกาลที่ ๑ ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว จึงให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศพระราชยานต่าง ๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก เชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก ตั้งในหอพระมนเทียรธรรมกลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระราชวัง
แล้วให้มีงานมหรสพฉลองพระไตรปิฎกและหอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย และมีการจุดดอกไม้เพลิง ลูกพลุไปตกบนหลังคาหอพระมนเทียรธรรมเพลิงติดไหม้ขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ข้าราชการทั้งปวงเข้าไปยกตู้ประดับมุกและขนพระไตรปิฎกออกมาได้ทั้งสิ้น”
* ท่านผู้อ่านครับการสังคายนายครั้งที่ ๙ เสร็จสิ้นแล้ว แต่การจัดเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกเกิดมีปัญหาขึ้นมาอีก ต้องไปอ่านกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, กลอน123, เนิน จำราย, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
 “ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332” จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร - ไฟไหม้พระมหาปราสาท -
เกิดฟ้าผ่าลงพระมหาปราสาท เพลิงเกรี้ยวกราดเกิดกล้าโกลาหล พระชาวบ้านถ้วนทั่วทุกตัวตน ช่วยกันขนน้ำสลับสาดดับไฟ |
อภิปราย ขยายความ......................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารมาบอกเล่า ว่าด้วยการทำสังคายนายพระไตรปิฎกซึ่งนับเป็นการสังคายนายครั้งที่ ๙ ในฝ่ายเถรวาท เหตุที่ทำสังคายนายครั้งนี้ก็ปรารภเรื่องที่ข้อความและถ้อยคำในพระไตรปิฎกซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลานานนั้น ขาดตกบกพร่องคลาดเคลื่อนไปมากแล้ว เมื่อทำสังคายนายเสร็จสิ้น ทรงเชิญพระคัมภีร์พระไตรปิฎกประดิษฐานในหอพระมนเทียรธรรม ทำการฉลองและมีการจุดพลุไฟด้วย พลุไฟตกลงบนหลังคาหอพระมนเทียรธรรมจนเกิดไฟไหม้ ทรงให้ช่วยกันขนคัมภีร์พระไตรปิฎกออกมาทั้งหมดได้อย่างปลอดภัย เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้อ่านกันต่อครับ
 พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม Cr. Photo By คุณพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ “ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวต่อไปว่า เพลิงไหม้แต่เพียงหอพระมนเทียรธรรมพินาศไปเท่านั้น ส่วนพระอุโบสถพระแก้วมรกตซึ่งอยู่ใกล้กันนั้นเพลิงลามไปไม่ถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า ..เทพยาดาผู้บำรุงรักษาพระพุทธศาสนาเห็นว่าหอไตรยังต่ำอยู่ จึงบันดาลให้เพลิงไหม้แต่เฉพาะหอไตร มิให้ไหม้พระอุโบสถด้วย จะให้สร้างพระมณฑปขึ้นใส่พระไตรปิฎกธรรมใหม่” ดำรัสดังนั้นแล้ว ทรงมอบหมายให้พระยาราชสงครามเป็นแม่การทำพระมณฑป ให้ถมสระเดิมนั้นเสีย แล้วขุดรากก่อพระมณฑปลงที่นั้น มีชาลาและกำแพงแก้วเป็นที่ปทักษิณล้อมพระมณฑป ลดพื้นลงมาสามชั้น แล้วให้ขุดสระใหม่ลงเบื้องทิศตะวันออกแห่งพระมณฑป ก่ออิฐถือปูนทั้งรอบ แล้วให้ก่อหอพระมนเทียรธรรมขึ้นใหม่ฝ่ายทิศอีสานแห่งพระมณฑป การทั้งปวงดังกล่าวนั้นยังมิได้สำเร็จ
 “ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332” จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ลุศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๒ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ เวลาบ่ายสามโมงเศษ ขณะที่ฝนตกลงมานั้นก็เกิดฟ้าฝ่า ลงต้องหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ติดเป็นเพลิงโพลงขึ้นไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาท กับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น แล้วเพลิงก็ลามไปติดไหม้พระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง ในขณะที่เพลิงฟ้าแรกติดไหม้พระมหาปราสาทนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ และพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวงกับข้าราชการใหญ่น้อย รวมทั้งพระราชาคณะฐานานุกรมทุก ๆ พระอารามหลวงก็พากันเข้ามาในพระราชวัง