Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา >> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม >> - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 27   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -  (อ่าน 230567 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #195 เมื่อ: 28, มีนาคม, 2562, 10:16:49 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -



<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>                   .

- พระยาตากเป็น  “พระเจ้าตาก” -

จากนครนายกไม่แลหลัง
มุ่งชายฝั่งทะเลไทยในเบื้องหน้า
รอนแรมผ่านบ้านช่องไพรท้องนา
เข้าเขตปราจีนยั้งสั่งสมพล

พม่าตามราวีต้านตีตอบ
ริปูบอบช้ำพ่ายเป็นหลายหน
ทั้งทหารทุกหมู่รวมผู้คน
เชิญขึ้นบนแท่น“เจ้า”เนานามเดิม


          อภิปราย ขยายความ.....

          เมื่อวันวานได้กล่าวถึงเรื่องพระยาตากสินพาพรรคพวกหนีพม่าจากกรุงศรีอยุธยาที่ล่มสลายแล้ว  มุ่งไปทางทิศตะวันออก  ถึงนครนายกก็ได้ผู้คนและช้างเข้าสมทบเป็นกำลังกองทัพน้อยของพระยาตาก  จากนั้นเข้ายึดค่ายบ้านดงที่ขุนหมื่นพันทนายบ้าน  ได้ตั้งซ่องสุมผู้คนไว้  เป็นการเพิ่มกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากขึ้นอีก  วันนี้มาดูเรื่องราวกันต่อไปครับ

          ท่านเจ้าของนามว่า  “ชานนท์ ท.”  กล่าวไว้ในหนังสือ  “ตามรอยเลือดพระเจ้าตาก  วีรบุรุษของชาติ  มหาราชของปวงชน”  ที่ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้ตอนที่ยึดค่ายบ้านดงได้แล้วว่า  “กองทัพน้อยของพระยาตากสินยึดเอาเส้นทางต่อเชื่อมกับเมืองนครนายกมุ่งไปทางชายฝั่งทะเลตะวันออก  รอนแรมไปได้สองวันก็ทะลุบ้านนาเริ่ง  พักที่บ้านนาเริ่งหลายวันจึงเคลื่อนพลต่อไปยังเมืองปราจีนบุรี  ข้ามด่านกบแจะแล้วก็หยุดพักไพร่พลหุงหาอาหารทางฝั่งตะวันออก”  จากนั้นเคลื่อนพลข้ามลำน้ำปราจีนถึงหนองน้ำใหญ่ชายดงศรีมหาโพธิแล้วยั้งทัพ ณ ที่นั้น  “ชานนท์ ท.”  กล่าวถึงการรบกับพม่า ณ ที่นี้สรุปได้ว่า


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          พวกพม่าที่แตกพ่ายหนีรอดจากบ้านพรานนกนั้น  กลับไปถึงปากน้ำเจ้าโล้ (โจ้โล้) ด้านใต้เมืองปราจีนบุรี  ได้รายงานเหตุการณ์แก่นายทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่ที่นั้น  นายทัพจึงแบ่งทหารจำนวนหนึ่งให้ตามไล่ล่ากองทัพน้อยของพระยาตากสิน  โดยให้ยกไปทั้งทางบกทางเรือ  กำชับให้ฆ่าทำลายกองกำลังไทยอย่าให้เหลือ


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          ขณะที่พระยาตากสินตั้งค่ายอยู่ที่ชายดงศรีมหาโพธินั้น  กองกำลังพม่ายกตามมา  โดยทางเรือนั้นขึ้นบกที่ท่าข้ามสมทบกับกองที่ยกมาทางบก  แล้วมุ่งสู่ชายดงศรีมหาโพธิ  พบครัวไทยที่พากันเดินทางไปขอพึ่งบารมีพระยาตากสินที่ชายดงศรีมหาโพธิ  จึงออกวิ่งไล่จับหมายกวาดต้อนเอาเป็นเชลย ครัวไทยเหล่านั้นก็พากันหลบหนีอย่างไม่คิดชีวิต  เวลานั้นประมาณบ่าย ๔ โมง  พระยาตากได้ยินเสียงฆ้องกลองอึกทึกแว่วมา  จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าไปสืบดู  นายบุญมีรีบขี่ม้าออกไปดูก็พบว่าพม่ากำลังไล่ฟันแทงครัวไทยที่หมดแรงหนี  แย่งชิงทรัพย์สินเท่าที่มีติดตัวมา  จึงรีบกลับไปรายงานพระยาตากสิน


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          ขณะนั้นกองทัพน้อยของพระยาตากสินยังไม่ได้ตั้งค่ายขุดคูเตรียมรับศึก  แต่ก็เห็นว่าชัยภูมิบริเวณนั้นแยบยลอยู่  ด้วยมีดงแขมขึ้นหนาแน่นขนาบทั้งสองข้างทางที่เคลื่อนทัพผ่านมา  จึงบัญชาให้ครัวไทยซึ่งมีผู้หญิง  เด็ก  และคนแก่  พร้อมทั้งพวกหาบเสบียงล่วงหน้าเข้าดงไปก่อน  ส่วนพวกทหารที่มีอยู่ให้วางกำลังซ่อนตัวอยู่ในดงแขมสองฟากทาง  เตรียมปืนใหญ่น้อยไว้พร้อมพรัก  ตัวพระยาตากสินและนายทหารคู่ใจขึ้นม้านำไพร่พลประมาณร้อยเศษยกสวนออกไปถึงกลางทุ่ง  ก็เผชิญกับกองทหารพม่าแล้วเข้าสู้รบกันเป็นสามารถ  


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          เมื่อต่อสู้กันได้พักหนึ่ง  พระยาตากสินก็ให้สัญญาณล่าถอยไปทางช่องว่างของพงแขมที่วางกำลังซุ่มไว้  ทหารพม่าเห็นได้ทีก็ฮือรุกไล่ตามไปติด ๆ  ครั้นพม่าหลุดเข้าไปในพื้นที่ซุ่มสังหารตามแผนการณ์ของพระยาตากสิน  พลปืนน้อยใหญ่ก็ระดมยิงพร้อม ๆ กัน  ทหารกองหน้าของพม่าที่เบียดเสียดกันเข้ามาเป็นกลุ่มก็ล้มตายลงเป็นอันมาก  กองหนุนที่ตามมาติด ๆ ตะลุยตามเข้ามาอีกก็ถูกระดมยิงจนล้มตายระเนนระนาด  ทหารกองหลังที่เหลือไม่ทราบเหตุก็หนุนเนื่องตามเข้าสู่พื้นที่สังหาร  เสียงปืนก็คำรามกึกก้องเป็นครั้งที่สาม  ทหารพม่าล้มตายลงเป็นเบือ  ที่เหลือก็ลนลานหนีกลับ  พระยาตากสินก็ขับทหารกลับมาโจมตี  รุกไล่ฆ่าฟันอย่างไม่ปรานี  ทหารพม่าจึงเหลือรอดชีวิตหนีไปได้ไม่ถึงหนึ่งในสามที่ยกมาทั้งหมด  จากนั้นพม่าก็ขยาดฝีมือกองทัพน้อยพระยาตากสินจนไม่กล้ายกติดตามรังควานอีกเลย


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          พระยาตากสินพากองทัพน้อยออกจากดงศรีมหาโพธิ  ผ่านบ้านหัวทองหลาง  บ้านพานทอง  บ้านบางปลาสร้อย  ถึงนาเกลือแขวงบางละมุง  ได้กำลังที่นายกลมผู้นำชุมชนสะสมไว้จำนวนมากเข้าเป็นกำลังกองทัพ  แล้วเดินทางต่อไปแรมคืนที่นาจอมเทียน  สัตหีบ  บ้านหินโด่ง  บ้านหินเก่า  เข้าเขตเมืองระยอง  พระยาตากสินได้ปรึกษาเหล่าทหารระหว่างที่หยุดพักผ่อนในที่นั้นว่า  บัดนี้กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในมือพม่าแล้ว  เราคิดจะซ่องสุมผู้คนในแขวงหัวเมืองตะวันออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  หากกำลังกล้าแข็งเมื่อใดจะกลับไปสู้รบกู้บ้านกู้เมืองให้กลับคืนมา  เพื่ออาณาประชาราษฎรจะได้อยู่เย็นเป็นสุข  เราคิดจะตั้งตนเป็นเจ้าให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรง  การจะกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย  พวกท่านทั้งหลายจะเห็นเป็นประการใด  นายทหารและไพร่พลก็เห็นชอบด้วยกัน  จึงยกพระยาตากสิน  หรือ  พระยากำแพงเพชรขึ้นเป็นเจ้า  โดยเรียกว่า  “เจ้าตาก”  ตามนามเดิม.


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          เป็นอันได้ความชัดเจนแล้วว่า  เมื่อพระยาตากสินพากองกำลังของตนอันเป็นกองทัพน้อยกองหนึ่งไปถึงแขวงเมืองระยอง  ตั้งค่ายพักพลและสั่งสมกำลังอยู่นั้น  ทุกคนในกองทัพน้อยและประชาชนในบริเวณนั้น  มีเห็นพ้องต้องกันให้ยกพระยาตากขึ้นเป็น  “เจ้า”  ในนามเดิมว่า  “เจ้าตาก”  เพื่อเป็นศักดิ์ศรีให้คนทั้งหลายเคารพยำเกรง  นามว่า  “พระเจ้าตาก”  จึงปรากฏในแผ่นดินไทยแต่นั้นเป็นต้นมา

          พรุ่งนี้ติดตามเรื่องราวต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกในิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๗ มีนสคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, เนิน จำราย, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..

บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #196 เมื่อ: 29, มีนาคม, 2562, 10:37:12 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- ยึดเมืองระยองตั้งมั่น -

เจ้าเมืองระยองเข้าหาสามิภักดิ์
ลูกน้องหักหลังแบบแอบฮึกเหิม
ลอบตีค่ายหมายไม่ให้ต่อเติม
แต่เพียงเริ่มก็กลับถูกจับตาย

เจ้าตากสั่งโต้ตอบตีต่อเนื่อง
เข้ายึดเมืองระยองสมอารมณ์หมาย
ตั้งหลักมั่นมิพลัดกระจัดกระจาย
นโยบายร่วมกันกับจันทบุรี


          อภิปราย ขยายความ ..........

          พระยาตากสินได้ประกาศตนเป็น  “เจ้าตาก” ซึ่งมีความประสงค์ว่า  การตั้งตนเป็นเจ้าเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการเป็นผู้นำกลุ่มคนไทยกอบกู้เอกราชชาติไทยที่ล่มจมหายไปนั้นกลับคืนมา  แล้วตั้งกองทัพน้อยมั่นอยู่ในเขตแดนเมืองระยองนั้น

          กล่าวถึงเจ้าเมืองระยอง นามว่า  บุญเมือง  รู้ข่าวว่าเจ้าตากยกกำลังมาตั้งในเขตเมืองระยองก็เกิดความยำเกรง  จึงพากรมการเมืองส่วนหนึ่งออกมาแสดงความอ่อนน้อมพร้อมกับนำข้าวสารมาถวายหนึ่งเกวียน  เจ้าตากให้การต้อนรับเป็นอันดี  เจ้าเมืองระยองทูลเชิญให้นำไพร่พลไปพักที่ท่าประดู่ชานเมืองระยอง  เจ้าตากจึงยกกำลังไปตั้งค่ายที่ท่าประดู่  วางกำลังไพร่นายเป็นหมวดหมู่เตรียมพร้อมอยู่เสมอ  เพราะยังไม่ไว้วางใจเจ้าเมืองระยอง  เวลานั้นมีนายบุญรอดแขนอ่อน  ชาวเมืองจันทบุรีเป็นทหารชั้นนายหมวด  กับนายบุญมา  น้องเมียพระยาจันทบุรี  เข้ามาถวายตัวทำราชการด้วย  ทั้งสองคนนี้รู้ข่าวความเป็นไปในเมืองระยองดี  จึงสั่งให้เข้าเฝ้าไต่ถามความสงสัยในความจงรักภักดีของเจ้าเมืองระยอง  ทั้งสองจึงทูลถวายเรื่องราวทั้งปวง  แล้วให้ข้อมูลว่า  ขุนรามหมื่นซ่อง  นายทองอยู่นกเล็ก  ขุนจ่าเมืองด้วง  หลวงพลแสนหาญ  กรมการเมืองระยองคบคิดไม่ซื่อต่อเจ้าตาก  วางแผนจะนำทหารประมาณ ๑,๕๐๐ คนมาโจมตีทัพไม่ทันให้รู้ตัว



          เจ้าตากจึงสั่งให้นายบุญเมืองเจ้าเมืองระยองเข้าเฝ้า  สอบถามเรื่องกรมการเมืองคิดประทุษร้ายพระองค์  นายบุญเมืองปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง  ทรงเห็นมีอาการพิรุธ  จึงให้หลวงพรหมเสนาคุมตัวจำไว้  แล้วสั่งให้เตรียมพร้อมตั้งรับ  และในคืนนั้นประมาณทุ่มเศษ  กรมการเมืองผู้คิดคดได้นำกำลังเข้าล้อมค่ายสองด้านอย่างเงียบ ๆ  เจ้าตากสั่งให้ดับไฟในค่ายทั้งหมด  ทรงพาทหารคู่ใจตรวจแนวรบท่ามกลางความมืด  ขุนทหารไทย-จีนตามเสด็จอารักขา  คนไทยคือ หลวงชำนาญไพรสณฑ์  นายทองดี  พระเชียงเงิน  หลวงพรหมเสนา  นายบุญมี  นายแสง  นายศรีสงคราม  นายนาก  พะทำมะรงอิ่ม  แต่ละนายสะพายดาบถือปืนนกสับคาบศิลา  คนจีนคือ  หลวงพิพิธ  หลวงพิชัย  ขุนจ่าเมืองเสือร้าย  หมื่นท่อง  หลวงพรหม  ทุกคนถือง้าวเป็นอาวุธ



          ข้างฝ่ายขุนจ่าเมืองด้วง  กรมการเมืองระยองคนหนึ่งนำทหารฝีมือดีประมาณ ๓๐ คน  ลอบเข้ามาทางใต้วัดเนิน เดินข้ามสะพานก่อนถึงค่ายทหารไม่เกินหกวา  เจ้าตากจึงให้พลปืนยิงเข้าใส่พร้อมกัน  ขุนจ่าเมืองด้วงและทหารระยองเกือบครึ่งจำนวนถูกกระสุนปืนยิงกวาดตกสะพานตายคาที่  นอกนั้นก็ถอยหนีเอาตัวรอด  เจ้าตากสั่งให้ทหารไทย-จีนตามสังหารอย่าให้หลงเหลือ  และให้สัญญาณทหารในค่ายเข้าตีตะลุมบอนทหารระยองทันที  ทหารระยองไม่อาจต้านทานฝีมือทหารเจ้าตากได้ก็ถูกฆ่าฟันล้มตายลงเป็นอันมาก  ที่เหลือก็ถอยหนีไปยึดค่ายเก่าเป็นที่ตั้งมั่น  เจ้าตากก็สั่งให้เข้าตีค่ายแล้วเผาค่ายวินาศสิ้น  ทหารที่เหลือหนีกระจัดกระจายไปไกลแล้ว  เจ้าตากก็สั่งให้ลั่นฆ้องชัยเรียกทหารกลับเข้าค่าย  เมืองระยองก็ตกอยู่ในปกครองของเจ้าตากแต่นั้นมา


          กองทัพของเจ้าตากพักอยู่ที่เมืองระยอง ๗-๘ วัน  ในวันหนึ่ง  เจ้าตากเรียกประชุมขุนทหารทั้งหลายแล้วตรัสว่า  “เราประสงค์จะกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นมือศัตรู  จึงปรารถนาต้องการให้ชาวสยามร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  เลยจากระยองไปก็เป็นเมืองจันทบุรี  ซึ่งจำเป็นต้องให้เมืองจันทบุรีมารวมกำลังด้วย  แต่ไม่ปรารถนาให้ไทยรบกับไทยอีก  ทำอย่างไรจึงจะทำให้เจ้าเมืองจันทบุรีฟังเหตุผลยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี  โดยไม่เสียเลือดเนื้อเช่นที่เกิดขึ้น ณ เมืองระยอง”

