บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๖ -
ญวนยกเรื่องหลังเก่ามาเล่าอีก จริงเพียงซีกญวนนำย้ำขยาย ยกความดีไม่กระดากญวนมากมาย กล่าวโกหกหน้าตายอายไม่เป็น
ท้ายหนังสือว่าสงบไม่รบต่อ ผ่านมาพอแล้วกรรมรบทำเข็ญ เหมือนนักบุญดับร้อนให้ผ่อนเย็น จับประเด็นญวนได้ตรงไหนกัน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือตอบสารญวนตามกระแสพระราชดำริ ใจความในหนังสือตอบนี้แข็งกร้าว ท้าทายให้ญวนชักชวนพม่ามาร่วมญวนรบไทย หลังจากส่งหนังสือตอบดังกล่าวส่งญวนไปแล้ว ในปีเดียวกันนั้น แม่ทัพเรือญวนให้คนถือหนังสือเข้ามามอบแก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา พร้อมกับให้ส่งไปมอบเจ้าพระยาพระคลังอีกฉบับหนึ่ง ความในหนังสือนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้แปลเป็นภาษาไทยทราบความแล้ว ให้พระยากำจรใจราชนำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป ใจความในหนังสือนั้นว่าอย่างไร วันนี้มาอ่านกันนะครับ.....
“ใน ณ เดือนแปดปีมะเมียศกนั้น ที่กรุงเทพฯ ได้รับหนังสือญวนที่กองตระเวนเมืองตราดได้ส่งมาแล้วแจ้งความว่า ญวนเรือตระเวนถือมาส่งยังเกาะหน้าเมืองตราด ญวนแจ้งความว่า
“เป็นหนังสือขององตุ่นเฝื่อเจ้าเมืองบันทายมาศ ส่งมาให้กองตระเวนไทย ส่งต่อไปยังกรุงเทพฯฉบับ ๑”
แล้วใน ณ เดือนแปดนั้น ได้รับหนังสือญวนมาแต่เมืองจันทบุรี ที่เจ้าพระยาพระคลังได้รับมาจากขุนอุดมศักดากองตระเวนที่เกาะกงส่งมาว่า เป็นหนังสือขององต๋าเตืองเซิงแม่ทัพเรือฝ่ายญวนฉบับ ๑ และได้รับหนังสือญวนมาแต่เมืองพระตะบองที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาส่งมาว่า เป็นหนังสือขององต๋าเตืองเซิงแม่ทัพเรือฉบับ ๑ รวมหนังสือญวนส่งเข้ามากรุงเทพฯ สามฉบับ มีเนื้อความต้องกันว่า
“หนังสือของแม่ทัพญวนฝ่ายเรือทะเล ชื่อองต๋าเตืองเซิง ผู้ถืออาญาสิทธิ์บังคับแม่ทัพเรือแต่ล้วนเป็นใหญ่ใน ๑๖ กอง ทั้งเรือรบน้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแม่ทัพเรือทั้งสิ้น ขอแจ้งความมายังแม่ทัพบกและแม่ทัพเรือไทยได้ทราบ แล้วให้ส่งเข้าไปยังท่านเสนาบดีกรุงพระมหานครศรีอยุธยาบางกอกได้ทราบด้วย” จะได้นำขึ้นถวายพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาได้ทรงทราบอัธยาศัยน้ำใจแม่ทัพญวน ญวนคิดว่า “แต่เดิมกรุงศรีอยุธยากับกรุงเวียดนามได้เป็นทางพระราชไมตรีกันอันสนิทมาช้านานถึงสองแผ่นดินแล้ว ในแผ่นดินที่ ๓ นี้เล่า พระเจ้าเวียดนามก็ยังทรงรักใคร่นับถือเสมอต้นเสมอปลายอยู่ จึงได้แต่งทูตญวนให้ไปเยี่ยมเยือนพระศพและถวายเครื่องบรรณาการคำนับกับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ฝ่ายไทยพระองค์นี้ด้วย ถ้อยทีก็มีพระราชสาส์นไปมาถึงกันและกันมาช้านาน