ช่วยกันดับเพลิงพร้อมกันทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันยกพระที่นั่งราชบัลลังก์ประดับมุก ซึ่งกั้นเศวตฉัตรบนพระมหาปราสาทนั้นลงมาได้ก่อนที่จะถูกเพลิงไหม้ พวกเจ้าจอมข้างในต่างตื่นตกใจเพลิงพากันหนีออกจากพระราชวัง ไปอาศัยอยู่บ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธบ้าง บ้านเจ้าพระยายมราชบ้าง บ้านเจ้าพระยาธรรมาบ้าง บ้านเจ้าพระยาพลเทพบ้าง ที่ยังอยู่ในพระราชวังก็มีบ้าง ฝ่ายพระสงฆ์และคฤหัสถ์ข้าราชการทั้งปวงช่วยกันสาดน้ำดับเพลิงบ้าง ช่วยกันขนถุงพระราชทรัพย์ในพระคลังในลงทิ้งในสระในพระอุทยานภายในพระราชวังบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงง้าวเร่งให้ข้าราชการดับเพลิงอยู่อย่างใกล้ชิด
 ครั้นเพลิงดับสงบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้พวกชาวที่ชาววังและจ่าโขลนแยกย้ายกันไปตามพวกเจ้าจอมข้างใน ซึ่งหนีเพลิงไปอาศัยอยู่ตามบ้านเสนาบดีทั้งนั้น รับกลับเข้ามาพระราชวัง ตรัสถามมุขมนตรีทั้งปวงว่า ไฟฟ้าไหม้พระมหาปราสาทดังนี้จะมีดีร้ายประการใด พระยาราชวังเมืองกราบทูลว่า แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง อสนีบาตลงพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท ไฟฟ้าไหม้เหมือนครั้งนี้มิได้มีเหตุร้าย เป็นศุภนิมิตมหามงคลอันดี ได้พระราชลาภต่างประเทศเป็นอันมาก ทรงทราบความดังนั้นจึงทรงพระกรุณาพระราชทานเงินตราชั่งหนึ่งแก่พระยาราชวังเมือง เป็นรางวัลที่กราบทูลทำนายเป็นศุภนิมิตนั้น ซึ่งต้องกับคำพระโหรากราบทูลทำนายเมื่อครั้งผึ้งจับต้นจันทน์ที่เกยฝ่ายปัจจิมทิศ ถวายพยากรณ์ว่า จะได้พระราชลาภต่างประเทศ จากนั้น ดำรัสสั่งสมุหนายกให้จัดแจงรื้อปราสาทเก่าเสีย แล้วสร้างปราสาทขึ้นใหม่ย่อมเข้ากว่าองค์ก่อนนั้น สูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทกรุงเก่า มุขหน้ามุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง และมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างในยาวไปจดถึงพระปรัศว์ซ้ายขวา กระทำปราสาทองค์ใหม่นี้ยกออกมาตั้ง ณ ที่ข้างหน้าทั้งสิ้น มุขทั้งสี่นั้นก็เสมอกันทั้งสี่ทิศ ใหญ่สูงเอาแต่เท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า ยกบราลีเสีย มิได้ใส่เหมือนองค์เก่า แต่ที่มุมยอดทั้งสี่มุมนั้นยกทวยเสีย ใส่รูปครุฑเข้าแทน แล้วให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ที่ข้างในต่อมุขหลังเข้าไปอีกหลังหนึ่ง พอเสมอท้ายมุขปราสาทองค์เก่า พระราชทานนามว่าพระที่นั่งพิมานรัตยา และให้ทำพระปรัศว์ซ้ายขึ้นใหม่คงตามเดิม และหลังคาปราสาทและมุขกับทั้งพระที่นั่งพิมานรัตยา และพระปรัศว์ดาดดีบุกทั้งสิ้นเหมือนอย่างเก่า
 สิงห์สัมฤทธิ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม Cr. Photo By Supawan ครั้นการมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้วจึงพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ ชื่อพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วเร่งให้ทำการพระมณฑปและหอพระมนเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ลงรักปิดทองแล้วเสร็จบริบูรณ์ แล้วให้แผ่แผ่นเงินลาดพื้นในองค์พระมณฑปนั้นด้วย จึงให้เชิญตู้พระไตรปิฎกฉบับทองขึ้นตั้งไว้ในพระมณฑป ส่วนฉบับครูเดิม และฉบับอื่นซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่นั้น ให้ใส่ตู้ปิดทองลายรดน้ำในหอพระมนเทียรธรรมใหม่ เป็นที่อยู่กรมราชบัณฑิตให้บอกกล่าวพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์สามเณรเหมือนอย่างแต่ก่อน แล้วทรงให้ช่างหล่อหล่อรูปสิงห์ด้วยทองสัมฤทธิ์ขึ้นใหม่สิบรูป รวมกับรูปสิงห์ทองสัมฤทธิ์ที่ได้มาแต่เมืองพุทไธมาศแต่ก่อนนั้นสองรูป เป็นสิบสองรูป ก่ออิฐเป็นพานรองถือปูนเป็นอันดีตั้งไว้นอกประตูกำแพงแก้วล้อมพระมณฑปชั้นล่างทั้งสองข้างประตู ประตูละคู่ ทั้งสี่ประตูเป็นแปดรูป กับตั้งไว้ที่มุมกำแพงแก้วทั้งสี่มุม มุมละสี่รูป รวมเป็นสิงห์สิบสองรูปด้วยกัน บนหลังกำแพงแก้วทั้งสามชั้นนั้นให้ทำโคมเป็นรูปหม้อปรุ แล้วไปด้วยทองแดงเป็นที่ตามประทีป ตั้งเรียงรายไปโดยรอบ หว่างโคมนั้นให้ปักฉัตรที่ทำด้วยทองแดงลงรักปิดทอง มีใบโพธิแก้วห้อยทุกชั้นทั้งสิ้นด้วยกันเป็นการบูชาพระปริยัติไตรปิฎกธรรมเป็นมโหฬารยิ่งนัก”