          บรรดาขุนทหารต่างปรึกษากันแล้วเห็นช่องทางหนึ่งที่จะให้เป็นไปตามพระประสงค์ คือ  ให้นายบุญมี  ทหารมหาด เล็ก  นายบุญรอดแขนอ่อน  กับนายบุญมา  น้องเมียพระยาจันทบุรี  ทั้งสามคนไปเจรจา  โดยเชิญพระกระแสไปยังเจ้าเมืองจันทบุรี  การนี้คงสำเร็จลุล่วงไปได้  เจ้าตากก็ทรงเห็นชอบด้วย  นายเผือก ชาวญวน  และ  นักมา ชาวเขมร  รับอาสาพาข้าหลวงทั้งสามคนนั้นไปพบพระยาจันทบุรี  โดยใช้เรือใบเป็นพาหนะ  ออกจากปากน้ำระยองใช้เวลา ๕ วันก็ถึงปากน้ำจันทบุรี  แล้วเข้าไปหาพระยาจันทบุรีพร้อมกับเชิญพระกระแสมอบให้  พระยาจันทบุรีก็น้อมรับและให้การต้อนรับคณะทูตเป็นอย่างดี  ให้สัญญาว่าอีก ๑๐ วันจะออกไปเฝ้ายังกองทัพและจะเชิญเสด็จมาประทับในเมืองจันทบุรี

          เจ้าเมืองจันทบุรีให้คำมั่นสัญญาจะร่วมมือร่วมใจรวมกำลังต่อสู้กับพม่าข้าศึกเป็นมั่นคง  เมื่อคณะทูตจะกลับ  พระยาจันทบุรีก็ลงเรือรบยี่สิบพลกรรเชียงมาส่งด้วยตนเอง  เมื่อถึงปากน้ำได้ชวนคณะทูตขึ้นไปสักการะศาลเทพารักษ์  แอบถามนายบุญมาน้องเมียว่าจะวางใจเจ้าตากได้หรือไม่  ด้วยเกรงว่าเจ้าตากจะฉวยโอกาสยึดเมืองชิงสมบัติ  นายบุญมาก็ยืนยันหนักแน่นว่าเจ้าตากมีจิตใจสุจริต  มุ่งหวังกอบกู้บ้านเมืองให้หลุดพ้นจากเงื้อมมือพม่าเป็นสำคัญ  เจ้าเมืองจันทบุรีฟังแล้วก็แสดงความยินดี  กล่าวย้ำว่า  อีก ๑๐ วันจะนำกรมการเมืองไปเฝ้าแน่นอน

          ดังนั้น  ระยองจึงเป็นเมืองแรกที่เจ้าตากครอบครองตั้งหลักตั้งตัว  สะสมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เตรียมการกู้เอกราชชาติไทย  ผลการเจรจากับพระยาจันทบุรีซึ่งมีทีว่าจะราบรื่นดี  โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อในการรวมกำลังกันขับไล่พม่าต่อไป  แต่หนทางของเจ้าตากมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ  ดอกดาวเรือง  หรือดอกไม้ใด ๆ  หากแต่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามที่ต้องเก็บกวาดถากถางฝ่าฟันไปด้วยความลำบากเป็นอย่างยิ่ง

          พรุ่งนี้ติดตามอ่านเรื่องนี้ต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, กลอน123, เนิน จำราย, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #197 เมื่อ: 30, มีนาคม, 2562, 10:20:04 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- ทุบหม้อข้าวเข้าเมืองจันท์ -

พระยาจันทบุรีคิดมิซื่อ
รับหนังสือจากพม่าแล้ว“บ้าจี้”
อยากตั้งตนเป็นใหญ่ในทันที
วางแผนตีพระเจ้าตากมากอุบาย

พระเจ้าตากรู้เรื่องขัดเคืองยิ่ง
สั่งทุบทิ้งหม้อข้าวตั้งเป้าหมาย
เข้าตีเมืองจันท์พร้อมยอมอดตาย
ผลสุดท้ายได้เมืองไม่เปลืองแรง


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานได้บอกเล่าถึงพระเจ้าตากสินทรงต้องการยึดจันทบุรีโดยไม่ให้เสียเลือดเนื้อจึงส่งคนเข้าเจรจา  ให้พระยาจันทบุรียอมรับเข้าเป็นพวกด้วย  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  วันนี้มาดูกันต่อไปครับ

          ในระหว่างที่พระยาจันทบุรียังไม่ได้เข้าเฝ้านั้นปรากฏว่า  หลวงบางละมุง บุญเรือง  ผู้รั้งเมืองบางละมุงซึ่งเป็นเพื่อนกับพระยาจันทบุรี  คุมไพร่พล ๒๐ คนเดินทางไปจันทบุรีโดยผ่านเมืองระยอง  จึงถูกทหารของเจ้าตากสินจับได้แล้วนำเข้าเฝ้า  ทราบว่าจะไปหาพระยาจันทบุรีตามคำสั่งเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่พม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น  ให้พระยาจันทบุรีจัดส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองยอมอ่อนน้อมแก่พม่า  นายทัพนายกองทูลเสนอให้พระเจ้าตากสินประหารหลวงบางละมุงเสีย  แต่พระองค์ไม่ทรงทำตามข้อเสนอนั้น  ทรงให้หลวงบางละมุงนำหนังสือพม่าไปให้พระยาจันทบุรีเพื่อจะดูว่าพระยาจันทบุรีจะอ่อนน้อมต่อพม่าหรือจะร่วมใจกับพระองค์สู้รบพม่า  พร้อมกันนั้นก็ทรงให้มีศุภอักษรไปให้พระยาราชาเศรษฐี  เจ้าเมืองบันทายมาศ  เชิญเข้าร่วมเป็นพวกต่อต้านพม่าด้วย



          ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องที่พ่ายพระเจ้าตากสินมาอยู่กับพระยาจันบุรีนั้นก็ยุยงให้พระยาจันทบุรีตั้งตนเป็นใหญ่เสียเอง  โดยไม่ต้องเข้าไปยอมเป็นลูกน้องพระเจ้าตากสิน  พระยาจันทบุรีเชื่อคำยุยงของขุนรามหมื่นซ่อง  จึงร่วมกันวางอุบายหลอกล่อให้พระเจ้าตากเข้าเมืองจันบุรีแล้วกำจัดเสีย  โดยให้พระภิกษุ ๔ รูป  เดินทางออกไปเชิญพระเจ้าตากสินเข้าเมือง  ทรงปรึกษานายทัพนายกองว่าควรจะเข้าเมืองจันทบุรีตามคำเชิญหรือไม่  เหล่าทหารคู่พระทัยให้ความเห็นว่า  ควรจะเคลื่อนทัพไปยังเมืองจันทบุรีด้วยเหตุผลว่า  หากพบเห็นว่าพระยาจันบุรีคิดคดทรยศหวังประทุษร้ายก็จะได้กำราบปราบปรามเสียให้เด็ดขาด  หากเจ้าเมืองจันทบุรียังซื่อสัตย์สุจริตก็จะได้ร่วมมือกันหาทางกอบกู้บ้านเมืองต่อไป


          พระเจ้าตากสินจึงตัดสินพระทัยเคลื่อนทัพจากเมืองระยองสู่จันทบุรีโดยมีพระภิกษุ ๔ รูปนำทาง  เมื่อไปถึงตำบลบางกระจะหัวแหวน  เจ้าเมืองจันทบุรีก็สั่งให้ขุนปลัดและขุนหมื่นทำอุบายนำทัพไปทางทิศใต้ของเมืองแล้วข้ามน้ำไปฟากตะวันออก  เพื่อเจ้าเมืองจันทบุรีจะได้ถือโอกาสโจมตีในขณะกองทัพข้ามลำน้ำ  พระเจ้าตากสินทราบดังนั้นจึงสั่งมิให้เคลื่อนทัพตามขุนปลัดขุนหมื่น  แต่สั่งให้ทัพหน้ากลับมาทางขวาตรงเข้าประตูท่าช้าง  แล้วให้พักไพร่พลที่วัดแก้วนอกเมืองจันทบุรี และให้สร้างค่ายขึ้น ณ ที่นั้น

          เจ้าเมืองจันทบุรีกับขุนรามหมื่นซ่องเห็นเช่นนั้นก็ร้อนใจ  จึงให้ทหารไปประจำการรบบนกำแพงเมืองเต็มที่  แล้วขุนพรหมธิบาล  ซึ่งเป็นพระท้ายน้ำ  พะทำมะรงพอน  นายลิ่ม  นายแก้วแขก  นายเม้าแขก  ออกมาเชิญพระเจ้าตากสินเสด็จเข้าไปประทับในเมือง  โดยให้กองทัพยับยั้งอยู่ภายนอกเมือง  พระเจ้าตากสินตอบว่า  “การที่พระยาจันทบุรีเชิญเราเข้าไปในเมืองเห็นจะไม่ถูกต้องตามประเพณี  ด้วยเหตุที่ผู้น้อยอ่อนอาวุโสควรจะมาพบผู้ใหญ่ซึ่งมีอาวุโสกว่าจึงจะชอบ  จะให้ผู้ใหญ่เข้าไปพบผู้น้อยย่อมไม่เป็นการสมควร  หากพระยาจันทบุรีสุจริตใจควรออกมาพบเราที่นี่  และตรัสอีกว่าขุนรามหมื่นซ่องซึ่งตั้งตนเป็นศัตรูกับพระองค์นั้นอยู่กับพระยาจันทบุรี  ขอให้ส่งตัวมาให้เราเพื่อกระทำความสัตย์เลิกความเป็นปฏิปักษ์กันเสีย  พระยาจันทบุรีเห็นการณ์เป็นเช่นนั้นจึงคิดอุบายใหม่  ให้พะทำมะรงพอนนำเครื่องเสวยออกไปถวาย  โดยให้พระภิกษุ ๔ รูปเดิมออกไปด้วย

          พระเจ้าตากสินสังเกตพฤติการณ์ของพระยาจันทบุรีดังนั้นก็แน่พระทัยว่าเจ้าเมืองจันทบุรีไม่มีความจริงใจ  เป็นแต่ถ่วงเวลาคอยทีที่จะประทุษร้ายพระองค์อยู่  จึงตัดสินพระทัยเลิกการเจรจาแล้วเตรียมการเข้าตีเมืองจันทบุรีทันที

           “เย็นวันนั้น  เมื่อไพร่พลเหล่าทหารทั้งหลายหุงหาอาหารกินกันจนอิ่มแล้ว  เจ้าตากมีรับสั่งให้ทุบหม้อข้าวทุกใบทิ้งจนหมด  แล้วตรัสประกาศว่า  คืนนี้จะเข้าตีเมืองจันทบุรียึดเมืองให้ได้  ให้ไปกินข้าวเช้าในเมือง  หากเข้าเมืองไม่ได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด”


          คำประกาศดังกล่าวกระตุ้นให้บรรดาทหารหาญทั้งหลายเกิดความรู้สึกฮึกเหิม  ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงใด ๆ  ค่ำคืนนั้นพระเจ้าตากสินจึงจัดรูปขบวนทัพเตรียมพร้อมเข้ายึดเมือง  ทรงวางแผนให้ทหารไทยจีนเคลื่อนกำลังเข้าประชิดกำแพงเมืองจันบุรีอย่างเงียบ ๆ ทุกด้าน  ห้ามส่งเสียงโห่ร้องอึงคะนึงเป็นอันขาด  ได้ยินเสียงปืนเมื่อใดให้ยกเข้าตีพร้อม ๆ กัน  ถ้าเข้าเมืองได้เมื่อไหร่ให้โห่ร้องข่มขวัญทันที


          ยาม ๓ ของคืนนั้น  ทหารฝ่ายเมืองจันทบุรีที่ประจำอยู่บนเชิงเทินส่วนมากกำลังหลับ  พวกเวรยามที่ตื่นตาอยู่มีเป็นส่วนน้อยและไม่รู้ว่าเมืองถูกล้อม  ครั้นทหารเข้ารายล้อมเมืองหมดแล้ว  พระเจ้าตากสินทรงประทับคอช้างพังคีรีบัญชรแล้วบัญชาให้ยิงปืนสัญญาณ  ทหารที่รายล้อมคอยทีอยู่ทุกด้านนั้นก็เข้าโจมตีเพื่อยึดเมือง  เอาบันไดพาดกำแพงแล้วปีนหนุนเนื่องกันขึ้นไป  ทหารเมืองจันทบุรีรู้สึกตัวก็ปลุกเพื่อนให้ลุกขึ้นสู้จนเกิดความวุ่นวายไปทั่วเชิงเทินกำแพงเมือง



          เจ้าตากสินทรงขับช้างพังคีรีบัญชรเข้าทลายประตูเมือง  ทหารที่รักษาประตูเมืองก็ใช้ปืนนกสับระดมยิงเข้าใส่  แต่กระสุนปืนไม่ถูกใคร  ควาญท้ายช้างเห็นเช่นนั้นเกรงว่าพระเจ้าตากสินจะเป็นอันตรายจึงใช้ขอเกี่ยวบังคับช้างให้ถอยออกมาก่อน  พระองค์ทรงโกรธนักจึงชักชักพระแสงดาบจะฟันควาญท้ายช้าง  เขาร้องขอชีวิตแล้วขับช้างหวนเข้าชนประตูกำแพงเมือง  พระเจ้าตากใช้พระแสงกริชแทงช้างทรงให้เจ็บเพื่อกระตุ้นให้ทลายประตูเต็มกำลัง  ประตูกำแพงเมืองพังทลายลง  ทหารก็กรูกันเข้าเมืองพร้อมส่งเสียงโห่ร้องเต็มที่  ทหารที่ล้อมเมืองพร้อมกันโห่รับดังสนั่นหวั่นไหว  ทหารฝ่ายเจ้าเมืองจันทบุรีก็เข้าต่อสู้อย่างตะลุมบอน  แต่เพราะฝีมืออ่อนด้อยกว่าทหารของพระเจ้าตาก  จึงบาดเจ็บล้มตายลงเป็นอันมาก  ที่รอดตายก็ระย่อต่อทัพพระเจ้าตากจึงพากันย่อมแพ้บ้าง  หนีเอาตัวรอดไปเสียบ้าง  ทหารของพระเจ้าตากสินจึงเข้าเมืองได้ทั้งหมด

          แผนทุบหม้อเข้าเข้าตีเมืองจันท์ของพระเจ้าตากเป็นแผนที่ยอดเยี่ยมมาก  แผนนี้มีผู้นำมาใช้ในการต่อสู้อีกหลาย ๆ อย่าง  ควบคู่กันกับคำว่า  “ไปตายเอาดาบหน้า”  ยึดเมืองจันท์ได้แล้วแผนการต่อไปของพระเจ้าตากจะดำเนินการอย่างไร อ่านต่อพรุ่งนี้นะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๙ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #198 เมื่อ: 31, มีนาคม, 2562, 10:59:37 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละคร
"หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

- ไทยตั้งก๊กหกชุมนุม -

พระเจ้าตากตั้งหลักปักก๊กกลุ่ม
เป็นชุมนุมหนึ่งในไทยกำแหง
เจ้าพระฝาง,พิษณุโลกล้วนสำแดง
ตั้งตำแหน่งเป็นเจ้าเอาตามใจ

กรมหมื่นเทพพิพิธคิดขวนขวาย
ตั้งพิมายเป็นกลุ่มชุมนุมใหญ่
นครศรีธรรมราชก๊กเกรียงไกร
มิมีใครยอมย่อขึ้นต่อกัน


          อภิปราย ขยายความ...........