เมื่อครั้งเจ้าอนุลาวเวียงจันทน์เป็นผู้ก่อเหตุขุ่นเคืองขึ้นกับไทย เพราะเจ้าอนุลงมาเฝ้าที่กรุงเทพฯ ครั้งนั้น ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาทำกิริยาดูหมิ่นดูถูกเจ้าอนุมาก ๆ และเจ้าผู้ชายซึ่งเป็นเจ้าน้องเล็ก ๆ ต่างมารดากับพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นเป็นหลายองค์ ชวนกันข่มเหงข่มขี่เจ้าอนุต่าง ๆ เพราะเห็นว่าเป็นลาว ฝ่ายเจ้าอนุก็ถือตัวว่าเป็นเชื้อสายสืบกษัตริย์มาหลายชั่ววงศ์แล้ว มาถูกเจ้าเล็ก ๆ เด็ก ๆ ข่มเหง และถูกขุนนางไทยดูหมิ่นจึงเสียใจ กลับขึ้นไปเวียงจันทน์จึงจัดการกองทัพยกลงมาทำศึกแก้แค้นตอบแทนไทยบ้าง แต่เจ้าอนุเสียทีแก่ไทย เพราะถูกหลอกถูกลวงขุนนางลาวของตนเองเป็นไส้ศึก จึงได้หนีไปอาศัยพึ่งญวน
ครั้งนั้นผู้ครองฝ่ายญวนใช้ให้ขุนนางญวนถือหนังสือไปว่ากล่าวโดยดี เพื่อจะประนีประนอมขอต่อทัพไทย ให้เจ้าอนุคงคืนเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์อย่างเดิม กับได้มีพระราชสาส์นให้ทูตญวนไปทางทะเลจนถึงเมืองไทย เพื่อจะได้ขอโทษเจ้าอนุเวียงจันทน์ต่อไป แต่ขุนนางญวนผู้ถือหนังสือไปทางบกนั้น ครั้นถึงกองด่านไทย ไทยก็เก็บหนังสือญวนไว้ แล้วจับญวนฆ่าเสีย ๔๘ คน ขุนนางนายด่านไทยฆ่าญวนผู้ถือหนังสือดังนี้ ผิดด้วยเยี่ยงอย่างประเพณีขนบธรรมเนียมเมืองเป็นไมตรีกัน ถึงเช่นนั้นผู้ครองฝายญวนยังอดกลั้นความโกรธไว้ได้ เพราะคิดถึงบุญคุณเก่า ๆ ของไทยมาก ที่ไทยได้ทำนุบำรุงพระเจ้ายาลวงบรมกษัตริย์ (คือ องเชียงสือ) ต้นราชวงศ์ในแผ่นดินญวนนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อราชทูตไทยมาถึงกรุงเว้ ผู้ครองฝ่ายญวนมิได้ซักไซ้ไต่ถาม เพราะเกรงว่าทางไมตรีจะมัวหมองไป และเมื่อทำการพระบรมศพพระมหาอุปราชนั้น (คือพระเมรุกรมพระราชวังที่ ๓) ผู้ครองฝ่ายญวนได้แต่งทูตานุทูตให้นำบรรณาการเข้าไปช่วยในการพระศพพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วย แต่ครั้งนั้นผู้ครองฝ่ายไทยได้แสดงเหตุกิริยาอาการทำลายล้างทางไมตรีแก่ญวนก่อน คือขุนนางไทยขับไล่ทูตญวนเสียจากเมืองบางกอก แล้วคืนเครื่องราชบรรณาการของญวนมาเสียสิ้น ไทยทำอย่างนี้ก็เห็นได้ว่าขาดจากทางพระราชไมตรีกันแล้ว และเหตุที่จะก่อการศึกสงครามกันต่อไป ฝ่ายญวนรู้เข้าใจดังนั้นแล้ว แต่ไม่ได้คิดจัดการตระเตรียมกองทัพไว้รบสู้กับไทย เพราะเข้าใจว่าไม่อยากจะฆ่าฟันผู้มีบุญคุณเลย ถ้าญวนไม่คิดดังนี้แล้วที่ไหนเล่าญวนคงจะคิดต่อสู้กับไทยให้แข็งแรงตามทำนองศึก ที่ไหนไทยจะอาจล่วงมาเหยียบในเขตแดนญวนได้