 ** ท่านผู้อ่านครับ อ่านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึงตรงนี้ ระทึกใจกับเหตุการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นนะครับ ปัจจุบันเราไม่ค่อยเห็นฟ้าผ่าแล้วเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงมากนัก แต่กาลนั้นเกิดฟ้าผ่าลงยังมหาปราสาทในพระบรมมหาราชราชวังเกิดเพลิงไหม้ใหญ่โต พระภิกษุสงฆ์ทุกพระอารามหลวงพากันออกจากวัดมาช่วยดับเพลิงกันอย่างพร้อมเพรียง บรรดาเจ้าจอมทั้งหลายพากันหนีออกจากพระราชวังไปอาศัยอยู่ในบ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน) และเจ้าพระยาอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้พระราชวัง หลังจากนั้นทรงให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้มาอ่านต่อกันใหม่นะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เผาร่างกายบูชาธรรม -
นายบุญเรืองเคร่งครัดศรัทธามั่น มีความฝันสูงสุดจุดหมายใหญ่ “โพธิญาณ”อนาคตกำหนดไว้ ด้วยมั่นใจสำเร็จเสร็จสมจินต์
รักษาศีลฟังธรรมประจำแหล่ง ณ วัดแจ้งจิตไม่วายถวิล บูชาธรรมกำจัดขัดมลทิน ล้างให้สิ้นกิเลสเหตุเสื่อมทราม
เอาน้ำมันราดร่างตั้งจิตมั่น จุดเพลิงพลันเผากายไร้คนห้าม ประกาศชัดชัยชนะอย่างงดงาม คนล้นหลามโมทนาสาธุการ |
อภิปราย ขยายความ.....................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาแสดงถึงตอนที่ เกิดฝนตกฟ้าคะนองและฟ้าผ่าลงมาต้องพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เกิดเพลิงไหม้มหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น หลังจากฟ้าผ่าเพลิงไหม้พระที่นั่งดังกล่าวแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้สมุหนายก(เจ้าพระยารัตนาพิพิธ(สน)) ดำเนินการรื้อปราสาทเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่ มีขนาดใหญสูงเท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์กรุงเก่า ครั้นการกอสร้างมหาปราสาทเสร็จแล้วลงรักปิดทอง พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เรื่องราวจะเป็นอย่างไร อ่านพระราชพงศาวดารต่อครับ
* “ ถึงปีจุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๓๓ ชายคนหนึ่งชื่อบุญเรือง เป็นคนมีศรัทธายิ่ง ร่วมด้วยสหายสองคนคือ ขุนศรีกัณฐัศว์กรมม้า กับ นายทองรัก พากันไป ณ พระอุโบสถวัดครุธาราม ต่างปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสามคน ชวนกันนมัสการพระพุทธรูปประธาน แล้วตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละดอก บูชาพระพุทธเจ้าว่า ถ้าผู้ใดจะสำเร็จพระโพธิญาณในอนาคตขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงบานเห็นประจักษ์โดยแท้
ครั้นรุ่งขึ้นดอกบัวของนายบุญเรืองนั้นบานดอกเดียว ของขุนศรีกัณฐัศว์และนายทองรักนั้นหาบานไม่ ตั้งแต่นั้นมา นายบุญเรืองก็มาอาศัยการเปรียญเก่า ณ วัดแจ้ง ตั้งสมาทานอุโบสถศีลฟังพระธรรมเทศนา เอาน้ำมันชุบสำลีเป็นเชื้อ พาดแขนทั้งสองข้าง จุดเพลิงบูชาต่างประทีปทุก ๆ วัน ครั้นถึงวันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ยามค่ำประมาณทุ่มเศษ นายบุญเรืองฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมัน เดินออกมาหน้าการเปรียญ นั่งพับเพียบพนมมือ ตั้งสติรักษาจิตรำงับสงบดีแล้วก็จุดเพลิงเผาตัว ขณะเมื่อเปลวเพลิงลุกวูบขึ้นท่วมตัวนั้น นายบุญเรืองก็ร้องประกาศแก่คนทั้งปวงว่า
“สำเร็จความปรารถนาแล้ว”
คนทั้งหลายซึ่งดูอยู่ในที่ประมาณ ๖๐๐ เศษก็พากันชื่นชมยินดี บ้างก็ร้องสาธุการเอิกเกริกอื้ออึง แล้วเปลื้องผ้าห่มโยนเข้าไปบูชาในกองเพลิง แม้แต่พวกแขกมิจฉาทิฐิภายนอกพระพุทธศาสนาก็เกิดศรัทธา ถอดหมวกคำนับแล้วโยนหมวกเข้าไปในกองเพลิงด้วย”
* ท่านผู้ฟังครับ ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาสิ้นสุดลงตรงนี้
แต่เรื่องราวของกรุงสยามกับประเทศรอบข้างยังไม่จบ เป็นประวัติศาสตร์ที่ควรรับรู้กันไว้เพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างและรักษาประเทศชาติของไทยเราต่อไป
ยังมีความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ และ ที่ ๒ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และความที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ ( พ.ศ. ๒๔๔๕) เป็นประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีเรื่องราวการรบระหว่างไทย-พม่าอย่างเข้มข้น บรรพชนไทยใช้ชีวิตเลือดเนื้อต่อสู้ข้าศึกศัตรูปกป้องแผ่นดินไทยไว้อย่างไร เราสามารถศึกษาเอาความรู้ได้จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะนำมาแสดงต่อไป
เรื่องราวของกัมพูชาและญวนที่คาราคาซังมาตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามและสะสมเป็นความรู้ไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องขององเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก หรือพระเจ้าแผ่นดินญวน หลังจากได้เป็นเจ้าอนัมก๊กแล้ว จะแสดงบทบาทอย่างไร เป็นเรื่องน่าติดตาม
ท่านผู้นี้ในขณะที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้น ได้สร้างและปลูกฝังศิลปวัฒนธรรมญวนไว้ในสังคมไทยด้วย นั่นก็คือทำนองเพลงและท่าร่ายรำในเพลง “ญวนรำกระถาง” และการแสดงสิงโตล่อแก้ว สิงโตคาบแก้ว เป็นต้น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่องเชียงสือถ่ายทอดไว้ให้ไทยเรา
วันพรุ่งนี้มามาดูเรื่องราวในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๑-๒ จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)กันต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ตานีกับแขกเซียะตีสงขลา -
ทั้งรายานี,แขกเซียะกล้า ตีสงขลาสำแดงกำแหงหาญ ถูกปราบปรามสิ้นพลันไม่ทันนาน เป็นคนพาลที่ไม่ประมาณตน |
อภิปราย ขยายความ ................
เมื่อวันวานนี้ได้เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาบอกเล่าถึงตอนที่นายบุญเรืองใช้น้ำมันราดเสื้อผ้าเผาตัวเองเป็นพุทธบูชา ที่วัดแจ้ง แล้วสิ้นความในฉบับพระราชหัตถเลขา แต่เรื่องของสยามยังไม่จบ เพราะยังมีข้อความที่สมเด็จพระเจ้าบรมเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระเมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๕) นำมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจนจบตลอดรัชกาลที่ ๑ และความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บอกเล่าเรื่องราวในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ไว้อีกด้วย ดังนั้นจึงขอนำความในพระราชพงศาวดารดังกล่าวมาแสดงให้ท่านได้อ่านกันต่อไป มีความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงเรื่องรายาเมืองตานีและแขกเซียะตีเมืองสงขลาไว้ว่า ดังนี้
* “ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ. ๒๓๓๒) พระยาพระคลังมีหนังสือออกไปถึงองเชียงสือฉบับ ๑ ใจความว่า องเชียงสือบอกข้อราชการศึกเข้าไปเมื่อใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะให้ยกกองทัพออกมาช่วย แต่จะให้ไปทางบกนั้นไกลนัก จะให้ไปทางเรือเล่า เรือรบที่กรุงก็มี ๗๐–๘๐ ลำ บรรจุไพร่พลก็ได้น้อย ถ้าองเชียงสือว่างการศึกแล้วให้คิดต่อเรือกูไลให้ได้สัก ๖๐–๗๐ ลำ กับเรือกูไลอย่างดีสำหรับเป็นเรือพระที่นั่งเข้าไปถวายด้วย ส่วนครอบครัวองโหเตืองดึกชายหญิง ๖๓ คนนั้น ได้มอบให้องไกจัดคุมออกมาด้วยแล้ว
ครั้นถึง ณ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย องเชียงสือก็มีหนังสือบอกเข้ามามีใจความว่า เมื่อเดือน ๑๑ ปีระกา ศักราช ๑๑๕๑ นี้ รายาแขกเมืองตานีให้นักกุดาสุงถือหนังสือและคุมเอาปืนคร่ำทอง ๒ บอก ดาบด้ามทอง ๒ เล่ม แหวนทองประดับเพชร เข้ามาให้ ในหนังสือเมืองตานีนั้นว่า รายาตานีมีความพยาบาทอยู่กับกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ราชาตานีจะยกกองทัพเข้ามาตีกรุง ให้องเชียงสือแต่งกองทัพเรือยกเข้ามาช่วยรายาตานีตีกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาด้วย แต่องเชียงสือยังรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในยามที่หนีไกเซินเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงมิได้รับของที่รายาตานีให้นั้น