          ฝ่ายเจ้าเมืองจันทบุรีนั้นพาบุตรภรรยาลงเรือหนีทิ้งเมืองออกไปยังปากน้ำบันทายมาศ  ทหารไทยจีนของพระเจ้าตาก จับครอบครัวญาติเจ้าเมืองจันทบุรีไว้ได้ทั้งหมด  กรมการเมืองที่ยังเหลือก็ยอมวางอาวุธไม่คิดสู้  เมืองจันทบุรีตกอยู่ในเงื้อมมือพระเจ้าตากสินเพียงชั่วไม่ถึงครึ่งคืน  ทรงได้เมืองจันทบุรีเมื่อเดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐  หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเพียง ๒ เดือนเศษ  ทรงส่งคนออกไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองที่หลบหนีออกไปซ่อนตามป่าดงให้กลับเข้าอาศัยอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม  จัดการปกครองเมืองจันทบุรีจนเรียบร้อยได้ภายในเวลาไม่ถึงเดือน

          เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว  พระเจ้าตากสินต้องการได้หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกมาไว้ในอำนาจทั้งหมด  เพื่อจะได้มีกำลังมากพอที่จะขับไล่พม่าที่ยังยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้นให้แตกพ่ายไป  จึงจัดทัพเรือยกไปเมืองตราด  เมื่อเลาะเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงเมืองตราด  พวกกรมการเมืองก็พากันมาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์โดยดี  ขณะนั้นมีสำเภาพ่อค้าจีนจอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ  พระเจ้าตากสินจึงให้ข้าหลวงไปเชิญตัวพ่อค้าจีนเจ้าของสำเภาเหล่านั้นมาพบ  แต่พ่อค้าจีนไม่ยอมให้เรือข้าหลวงเข้าใกล้เรือนตน  โดยใช้ปืนยิงสกัดกั้นเอาไว้


          ข้าหลวงถอยกลับมาถวายรายงาน  พระองค์ขัดเคืองมากจึงลงเรือนำกองเรือรบเข้าล้อมสำเภาเหล่านั้นไว้  แล้วตรัสสั่งให้พ่อค้าเหล่านั้นยอมอ่อนน้อมเสียโดยดี  แต่พ่อค้าเหล่านั้นกลับยิงปืนเข้าใส่  พระองค์จึงยิงสู้และบุกเข้าประชิดเรือสำเภาแต่ละลำจนปีนขึ้นเรือได้  ทหารไทยไล่ฆ่าฟันลูกเรือสำเภาตายไปหลายคน  พ่อค้าจีน  นายสำเภาจึงยอมแพ้  ยึดได้สินค้าอันเป็นประโยชน์แก่กองทัพมากมาย  จีนเจียมผู้เป็นใหญ่กว่าพ่อค้าจีนนายสำเภาทั้งหลายนำบุตรสาวคนหนึ่งมาถวาย  จากนั้นพระเจ้าตากสินก็ยกพลกลับเมืองจันทบุรี

          เวลานั้นย่างเข้าฤดูฝน  มรสุมเคลื่อนตัวมาทางฝั่งทะเลตะวันออก  พระเจ้าตากสินทรงปักหลักตั้งทัพสะสมกำลัง  บำรุงไพร่พลอยู่ที่เมืองจันทบุรี  มีพระบัญชาให้ต่อเรือรบเพิ่มเติมให้มากขึ้นอีกเท่าที่จะมากได้


          * กล่าวฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น  เวลาประมาณ ๒ ทุ่มของวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ พุทธศักราช ๒๓๑๐  ทหารพม่าก็เข้ากรุงศรีอยุธยาได้  จุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎร  วัดวาอาราม  ปราสาทราชมนเทียร  แสงเพลิงโชติช่วงไปทั่วพระนคร  พวกพม่ายึดแย่งทรัพย์สินเงินทอง  ปล้นฆ่าประชาชนและฉุดคร่าอนาจารสตรีชาวไทยอย่างป่าเถื่อน  พระนครศรีอยุธยาอันรุ่งเรืองกลายเป็นแดนมิคสัญญีไปในพริบตา  พระเจ้าเอกทัศนั้นหนีกระเซอะกระเซิงลงเรือไปกับมหาดเล็กสองคนแล้วขึ้นฝั่งหลบซ่อนอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้  อดอยากไม่ได้เสวยกระยาหารอยู่ได้ ๑๑–๑๒  วันก็ถูกพม่าค้นพบนอนซมอยู่  จึงหามลงเรือมาที่ค่ายโพธิ์สามต้น  แล้วสิ้นพระชนม์ ณ ที่นั้นเอง  หลังจากยึดและทำลายกรุงศรีอยุธยาจนราบเรียบแล้ว  แม่ทัพพม่าก็ขนสมบัติและกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยกลับไปเป็นอันมาก  ทิ้งไว้แต่สุกี้พระนายกองนายทัพและกำลังทหารจำนวนหนึ่งตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  คอยเก็บกวาดทรัพย์สินเงินทองของไทยที่ยังหลงเหลือยู่ส่งตามไปเรื่อย ๆ

          ในยามนั้นได้เกิดขุมกำลังตั้งชุมนุมเป็นกลุ่มขึ้นในสยามประเทศมีหลายก๊ก  ที่ถือได้ว่าเป็นก๊กใหญ่ ๆ ทั้งหมดมี ๖ ก๊ก หรือ ๖ ชุมนุม  คือ

          ๑. ชุมนุมสุกี้พระนายกอง  ตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  กรุงศรีอยุธยา
          ๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง  ตั้งมั่นอยู่ที่สวางคบุรี  หรือ  เมืองฝาง – อุตรดิตถ์
          ๓. ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ  ตั้งมั่นอยู่ที่พิมาย  นครราชสีมา
          ๔. ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก (เรือง)  ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
          ๕. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
          ๖. ชุมนุมเจ้าตากสิน  ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรี


          ชุมนุมสุกี้พระนายกอง  แม้จะตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น  แต่สุกี้ก็ได้ตั้งให้คนไทยใจพม่าชื่อนายทองอิน  เป็นหัวหน้ากองกำลังอยู่ที่ธนบุรี  โดยยึดเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นศูนย์บัญชาการ  นอกจากเสาะหายึดทรัพย์สมบัติคนไทยแล้วก็คอยจับคนไทยที่หลบซ่อนในที่ต่าง ๆ เป็นเชลยแล้วส่งไปเป็นทาสพม่า


จิตรกรรมฝาผนัง พระเจ้าฝาง วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

          ชุมนุมเจ้าพระฝาง  ท่านผู้นี้เป็นชาวเหนือมีนามเดิมว่า  เรือน  บวชเป็นพระภิกษุลงไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงศรีอยุธยาจนมีความรู้ด้านปริยัติและเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระ  จนได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระพากุลเถระ  ประจำอยู่วัดศรีอโยธา  ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชา  เจ้าคณะเมืองสาวงคบุรี  หรือเมืองฝาง  เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจนสยามประเทศตกอยู่ในสภาพ  “บ้านแตกสาแหรกขาด”  หาผู้เป็นหลักให้ยึดถือไม่ได้  พระสังฆราชาแห่งสวางคบุรีจึงตั้งตนเป็นเจ้าด้วยหวังให้เป็นที่พึ่งของคนไทย  ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในบรรพชิตเพศ  จึงเรียกตนเองว่า  เจ้าพระฝาง  นักประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่บันทึกเรื่องราวของท่านว่า  เป็นพระภิกษุที่มากไปด้วยกิเลสตัณหา  แต่งตัวเป็นพระภิกษุแต่มีความประพฤติอย่างคฤหัสถ์  แต่งตั้งพระภิกษุที่มีวิชาความรู้ทางไสยเวทย์ให้เป็นนายทหารในตำแหน่งต่าง ๆ  บรรดานายทหารแต่ละคนที่แวดล้อมล้วนโกนหัวห่มผ้าเหลืองครองเพศบรรพชิตทั้งสิ้น  พฤติกรรมของเจ้าพระฝางและเหล่าทหารล้วนเป็นอย่างคฤหัสถ์ทุกประการ.

          กองกำลังหรือชุมนุม (ก๊ก) ใหญ่บนแผ่นดินสยามในยามที่บ้านเมืองไร้ขื่อไร้แปนั้น  คนไทยหัวหน้าชุมนุมที่เป็นสามัญชนตั้งตนเป็นเจ้าก็มี  เจ้าพระฝาง  พระยาพิษณุโลก  พระยานครศรีธรรมราช  และ  พระยาตาก  ส่วนชุมนุมเจ้าพิมายนั้น หัวหน้าชุมนุมเป็นราชวงศ์คือ  กรมหมื่นเทพพิพิธ  เจ้าในชุมนุมหรือก๊กใหญ่ ๔ ก๊กตั้งตนเป็นใหญ่อยู่กับที่เหมือนไม่คิดที่จะกอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมา  จึงไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ


          * พระเจ้าตากผู้ตั้งก๊กหรือชุมนุมอยู่ที่เมืองจันทบุรี  มีความมุ่งมั่นที่จะกอบกู้เอกราชชาติไทยคืนมา  จึงมีความเคลื่อนไหว  สะสมกำลังพล  มีเป้าหมายปราบปรามก๊ก  ชุมชนต่าง ๆ ให้ราบคาบ  โดยจะเริ่มขับไล่ก๊กสุกี้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น เป็นอันดับแรก  งานกู้เอกราชชาติของพระเจ้าตากจะดำเนินการอย่างไร  อ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, ลมหนาว ในสายหมอก, เนิน จำราย, ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #199 เมื่อ: 01, เมษายน, 2562, 10:21:06 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ก๊กพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ -

กล่าวถึงองค์กรมหมื่นเทพพิพิธ
มีชีวิตเหมือนนิยายคนขายฝัน
ถูกเนรเทศไปลังกามินานวัน
ก็พัวพันกลุ่มกบฏซ้ำบทเรียน

กลับสยามเร่ร่อนหลายบ่อนพัก
ไปปักหลัก ณ พิมายแล้วไม่เปลี่ยน
เป็นก๊กเจ้าเผ่าไทยได้แนบเนียน
ท่ามกลางเสี้ยนหนามแน่นเต็มแผ่นดิน


          อภิปราย ขยายความ...........

          ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ  ท่านผู้นี้เป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในพระเจ้าบรมโกศ  มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าแขก  ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าต่างกรมพระนามว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ  อยู่ในกลุ่มเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กุ้ง)  และเจ้าฟ้าอุทุมพร (ดอกมะเดื่อ / ขุนหลวงหาวัด)   เมื่อพระเจ้าอุทุมพรราชาครองราชย์แล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นในราชสำนัก  กรมหมื่นเทพพิพิธวางแผนโค่นพระเจ้าเอกทัศจึงถูกเนรเทศไปอยู่ลังกา  ในรัชสมัยพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ผู้มีอดีตเป็นชาวฮินดู  ซึ่งชาวลังกาไม่ค่อยเคารพนับถือ  ครั้นกรมหมื่นเทพพิพิธผู้เป็นพุทธศาสนิกชนแท้ไปอยู่ที่ลังกาจึงมีผู้คนเคารพนับถือมาก  จนถึงกับถูกดึงเข้าร่วมในคณะขุนนางที่คิดขบถต่อพระเจ้าลังกา  โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อทำการสำเร็จจะยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงลังกา  แต่ทำการไม่สำเร็จจึงหนีจากลังกามาขึ้นบกที่เมืองมะริด  แล้วย้ายมาอยู่ตะนาวศรี  และปราจีนบุรี


          ในขณะที่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น  ชาวไทยจากเมืองในฝ่ายตะวันออกรวมตัวกันจะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่านับหมื่นคน  กรมหมื่นเทพพิพิธรับเป็นหัวหน้ากลุ่มชนให้ตั้งค่ายใหญ่ที่ปราจีนบุรี  ฝ่ายพม่ารู้เข้าก็ยกทัพโจมตีจนค่ายน้อยใหญ่ในสังกัดกรมหมื่นเทพพิพิธแตกทำลายลง  ตัวกรมหมื่นฯ ไม่คิดสู้รบจึงพาครอบครัวและบริวารใกล้ชิดหนีไปตั้งหลักที่ด่านโคกพระยา  นครราชสีมา  ทรงต้องการผูกมิตรกับพระยานครราชสีมา  แต่พระยานครราชสีมากลับมีความคิดจะจับตัวกรมหมื่นฯ ส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเอาความดีความชอบ  แต่หลวงพลกรมการเมืองนครราชสีมาซึ่งจงรักภักดีต่อเชื้อพระวงศ์ได้เข้าเฝ้าและกราบทูลแผนการของพระยานครราชสีมาให้ทราบ  ทรงตกพระทัยคิดจะหนีต่อไป  แต่หม่อมเจ้าประยงค์โอรสไม่เห็นด้วย  จึงวางอุบายยึดนครราชสีมา  โดยเข้าล้อมจวน  และจับตัวพระยานครราชสีมาฆ่าเสีย  หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาหนีไปพึ่งพระพิมาย  เจ้าเมืองพิมาย



          กรมหมื่นเทพพิพิธครองนครราชสีมา  โดยที่ชาวเมืองมิได้เลื่อมใสศรัทธา  ดังนั้นหลวงแพ่งที่หนีไปพึ่งเจ้าเมืองพิมายจึงนำกำลังจากเมืองพิมายมายึดเมืองนครราชสีมาคืนได้โดยง่าย  หลวงแพ่งสั่งประหารหม่อมเจ้าประยงค์และนายทหารคนสำคัญของหม่อมเจ้าประยงค์ทั้งหมด  และยังสั่งให้ประหารกรมหมื่นเทพพิพิธด้วย  แต่พระพิมายคัดค้านด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สำคัญของราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา  หลวงแพ่งเกรงใจพระพิมายจึงยอมยกโทษประหารให้  จากนั้นพระพิมายก็พากรมหมื่นเทพพิพิธ ไปประทับที่เมืองพิมาย

          * ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  พระพิมายจึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ เรียกพระนามว่า  เจ้าพิมาย  กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็ตั้งให้พระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  ตั้งบุตรชายคนโตพระพิมายเป็นพระยามหามนตรี  บุตรชายคนเล็กของพระพิมายที่ชื่อนายน้อยนั้นให้เป็นพระยาวรวงศาธิราช  เรียกว่า  พระยาน้อย  ในยามนั้นบรรดาข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ที่หนีพ้นเงื้อมมือพม่าได้ทราบว่ากรมหมื่นฯ ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิมายก็พากันเข้าไปพึ่งพระบารมี  พระองค์ก็แต่งตั้งให้เป็นขุนนางยศสูงต่ำตามลำดับ



          เจ้าพิมายกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คบคิดกับพระยามหามนตรีและพระยาวรวงศาธิราชขยายอำนาจให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น จึงวางแผนกำจัดหลวงแพ่งเจ้าเมืองนครราชสีมาเสีย  โดยพระยาพ่อลูกนั้นพาไพร่พลห้าร้อยคนเดินทางสู่นครราชสีมา  ทำทีว่าจะเยี่ยมเยือนหลวงแพ่งเจ้าเมืองคนใหม่  หลวงแพ่งไม่รู้ตัวว่าจะถูกปองร้าย  จึงให้การต้อนรับด้วยความยินดี  ในคืนนั้นหลวงแพ่งจัดละครแสดงให้พระยาศรีสุริยวงศ์และคณะได้ชม  โดยหลวงแพ่ง  นายแก่น  นายย่น  มานั่งร่วมชมอยู่ด้วย  ขณะชมกันอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และบุตรชายทั้งสองที่คอยทีอยู่ก็ได้โอกาส  ชักดาบโถมเข้าฟันหลวงแพ่งซึ่งไม่ทันระวังตัวนั้นตายคาที่  พระยามหามนตรีฟันนายแก่น  พระยาวรวงศาธิราชก็ฟันนายย่นตายคาที่เช่นกัน  ทหารฝีมือดีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นับสิบคนก็เข้าฟันแทงทหารคุ้มกันหลวงแพ่งล้มตายเป็นอันมาก  เมืองนครราชสีมาจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์โดยง่ายดาย  จากนั้นก็เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาสวามิภักดิ์ได้อีกจำนวนมาก  อาณาเขตเมืองพิมายจึงกว้างขวางยิ่งขึ้น  มีอาณาเขตไปถึงถึงศรีสัตตนาคนหุตและกัมพูชา  ทางใต้ขยายถึงสระบุรีตลอดลำน้ำแควน้อย   ชุมนุมเจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ  พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่แห่งสยามจึงครองความเป็นใหญ่ในที่ราบสูงภาคอีสานทั้งหมด  แล้วรวมไปถึงลาวและเขมรด้วย

          * ในบรรดาก๊กหรือชุมนุมเจ้าทั้ง ๖  ถือได้ว่าก๊กเจ้าพิมายใหญ่ที่สุด  หัวหน้าชุมนุมมีศักดิ์เป็นเจ้าผู้สูงศักดิ์โดยเป็นถึงพระองค์เจ้าราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  และเป็นนักปฏิวัติ ๒ ประเทศด้วย  ดูท่าทีว่าจะเป็นผู้กอบกู้เอกราชชาติไทยได้สำเร็จ  แต่การณ์กลับไม่เป็นไปเช่นนั้น  เพราะเหตุใด  พรุ่งนี้มาดูกันต่อไปครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทย
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, กลอน123, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, น้ำหนาว, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, รพีกาญจน์, ก้าง ปลาทู

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #200 เมื่อ: 10, เมษายน, 2562, 11:41:53 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

ขอบคุณภาพประกอบจากละครซีรีส์อิงประวัติศาสตร์
"ศรีอโยธยา"

- ขุนพลคู่บารมีปรากฏ -

กล่าวถึงหนุ่ม“บุญมา”มหาดเล็ก
ยามเป็นเด็กคุ้นเคยกับหนุ่ม “สิน”
คราวที่กองทัพพม่ายึดธานินทร์
พาชีวินหลบพม่าหาพี่ชาย

ชวน“ทองด้วง”ไปเฝ้าพระเจ้าตาก
พี่หลวงฝากของเด่นเป็นเครื่องหมาย
พร้อมให้แม่“นกเอี้ยง”หลบเสี่ยงตาย
ไปถวายเจ้าตากอย่างยากเย็น


          อภิปราย ขยายความ.............

          ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก  มีเขตการปกครองเมืองสุโขทัยกำแพงเพชร  ศรีสัชนาลัย  พิชัย  นครไทย  พิจิตร  นครสวรรค์  หัวหน้าชุมนุม คือ  “เจ้าพระยาสุรสีห์พิศณุวาธิราช ชาติพัทยาธิเบศรามาธิบดี"  มีนามเดิมว่า  เรือง  รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ ราชวงศ์ปราสาททอง  มีภรรยานามว่าท่านผู้หญิงเชียง  มีบุตรชาย ๓ คน  ภายหลังรับการมีบรรดาศักดิ์คือ  เจ้าพระยานเรนทราภัย (บุญเกิด)  เจ้าพระยาสุรินทรภักดี (บุญมี)  เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่)  ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองพิษณุโลกก่อนพม่ายกเข้าตีกรุงศรีอยุธยา


ขอบคุณรูปภาพจาก Internet

          * เจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นผู้มีปัญญาและความสามารถสูงผู้หนึ่งในบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา  เมื่อพม่ายกมาก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง  ท่านยกกำลังไปต่อต้านพม่าที่เมืองสุโขทัย  ขณะที่รบกับพม่าอยู่นั้น  ปรากฏว่าเจ้าฟ้าจีด กรมขุนสุรินทรสงคราม  พระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระเพทราชา  ผู้ถูกจองจำอยู่ได้ติดสินบนผู้คุมแล้วหลบหนีออกจากคุก  รวบรวมพรรคหลบหนีขึ้นมาพิษณุโลก  เมื่อเห็นเจ้าเมืองไม่อยู่ในเมืองจึงตั้งตนเป็นใหญ่ปกครองเมืองพิษณุโลก  เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวจึงหยุดการสู้รบกับพม่า  แล้วยกกำลังกลับมาชิงเมืองพิษณุโลกคืน  จับเจ้าฟ้าจีดได้แล้วให้นำตัวลงกรุงศรีอยุธยา  แต่ลงมาถึงเขตติดต่อระหว่างพิจิตร –นครสวรรค์  ตรงบ้านเกยชัย (ปากแม่น้ำยมสบน่าน)  ล่องลงต่อไปไม่ได้ เพราะมีกองทัพของพม่ายึดครองนครสวรรค์ลงถึงกรุงศรีอยุธยาหมดแล้ว  จึงประหารเจ้าฟ้าจีดด้วยการให้ถ่วงน้ำเสีย ณ ที่นั้น

          ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  เจ้าพระยาพิษณุโลกก็รักษาเมืองตั้งมั่นไว้และตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งเป็นแคว้นสุโขทัยเดิม  ไม่ขึ้นแก่ใครทั้งสิ้น  จึงเป็นกลุ่มอิสระอีกชุมนุมหนึ่ง


ขอบคุณรูปภาพจาก Interner

          * ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  หัวหน้าชุมนุมกลุ่มนี้เชื่อกันว่าเดิมท่านมีชื่อว่า  หนู (มุสิกะ)  เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  เข้ามาถวายตัวรับราชการในกรุงศรีอยุธยา  ได้ตำแหน่งเป็นที่หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก  ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช  อยู่มาพระยาราชสุภาวดีซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชนั้นมีความผิดถึงขั้นต้องให้ออกจากตำแหน่ง  พระปลัดหนูจึงรักษาราชการแทน  ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว  พระปลัดหนูจึงตั้งตนเป็นเจ้าประกาศให้หัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนจรดชายแดนเมืองมลายู  เป็นประเทศอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร

          ชุมนุมหรือก๊กใหญ่ในเวลานั้น  ชุมนุมเจ้าพิพาย  กับชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  นับว่าเป็นก๊ก  หรือชุมนุมใหญ่ที่สุด กล่าวคือ  ก๊กเจ้าพิมายมีเมืองขึ้นอยู่ในปกครองคืออีสานเหนือใต้ทั้งหมด  แล้วเลยไปในลาวใต้  และเขมรทั้งหมด  ก๊กเจ้านครศรีธรรมราชนั้นปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดรวมลงไปถึงมลายูอีกด้วย


ขอบคุณภาพประกอบจากละคร "หนึ่งด้าวฟ้าเดียว"

          * ชุมนุมหรือก๊กสุดท้ายคือ  พระยาตากสิน  ชุมนุมนี้มีบทบาทสำคัญที่จะกอบกู้เอกราชชาติไทยให้กลับคืนมา  ระหว่างที่พระเจ้าตากสินตั้งชุมนุมอยู่ที่จันทบุรีและเตรียมกำลังเพื่อจะยึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่านั้น  กล่าวถึงนายบุญมาซึ่งเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ  เป็นที่ในตำแหน่งนายสุจินดาหุ้มแพร  ยังเป็นหนุ่มโสดอยู่  ขณะที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกนั้น  เขากับเพื่อนร่วมตายสามคนพากันหลบนีออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งไปหาพี่ชายคือหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ที่เมืองราชบุรี  ทั้งสี่คนใช้เรือพายเป็นพาหนะเดินทางในเวลากลางคืนหลบหลีกสายตาทหารพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่อย่างหนาแน่น  พวกเขาเสี่ยงอันตรายจากแม่น้ำเจ้าพระยาล่องไปถึงวัดแจ้ง (อรุณราชวราราม) ธนบุรี  เข้าคลองบางกอกใหญ่  ออกปากคลองมหาชัยจนถึงเมืองราชบุรี  ซึ่งก็เกือบถูกทหารพม่าพบเห็นและจับได้เป็นหลายครา

          เมื่อตามหาหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ผู้เป็นพี่ชายที่หลบหนีพม่าไปซุ่มซ่อนนั้นพบแล้ว  จึงชักชวนให้หนีไปอยู่กับเพื่อนผู้เป็นชาวจีนที่เมืองชลบุรี  แต่หลวงยกกระบัตรไม่ยอมไป  เพราะขณะนั้นภรรยากำลังตั้งท้องไม่สะดวกในการเดินทางเสี่ยงอันตราย  ขอให้นางคลอดเสียก่อนจึงค่อยตามไปภายหลัง  หลวงยกกระบัตรยังแนะนำให้นายสุจินดาหุ้มแพร  รับมารดาพระเจ้าตากสินคือท่านนกเอี้ยง  ซึ่งอยู่ที่บ้านแหลม  เพชรบุรี  ไปหาพระเจ้าตากสินด้วย  พร้อมกันนั้นก็ได้ฝากแหวนพลอยไพฑูรย์หนึ่งวง  แหวนทรงรังแตนประดับพลอยบุษราคัมน้ำทองหนึ่งวง  พร้อมด้วยดาบคร่ำทองของโบราณอีกหนึ่งเล่มไปให้พระเจ้าตากสิน


ขอบคุณรูปภาพจาก Internet

          นายสุจินดาหุ้มแพร (บุญมา)  รับของฝากแล้วรีบเดินทางไปถึงบ้านแหลม  เมืองเพชรบุรี  เสาะหาท่านนกเอี้ยงจนพบแล้วจึงเชิญให้ร่วมเดินทางไปพบพระเจ้าตากสินด้วยกัน  ท่านนกเอี้ยงเคยรู้จักนายสุจินดาหุ้มแพรมาก่อนแล้ว  จึงใจสมัครร่วมเดินทางไปด้วย  เมื่อถึงเมืองชลบุรี  นายสุจินดาหุ้มแพรก็ตรงไปพบจีนเรืองเพื่อนร่วมน้ำสาบาน  และเชิญท่านนกเอี้ยงพักที่บ้านจีนเรืองอยู่ระยะเวลาหนึ่ง  จากนั้นก็เชิญท่านนกเอี้ยงขึ้นช้างเดินทางไปจันทบุรี  เมื่อถึงจันทบุรีแล้วนายสุจินดาหุ้มแพรก็ลงช้างนอกกำแพงเมือง  เชิญท่านกเอี้ยงพักรออยู่  โดยตนเองรีบเข้าไปในเมืองจันทบุรีเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสิน  ทรงยินดีที่ได้พบนายสุจินดาหุ้มแพรจึงซักถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสาคนเคยรู้จักคุ้นเคยกัน  นายสุจินดาหุ้มแพรได้มอบแหวนและดาบที่หลวงยกกระบัตรฝากให้พระเจ้าตากสิน  ทรงดีพระทัยที่หลวงยกกระบัตรยังมีความคิดถึงพระองค์อยู่  จากนั้นทรงปรารภว่ามีความวิตกเป็นทุกข์กังวลอยู่สองประการ  คือเรื่องการกู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นจากมือพม่าประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งคือคิดถึงมารดาที่พลัดพรากจากกันมิรู้ว่าจะได้รับทุกข์ยากประการใด  นายสุจินดาหุ้มแพรจึงกราบทูลว่า  ทุกข์กังวลของพระองค์ข้าพระพุทธเจ้าพอจะผ่อนคลายให้ได้ข้อหนึ่ง  คือเรื่องพระราชมารดา  ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้เชิญมาด้วยแล้ว  ขณะนี้ประทับรออยู่นอกเมือง

          พระเจ้าตากสินทราบดังนั้นก็ดีพระทัยมากรีบให้เชิญท่านนกเอี้ยงเข้าเมืองจันทบุรีตั้งไว้ที่พระราชมารดา  จากนั้นทรงตอบแทนความดีความชอบด้วยการแต่งตั้งให้นายสุจินดาหุ้มแพร (บุญมา) เป็นพระมหามนตรี  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา  และทรงให้สัญญาว่า  ต่อไปเบื้องหน้าแม้พระมหามนตรีจะกระทำความผิดมีโทษถึงแก่ชีวิตก็จะทรงเว้นโทษนั้นเสีย

          * สองพี่น้อง  “ทองด้วง-บุญมา”  ขุนพลคู่บารมีพระเจ้าตากปรากฏเข้ามาในประวัติศาสตร์แล้ว  ติดตามดูเรื่องราวกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพในเน็ต



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #201 เมื่อ: 11, เมษายน, 2562, 10:26:07 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ปราบพม่าค่ายโพธิ์สามต้น -

มีบรรดาช้าราชการเก่า
พากันเข้าเป็นข้าปราบทุกข์เข็ญ
พระเจ้าตากมีกำลังล้างลำเค็ญ
ชุมนุมเป็นกองทัพใหญ่ในฉับพลัน

ยกเข้ายึดธนบุรีตีพม่า
แล้วไล่ล่าย่อยยับยามคับขัน
ค่ายโพธิ์สามต้นสิ้นในสามวัน
“สุกี้”นั้นล้มตายคาค่ายเลย


          อภิปราย ขยายความ............

          จากนั้นก็ยังมีข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุธยาที่หลบหนีออกจากพระนคร  เมื่อได้รู้ข่าวพระยาตากสินตั้งตนเป็นเจ้าปักหลักอยู่เมืองจันทบุรี  กำลังรวบรวมผู้คนคิดจะกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากเงื้อมมือพม่า  จึงพากันเดินทางเข้าสวามิภักดิ์ขอร่วมรบด้วยจำนวนมาก  แต่ละคนล้วนเป็นคนดีมีฝีมือแต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถของตนให้ปรากฏ  ยามนั้นพระ เจ้าตากสินมีกำลังพลรบและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก  โดยเรือรบที่สั่งให้ต่อใหม่นั้นมีจำนวนถึง ๑๐๐ ลำ  เสบียงอาหารและศัสตราวุธพร้อมสรรพ


          ดังนั้น  เมื่อถึงเดือน ๑๑ ปี กุน พ.ศ. ๒๓๑๐  อันเป็นเวลาที่เสียกรุงศรีอยุธยาไม่ทันถึงปี  พระเจ้าตากสินก็เคลื่อนกำลังพลจากจันทบุรีด้วยกองเรือเลียบฝั่งทะเลมาถึงเมืองชลบุรี  ราษฎรได้พากันร้องทุกข์กล่าวโทษว่า  นายทองอยู่นกเล็ก  ที่พระองค์ทรงตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐ  ปกครองเมืองชลบุรี  กับหลวงทรงพล  และขุนอินเชียงคนคู่ใจนั้น  ได้ประพฤติตนเป็นโจรปล้นราษฎร  ทรงเรียกเข้าเฝ้าสอบถามเอาความจริง  พระยาอนุราฐยอมรับสารภาพ  และสาบานว่าจะกลับตัวใหม่  แต่ไม่ทรงเชื่อใจจึงสั่งให้ประหารด้วยการจับถ่วงน้ำเสีย  จากนั้นก็เคลื่อนทัพเรือเข้าทางปากน้ำสมุทรปราการ


          ในเวลานั้น  นายอิน  คนไทยที่เป็นข้าพม่าด้วยความเต็มใจ  พม่าตั้งให้รักษาเมืองธนบุรีไว้  เมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินยกทัพเรือเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้ว  จึงสั่งไพร่พลของตนซึ่งมีทั้งคนไทยและพม่าให้ขึ้นรักษากำแพงเมืองธนบุรี  ตัวนายอินตั้งรับอยู่ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์  พร้อมกับให้ม้าเร็วนำข่าวไปแจ้งแก่สุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้น  พระเจ้าตากสินทรงนำทหารเข้าตีเมืองธนบุรีรบกันถึงขั้นตะลุมบอน  ไพร่พลของนายอินล้มตายลงเป็นอันมากแล้วแตกพ่ายกระจายไป  นายอินถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิตในที่สุด

          สุกี้พระนายกองทราบว่าพระเจ้าตากสินยึดเมืองธนบุรีได้โดยง่ายดายก็ตกใจ  คาดว่าจะต้องยกขึ้นมาตีค่ายโพธิ์สามต้นเป็นแน่  จึงสั่งนายทัพรองชื่อ  มองญา  นำกองทหารที่มีทั้งมอญและไทย (ซึ่งส่วนใหญ่ยอมเข้ากับพม่าเพียงเพื่อเอาตัวรอด) ลงไปตั้งสกัดที่เพนียด  ส่วนตนเองเตรียมพร้อมสู้รบอยู่ในค่ายใหญ่  พระเจ้าตากสินเมื่อได้ชัยชนะที่เมืองธนบุรีแล้วก็มีความมั่นพระทัย  บรรดาทหารหาญก็มีความฮึกเหิมกระเหี้ยนกระหือที่จะรบพม่าเพื่อแก้แค้นให้แก่ชาวไทยที่เสียทีแก่พม่า  กองทัพเรือพระเจ้าตากสินจึงเคลื่อนออกจากเมืองธนบุรีขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว

          คืนวันนั้นข่าวกองทัพเรือพระเจ้าตากสินเคลื่อนเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา  บรรดาทหารของมองญาที่ตั้งอยู่ ณ เพนียดนั้นเกิดความรวนเร  เพราะคนไทยในกองทัพไม่มีใจจะสู้รบ  ส่วนใหญ่คิดหาทางจะไปเข้ากับพระเจ้าตาก  บ้างก็คิดจะหนีไปเสีย  มองญาเห็นว่าจะควบคุมไว้ไม่อยู่  จึงนำทหารล่าถอยกลับเข้าค่ายโพธิ์สามต้น  โดยมีคนไทยในกองทัพนั้นหลบหนีไปได้จำนวนหนึ่ง  แล้วนำข่าวไปกราบทูลพระเจ้าตากสินให้ทราบว่า  มองญาพาทหารถอยกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นแล้ว  พระเจ้าตากสินจึงนำกำลังติดตามไปในทันที


          สภาพของค่ายโพธิ์สามต้นนั้นอยู่ในเขตตำบลบางปะหัน  มีอยู่สองค่ายใหญ่  คือค่ายฟากตะวันออกกับค่ายฟากตะวันตก  เป็นค่ายที่เนเมียวสีหเสนาบดี  ที่ชาวล้านนาเรียกว่า  โป่สุพลา  แม่ทัพพม่าฝ่ายเหนือยกมาจากเชียงใหม่แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่ที่นี่  ตัวค่ายมีกำแพงเชิงเทินมั่นคงแข็งแรง  เพราะพม่าไปรื้อเอาอิฐตามวัดมาก่อเป็นกำแพง  สุกี้พระนายกองบัญชาการรบอยู่ในค่ายฟากตะวันตกที่เนเมียวสีหบดีเคยอยู่  เช้าวันนั้นพระเจ้าตากสินนำกำลังเข้าโจมตีค่ายฟากตะวันออกอย่างดุเดือด  ทหารไทยซึ่งพกความแค้นไว้แน่นอกเข้ารบด้วยความฮึกหาญ  โดยเข้าตีค่ายทุกด้านพร้อมกัน  ทหารมอญและพม่าล้วนสู้รบเต็มฝีมือ  แต่ทหารไทยในกองทัพพม่านั้นไม่เต็มในจะต่อสู้  ส่วนมากจะวางอาวุธยอมแพ้แต่โดยดี  ตอนสายของวันนั้นค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกจึงแตกอย่างง่ายดาย



          พระเจ้าตากสินทรงยึดค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกได้แล้วก็เข้าตั้งมั่นในค่ายนี้  รับสั่งให้ทำบันไดเพื่อใช้ปีนค่ายพม่าฟากตะวันตกต่อไป  การทำบันไดเสร็จสิ้นก่อนเวลาพลบค่ำวันนั้น  พระเจ้าตากสินมีพระบัญชาให้พระยาพิชัย  พระยาพิพิธ  คุมกองทหารจีนยกไปตั้งประชิดค่ายฟากตะวันตกทางด้านวัดกลาง  นอกนั้นให้เตรียมพร้อมอยู่ในค่ายฟากตะวันออก

          เช้าวันรุ่งขึ้นพระเจ้าตากสินคุมทหารไทยจีนบุกเข้าโจมตีค่ายฟากตะวันตกของสุกี้พระนายกองพร้อมกัน  ทหารพระเจ้าตากสินใช้บันไดไม้ไผ่พาดกำแพงค่ายปีนขึ้นไปทุกทิศทุกทาง  การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือดตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวัน  พระเจ้าตากสินจึงพาทหารหาญของพระองค์เข้าค่ายพม่าได้  สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าสู้รบอย่างชายชาติทหาร  เขาถูกฆ่าตายคาค่ายก่อนเที่ยงวันนั้น  ส่วนมองญาแม่ทัพรองพาไพร่พลส่วนหนึ่งหลบหนีออกจากค่ายไปได้  พระเจ้าตากสินเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้นไว้ได้ทั้งหมด  มีทหารพม่า  มอญ  และไทย  ยอมอ่อนน้อมมากมาย  ภายในค่ายนั้นได้พบคนไทยที่ตกเป็นเชลยพม่าและสมบัติก้อนสุดท้ายที่ถูกปล้นมาจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ถูกส่งไปพม่า  ข้าราชการเก่าหลายคนถูกควบคุมตัวอยู่ในค่าย  เช่น  พระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก  เป็นต้น  พวกข้าราชการเหล่านั้นได้เข้าถวายบังคมพระเจ้าตากสินและกราบทูลให้ทรงทราบว่าพระศพพระเจ้าเอกทัศถูกฝังไว้ ณ ที่ใด  และยังมีเจ้านายฝ่ายหญิงอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ถูกส่งตัวไปพม่า.