อนึ่งเมื่อครั้งปีมะเส็งเบญจศกที่ล่วงมาแล้วปีหนึ่งนั้น ผู้ครองฝ่ายไทยเชื่อถ้อยฟังคำพวกลาวขบถ ยุยงให้ไทยทิ้งความดีมาหาความร้าย หาเหตุผลมิได้เลย และหามีความวิวาทบาดหมางสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับญวนไม่ ไทยยกมาทั้งทางบกและทางเรือ มาทำศึกกับญวนก่อน ฝ่ายญวนก็ยังคิดถึงบุญคุณของพระอัยกาธิราชแห่งไทย ซึ่งมีแก่ญวนโดยมาก เพราะฉะนั้น ญวนจึงไม่คิดต่อต้านล้างผลาญกองทัพไทยให้เสียยับเยินมาก ญวนจึงทิ้งเมืองบันทายมาศ, เมืองโจดก, เมืองใหม่ที่อำนาวเสียทั้งสามเมือง ญวนล่าทัพหนีไปเป็นการคำนับทัพไทยสามครั้ง ต่อครั้งหลังญวนจึงยกกองทัพออกสู้รบกับไทยตามกฎหมายอัยการศึก แต่ญวนกับไทยได้รบกันที่ตำบลเจียนทราย (เกาะแตง) นั้น ยังไม่แพ้ชนะแก่กันทั้งสองฝ่าย แต่แม่ทัพไทยผู้ขลาดก็ด่วนชิงล่าทัพถอยหนีเสียก่อน ฝ่ายญวนถ้ายังมีอาฆาตพยาบาทแก่ไทยอยู่แล้ว ขณะนั้นกองทัพญวนมีไพร่พลทหารอยู่ถึงแสนหนึ่ง มีเรือรบใหญ่น้อยอยู่ถึงพันลำ ฝ่ายญวนก็เป็นที่มีช่องจะได้ชัยชนะแก่ไทยเป็นแน่ ถ้าญวนจะไล่ต้อนกองทัพบกเรือให้ตีกระหนาบกระหน่ำทั้งทางเหนือและทางใต้ ฝ่ายน้ำและบนบกนั้นก็จะมีชัยชนะแก่ไทย ได้คนและเรือช้างม้าโคกระบือและสรรพาวุธมาเป็นเชลยโดยมาก การเป็นทวงทีอยู่อย่างนี้แล้ว ญวนยังไม่ได้ตามตีไทย เพราะว่าแม่ทัพญวนถือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามสั่งว่า ไม่ให้กองทัพญวนไล่ติดตามตีกองทัพไทยเมื่อล่าหนีไปนั้นเป็นอันขาด ให้เป็นแต่ตั้งรับทัพไทยไว้ อย่าให้ไทยไล่รุกมาตีบ้านเมืองได้ เมื่อไทยไม่สู้หนีไปก็อย่าให้ญวนไล่ตามฆ่าเลย มีรับสั่งดังนี้เพราะญวนเสียดายทางไมตรีแก่ไทย ญวนจึงไม่โกรธถือโทษไทย ถึงมาทว่าไทยจะไม่รู้จักบุญคุณญวนที่ไม่ตามตีไทยในครั้งเกาะแตงนั้น ไทยจะไม่แต่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นออกมาถวายพระเจ้าเวียดนามเหมือนแต่ก่อน ผู้ครองฝ่ายญวนก็จะไม่ว่ากล่าวถือโทษแก่ไทย และผู้ครองฝ่ายญวนจะไม่ยกกองทัพบกและทัพเรือเข้าไปตีกรุงพระมหานครศรีอยุธยาเป็นการตอบแทนแก้แค้นอีกเลย ตั้งแต่นี้สืบไปเมื่อหน้าขออย่าให้ไทยก่อการวิวาทมีเหตุทำศึกสงครามแก่ญวนต่อไปเลย นานาประเทศซึ่งเป็นเมืองข้าศึกจะดูถูกดูหมิ่นต่าง ๆ ได้ การที่ไทยทำผิดเยี่ยงอย่างทางพระราชไมตรีมาแต่กาลก่อน ๆ ญวนไม่ถือโทษ จะยกโทษให้แก่ไทย ซึ่งเขตแดนของใคร ๆ ก็รักษาให้เรียบร้อยราบคาบเป็นปรกติไว้เถิด ไพร่บ้านพลเมืองอาณาประชาราษฎรจะอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินไปมาค้าขายได้สบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย หนังสือฉบับนี้ส่งมาแต่ค่ายเจียนทราย ศักราชมินมางปีที่ ๑๑ ในรัชกาลกรุงเว้”
เจ้าพนักงานแปลหนังสือญวนตรวจตราดูเนื้อความถูกต้องกันทั้งสามฉบับแล้ว จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย......”