ส่วนนักกุดาสุงนั้นครั้นจะจับกุมตัวส่งมาก็เห็นว่าเป็นแต่เพียงนายเรือเล็กน้อย และธรรมเนียมจีนกับญวนมีกฎหมายห้ามมิให้ทำร้ายแก่ผู้ถือหนังสือ เกรงจะเสียประเพณี จึงให้พระยาพิมลวารี พระราชมนตรี นำต้นหนังสือรายาตานีเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดังนั้น ทรงพระราชดำริว่า รายาตานีผู้นี้เป็นเทือกเถาเจ้าเมืองตานีเก่า มีใจกำเริบโอหังนัก ไม่เจียมตัวว่าเป็นผู้น้อย คิดองอาจจะมาตีเมืองใหญ่ จะละไว้มิได้ หากละไว้ก็จะไปเที่ยวชักชวนเมืองแขกทั้งปวงพลอยเป็นกบฏขึ้นหมด จึงโปรดให้พระยากลาโหมราชเสนา ซึ่งเป็นบิดาเจ้าพระยายมราช(ทองสุก) เป็นแม่ทัพเรือกับนายทัพนายกองยกออกไปเมืองตานี และก็ได้สู้รบกับพวกรายาตานีเป็นสามารถ ฝ่ายรายาตานีสู้มิได้ก็หนีไป กองทัพไทยไล่ติดตามไปจับตัวได้ในกุฎีสงฆ์ที่วัดแห่งหนึ่ง พระยากลาโหมจึงให้จองจำไว้มั่นคงแล้วกวาดครอบครัวเมืองตานีกลับเข้ามา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เอาตัวรายาตานีไปจำคุกไว้จนกว่าจะตาย”
* ท่านผู้อ่านยังคงจำกันได้นะครับว่า เมื่อปีจุลศักราช ๑๑๔๘ ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๒๙ นั้น สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรฯ รับพระราชบัญชาให้ยกทัพลงไปขับไล่พม่าทางชายทะเลตะวันตก เมื่อรบและขับไล่พม่าพ้นไปจากเขตแดนไทยในภาคใต้ของประเทศหมดแล้ว ก็ทรงยกทัพเลยไปปราบเมืองมลายูซึ่งมีตานีเป็นศูนย์กลาง เมื่อทรงปราบพระยาตานีได้แล้ว ให้กวาดครอบครัวชาวมลายูจำนวนมากลงเรือรบขึ้นมากรุงเทพมหานคร พร้อมกับนำปืนใหญ่มากรุงเทพฯด้วย จากนั้นมาเป็นเวลาล่วงได้เพียง ๓ ปี ราชาตานีก็กลับคิดแข็งเมืองอีก แสดงว่าชาวปัตตานีมิได้ยินยอมพร้อมใจเข้าอยู่ในปกครองของสยามตั้งแต่นั้นมาจนถึงกาลปัจจุบัน
“ปราบรายาตานีราบคาบลงได้ไม่นานนัก ตกมาถึงเดือน ๖ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๔ ก็เกิดมีแขกเซียะซึ่งอยู่ภายนอกราชอาณาเขต ไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากที่ใด ได้ยกกองทัพเรือมาตีเมืองสงขลา เจ้าเมืองกรมการสู้รบต้านทานมิได้ก็พาครอบครัวและชาวเมืองส่วนหนึ่งหนีไปอยู่แขวงเมืองพัทลุง ฝ่ายพระศรีไกรลาศซึ่งเป็นพระยาพัทลุงทราบข่าวก็พลอยตื่นตกใจกลัวแขกข้าศึก ข้าศึกยังยกมาไม่ทันถึงเมืองพัทลุงก็พากรมการและครอบครัวอพยพหนีเข้าป่า โดยมิได้คิดจะตั้งมั่นอยู่ต่อรบดูท่วงทีข้าศึกก่อนเลย
ครั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ทราบข่าวว่ากองทัพแขกมลายูเมืองเซียะยกมาตีเมืองสงขลา จึงเกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชยกออกไปช่วยเมืองสงขลา ได้รบกันกับทัพแขก ทัพแขกเซียะสู้ไม่ได้ก็แตกพ่ายหนีไป จึงบอกข้อราชการทั้งปวงเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ให้สมุหพระกลาโหมกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระพิโรธพระยาพัทลุง ดำรัสว่า ข้าศึกมายังมิทันจะถึงเมืองก็แตกหนี จากนั้นจึงดำรัสให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปถอดพระยาพัทลุงเสีย แล้วลงพระราชอาชญาจำคุกเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเป็นบุตรพระยาพัทลุงคนก่อน ออกไปว่าราชการเมืองพัทลุงป้องกันพระราชอาณาเขตสืบไป”
** ท่านผู้อ่านครับ เมืองตานีหรือปัตตานี รบกับกรุงเทพฯทีไรก็สู้ไม่ได้ทุกที แต่เขาไม่ยอมแพ้ มีโอกาสก็แข็งเมืองเรื่อยมา ทางกรุงเทพฯก็ปราบปรามราบคาบเรื่อยมาเช่นกัน สำหรับแขกเซี๊ยะนั้น ยกมาจากบนฝั่งเกาะสุมาตรา หัวหน้านามว่า โต๊ะสาเหย็ด หรือ ไซยิด รายาตานีชักชวนมาช่วยตีสงขลา แล้วพ่ายแพ้ยับเยินในที่สุด เรื่องราวจะมีอะไรต่อไป พรุ่งนี้มาอ่านต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- ให้เวียงจันทน์ตีหลวงพระบาง -
หลวงพระบางปันใจให้พม่า ทรงโกรธาสั่งทัพไม่สับสน ให้เจ้าเมืองเวียงจันทน์นั้นจัดพล ยกไปปล้นตีช่วงชิงหลวงพระบาง
เจ้าเวียงจันทน์จัดทัพกระฉับกระเฉง ยกไปเร่งตีลาวรวมเผ่า...ผาง! จับพระเจ้าร่มขาวเข้าตะราง แคว้นล้านช้างจึงสยบสงบดี |
อภิปราย ขยายความ ...........