          * ก๊กหรือชุมนุมแรก  คือค่ายพม่าที่ตั้งอยู่โพธิ์สามต้น  บางปะหัน  ถูกพระเจ้าตากตีแตกอย่างง่ายดาย  สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าสู้รบจนตัวตายคาค่าย  ชัยชนะอันงดงามครั้งนี้สร้างความฮึกเหิมให้แก่คนไทยผู้รักชาติสังกัดก๊กพระเจ้าตากเป็นอย่างมาก  งานกอบกู้เอกราชชาติไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร  ติดตามอ่านในวันพรุ่งนี้นะครับ.

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าภาพทุกภาพนี้ในเน็ต



รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, กร กรวิชญ์, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #202 เมื่อ: 12, เมษายน, 2562, 10:34:46 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี -

พม่ามอดวอดวายไปหมดสิ้น
กู้แผ่นดินคืนมาอย่างผ่าเผย
อยุธยาแหลกไปไม่งอกเงย
ผลลงเอยยับเยินเกินฟื้นฟู

จึงหยิบยกธนบุรีที่บางกอก
คือทางออกประเสริฐเห็นเลิศหรู
เป็นราชธานีใหม่ไทยเชิดชู
เมื่อโลกรู้ยอมรับอย่างฉับไว

กอปรพิธีราชาภิเษกเสร็จ
“สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี”ใหญ่
เป็นผู้นำบำรุงราษฎร์กรุงไกร
ชนชาวไทยเคารพอภิวันท์


          อภิปราย ขยายความ........

          เมื่อวันวานได้พูดถึงพระเจ้าตากสินยกทัพจากจันทบุรีโดยทางเรือ  เข้าตีเมืองธนบุรีได้แล้วเดินทัพตามลำน้ำเจ้าพระยาถึงกรุงศรีอยุธยา  เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่า  สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าสู้รบจนตัวตายคาค่าย  เมื่อยึดค่ายโพธิ์สามต้นได้ในเวลาอันรวดเร็วแล้ว  ทรงตรวจค่ายพบว่าข้าราชการไทยถูกจับตัวเป็นเชลยแลควบคุมไว้ในค่ายหลายคน  และมีเจ้านายฝ่ายหญิงรวมอยู่ด้วยนั้น  วันนี้มาดูความกันต่อไปครับ



          * เจ้านายฝ่ายหญิงที่ถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายนั้นประกอบด้วยพระราชธิดาพระเจ้าบรมโกศ ๔ พระองค์  คือ  เจ้าฟ้าสุริยา  เจ้าฟ้าพินทวดี  เจ้าฟ้าจันทวดี  พระองค์เจ้าฟักทอง  มีธิดากรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) คือ หม่อมเจ้ามิตร  ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทร คือ หม่อมเจ้ากระจาด  ธิดากรมหมื่นเสพภักดี คือ หม่อมเจ้ามณี  ธิดาเจ้าฟ้าจีด คือ หม่อมเจ้าฉิม  นัยว่า  เจ้านายฝ่ายหญิงทั้ง ๘ องค์นี้ถูกจับได้ในขณะประชวร  จึงยังไม่ทันได้ส่งไปกรุงอังวะ  พระเจ้าตากสินพบเห็นสภาพความเป็นอยู่แล้วเกิดเวทนาสงสาร  จึงให้จัดสถานที่ประทับให้อย่างเหมาะสม  แล้วเสด็จเข้าตั้งพลับพลาประทับในพระนครศรีอยุธยา  จากนั้นทรงให้สร้างพระโกศและเครื่องประดับเท่าที่จะทำได้ในยามยาก  ให้ปลูกสร้างพระเมรุดาดด้วยผ้าขาวขึ้นที่ท้องสนามหลวง  แล้วให้ขุดพระศพพระเจ้าเอกทัศขึ้นมาลงในพระโกศประดิษฐานไว้ ณ พระเมรุ  เสาะหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีหลงเหลืออยู่มาร่วมพิธีพระศพ  ทักษิณานุปทานและสดับปกรณ์ตามประเพณี  เสร็จแล้ว  พระเจ้าตากสินเป็นประธานนำข้าราชการทั้งปวงถวายพระเพลิงพระศพ  จากนั้นบรรจุพระอัฐิธาตุตามเยี่ยงกษัตริย์แต่ก่อนมา


          เสร็จการพระศพแล้วทรงช้างเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรทั่วพระนคร  ได้พิจารณาเห็นสภาพกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพเมืองร้าง  ปราสาทราชมนเทียรตำหนักน้อยใหญ่ในเขตพระราชฐานถูกเพลิงเผาเหลือแต่ซาก  วัดวาอาราม  โบสถ์วิหาร บ้านเรือนราษฎรก็ถูกทำลายไปเสียเป็นส่วนใหญ่  ทรงสังเวชสลดพระทัยเป็นยิ่งนัก  ทรงตั้งพระทัยจะบูรณปฏิสังขรณ์ให้กรุงศรีอยุธยากลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง  ความตรงนี้  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้รายละเอียดไว้ว่า


           “….ก็เสด็จเข้าประทับแรมอยู่ ณ พระที่นั่งทรงปืนที่เสด็จออก  บรรทมอยู่คืนหนึ่งจึงทรงพระสุบินนิมิตว่า  พระมหากษัตริย์แต่ก่อนมาขับไล่เสียมิให้อยู่  ครั้นรุ่งเช้าจึงตรัสเล่าสุบินให้ขุนนางทั้งปวงฟัง  แล้วจึงตรัสว่า  เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่า  จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า  เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่  เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด  แล้วตรัสสั่งให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฎรและสมณะพราหมณาจารย์ทั้งปวง  กับทั้งโบราณขัตติยวงศ์ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น  ก็เสด็จกลับมาตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี  และให้ไปเที่ยวสืบหาพวกพระญาติวงศ์ของพระองค์ซึ่งพลัดพรากกันไป  ไปได้มาแต่เมืองลพบุรี  รับลงมา ณ เมืองธนบุรี  แล้วให้ปลูกสร้างพระราชวังและตำหนักข้างหน้าข้างในใหญ่น้อยทั้งปวงสำเร็จบริบูรณ์”


          * กิติศัพท์พระเจ้าตากสินที่กอบกู้เอกราชจากพม่าได้ในเวลาอันรวดเร็วเป็นที่ยินดีปรีดาแก่ชาวสยามส่วนใหญ่เป็นอย่างยิ่ง  เมื่อทรงตั้งราชธานีสยามที่กรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็ปรากฏว่าบรรดาข้าราชการและราษฎรที่หลบหนีพม่าเข้าป่าเข้าดงนั้นรู้ข่าวก็พากันทยอยกันออกจากป่ามาพึ่งพระบารมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ที่รายรอบกรุงธนบุรีนั้นก็พากันนิยมยินดี  อ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากสินทั้งสิ้น  ชาวต่างประเทศที่ติดต่อค้าขาย  ทั้งจีน  ฝรั่ง  แขก  ล้วนยอมรับว่าพระเจ้าตากสินคือพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ใหม่


          ในปลายปีจุลศักราช ๑๑๓๐  ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๐ นั้น  พระเจ้าตากสินประกอบพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี  เรียกพระนามว่า  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทรงปูนบำเหน็จนายทัพนายกองผู้มีความดีความชอบแต่งตั้งให้ครองยศศักดิ์ตามทำเนียบข้าราชการกรุงเก่าทุกประการ  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซื้อข้าวของแจกจ่ายแก่ผู้อดอยากยากไร้  และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ขาดแคลนโดยทั่วหน้ากัน  กรุงธนบุรีจึงมีผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทุกคนอยู่กันอย่างดีมีสุข  แม้กรุงธนบุรีเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่บ้านเมืองก็ยังอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า  “แตกแยก”  ตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่าพวกใครพวกมันไม่ขึ้นต่อกัน  มีนายซ่องคุมคนออกปล้นสะดมเบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ดังนั้น  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องส่งคนออกไปปกครองดูแลตามหัวเมืองต่าง ๆ  เช่นหัวเมืองทางเหนือ  มีกรุงเก่า  เมืองลพบุรี  เมืองวิเศษไชยชาญ  เป็นต้น  ทางตะวันออกมี  เมืองฉะเชิงเทรา  เมืองชลบุรี  เมืองระยอง  เมืองจันทบุรี  เป็นต้น  ทางตะวันตกมี  นครไชยศรี  เพชรบุรี  เป็นต้น


          * เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองตั้งอยู่ในความสงบเรียบร้อยพอสมควรแล้ว  พระมหามนตรี (บุญมา)  จึงกราบบังคมทูลขอไปตามหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) พี่ชายของตนมาช่วยราชการ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอนุญาต  พระมหามนตรีจึงเดินทางไปเมืองราชบุรีนำพาหลวงยกกระบัตรมาเข้าเฝ้า  หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)  พาครอบครัวมาด้วย  คือ  คุณนาคผู้เป็นภรรยา  คุณฉิม  บุตรชายที่ยังเป็นเด็กอ่อน  เมื่อเข้าเฝ้าแล้ว  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เป็นที่พระราชวรินทร์  ตำแหน่งพระตำรวจในซ้าย.

          จึงเป็นอันว่างานกู้ชาติของพระเจ้าตากสินประสบความสำเร็จอย่างงดงามในบั้นต้น  จากนั้นทรงตั้งธนบุรีเป็นราชธานีไทย  โดยไม่ฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป  ตามอ่านวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กลอน123, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #203 เมื่อ: 13, เมษายน, 2562, 10:33:59 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ฟื้นฟูคณะสงฆ์ไทย -

พม่ามาสืบข่าวแล้วเข้ารบ
ถูกสยบพ่ายยับระย่อยั่น
ตีพม่าแตกไปในฉับพลัน
ชุมโจรอันดาษดื่นล้วนตื่นกลัว

สลายซ่องย่องเข้าเฝ้าสยบ
ด้วยเคารพเทิดทูนอยู่ถ้วนทั่ว
ทรงชุบเลี้ยงอารีเป็นรายตัว
ถวายหัวศรัทธาบูชาคุณ

ฟื้นฟูยกปกครองคณะสงฆ์
ให้ธำรงสถาบันสนับสนุน
ทั้งการฝึกศึกษาธรรมทรงค้ำจุน
เนื้อนาบุญศรัทธาประชาชน


          อภิปราย ขยายความ...........

          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความตอนต่อจากนี้ไปว่า ...........

           “ปีชวด  สัมฤทธิศกนั้น  ฝ่ายพระเจ้าอังวะให้มีหนังสือรับสั่งลงมาแก่แมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวาย  ให้ยกกองทัพลงมาสืบดูเมืองไทยว่าจะราบคาบอยู่หรือจะกำเริบขึ้นประการใดบ้าง  แมงกี้มารหญ่าก็คุมพลทหารเมืองทวายสองหมื่นยกเข้ามาทางเมืองไชยโยค (ไทรโยค)  และเรือรบเก่ายังอยู่ที่นั้น  จึงยกทัพบกเรือลงมา ณ ค่ายตอกระออม  แล้วก็ยกเลื่อนลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง  ใกล้จะเสียอยู่แล้ว  กรมการเมืองสมุทรสงครามบอกเข้ามาให้กราบทูล  ครั้นได้ทราบจึงโปรดให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นกองหน้า  เสด็จยกทัพหลวงไปทางชลมารคถึงเมืองสมุทรสงคราม  ให้ทัพหน้าเข้าโจมตี  กองทัพพม่าก็แตกฉานทั้งสิ้นในเพลาเดียว  พลทหารไทยไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายในน้ำในบกเป็นอันมาก  ทัพพม่าพ่ายหนีกลับไปทางด่านเจ้าขว้าวไปยังเมืองทวาย  เก็บได้เครื่องศัสตราวุธแลเรือรบเรือไล่ครั้งนั้นเป็นอันมาก  แล้วเสด็จเลิกทัพกลับกรุงธนบุรี  และพระเกียรติยศก็ปรากฏขจรไปในสยามประเทศทุก ๆ เมือง”


          * เก็บความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปได้ว่า  บรรดาชุมนุมชุมโจรผู้ร้ายทั้งหลายในอำเภอหัวเมืองต่าง ๆ  ทราบเรื่องของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างละเอียดดังนั้นก็พากันเลิกละพฤติกรรมเดิมของตนเสีย  เหตุการณ์แย่งชิงเบียดเบียนบีฑากันก็หายไป  ทุกหัวเมืองตั้งอยู่ในความสงบสุข  คนร้าย ๆ เหล่านั้นพากันเข้าถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ได้รับพระราชทานเงินเดือนเสื้อผ้าอาหารและยศตำแหน่งตามสมควรแก่ฐานานุรูป  เมื่อบ้านเมืองสงบผู้คนก็ประกอบอาชีพตามถนัด  ทำมาหากินกันอย่างมีความสุข  ข้าวปลาอาหารก็บริบูรณ์  ผู้คนทำบุญสุนทรทานกันตามปกติเหมือนเดิม พระสงฆ์องค์เจ้าได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากพุทธศาสนิกชนเป็นอันดีจึงบำเพ็ญสมณะกิจในฝ่ายคันถะธุระและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัดเพื่อเจริญศรัทธาประชาชน


          พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปรารภถึงความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาแล้วเห็นว่า  ในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามนั้น  พระสงฆ์องค์เจ้าแตกสานซ่านกระเซ็น  ไร้ผู้ปกครองดูแลจนพุทธจักรหมดสิ้นความสำคัญไป  จึงควรฟื้นฟูระบอบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่  ทรงมอบหมายให้พระศรีภูริปรีชาราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์  เที่ยวออกสืบเสาะหาพระภิกษุเถรานุเถระผู้รู้ธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติซึ่งยังคงมีอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้น  ให้อาราธนามาประชุมกัน ณ วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)  ครั้นพระศรีภูริปรีชาฯ เสาะหาพระภิกษุดังกล่าวได้จำนวนมากแล้วอาราธนามาประชุมกัน ณ วัดบางหว้าใหญ่ตามรับสั่ง



          พระภิกษุเถรานุเถระทั้งหลายเมื่อมาประชุมพร้อมกันแล้ว  ได้ทราบพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวจึงคัดเลือกภิกษุรูปที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมด้านปริยัติและปฏิบัติดีกว่าทุกองค์  อีกทั้งยังมีอายุพรรษาสูงกว่าเพื่อนได้องค์หนึ่งมีนามว่า  พระอาจารย์ดี มาจากวัดประดู่กรุงเก่า  จึงพร้อมกันเสนอให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์แรกแห่งกรุงธนบุรี  จากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระสมณะศักดิ์พระราชาคณะตามลำดับฐานันดรศักดิ์เหมือนเก่าก่อน  พร้อมกับทรงปวารณาตัวเป็นข้ารับใช้พระภิกษุสงฆ์ความว่า  “ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงตั้งใจปฏิบัติสำรวจรักษาในพระจาตุปาริสุทธิศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าให้เศร้าหมอง  แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดนั้น  เป็นธุระของโยมจะอุปฐากผู้เป็นเจ้าทั้งปวง  แม้นถึงจะปรารถนามังสะและรุธิรของโยม  โยมก็อาจสามารถจะเชือดเนื้อและโลหิตออกมาถวายเป็นอัชฌัติกทานได้”  จากนั้นทรงให้จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมขึ้นอย่างจริงจัง  เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาสืบไป.


