Username:

Password:


  • บ้านกลอนน้อยฯ
  • ช่วยเหลือ
  • ค้นหา
  • เข้าสู่ระบบ
  • สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล >> ห้องเรียน >> ห้องศึกษา กาพย์ โคลง ร่าย >> - โคลงห้าพัฒนา -
หน้า: [1]   ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: - โคลงห้าพัฒนา -  (อ่าน 8151 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:65535
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10566


เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ


| |
- โคลงห้าพัฒนา -
« เมื่อ: 14, มกราคม, 2565, 10:54:21 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: - โคลงห้าพัฒนา -

โคลงห้าพัฒนา

      โคลงห้าพัฒนา  เป็นโคลงที่มีลักษณะเข้มขลังเฉียบฉับไว  ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยจิตร ภูมิศักดิ์  นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้า  โดยการต่อยอดจากโคลงห้าแบบโองการแช่งน้ำ (จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าโองการแช่งน้ำเป็นรูปแบบของโคลงห้าอย่างวรรณคดีล้านช้างเรื่องท้าวฮุ่ง)  นำปรับ “พัฒนา” จัดระเบียบคำและสัมผัสขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับรสนิยมของหูคนไทยในยุคนี้  (คมทวน  คันธนู  มักเรียกโคลงห้าพัฒนานี้ว่า  “โคลงจิตรลีลา” โดยให้เหตุผลไว้ว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่จิตร  ภูมิศักดิ์)

          โคลงห้าพัฒนา   - บทหนึ่งมี ๒๐ คำเป็นหลัก อันยังไม่นับรวม "สร้อยโคลง"  ที่เพิ่มได้อีกสองแห่ง  แห่งละสองคำ  ในท้ายบาทที่ ๑ และท้ายบาทที่ ๓   ซึ่งใช้สร้อยโคลงแบบทั่วไป (ส่วนบาทที่ ๔ ก็ใส่สร้อยได้  แต่เป็นสร้อยซ้ำคำแบบโคลงดั้นอันจะค่อยกล่าวถึงต่อไป)

          คณะของโคลงห้าพัฒนา  

          - โคลงห้าพัฒนา  
             ในหนึ่งบทนั้นมี  ๔  บาท
             แต่ละบาทแบ่งเป็น  ๒  วรรค  
             ประกอบด้วยวรรคหน้า ๓ คำ  และวรรคหลังอีก ๒ คำ (รวมเป็น ๕ คำในหนึ่งบาท)
             ทั้งสี่บาทจึงมี ๒๐ คำเป็นหลักดังกล่าว

       และในการแต่งโคลงห้าพัฒนานั้น มีจุดต้องใช้คำสุภาพ (คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์) อยู่ ๔ แห่ง
       คือ คำที่ ๕ ในบาทแรก ,คำที่ ๓ ในบาทที่สองและบาทที่สาม และ คำที่ ๕ ในบาทที่สี่ (ดังผังประกอบ)

                                **************************************

- การแต่งโคลงห้าพัฒนา -

    ๑.  สัมผัสบังคับ   (ดูผังด้านบนประกอบ)

            การสัมผัสในบทของโคลงห้าพัฒนามีจุดบังคับรับ-ส่ง สัมผัสสระภายในบทเหมือน โคลงสี่สุภาพคลิก ตามตำแหน่งที่โยงเส้นดังแสดงไว้ในผัง คือ

  - คำสุดท้ายของบาทแรก (คำที่ ๕) ให้ส่งสัมผัสสระไปยังคำที่ ๓ ของบาทที่สองและบาทที่สาม
  - คำสุดท้ายรูปโทของบาทสอง (คำที่ ๕) ส่งสัมผัสสระไปยังคำที่ ๓ รูปโทของบาทที่สี่

เช่น

         ๐     กรุงเทพฯคลุ้ง            คาวหืน
          ควันกามกลืน                    กลบไหม้
          คาวกลางคืน                     คลุมทาบ
          เมืองร้องไห้                       เหือดขวัญ ฯ

                                                        (จิตร  ภูมิศักดิ์)


    ๒.  คำเอก  คำโท  (ดูผังด้านบนประกอบ)

          ในหนึ่งบทของโคลงห้าพัฒนานั้น มีการกำหนดบังคับใช้คำรูปวรรณยุกต์เอกไว้  ๔ แห่ง และรูปโท ๔ แห่งดังผังประกอบ  โดยคำรูปเอกนั้น  ใช้คำตายแทนได้เช่นเดียวกับโคลงทั่วไป  เช่น

         ๐     ชัยจักแย้ม              ยังดิน
          แสงสูรย์ริน                     เรื่อฟ้า
          ชุบชีวิน                          วามชื่น
          งามล้ำหน้า                    หลากสวรรค์

                                                        (จิตร  ภูมิศักดิ์)