เมื่อวันวานนี้ได้นำความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มาแสดงถึงเรื่องรายาตานีเป็นกบฏขอให้แขกเซียะยกจากเกาะสุมาตรามาตีเมืองสงขลา แต่ถูกปราบปรามได้สิ้น วันนี้มาอ่านเรื่องราวกันต่อไปครับ
* มีความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระ กล่าวความจากเรื่องแขกเซียะต่อไปว่า
“ครั้นถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุนนั้น เจ้าอนัมก๊กมีหนังสือเข้ามาจัดซื้อปืนคาบศิลา ๑,๐๐๐ บอก เหล็กท่าซุง หนัก ๑,๐๐๐ หาบ แล้วจัดเปลญวนเข้ามาถวาย ๓๐ สำรับ และส่งเรือรบที่เกณฑ์ให้ต่อเข้ามาด้วย ๗๐ ลำ เรือนั้นโปรดให้เอาไปไว้ที่แหลมบางอ้อ ล่วงมาถึงวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ โปรดพระราชทานเหล็กท่าซุง ๒๐๐ หาบ ปืนลำกล้องเปล่า ๒๐๐ บอก ออกไปให้เจ้าอนัมก๊ก
ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตวิสุทธิรัตนราชธานีบุรีรมย์ล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ ให้ข้าหลวงถือศุภอักษรลงมายังกรุงเทพมหานคร ให้สมุหนายกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้ามหาอุตมวงศ์ฯล้านช้างหลวงพระบาง คิดการเป็นกบฏไปเข้าด้วยพม่า ใช้คนไปถึงเมืองอังวะ ฝ่ายพม่าก็ใช้คนมาถึงเมืองหลวงพระบาง ต่างไปมาถึงกัน จึงได้แต่งคนไปสืบราชการได้ความเป็นแน่ชัดแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความในหนังสือบอกของเมืองเวียงจันทน์ก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งสมุหนายกมีศุภอักษรตอบไปว่า มีพระราชโองการดำรัสให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบางให้แตกฉานจงได้ แล้วจับตัวพระเจ้าร่มขาวจำส่งลงมาถวาย ณ กรุงเทพมหานคร
พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบรับสั่งโปรดขึ้นมาดังนั้น จึงเกณฑ์กองทัพพลทหารเป็นอันมาก ทั้งทัพเรือทัพบกยกขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง ให้ตั้งค่ายล้อมเมือง ฝ่ายพระเจ้าร่มขาวนั้นเป็นอริกับพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมาแต่ก่อน เมื่อกองทัพเวียงจันทน์ยกมาล้อมเมืองก็แต่งกองทัพยกออกต่อรบทันที
ทั้งสองฝ่ายได้ต่อรบกันเป็นสามารถ เจ้าอุปราชเวียงจันทน์พลาดท่าต้องปืนจากฝ่ายหลวงพระบางถึงแก่พิราลัยในที่รบ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขับพลทหารเข้าป่ายปีนปล้นเอาเมือง ชาวเมืองหลวงพระบางก็ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมือง ทั้งสองฝ่ายยิงปืนใหญ่น้อยตอบโต้กันอยู่ประมาณ ๑๔–๑๕ วัน พวกทหารเมืองเวียงจันทน์เอาบันไดพาดกำแพงเมืองปีนเข้าไปปล้นเอาเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันชาวเมืองล้มตายเป็นอันมาก
พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจับตัวพระเจ้าร่มขาวและบุตรภรรยาญาติวงศ์ได้ทั้งหมด จึงให้จำพระเจ้าร่มขาว แล้วตั้งแสนเมืองขุนนางผู้ใหญ่เมืองหลวงพระบางซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์นั้น ให้เป็นพระยาหลวงพระบางอยู่รั้งเมือง แล้วเลิกทัพกลับกรุงเวียงจันทน์ บอกข้อราชการให้ขุนนางและไพร่คุมตัวพระเจ้าร่มขาวส่งลงมา ณ กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ลงพระราชอาชญาจำพระเจ้าร่มขาวไว้ในคุก ครั้นภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้พระเจ้าร่มขาวพ้นโทษ พาสมัครพรรคพวกกลับขึ้นไปครองเมืองหลวงพระบางดังเก่า”
* * ท่านผู้อ่านครับ เรื่องของลาว เขมร ญวน ที่เกี่ยวข้องกับไทยในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีอีกหลายช่วงตอน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ ลาว เขมร ญวน ล้วนพึ่งพาอาศัยไทย มีการรบกันก็รบกันอยู่ในชนชาติเดียวกัน คือ ลาวรบลาว เขมรรบเขมร ญวนรบญวน โดยมีไทยเป็นผู้ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด
ประเทศชาติที่เป็นคู่ศึกสำคัญของไทยก็คือพม่า ซึ่งส่วนใหญ่พม่าจะยกทัพมารุกรานแผ่นดินไทย เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงครองกรุงศรีอยุธยาได้เพียง ๗ เดือน พระเจ้าหงสาปังเสวกีก็ยกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา จากนั้นก็รบกับไทยมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา ขึ้นกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังยกมารุกรานรบราฆ่าฟันกันแทบมิได้ว่างเว้น วันพรุ่งนี้จะเล่าเรื่องไทยรบกับพม่าต่ออีกครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันหวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไมย ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
- เมืองทวายแปรพักตร์พม่า -
เจ้าเมืองทวายแปรพักตร์จากพม่า ขอเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงศรี ส่งเจ้าหลานสาวแท้เป็นแม่ชี พร้อมนารีรูปงามมากำนัล |
อภิปราย ขยายความ.................