          สรุปความตอนนี้ว่า  หลังจากตั้งธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีไทยสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยาและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว  ศึกสงครามครั้งแรกคือกองทัพพม่ายกมาตีค่ายจีนบางกุ้ง  สมุทรสงคราม  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพหลวงโดยมี  พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้ายกไปตีทัพพม่าแตกกระจายไปอย่างง่ายดาย  บรรดาชุมโจรทั้งหลายอันมีในเมืองต่าง ๆ ทราบความเช่นนั้น  ก็เลิกละความเป็นชุมนุม  ซ่องโจร  และพากันเข้าสามิภักดิ์เป็นอันมาก  ราษฎรสมณะชีพราหมณ์อยู่เย็นเป็นสุข  จากนั้นทรงหันมาฟื้นฟูการปกครองคณะสงฆ์ไทยให้เป็นสถาบันที่พึ่งทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนต่อไป  พระเถระที่ทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช  ประมุขสงฆ์องค์แรกของกรุงธนบุรี  คือ  พระอาจารย์ดี  ที่อาราธนามาจากวัดประดู่กรุงเก่า  เรื่องราวจะเป็นอย่างไร  ตามอ่านต่อกันในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #204 เมื่อ: 15, เมษายน, 2562, 11:02:36 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ปราบก๊กเจ้าพิมายสำเร็จ -

ยังชุมนุมไทยมีอยู่สี่ก๊ก
จึงต้องยกทัพไปปราบให้ป่น
พิษณุโลกต่อต้านอยู่ทานทน
ทรงถอยร่นกลับมาหาลู่ทาง

ยกไปปราบเจ้าพิมายได้สำเร็จ
แล้วเสด็จกลับกรุงทรงสะสาง
“เทพพิพิธ”แข็งกร้าวไม่เว้นวาง
จึ่งมล้างชีวินเสียสิ้นวงศ์


          อภิปราย ขยายความ.............

          เมื่อวันวานนี้  ผมพูดคุยถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงตั้งราชธานีสยามขึ้นใหม่ที่กรุงธนบุรี  พระเจ้าอังวะสั่งให้แมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวายยกกองกำลังมาสืบดูว่าเมืองไทยสงบราบคาบหรือไม่  แมงกี้มารหญ่ายกทัพเข้าตีค่ายไทยที่บางกุ้ง  พระเจ้าตากทรงให้พระมหามนตรีเป็นทัพหน้าพระองค์เป็นทัพหลวงยกเข้าโจมตีพม่าพ่ายหนีไปสิ้น  จากนั้นทรงหันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตั้งการคณะสงฆ์ขึ้นปกครองกันเองโดยมีพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก  เรื่องราวจะเป็นอย่างไรวันนี้มาดูกันต่อไปครับ


          * พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงการปราบปรามก๊กหรือชุมนุมต่าง ๆ ในสยามเพื่อรวมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  โดยทรงเริ่มปราบชุมนุมพิษณุโลกเป็นก๊กแรก  ทรงยกพลโยธาจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารคขึ้นไปตีพิษณุโลก  พระยาพิษณุโลก (เรือง) ทราบข่าวจึงจัดกองกำลังล่องลงมาตั้งรับ  และทัพทั้งสองได้รบกันที่ตำบลเกยชัย  บริเวณที่แม่น้ำยมบรรจบกับแม่น้ำน่าน  ทางฝ่ายพระยาพิษณุโลกยิงปืนต้องพระชงฆ์ข้างซ้ายพระเจ้าตากสิน  จึงสั่งให้ล่าทัพกลับกรุงธนบุรี  เมื่ออาการประชวรหายดีแล้วทราบว่า  มองญา  ปลัดทัพสุกี้พระนายกองที่แตกหนีจากค่ายโพธิ์สามต้นนั้นไปอยู่กับพวกกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมาย  จึงจัดกองทัพไปตีเมืองนครราชสีมาต่อไป  ในการตีเจ้าพิมายนี้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้รายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้

           “ฝ่ายพระเจ้าพิมายได้ทราบข่าวศึก  จึงแต่งให้พระยาวรวงศาธิราช ซึ่งเรียกว่าพระยาน้อย ยกกองทัพลงมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ ด่านขุนทดทางหนึ่ง  ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  พระยามหามนตรีกับมองญา  ยกกองทัพมาตั้งค่ายรับอยู่ ณ บ้านจ่อหอทางหนึ่ง


          สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสให้พระมหามนตรี (บุญมา)  และพระราชวรินทร์ (ทองด้วง)  ยกกองทัพขึ้นไปตีทัพพระยาวรวงศาธิราชซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านขุนทดนั้น  แล้วเสด็จยกทัพหลวงขึ้นทางด่านจ่อหอเข้าตีทัพเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกต่อรบเป็นสามารถ  พลทัพหลวงเข้าหักเอาค่ายข้าศึกได้ไล่ฆ่าฟันพลทหารพิมายล้มตายเป็นอันมาก  พวกข้าศึกแตกพ่ายหนีไป  จับได้ตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และพระยามหามนตรีทั้งมองญาด้วย  ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามนาย

          ฝ่ายทัพพระมหามนตรี (บุญมา)  พระราชวรินทร์ (ทองด้วง)  ก็ยกเข้าตีค่ายด่านขุนทดและพระยาวรวงศาธิราชต่อรบต้านทานเป็นสามารถ  รบกันอยู่หลายวันพลข้าหลวงจึงเข้าหักเอาค่ายข้าศึกได้  และพระยาวรวงศาธิราชก็แตกพ่ายหนีไป ณ เมืองเสียมราบแดนกรุงกัมพูชา  จึงดำรัสให้พระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ยกติดตามไปตีเมืองเสียมราบได้  แต่พระยาวรวงศาธิราชนั้นหนีสูญไปหาได้ตัวไม่  จึงเลิกทัพกลับมาเฝ้า ณ เมืองนครราชสีมา


          * ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ (เจ้าพิมาย)  ได้ทราบว่าเสียพระยาทั้งสามแล้วก็ตกพระทัยมิได้ตั้งอยู่สู้รบพาพรรคพวกหนีไปจากเมืองพิมาย  จะขึ้นไปแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)  จึงให้ "ขุนชนะ" ชาวเมืองนคราชสิมาไปติดตามจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้กับทั้งบุตรภรรยา คุมเอาตัวจำมาถวาย  จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งขุนชนะให้เป็นพระยากำแหงสงคราม  ครองเมืองนครราชสิมา  พระราชทานเครื่องยศและบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากสมควรแก่ความชอบ



          จากนั้นแล้วเสด็จเลิกทัพหลวงกลับยังกรุงธนบุรี  จึงให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาหน้าพระที่นั่ง  และกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม  จึงดำรัสว่าตัวเจ้าหาบุญวาสนาบารมีมิได้  ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น  ครั้นจะเลี้ยงเข้าไว้ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก  เจ้าอย่าอยู่เลย  จงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด  อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย  แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตเสีย  จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ผู้พี่เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ  จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา  ตั้งพระมหามนตรี (บุญมา) ผู้น้องเป็นพระยาอนุชิตราชา  จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย  สมควรแก่มีความชอบในการสงครามนั้น”

          * ในเดือนอ้ายของปีเดียวกันนั้นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าได้เกิดแผ่นดินไหวอยู่นานถึง ๒ ชั่วโมงเศษ  ทั้งนี้ท่านว่าเกิดแผ่นดินไหวในขณะที่พระเจ้าตากสินทรงพิจารณาโทษจีนเส็ง  ผู้ซื้อเอาทองพระพุทธรูปไปลงเรือสำเภาของตน  ผลที่เกิดจากแผ่นดินไหวไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง.

          จึงเป็นอันว่าไทยชุมนุมต่าง ๆ ๔ ก๊กนั้น  สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ทรงปราบก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายซึ่งเป็นก๊กใหญ่ที่สุดได้สำเร็จโดยง่าย  ยังเหลือก๊กเจ้าพิษณุโลกที่เข็มแข็ง  กับก๊กเจ้าพระฝาง  และก๊กเจ้านครศรีธรรมราช  ซึ่งจะต้องทำการปราบปรามกันต่อไป

          ตามอ่านต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กลอน123, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #205 เมื่อ: 16, เมษายน, 2562, 10:44:19 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -

- ก๊กเจ้าพิษณุโลกสลาย -

พระยาพิษณุโลกกำเริบฤทธิ์
โดยด่วนคิดวู่วามด้วยความหลง
ตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินสะดุดองค์
ฝีร้ายปลงชีวาพิราลัย

เจ้าพระฝางล้างเมืองพิษณุโลก
เป็นหัวโจกเมืองเหนือ”หัวเรือใหญ่”
ประวัติศาสตร์วาดภาพ“พระบาปภัย”
สยามสมัยห้าก๊กหกชุมนุม


          อภิราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินยกกองทัพไปปราบชุมนุม หรือ ก๊กเจ้าพิมายได้สำเร็จเป็นก๊กแรก  จับได้ตัวกรมหมื่นเทพพิพิธมายังกรุงธนบุรี  แต่พระองค์เจ้าแขก หรือ กรมหมื่นเทพพิพิธ  ถือองค์ว่าเป็นเจ้า  ไม่ยอมทำความเคารพสมเด็จพระเจ้าตากสิน  จึงทรงประหารเสีย  วันนี้มาดูเรื่องราวตามความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาต่อไปครับ

          * “และในปีเดียวกันนั้นเอง  พระยาพิษณุโลก (เรือง)  เมื่อมีชัยในการรบกับพระเจ้าตากสินแล้วก็มีใจเห่อเหิมกำเริบเสิบสานด้วยสำคัญตนว่ามีบุญญาธิการมาก  สามารถรบชนะพระเจ้าตากสินผู้ชนะพม่าได้  จึงตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินรับพระราชโองการเช่นพระเจ้าแผ่นดินทั่วไป  แต่ทรงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง ๗ วันก็เกิดฝีขึ้นที่ลำพระศอแล้วถึงแก่พิราลัย  พระอินอากรน้องชายพระเจ้าพิษณุโลกจึงจัดการพระศพเสร็จแล้วก็ครองเมืองพิษณุโลกสืบไป  แต่ไม่ตั้งตนเป็นเจ้าด้วยกลัวจะเป็นเช่นพี่ชายของตน


          ฝ่ายเจ้าพระฝางเมื่อได้ทราบว่าพระเจ้าพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยแล้ว  จึงยกกองทัพลงมาตีพิษณุโลก  ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากฝั่งน้ำ  พระอินทรอากรเจ้าเมืองพิษณุโลกมีฝีมือและประสบการณ์อ่อนด้อยในการสงคราม  ต่อรบต้านทานเจ้าพระฝางอยู่ได้ประมาณสามเดือน  ชาวเมืองผู้ที่ไม่รักใคร่นับถือจึงกลายเป็นไส้ศึก  เปิดประตูเมืองรับข้าศึกในยามค่ำคืน  เจ้าพระฝางก็พากองทัพเข้าเมืองได้  จับตัวพระยาอินทรอากรได้แล้วฆ่าเสียแล้วให้เอาศพขึ้นประจานไว้กลางเมือง  จากนั้นให้เก็บริบเข้าของเงินทองของเจ้าเมืองและกรมการเมืองเป็นอันมาก  ขนเอาปืนใหญ่น้อยและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองพิษณุโลกขึ้นไปสวางคบุรี  ยามนั้นหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงจึงตกเป็นสิทธิ์ของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น  ประชาชนชาวเมืองพิษณุโลกและเมืองพิจิตรที่ไม่ยอมรับเจ้าพระฝางจึงพากันอพยพลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าตากสิน ณ กรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก

          พระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันกล่าวว่า  รุ่งขึ้นปี ๒๓๑๒ ในเดือน ๕  ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  แต่ไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี ๒๓๑๑

          * ในปี ๒๓๑๒ นั้น กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์)  กับเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว  เป็นอริแก่กัน  พระเจ้ากรุงเวียงจันท์เกรงว่าพระเจ้าหลวงพระบางจะยกทัพมาตีเอาเมืองของตน  จึงแต่งราชบุตรีชื่อเจ้าหน่อเมืองพร้อมเครื่องราชบรรณา การ  ให้ขุนนางนำไปถวายพระเจ้ากรุงอังวะ  ขอเข้าอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงอังวะ



          ทางฝ่ายกรุงธนบุรีนั้นมีคดีฟ้องร้องเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น  กล่าวคือ  มีคนกล่าวโทษว่าสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่อยู่ในค่ายโพธิ์สามต้นนั้น  ได้ร่วมคิดกับสุกี้พระนายกองให้เร่งรัดเอาทรัพย์สมบัติของชาวเมือง  เมื่อทรงสอบถามสมเด็จพระสังฆราชก็ปฎิเสธ  จึงให้ชำระตัวด้วยการลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์  สมเด็จพระสังฆราชแพ้แก่การพิสูจน์จึงให้สึกเสีย  ในขณะเดียวกันนั้นมีสามเณรกล่าวโทษพระพนรัตน์ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการเสพเมถุนทางทวารหนักของตน  จึงโปรดให้พิจารณาแล้วได้ความว่าเป็นจริง  จึงให้สึกเสีย  แล้วทรงตั้งให้เป็นหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการี


          ในเดือน ๓ ปีเดียวกันนั้น  แขกเมืองลาวเมืองหล่ม  นำช้างเชือกหนึ่ง  ม้าห้าตัวมาทูลเกล้าถวาย  ขอเข้าเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร  ในปีนั้นเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง  อาณาประชาราษฎรขัดสนด้วยอาหารการกินอย่างหนัก  จึงทรงพระกรุณาสั่งให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล  ในเวลาเดียวกันนั้นกรมการเมืองจันทบุรีมีหนังสือบอกมาว่า  กองทัพเมืองพุทไธมาศจะยกมาตีกรุงธนบุรี  จึงโปรดให้พระยาพิชัยจีนเป็นที่โกษาธิบดี  ให้ลงไปตั้งค่าย ณ พระประแดง  และปากน้ำเมืองสาครบุรี  เมืองสมุทรสงคราม  รอรับศึกญวน  แต่ข่าวทัพญวนก็เงียบหายไป  หาได้ยกมาตีไทยไม่  กลับปรากฏว่ามีหนูมากมายเข้ากัดกินข้าวในยุ้งฉางและกัดกินสิ่งต่างๆมากมาย  ทรงรับสั่งให้แก้ไขด้วยการให้ทุกคนช่วยกันดักหนู  เมื่อได้แล้วให้ส่งกรมพระนครบาลทุกวัน ๆ หนูจึงหายไป



          สำหรับขัตติยวงศ์ครั้งกรุงเก่าที่ทรงนำมาอยู่กรุงธนบุรีด้วยและทรงพระกรุณาเลี้ยงไว้ในพระราชวังนั้น  เจ้าฟ้าสุริยา  เจ้าฟ้าจันทวดี  ทั้งสองพระองค์ที่ประชวรกระเสาะกระแสะมาแต่กรุงเก่า  ได้สิ้นพระชนม์ลงในกาลต่อมา  ที่ยังมีพระชนม์อยู่คือ  เจ้าฟ้าพินทวดี  พระองค์เจ้าฟักทอง  พระองค์เจ้าทับทิม (เจ้าครอกจันทบูร)   เจ้ามิตรธิดาเจ้าฟ้ากุ้ง  โปรดให้ชื่อใหม่ว่า เจ้าประทุม  หม่อมเจ้าจาดธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรโปรดให้ชื่อใหม่ว่า  เจ้าบุปผา  ส่วนหม่อมเจ้าอุบลธิดากรมหมื่นเทพพิพิธ  หม่อมเจ้าฉิมธิดาเจ้าฟ้าจีดทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นหม่อมห้าม



          ต่อมา  หม่อมเจ้าอุบล  หม่อมเจ้าฉิม  กับนางละครสี่คนเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กสองคน  เมื่อพิจารณาได้ความเป็นจริงแล้วจึงสั่งให้พวกฝีพายทนายเลือกไปทำชำเราประจาน  จากนั้นให้ตัดแขน  ตัดศีร์ษะ  ผ่าอกทั้งชายหญิง  ประกาศอย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างต่อไป  ซึ่งการเล่นชู้กันนั้นนับเป็นโทษที่จะต้องได้รับอย่างทารุณโหดร้ายที่สุดในสมัยนั้น”

          * ข้อที่ว่า “สมเด็จพระสังฆราชแพ้แก่การพิสูจน์” นั้น  หมายถึง  ไม่ทรงลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์  แสดงให้เห็นว่า การพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น  มิใช่มีแต่ในเรื่องนิทานนิยายดังที่เราเรียนรู้กันมาว่า  “สีดาลุยไฟ”  บ้าง  “ศรีมาลาลุยไฟ” บ้าง  การให้พระสังฆราชลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

          ข้อที่ว่า  หม่อมเจ้าอุบล  หม่อมเจ้าฉิม  และนางละครสี่คนเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็ก  ถูกจับได้ไต่สวนได้ความจริง  จึงให้ลงโทษ  ดังความในพระราชพงศาวดารฯข้างต้นนั้น  ให้เราเห็นได้ว่า  การเป็นชู้กันนั้นมีโทษหนักที่อภัยผ่อนผันกันมิได้  โทษถึงตายอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด

          ก๊กเจ้าพิษณุโลก  ไม่ทันที่ต้องให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกขึ้นไปปราบซ้ำสอง  ก็ถึงพิราลัยด้วยโรคแพ้บุญบารมี  และเมืองพิษณุโลกก็แตกสลายด้วยน้ำมือของเจ้าพระฝางไปแล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินจะปราบอีก ๒ ก๊กที่เหลืออยู่อย่างไร ติดตามอ่านต่อพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผี้งไทย
๑๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #206 เมื่อ: 17, เมษายน, 2562, 10:52:09 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ยกไปตีนครศรีธรรมราช -

เจ้าเขมรแย่งอำนาจญาติปั่นป่วน
น้องพึ่งญวนพี่พึ่งไทยให้ซ่องสุม
ส่งกำลังรบพร้อมไล่ล้อมรุม
กำจัดกลุ่มญวนใหญ่ให้พ้นเมือง

ส่งพระยารณฤทธิพิชิตศึก
แล้วทรงตรึกปราบนครฯ ให้อ่อนเขื่อง
ยกทัพเรือลงไปไม่เปล่าเปลือง
เดชกระเดื่องแดนใต้ไร้เทียมทาน


          อภิปราย ขยายความ..........