    ๓.  การสลับตำแหน่งคำเอก-คำโท ในโคลง

          ในโคลงห้าพัฒนานั้น ตำแหน่งคำเอก คำโท ในโคลงที่บังคับไว้นั้น  สามารถสลับที่กันได้หนึ่งแห่งเหมือนโคลงทั่วไป นั่นคือ คู่คำเอก-โท ในคำที่ ๒-๓ ของบาทแรก นั่นเอง

                  หมายเหตุ : คำโทคู่ในบาทที่ ๔  อาจอยู่แยกกันได้  เช่น  

                   “ ฟ้าโรจน์ร้อง ............. ร่ำหา “


    ๔.  การใช้เอกโทษ-โทโทษ

                  รายละเอียดเรื่องคำเอกโทษ  คำโทโทษที่ใช้ในโคลง  คลิกอ่านได้ ที่นี่ คลิก

    ๕.  คำสร้อย

                  โคลงห้าพัฒนานั้น  ในบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓  หากกระแสความยังไม่สิ้น  สามารถใส่สร้อยได้อีกสองคำเหมือนโคลงสี่ทั่วไป  รายละเอียดเรื่องคำสร้อยที่ใช้ในโคลง  คลิกอ่านได้ ที่นี่ คลิก

                  หมายเหตุ : คำสร้อย นอกเหนือจากบาทที่ ๑  และบาทที่ ๓ แล้ว   ในบาทที่ ๔ ก็สามารถใส่คำสร้อยอีกสองคำต่อท้ายได้เช่นกัน   แต่ใช้สร้อยแบบโคลงดั้น  กล่าวคือ  เป็นคำสุภาพ (ไม่มีรูปเอกโท, ไม่เป็นคำตาย) และต้องสัมผัสพยัญชนะกับสองคำสุดท้ายของบาทที่สี่   โดยเฉพาะคำสุดท้ายจะต้องซ้ำคำเดียวกัน  เช่น

                  “ ฟ้าโรจน์ร้อง ........... ร่ำหา รนหา ”  
        หรือ  
                   “ กามร้อนไล้ ……..... ลูบเมือง โลมเมือง ”


อย่างนี้นั่นเอง

สำหรับโคลงห้าพัฒนาคงอธิบายไว้เพียงคร่าว ๆ ดังนี้   ด้านล่างต่อไปเป็นตัวอย่างโคลงห้าพัฒนาบางส่วนจากวรรณกรรมต่าง ๆ

อ้างอิง
บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย (ทีปกร (จิตร ภูมิศักดิ์)) ศิลปิน, นักรบประชาชน
ชมรมหนังสือแสงตะวัน (๒๕๑๙)




รายนามผู้เยี่ยมชม : มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์

บันทึกการเข้า

รวมบทกลอน "ที่นี่เมืองไทย..."
รวมบทกลอน "ร้อยบุปผา"
รวมบทประพันธ์ทั่วไป "Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา)"
รวมบทประพันธ์กลบท "Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา)"
รวมบทประพันธ์ฉันท์ "Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา)"
กลอนสุภาษิต-คำพังเพย-สำนวนไทย บ้านกลอนน้อย
ลานอักษร มยุรธุชบูรพา
..

Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
****

จำนวนผู้เยี่ยมชม:65535
ออฟไลน์ ออฟไลน์

ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10566


เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ


| |
Re: โคลงห้าพัฒนา
« ตอบ #1 เมื่อ: 14, มกราคม, 2565, 10:56:24 PM »
บ้านกลอนน้อยฯบ้านกลอนน้อยฯ

Permalink: Re: โคลงห้าพัฒนา

ตัวอย่างโคลงห้าพัฒนาบางส่วน
แสดงคำเอก คำโท, คำสร้อย,  คำสัมผัสภายในบท

         โคลงห้าพัฒนา
           (คาวกลางคืน :  จิตร  ภูมิศักดิ์)


          ๐     กรุงเทพ ฯ คลุ้ง ........ คาวกาม
          เปลวเขียวคราม .............. คลอกไหม้
          อากรุงราม ...................... โรยร่วง แล้วฤๅ
          กามร้อนไล้ ..................... ลูบเมือง โลมเมือง

          ๐     ไทยไป่แล้ง ............... พลังใจ
          วิญญาณไทย .................. แกร่งกล้า
          ผีกามไกล ....................... กลืนชาติ มีฤๅ
          สู้เย้ยฟ้า .......................... ฝากนาม
                                                             (คาวกลางคืน :  จิตร  ภูมิศักดิ์)

         โคลงห้าพัฒนา
           (โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา :  จิตร  ภูมิศักดิ์)


          ๐     คนนั้นค่า ................ คือคน
          เกียรติดำกล ................... เกริกหล้า
          ใครอย่ายล .................... หยามเหยียด
          ฤทธิ์ล้นฟ้า ..................... จักคะมำ

          ๐     คนย่อมท้า .............. ธรณี
          เทอดศักดิ์ศรี .................. เสียดฟ้า
          ใครย่ำยี ......................... ยืนหยัด
          ล้มฟุบหน้า ..................... จึ่งยอม
                 (โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา :  จิตร  ภูมิศักดิ์)