เมื่อวันวานนี้ได้นำความจากพระราชพงศาวดารมาแสดงถึงเรื่องเมืองลาว ญวน เขมร ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และ ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ ๒ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระ วันนี้มาดูความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกัน ซึ่งว่าด้วยพม่าเตรียมทัพใหญ่มาตีกรุงเทพมหานครอีก จัดทัพอย่างไร เดินทัพมาทางไหน อ่านกันครับ
* “แต่ก่อนจะกล่าวถึงการศึกกับพม่า ขอย้อนไปดูเรื่องราวในพม่าก่อนที่จะจัดทัพมาตีไทย โดยในปีกุน จุลศักราช ๑๑๕๓ (พ.ศ.๒๓๓๔) นั้น พระเจ้าอังวะซึ่งทรงตั้งขุนนางลงมาเป็นเจ้าเมืองกรมการเมืองทวาย จะให้เปลี่ยนเจ้าเมืองคนเก่าออก และให้กลับขึ้นไปอังวะ แต่แมงจันจาเจ้าเมืองทวายกับจิกแคปลัดเมืองนั้น เมื่อแจ้งว่าพระเจ้าอังวะตั้งเจ้าเมืองกรมการลงมาผลัดใหม่ จึงคิดกันว่าไม่ยอมกลับไปอังวะ ครั้นทราบว่าเจ้าเมืองคนใหม่เดินทางจากอังวะมาใกล้จะถึงเมืองทวายแล้ว ก็คิดเป็นกลอุบายออกไปต้อนรับแต่นอกเมือง จัดสุราอาหารอย่างดีออกไปเลี้ยงดูให้กินกันอย่างอิ่มหมีพีมัน แล้วก็ให้ทหารล้อมจับเจ้าเมืองคนใหม่กับพรรคพวกนั้นฆ่าเสียสิ้น แล้วก็กลับเข้าเมืองคิดการกบฏตั้งแข็งเมืองอยู่
ฝ่ายกรมการเมืองเมาะตะมะแจ้งว่าแมงจันจาเป็นกบฏจับเจ้าเมืองคนใหม่ฆ่าเสียแล้ว จึงมีหนังสือบอกไปยังกรุงอังวะ พระเจ้าอังวะทราบดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ สั่งให้จับสะดุแมงกองบิดาแมงจันจาจะให้ประหารชีวิตเสีย สะดุแมงกองจึงกราบทูลขอโอกาสจะมีหนังสือส่งไปบอกให้แมงจันจามาเฝ้า ถ้าไม่มาจึงจะขอรับพระราชอาชญาตามโทษ พระเจ้าอังวะจึงให้จำสะดุแมงกองกับภรรยาให้ข้าหลวงคุมตัวลงมาเมืองเมาะตะมะแล้วให้มีหนังสือไปถึงบุตร
แมงจันจาเจ้าเมืองทวายคิดเกรงกลัวพระเจ้าอังวะจะยกทัพมาตีเมืองทวายจะสู้รบต้านทานมิได้ด้วยไม่มีที่พึ่ง จึงตัดสินใจขอขึ้นกรุงเทพฯ เอาพระเดชพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเป็นที่พึ่งพำนัก ขอกองทัพไทยไปช่วยป้องกันรักษาเมือง ในยามนั้นเจ้าเมืองทวายสืบรู้ว่าพระราชภาคิไนยหญิงพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามได้ตกมาอยู่เมืองทวายตั้งแต่ครั้งพม่าไปตีกรุงเก่าและได้กวาดต้อนครอบครัวไทยนั้นมา ดังนั้นจึงไปเชิญพระราชภาคิไนย (หลาน=ลูกของพี่สาวหรือน้องสาว) ซึ่งขณะนั้นบวชเป็นรูปชีอยู่ ไต่ถามจนได้ความว่าเป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว จึงจัดส่งคณะทูตเข้ากรุงเพทฯ ได้นางรูปงามคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องภรรยาเจ้าเมืองทวายส่งเข้ามาถวาย ให้แต่งศุภอักษรจารึกลงแผ่นทองเป็นอักษรภาษาพุกามตามจารีตพม่า ใจความอ่อนน้อมขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเมืองขึ้นพระมหานครศรีอยุธยา ขอกองทัพออกไปช่วยป้องกันรักษากับถวายนางงามเข้ามาด้วย พร้อมกันนั้นก็ให้พระเจ้าหลานเธอมีหนังสือเป็นอักษรภาษาไทย ๑ ฉบับ เข้ามากราบบังคมพระกรุณา และได้ให้จัดพระสงฆ์ไทย ๑ รูป ชื่อมหาแทน เข้าร่วมในคณะทูตเมืองทวาย