          เมื่อวันวานก่อนนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าตากสินทรงปราบชุมนุมหรือก๊กเจ้าพิมายได้สำเร็จ  ทรงปูนบำเหน็จรางวัลแก่ข้าราชการที่สำคัญคือ  เลื่อนให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง)  ขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  ดำรงตำแหน่งจางวางพระตำรวจขวา  เลื่อนให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นพระยาอนุชิตราชา ดำรงตำแหน่งจางวางพระตำรวจซ้าย  ซึ่งทั้งสองท่านนี้มีคุณูปการแก่ประเทศชาติไทยอย่างใหญ่หลวงในกาลต่อมา  วันนี้มาดูเรื่องราวตามพระราชพงศาวดารกันต่อไปครับ


          * ความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวอีกว่า  ในปี ๒๓๑๒ นั้น  พระเจ้าตากสินทรงสถาปนาท่านนกเอี้ยงราชมารดาเป็นกรมพระเทพามาตย์ตามโบราณราชประเพณี  โปรดให้เจ้าครอกหอกลางพระมเหสีเดิม  เป็นกรมหลวงบาทบริจาริกา  ตั้งพระเจ้าหลานเธอสามพระองค์เป็นเจ้าราชินิกูล  ชื่อ  เจ้านราสุริยวงศ์องค์หนึ่ง  เจ้ารามลักษณ์องค์หนึ่ง  เจ้าประทุมไพจิตรองค์หนึ่ง  และพระเจ้าลูกเธอใหญ่พระองค์เจ้าจุ้ยกับพระเจ้าหลานเธอแสงเจ้าบุญจันทร์  สองพระองค์นี้ยังหาได้พระราชทานพระนามใหม่ไม่  


          และในปีนั้น  ทางฝ่ายประเทศกัมพูชาก็เกิดความวุ่นวายขึ้น  กล่าวคือ  นักพระองค์ตน  ซึ่งเป็นพระอุทัยราชาได้ไปขอทัพญวนมาตีเมืองพุทไธเพชร  นักพระรามาธิบดี (นักองค์นนท์)ผู้ครองเมืองสู้ไม่ได้ก็พาสมัครพรรคพวกครอบครัวอพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี  จึงตรัสสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) และ พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  ยกกองทัพมีกำลังพลสองพันไปทางเมืองนครราชสิมาทัพหนึ่ง  ให้พระยาโกษาธิบดียกกองทัพมีกำลังพลสองพันไปทางเมืองปราจีนบุรีทัพหนึ่ง  ให้ตีนักพระอุทัยราชาเอาเมืองพุทไธเพชรคืนแก่พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์)จงได้  กองทัพทั้งสองจึงกราบถวายบังคมลาไปโดยพลัน


          จากนั้นทรงคิดราชการสงคราม  เกณฑ์กองทัพยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช  จึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพ  กับพระยายมราช  พระยาศรีพิพัฒ  พระยาเพชรบุรี  ถือพลห้าพัน  ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชอีกทัพหนึ่ง  เจ้าพระยาจักรี (แขก) นำทัพผ่านราชบุรี  เพชรบุรี  ไปถึงเมืองปทิว  ปรากฏว่าชาวเมืองปทิวเมืองชุมพรพากันยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น  แต่มีหัวหน้าชุมชนคนหนึ่งชื่อนายมั่น  พาสมัครพรรคพวกเป็นอันมากเข้าหาแม่ทัพขอสวามิภักดิ์เป็นข้าราชการ  เจ้าพระยาจักรี (แขก) มีหนังสือกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  จึงมีพระกรุณาโปรดตั้งให้นายมั่นเป็นพระชุมพรและให้เกณฑ์เข้ากองทัพด้วย  ครั้นยกทัพไปถึงเมืองไชยา  หลวงปลัดเมืองไชยาก็พาไพร่พลออกมาเข้าสวามิภักดิ์  เมื่อทรงทราบจึงโปรดตั้งให้หลวงปลัดเมืองไชยาเป็นพระยาวิชิตภักดีเจ้าเมืองไชยา  และให้เกณฑ์เข้ากองทัพด้วยอีกเช่นกัน


          ฝ่ายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อทราบข่าวศึก  จึงเกณฑ์กองทัพยกมาตั้งรับศึก ณ ตำบลท่าหมาก  กองทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก) ยกข้ามแม่น้ำบ้านดอนไปถึงค่ายท่าหมากจึงได้รบกับกองทัพเมืองนครฯ เป็นสามารถ  ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี (แขก) เพลี่ยงพล้ำ  พระยาเพชรบุรี  พระยาศรีพิพัฒ  ตายในที่รบ  หลวงลักษณมนาบุตรเจ้าพระยาจักรีถูกจับตัวไป  เจ้าพระยาจักรีจึงสั่งให้ล่าทัพถอยกลับมาตั้งที่เมืองไชยา  พระยายมราชจึงมีหนังสือบอกกล่าวโทษเข้ามาว่า  เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นกบฏ  มิเต็มใจทำสงคราม

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิจารณาเห็นว่า  “นายทัพนายกองเหล่านี้ทำสงครามไปไม่ตลอดแล้ว  จึงวิวาทแก่กัน  และการศึกเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนี้เป็นศึกใหญ่  แต่กำลังเสนาบดีเห็นจะทำการไม่สำเร็จเป็นแท้  จำจะต้องยกพยุหโยธา ทัพหลวงไปจึงจะได้เมืองนครศรีธรรมราช”  


          จากนั้นทรงจัดทัพเรือมีพลรบหมื่นหนึ่ง  พลกระเชียงหมื่นหนึ่ง  มีปืนใหญ่น้อยพร้อมเครื่องศัสตราวุธครบครัน  ครั้นได้พิชัยฤกษ์จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวาท้ายรถ  ยาวสิบเอ็ดวา  ปากกว้างสามวาเศษ  พลกระเชียง ๒๙ คน  ยกพยุหโยธาโดยทางชลมารคจากกรุงธนบุรีออกปากน้ำเมืองสมุทรปราการสู่ทะเลหลวง  ถึงตำบลบางทลุก็เกิดพายุคลื่นลมหนัก  เรือรบข้าราชการในกองหลวงกองหน้ากองหลังล่มบ้างแตกบ้าง  จึงเข้าจอดบังอยู่ในอ่าว  ทรงดำรัสสั่งให้ปลูกศาลเพียงตาบนฝั่ง  แล้วแต่งเครื่องกระยาสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์ผู้พิทักษ์สมุทร  ทรงกล่าวคำสัตยาธิษฐานเอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่ตั้งกับทั้งบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแต่บุเรชาติและในปัจจุบันเป็นเครื่องสนับสนุน  ก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่าคลื่นลมสงบลงในทันที  กองทัพเรือของพระองค์ก็เดินทางไปในทะเลหลวงอย่างปลอดภัย  จนถึงท่าพุมเรียง เมืองไชยา  ครั้นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ พลับพลาแล้วดำรัสสั่งให้กองพระยาพิชัยราชาเข้ารวมกับทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก)  แล้วยกไปทางบกเข้าตีค่ายทัพเมืองนครฯ ให้ได้  ส่วนพระองค์ลงเรือพระที่นั่งสั่งให้ยาตราทัพเรือไปยังปากน้ำเมืองนครโดยเร็ว”

          * สมเด็จพระเจ้าตากสิน  ตรัสให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  สองพี่น้องผู้เป็นขุนศึกคู่บารมีถูกใช้ให้ไปตีกัมพูชาไล่กองทัพญวนให้ออกไป  แล้วยึดเมืองพุทไธเพชรคืนให้แก่พระรามาธิบดี (นักองค์นนท์)  แล้วทรงให้พระยาจักรี (แขก)  พระยายมราช  เป็นแม่ทัพยกลงไปตีนครศรีธรรมราช  แต่พระยาทั้งสองกระทำการมิสำเร็จ  สมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีจึงทรงจัดทัพหลวงยกลงไปด้วยพระองค์เอง  เรื่องจะเป็นอย่างไร  ตามอ่านต่อวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, เนิน จำราย, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #207 เมื่อ: 18, เมษายน, 2562, 11:03:28 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ปราบนครศรีธรรมราชสำเร็จ -

ทัพฝ่ายเจ้านครอ่อนแอนัก
ถูกตีหักหาญรุกแตกทุกด้าน
เจ้านครพ่ายล้มหนีซมซาน
อยู่ตานีมินานถูกจับตัว

ปราบนครเสร็จสรรพกลับกรุงแล้ว
ทรงแน่แน่วในธรรมล้างความชั่ว
ปลดปล่อยเจ้านครพร้อมครอบครัว
โทษถ้วนทั่วทิ้งไปไม่เอาความ


          อภิปราย ขยายความ........

          เมื่อวันวานนี้ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทรงยกทัพเรือลงไปตีนครศรีธรรมราช  เสด็จถึงเมืองไชยาแล้วสั่งให้พระยาพิชัยราชาเข้าร่วมกับทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก)   ยกไปทางบกเข้าตีค่ายทัพเมืองนครทันที  ส่วนพระองค์ลงเรือพระที่นั่งให้ยาตราทัพเรือไปยังปากน้ำเมืองนครโดยเร็ว  วันนี้มาดูเรื่องราวตามความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ


          * “ทัพบกนั้นพระยายมราชเป็นกองหน้ายกข้ามท่าข้ามไปถึงลำพูนเข้าตีกองทัพเมืองนครฯ ที่ท่าหมากนั้นแตกพ่ายหนีไป  จึงยกติดตามไปตั้งค่าย ณ เขาหัวช้าง  ฝ่ายทัพเรือของสมเด็จพระเจ้าตากสินเดินทางถึงปากน้ำเมืองนครฯ ก็ยกขึ้นบก  ยาตราทัพเข้าตีเมืองนครทันที

          เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้เจ้าอุปราชยกทัพออกมาตั้งรับที่ท่าโพธิ์ก็พ่ายแก่ทัพหลวงกรุงธนบุรี  หนีเข้าเมืองทำให้เจ้านครฯ ตกใจกลัวพระเดชานุภาพ  มิได้สู้รบ  จึงทิ้งเมืองหนีไป  เวลานั้น นายคง ไพร่ในกองพระเสนาภิมุขเห็นช้างพลายเพชรที่นั่งเจ้าเมืองนครผูกเครื่องสรรพปล่อยอยู่  จึงจับเอามาถวาย  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จขึ้นทรงช้างที่นั่งพลายเพชร  เสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยราบรื่น


          ผลการรบกับเจ้าอุปราชนั้นปรากฏว่านายเพชรทนายเลือกถูกปืนตายเพียงคนเดียว  นอกนั้นปลอดภัย  เมื่อเข้าเมืองได้แล้วพลข้าหลวงจับได้ราชธิดาและญาติวงศา  นางสนมมเหสีล่าชแม่พนักงานบริวารของเจ้านคร   กับทั้งอุปราชและขุนนางทั้งปวง  และได้ทรัพย์สินเงินทองเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ เป็นอันมากนำมาถวาย  ในขณะที่เสด็จเข้าเมืองนั้นปรากฏว่านายทัพนายกองตามเสด็จทันบ้างไม่ทันบ้าง  ครั้นท้าวพระยานายทัพนายกองทัพบกทัพเรือมาถึงพร้อมกันแล้ว  จึงมีพระราชดำรัสภาคโทษไว้ครั้งหนึ่ง

          * ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชนั้น  นำบุตรธิดาวงศานุวงศ์และเก็บทรัพย์สมบัติไปได้ส่วนหนึ่ง  หนีลงไป ณ เมืองสงขลา  หลวงสงขลาพาหนีต่อไปถึงเมืองเทพา  เมืองตานี  จึงมีดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี (แขก)   พระยาพิชัยราชา  เร่งยกทัพติดตามไปจับตัวให้จงได้  ถ้ามิได้จะลงอาญาถึงสิ้นชีวิต

          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ในวันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๑๒  ประทับอยู่เมืองนครฯ ถึงวันขึ้น ๖ ค่ำเดือน ๑๑  ก็เสด็จโดยทางชลมารครอนแรมไปตามชายฝั่งทะเลจนถึงเมืองสงขลาจึงเสด็จขึ้นประทับในเมือง


          ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี (แขก) แม่ทัพเรือ  พระยาพิชัยราชาแม่ทัพบก  ยกติดตามเจ้านครไปถึงเมืองเทพา  ทราบจากชาวเมืองเทพาว่าหลวงสงขลา  พระยาพัทลุง  พาเจ้านครหนีไปเมืองตานี  แม่ทัพทั้งสองจึงมีหนังสือไปถึงพระยาตานีศรีสุลต่าน  ขอให้ส่งตัวเจ้านครและพรรคพวกมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียให้สิ้น  หาไม่แล้วจะยกทัพเข้าตีเมืองตานีชิงตัวเจ้านครและพวกต่อไป  พระยาตานีกลัวบ้านเมืองจะเป็นอันตราย  จึงส่งตัวเจ้านคร  พระยาพัทลุง  หลวงสงขลา  เจ้าพัด  เจ้ากลาง  กับบุตรภรรยาให้แก่กองทัพหลวง  เจ้าพระยาจักรีจึงจำคนโทษทั้งหมดลงเรือมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ เมืองสงขลา  ทรงยกทัพกลับเมืองนครศรีธรรมราช


          เมื่อถึงเมืองนครแล้วทรงประกาศห้ามมิให้ ไพร่พลไทยจีนทั้งปวงฆ่าโค  กระบือ  และข่มเหงสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน  ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวิหารการเปรียญ  อารามใหญ่น้อย  แล้วให้มีการสมโภชเวียนเทียนพระมหาธาตุเจดีย์ใหญ่เป็นเวลาสามวัน  เมื่อเสร็จสิ้นการสมโภชพระบรมสารีริกธาตุแล้ว  ดำรัสสั่งให้เสนาบดีและลูกขุนปรึกษาโทษเจ้านคร  เสนาบดีปรึกษากันแล้วเห็นว่ามีโทษถึงประหารชีวิต  แต่ทรงพระกรุณาไม่เห็นด้วย  ให้จำเจ้านครไว้กลับไปถึงกรุงก่อนค่อยพิจารณาโทษใหม่  จากนั้นโปรดตั้งพระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์ไว้ครองเมืองนครศรีธรรมราช  ให้พระยาสุภาวดีกับพระศรีไกรลาศอยู่ช่วยราชการ  ให้ราชบัณฑิตรวบรวมพระไตรปิฎกลงบรรทุกเรือเชิญเข้ากรุงเพื่อคัดลอกแล้วส่งกลับคืนภายหลัง  และให้สังฆการีนิมนต์พระอาจารย์ศรีวัดพแนงเชิง  ซึ่งหนีพม่ามาอยู่เมืองนครนั้นกลับกรุงธนบุรีด้วย  และเมื่อกลับถึงกรุงธนบุรีแล้ว  ทรงตั้งพระอาจารย์ศรีเป็นสมเด็จพระสังฆราช

          ส่วนเจ้านครนั้น  ก็พระราชทานโทษให้ถอดออกจากพันธนาการแล้วให้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัตยาอยู่เป็นข้าราชการพระราชทานบ้านเรือนที่อาศัยให้อยู่เป็นสุข  จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ค่อยวัฒนาการรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน”

          * น้ำพระทัยพระเจ้าตากสินในบางครั้งจะเห็นว่าทรงโหดเหี้ยม  ดังเช่นสั่งให้ลงโทษอย่างโหดเหี้ยมทารุณแก่หม่อมเจ้าอุบล  และหม่อมเจ้าฉิม  ที่เป็นชู้กับฝรั่งหาดเล็ก  บางคราวก็อ่อนโยนเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาปรานี  ดังเช่นที่ทรงอภัยโทษแก่เจ้านคร  เป็นต้น  เรื่องราวของพระองค์จะเป็นอย่างไรต่อไป  ติดตามกันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณธ์หุ่นขี้ปึ้งไทย
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี, เนิน จำราย, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #208 เมื่อ: 19, เมษายน, 2562, 11:08:04 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ไปปราบก๊กเจ้าพระฝาง -

ละเขมรไว้ก่อนไม่ร้อนรบ
หมายจะกลบก๊กพระฝางที่วางก้าม
มากวนอุทัย,ชัยนาทอาจลามปาม
ไม่เกรงขามเดชาบารมี

จัดกองทัพน้อยใหญ่ไม่รอช้า
เร่งยาตราบกเรืออย่างเร็วรี่
เข้ายึดเมืองพิษณุโลกได้ทันที
แล้วจะตีฝางเมืองต่อเนื่องไป


          อภิปราย ขยายความ....