         โคลงห้าพัฒนา
           (เขียนแผ่นดิน : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


          ๐     ผาพืดเพี้ยง ............. กำแพง
          ภูผาแดง ......................... ดาดด้าว
          ไฟเริงแรง ....................... ลามทุ่ง
          เนิบไม้น้าว ..................... วินาศภู

          ๐     ภูพืดนี้ ..................... ภูวัว
          แว่วกระดึงรัว ................... ร่ำร้อย
          สนธยามัว ....................... พยับเมฆ
          ควายต้อยต้อย ................ ไต่ตาม

          ๐     ตามน้ำตก ............... ตาดสะแนน
          เจ็ดสีแสน ....................... สว่างรุ้ง
          ขัวหินแขวน .................... ขวางโขด
          ข้ามห้วยคุ้ง .................... ช่วงธาร

          ๐     ธารห้วยย่ำ ............. ตีนภู
          ไม้กรายกรู ..................... แกร่งกร้าน
          พิสดารดู ........................ ดงดึก ดำบรรพ์เวย
          ไพรด้าวด้าน ................... ด่านโขง
                                                   (เขียนแผ่นดิน : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

         โคลงห้าพัฒนา
           (ยืนต้านพายุ : สถาพร  ศรีสัจจัง)


          ๐     ไกลแต่นี้ ................. ต่อนาน
          ชนจักจาร ...................... ชื่อซร้อง
          วีรกาล ........................... กู้ถิ่น
          กู้ต่อต้อง ........................ ต่อมาร
                                                   (ยืนต้านพายุ : สถาพร  ศรีสัจจัง)

         โคลงจิตรลีลา
           (จตุรงคมาลา : คมทวน  คันธนู)

          

          ๐     กาลเคลื่อนแล้ว ....... ถอยหลัง
          สอนแล้วหวัง  .................  ศิษย์ไหว้
          ตายแล้วยัง  .................... อยากเกิด
          บ้าแน่ไซร้ ....................... ส่อเห็น

          ๐     ดาวเด่นไร้ ............... รังสี
          คนดีดี ............................ ค่าด้อย
          คนผีผี ............................ ผุดผ่อง
          ขี้เถ้าพร้อย ..................... พร่างหาว

          ๐     ปวดร้าวโลก ............ แลไฉน
          ถึงสาไถย ........................ ถูกต้อง
          ถึงเลื่อนไหล .................... ลืมสติ
          คล้องเหนี่ยวคล้อง ........... ครอบผล

          ๐     บนห่วงห้วง ............. ตัณหา
          มีหมอกหนา ................... แน่นอุ้ม
          บังหูตา ........................... ตายสนิท
          คลุ้มเคลื่อนคลุ้ม .............. คลั่งแสวง

          ๐     แสงหนึ่งจ้าน ............ จัดฉาย
          ใช่ธรรมราย ..................... โรจน์รุ่ง
          ใช่สูรย์สาย ...................... สาดส่อง
          ใช่เหลื้อมรุ้ง ..................... รัศมี

          ๐     แสงนี้ก่อ ................. เกิดแสง
          อันร้อนแรง ..................... รอบด้าน
          อันฝังแฝง ....................... ฝากใฝ่
          มวลล้านล้าน .................. หล่อหลอม
                                                 (จตุรงคมาลา : คมทวน  คันธนู)

          หมายเหตุ  : บางคราคมทวน  คันธนู  มักเรียกโคลงห้าพัฒนานี้ว่า  “โคลงจิตรลีลา” โดยระบุไว้ว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่จิตร  ภูมิศักดิ์

          โคลงห้าพัฒนา  สังเกตว่าแม้จิตร  ภูมิศักดิ์ผู้เป็นต้นประพันธ์นั้นจะไม่ได้ร้อยโคลงหรือระบุไว้  แต่กวีที่สืบสานตามนั้นมักจะทำการร้อยโคลงคลิก ด้วยเวลาประพันธ์นั้นเสมอ ๆ

           บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
          - Black Sword -
           (หมู มยุรธุชบูรพา)

                              
                                    • กลับสู่หน้า สารบัญ โคลง  คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์  คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก
                                    • กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก
                              


 


รายนามผู้เยี่ยมชม : มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์

บันทึกการเข้า

รวมบทกลอน "ที่นี่เมืองไทย..."
รวมบทกลอน "ร้อยบุปผา"
รวมบทประพันธ์ทั่วไป "Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา)"
รวมบทประพันธ์กลบท "Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา)"
รวมบทประพันธ์ฉันท์ "Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา)"
กลอนสุภาษิต-คำพังเพย-สำนวนไทย บ้านกลอนน้อย
ลานอักษร มยุรธุชบูรพา
..
หน้า: [1]   ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC
Simple Audio Video Embedder
| Sitemap
NT Sun by Nati
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.19 วินาที กับ 67 คำสั่ง
กำลังโหลด...