ขุนนางทวายทูตานุทูตถือเครื่องราชบรรณาการ พานางตะแคงหรือเจ้าน้องภรรยาเจ้าเมืองทวาย กับมหาแทนให้ถือหนังสือพระเจ้าหลานเธอฉบับหนึ่งมาด้วย คณะทูตเดินทางมาทางกาญจนบุรี กรมการเมืองราชบุรีจึงบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดมีตราแต่งให้ข้าหลวงออกไปรับทูตทวาย และคณะทูตคือพระสงฆ์ ๑๐ รูป นำโดยมหาแทน กับ เจสูนาระตะมิดกอยอชวา ๑ นาขันตะเรียงสา ๑ อดุนนเรสร้อยตองลักแวนอรมา ๑ และหญิงที่เข้ามาด้วย ก็ได้เข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ แปลหนังสือพระยาทวายนั้นได้ความว่า
“แมงจันจาพม่าเจ้าเมืองทวาย เป็นบุตรสะดุแมงกองกินเมืองส่วยชื่อเมืองมัคราโบ เป็นแม่ทัพใหญ่เมืองอังวะ ขอกราบถวายบังคมมายังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ด้วยแมงจันจาเป็นเชื้อพม่า บิดามารดาปู่ย่าตาแมงจันจาทำราชการมาแต่ครั้งพระอัยกาของพระเจ้าอังวะมาจนถึงแมงจันจา จะได้มีความผิดสักครั้งหนึ่งก็หามิได้ พระเจ้าอังวะทุกวันนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และสังคหวัตถุ ๔ ประการ ตามพระราชประเพณีสมเด็จพระบรมมหากษัตราธิราชสืบมาแต่ก่อน กลับความจริงเป็นเท็จ กลับความเท็จเป็นจริง ขาดจากเมตตากรุณา และผู้รั้งเมืองผู้ครองเมืองปลายด่านทำราชการสู้เสียชีวิตก็ไม่ว่าดี
เมื่อเดือน ๑๑ ปีกุน ตรีศก ตั้งมองละเจสูลงมากินเมืองเมาะตะมะ ให้บังคับบัญชาชาวเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาว เจ้าเมืองเมาะตะมะให้มาเรียกเอาเงินแก่เมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาว สองเดือนสามเดือนครั้ง ๑ เงินถึง ๒๐๐ ชั่ง ๓๐๐ ชั่ง อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อนนัก แล้วเจ้าเมืองเมาะตะมะแต่งให้มะรุวอนโปจักกายเดิงคุมพม่า ๓๐๐ คน ลงมากินเมืองทวายจะให้ถอดข้าพระพุทธเจ้าเสีย ข้าพระพุทธเจ้าจึงแต่งให้ปลัดเมืองคุมไพร่ ๕๐๐ คน ออกไปพบมะรุวอนโปจักกายเดิงนอกเมือง ทางประมาณ ๒๐๐ เส้น จึงกลุ้มรุมฆ่ามะรุวอนโปจักกายเดิงและไพร่ตายสิ้น เมืองมะริด เมืองตะนาว รู้ว่าเมืองทวายยอมเข้ามาพึ่งพระราชกฤษฎาเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร เมืองมะริด เมืองตะนาว ก็ยอมเข้ามาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย จึงจัดได้นางและต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวาย แล้วขอรับอาสาตีเมืองเมาะตะมะ เมืองร่างกุ้ง เมืองจิตตอง เมืองพสิม ถวายให้ได้ในเดือน ๔ ปีกุน”
** ท่านผู้อ่านครับ เมืองทวายเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในภูมิภาคนี้ ในยุคทวาราวดี เมืองทวายเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรทวาราวดี ในยุคสุโขไท เมืองก็เป็นเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรสุโขไท เมื่อสิ้นยุคพ่อขุนรามคำแหง โอรสพระเจ้าฟ้ารั่ว (พระเจ้าหลานพ่อขุนรามฯ)ยึดเมืองนี้ไปขึ้นกับรามัญ(มอญ) จากนั้นมาก็อยู่ในปกครองมอญ แล้วเปลี่ยนมือเป็นพม่าบ้าง กลับมาขึ้นกับไทยบ้าง ทำนองว่า ถูกมอญ พม่าลากไป ไทยลากมา จนกระทั่งอยู่ในปกครองพม่าถึงยุค แมงจันจา (พม่า)เป็นเจ้าเมืองทวาย เกิดความไม่พอใจในความไร้ยุติธรรมของพระเจ้าปดุงแห่งพม่า จึงขอเป็นเมืองขึ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง เรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ สถาบันกวีนิพนธ์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|