          เมื่อวันวานนี้  ผมได้กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าตากสินทรงปราบก๊กเจ้านครได้  แล้วทรงบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น  วันนี้มาดูเรื่องราวของพระองค์จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากันต่อไปครับ


          พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความเรียงลำดับต่อไปว่า  “กองทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  และ  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา)  ซึ่งยกไปตีกัมพูชาโดยเดินทัพทางนครราชสีมา  พระยาโกษายกไปทางปราจีนบุรีนั้น  พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ตีได้เมืองเสียบราบ  พระยาโกษาตีได้เมืองพระตะบอง  ฝ่ายนักพระองค์ตนซึ่งเป็นพระอุทัยราชา  ก็ยกกองทัพเรือมาทางทะเลสาบเพื่อจะตีเอาเมืองเสียมราบคืน  พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ทราบดังนั้นจึงจัดแจงทัพเรือที่เมืองเสียมราบแล้วยกออกตีทัพเรือพระอุทัยราชา (นักพระองค์ตน) ในทะเลสาบ  ได้รบกันอยู่หลายเพลา  ยังไม่รู้แพ้ชนะแก่กัน  ก็ได้ทราบข่าวเลื่องลือว่า  พระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปปราบก๊กเจ้านครและได้ทิวงคตเสียแล้ว  พระยาพี่น้องทั้งสองก็ตกใจ  เกรงว่าแผ่นดินจะเกิดการจลาจลขึ้นอีก  จึงเลิกทัพกลับมา  พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  เกรงความจะไม่แน่  จึงยั้งทัพรอรีอยู่ที่เมืองนครราชสีมา  พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ยกทัพมาถึงเมืองลพบุรีจึงทราบความแน่ชัดว่า  พระเจ้าตากสินมิได้มีอันตราย  และตีเมืองนครศรีธรรมราชปราบก๊กเจ้านครได้ราบคาบแล้ว  จึงตั้งทัพอยู่ที่เมืองลพบุรีมิได้กลับเข้ากรุง  ฝ่ายพระยาโกษานั้นเมื่อทราบว่าพระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ถอยทัพกลับมาแล้ว  ก็เลิกทัพของตนกลับมาเมืองปราจีนบุรี  และบอกกล่าวโทษเข้ามาว่า  ทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  เลิกกลับมาก่อน  ครั้นจะตั้งอยู่ทัพเดียวก็เกรงว่าเขมรจะทุ่มกำลังเข้าโจมตี  เห็นเหลือกำลังจึงลาดถอยกลับมาบ้าง


          พระเจ้าตากสินทรงทราบจากหนังสือบอกกล่าวของพระยาโกษาดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ  ดำรัสสั่งให้พาตัวพระยาอนุชิตราชา (บุญมา) จากลพบุรีลงมาเฝ้า  แล้วตรัสถามว่า  “ใช้ไปราชการสงคราม  ยังมิได้ให้หาทัพกลับ  เหตุไฉนจึงยกมาเองดังนี้  จะคิดเป็นกบฏหรือ”  พระยาอนุชิตราชาจึงกราบทูลว่า  ได้ข่าวลือมาก  ว่าพระองค์ยกไปปราบเจ้านครและสวรรคตเสียแล้ว  จึงเกรงว่าข้าศึกจะยกมาชิงเอากรุงธนบุรีจึงรีบกลับมารักษาแผ่นดินไว้  “นอกกว่าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว  ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้ยอมเป็นข้าผู้อื่นอีกนั้นหามิได้เลยเป็นอันขาด”  ทรงฟังคำกราบบังคมทูลดังนั้นก็หายพระพิโรธ  โปรดให้มีตราหากองทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)  และพระยาโกษากลับมายังพระนคร


          * ถึงปีจุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ.๒๓๑๓)  กล่าวฝ่ายเจ้าพระฝางผู้เป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ยังดำรงเพศเป็นบรรพชิต  แต่ประพฤติตนเยี่ยงฆราวาส  ยิ่งกว่านั้นยังเป็นพาลกักขฬะเยี่ยงมหาโจร  “เกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารและเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหายหลายตำบล  จนถึงเมืองอุทัยธานี  เมืองชัยนาท”  ราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งอยู่ในเขตพระราชอาณาจักรได้รับความเดือดร้อนหนักจึงกราบทูลพระกรุณา  ทรงทราบดังนั้นจึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพจะยกไปปราบก๊กเจ้าพระฝางให้ราบคาบ  โปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน  ยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง  ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรมจึงโปรดให้พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) เลื่อนเป็นพระยายมราช  ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพันยกไปทางฟากตะวันออกทัพหนึ่ง  ทัพบกทั้งสองทัพรวมเป็นคนหมื่นหนึ่ง  ให้ยกล่วงหน้าไปก่อน


          ครั้นถึงวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ  เวลาเช้าโมงเศษ  ได้มหาพิชัยฤกษ์  สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบเอ็ดวา  พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือนไทยจีนทั้งปวง  เตรียมเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุพยาตราทางชลมารค  พลโยธาทัพหลวงหมื่นสองพันคน  ในขณะนั้นมีกำปั่นข้าวสารมาแต่ทิศใต้หลายลำ  จึงทรงให้รอทัพอยู่แล้วจัดซื้อแจกจ่ายให้พลในกองทัพจนเหลือเฟือ  ที่เหลือก็แจกจ่ายแก่สมณะชีพราหมณ์ และครอบครัวบุตรภรรยาข้าราชการทั้งปวง  ไม่เว้นแม้กระทั่งยาจกวณิพกในกรุง  และแขกเมืองตรังกานูและแขกเมืองยักตราก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายถึงสองพันสองร้อยกระบอก  จากนั้นทรงยาตราทัพไปตามลำน้ำเจ้าพระยาประทับแรมอยู่สองเวร  ถึงนครสวรรค์ก็เข้าตามลำน้ำน่านไปถึงตำบลชาลวันแล้วพักแรมอยู่เวรหนึ่ง  วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๒ ค่ำ  จึงยกไปประทับ ณ ปากน้ำพิง


          * เมื่อเจ้าพระฝางรู้ข่าวศึกจึงให้หลวงโกษาซึ่งอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตั้งรับศึก  ครั้นค่ำลงในวันนั้นประมาณยามเศษ  พระเจ้าตากสินจึงสั่งให้เข้าตีพิษณุโลกและก็เข้าเมืองได้ในคืนนั้นเอง  หลวงโกษาหนีออกจากเมืองไปตั้งค่ายมั่นที่ตำบลโทก (ปากโทก) เมื่อทัพกรุงธนบุรีตามไปก็เลิกทัพหนีไปโดยไม่ยอมสู้รบด้วย



          วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ  พระเจ้าตากสินจึงเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลก  นมัสการพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์  ทรงพระราชศรัทธาเปลื้องพระภูษาทรงสพักออกจากพระองค์ห่มพระพุทธชินราชแล้วเสด็จประทับแรมในเมือง  หยุดทัพอยู่ได้ ๙ วัน  กองทัพพระยายมราช (บุญมา) เดินทางไปถึง  ทรงพระราชทานข้าวปลาอาหารให้แจกจ่ายกันทั่วถ้วน  แล้วสั่งให้ยกไปติดเมืองสวางคบุรี  รุ่งขึ้นอีกสองวันกองทัพพระยาพิชัยราชายกไปถึง  ทรงแจกจ่ายเสบียงแล้วให้รีบยกขึ้นไปเมืองสวางคบุรีทันที  ส่วนพระองค์ก็จะยกทัพเรือขึ้นตามขึ้นไป”

          * สรุปเรื่องราววันนี้ คือพระยาสองพี่น้องรบเขมรชนะยังมิทันเด็ดขาดก็ได้ข่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์จึงรีบยกทัพกลับคืน  เขมรจึงยัง  “ลอยนวล”  อยู่ต่อไป  ทางฝ่ายเจ้าพระฝางกำเริบเสิบสาน  ส่งกองโจรลงมาปล้นราษฎรถึงเมืองอุทัย-ชัยนาท  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงจัดกองทัพขึ้นไปหมายพระทัยจะปราบก๊กเจ้าพระฝางให้ราบเรียบ  ยึดเมืองพิษณุโลกได้แล้ว  พรุ่งนี้จะยกขึ้นไปตีสวางคบุรี  หรือเมืองฝาง  ติดตามไปดูกันต่อนะครับ

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพประกอบทุกภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, กร กรวิชญ์, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ฟองเมฆ

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:39047
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127



| |
Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -
« ตอบ #209 เมื่อ: 20, เมษายน, 2562, 10:17:56 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: - สุวรรณภูมิ : ประวัติศาสตร์ชาติไทย -


- ปราบหมดสิ้นทุกก๊ก -

ฝ่ายว่าเจ้าพระฝางตั้งหลักสู้
สามวันรู้เหลือการต้านทานได้
จึ่งค่ำหนึ่งหนีมิรู้สู่ที่ใด
ตามหาไม่พบตัวตน“อ้ายเรือน”

จับ“ขุนศึก”ให้สึกจากเพศพระ
ทรงชำระศาสนาที่แปดเปื้อน
ด้วยพระฝางช่างคิดทำบิดเบือน
จนพระเหมือนคฤหัสถ์วิบัติบุญ


          อภิปราย ขายความ......

          กองทัพพระยายมราช (บุญมา) และพระยาพิชัยราชาซึ่งเป็นทัพบกนั้น  ยกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีก็ให้ตั้งค่ายล้อมไว้มั่น  อันเมืองสวางคบุรีนั้น  ตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน  หามีกำแพงไม่  เจ้าพระฝางเกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินรอบเมือง  ยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง

          * ขณะนั้นช้างพังเชือกหนึ่งอยู่ในเมืองตกลูกเป็นช้างเผือกสมพงศ์  เจ้าพระฝางเห็นเช่นนั้นก็กล่าวว่า  “ช้างเผือกนี้มิได้บังเกิดเป็นของคู่บุญของเรา  เกิดเป็นพาหนะสำหรับบุญแห่งท่านแม่ทัพใต้ซึ่งยกขึ้นมานั้น”  แล้วก็เกิดความคิดครั่นคร้ามเกรงกลัวพระบารมียิ่งนัก
 


          เมื่อสู้รบอยู่ได้เพียงสามวัน  เจ้าพระฝางก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองไปทางทิศเหนือในเวลากลางคืน  พวกทหารก็นำเอาลูกช้างเผือกและพังแม่หนีตามไปด้วย  กองทัพกรุงธนบุรีเข้าเมืองได้ก็มีหนังสือกราบบังคมทูลมายังทัพหลวง ณ เมืองพิษณุโลก  ในหนังสือกราบบังคมทูลนั้นใจความสำคัญว่า  “ได้เมืองสวางคบุรีแล้ว  แต่อ้ายเรือนพระฝางนั้นพาลูกช้างเผือกซึ่งเกิดในเมืองหนีไป  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังให้ติดตามอยู่”  ทรงได้รับหนังสือกราบบังคมทูลนั้นในระหว่างทางขณะที่เสด็จทางชลมารคขึ้นไปจากพิษณุโลกได้ ๓ วันแล้ว  จึงรีบเร่งเรือพระที่นั่งไปทั้งกลางวันกลางคืนจนไปถึงที่ประทับพระตำหนักค่ายหาดสูงซึ่งกองหน้าตั้งไว้รับเสด็จ  ทรงขึ้นประทับแล้วมีพระราชดำรัสสั่งให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันติดตาม  “อ้ายเรือนพระฝาง”  และลูกช้างเผือกให้จงได้

          * ถึงวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ  หลวงคชศักดิ์กับกองพระยาอินทรวิชิตเจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ  จับได้นางพญาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย  ทรงพระกรุณาพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พระยาอินทรวิชิตกับหลวงคชศักดิ์โดยสมควรแก่ความชอบ
 

          วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๐  ยกทัพไปโดยทางชลมารคถึงตำบลน้ำมืด  จึงตรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก และเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรชาวหัวเมืองเหนือทั้งปวง  ห้ามอย่าให้ข่มเหงริบทรัพย์สิ่งของราษฎรชาวบ้าน  และฆ่าโคกระบือสัตว์ของเลี้ยง  นายทัพนายกองผู้ใดได้ปืนและช้างพลายพังลักษณะดีก็ให้ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย  อย่าได้เบียดบังเอาไว้


          * วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ มีใบบอกขึ้นไปแต่กรุงธนบุรี  กราบบังคมทูลว่า  แขกเมืองตานีเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร  ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง  และเมืองยักตราถวายปืนใหญ่ร้อยบอก  และวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑  ทรงพระกรุณาให้สืบเสาะจับพระสงฆ์พวกเหล่าร้ายบริวารเจ้าพระฝาง  ได้ตัวพระครูคิริมานนท์ ๑   อาจารย์ทอง ๑   อาจารย์จันทร์ ๑   อาจารย์เกิด ๑   ล้วนเป็นแม่ทัพอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่รูป



          แต่พระครูเพชรรัตน์กับอ้ายเรือนพระฝางนั้นหาได้ตัวไม่  จึงตรัสให้ผลัดผ้าเป็นคฤหัสถ์ทั้งสี่คน  แล้วจำคงส่งลงมาใส่คุก ณ กรุงธนบุรี  ในวันนั้นทรงให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เมืองเหนือมาพร้อมกันหน้าพระที่นั่ง  และให้หาขุนนางใหญ่น้อยมาประ ชุมพร้อมกัน  ทรงปรึกษาหารือในที่ประชุมว่า  พระภิกษุสงฆ์เมืองเหนือล้วนเป็นพรรคพวกอ้ายเรือนพระฝาง  ส่วนใหญ่มักล่วงสิกขาบทปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง  เห็นควรมีการชำระให้พระศาสนาบริสุทธิ์  จึงขอให้พระภิกษุสารภาพกรรมทั้งปวงของตนตามความเป็นจริง  หากองค์ใดกระทำล่วงปาราชิกก็จะพระราชทานผ้าคฤหัสถ์ให้สึกออกมาทำราชการโดยมิเอาโทษทัณฑ์  องค์ใดไม่ยอมรับตามความจริง  ก็จะให้พิสูจน์ด้วยการดำน้ำสู้นาฬิกาสามกลั้น  ถ้าชนะนาฬิกาก็จะตั้งให้เป็นอธิการและพระครูราชาคณะฝ่ายเหนือโดยควรแก่คุณธรรมที่รู้  ถ้าสู้นาฬิกาไม่ได้ก็ให้เฆี่ยนแล้วสักข้อมือห้ามิให้บวชอีก

          * วิธีการชำระความบริสุทธิ์พระภิกษุสงฆ์ของพระเจ้าตากสินนี่แปลกดีนะครับ  “ดำน้ำสู้นาฬิกา”  นั้นท่านทำกันอย่างไร  รายละเอียดของเรื่องนี้เห็นจะต้องยกไปว่ากันอีกทีในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันครับ.

<<< ก่อนหน้า                 ต่อไป  >>>

เต็ม อภินันท์
สถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒
ขอขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต


รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กร กรวิชญ์, เนิน จำราย, น้ำหนาว

บันทึกการเข้า

..
สารบัญบทกลอนคุณ  "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 27   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.892 วินาที กับ 335 คำสั่ง
กำลังโหลด...