ความในหนังสือญวนทั้งสามฉบับ แปลแล้วได้ความตรงกัน นำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อวดอ้างความดีของญวน กล่าวตำหนิติเตียนไทยเช่นเคย เกี่ยวกับเรื่องเจ้าอนุเวียงจันทน์เขาพูดอย่างกะตาเห็นทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, Paper Flower, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี, Thammada, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๗ -
หนังสือญวนป่วนไทยหลายฉบับ ไทยตั้งรับต่อไปอย่างไรนั่น จึงตอบโต้ว่าเรารู้เท่าทัน ญวนปลุกปั่นสงครามจิตวิทยา
สั่งให้เลิกส่งสารรังควานซะ ไม่เชื่อจะประจานไปให้ขายหน้า แจ้งทั่วถิ่นจีนแขกชาตินานา ได้รู้ว่าญวนชั่วตัวกวนเมือง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ ความในหนังสือญวนทั้งสามฉบับแปลแล้วได้ความตรงกัน ญวนนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อวดอ้างความดีของญวน กล่าวตำหนิติเตียนไทยเช่นเคย เริ่มตั้งแต่เรื่องเจ้าอนุเวียงจันทน์ที่หนีไปพึ่งญวน แล้วญวนมีหนังสือมาขอโทษไทยแทนเจ้าอนุเวียงจันทน์ ไทยฆ่าญวนผู้ถือเสียสิ้น คำกล่าวให้ร้ายไทยและยกย่องความดีญวน เป็นดังที่นำมาเผยแผ่เมื่อวันวานนี้แล้ว วันนี้มาอ่านเรื่องต่อครับ
“ครั้งนั้น ฝ่ายเมืองลาวทางตะวันออก ซึ่งเป็นปลายเขตแดนของกรุงเทพฯ นั้น มีหนังสือบอกลงมายังกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานได้นำหนังสือญวนที่หัวเมืองลาวส่งลงมากับต้นหนังสือญวนและใบบอกเมืองลาวด้วย ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ใจความในหนังสือใบบอกนั้นว่า
หนังสือองทงเจอัครมหาเสนาบดีญวนกรุงเว้ ส่งมาถึงเมืองหลวงพระบางฉบับหนึ่ง หนังสือตุ่นภู่เลยเจ้าเมืองหันตะวาส่งมาถึงเมืองมหาชัยกองแก้วฉบับหนึ่ง หนังสือจงต๊กเจ้าเมืองแง่อานส่งมาถึงเมืองยโสธรฉบับหนึ่ง หนังสือโงฮุยเจ้าเมืองมหาตีส่งมาถึงเมืองอุบลราชธานีฉบับหนึ่ง หนังสือองเล่หับนายด่านทางบกฝ่ายเหนือองญวนส่งมาถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ฉบับหนึ่ง รวมหนังสือญวนที่ส่งมาทางเมืองลาวนั้นเป็นห้าฉบับด้วยกัน เป็นอักษรญวนบ้าง อักษรลาวบ้าง ระคนปนกันทั้งห้าฉบับ กับหนังสือของญวนนายด่านต่าง ๆ ทางบก นำมาแขวนไว้ที่ปลายเขตแดนเมืองนครนมฉบับหนึ่ง เมืองเขมราฐฉบับหนึ่ง เมืองมุกดาหารฉบับหนึ่ง เมืองหนองละหารฉบับหนึ่ง รวมหนังสือญวนที่นำมาแขวนไว้ตามหัวเมืองลาวนั้นสี่ฉบับ เป็นอักษรลาว เจ้าเมืองลาวทั้งสี่หัวเมืองเก็บหนังสือญวนทั้งสี่ฉบับมาส่งให้พระเจ้านครหลวงพระบาง พระเจ้านะครหลวงพระบางจึงส่งต้นหนังสือญวนที่ใช้ให้คนนำมาถึงเมืองลาวห้าฉบับ กับหนังสือญวนนำมาแขวนทิ้งไว้ตามหัวเมืองลาวอีกสี่ฉบับ รวมหนังสือญวนเก้าฉบับด้วยกัน มอบให้ท้าวพรหมมนตรีถือลงมายังกรุงเทพฯ เจ้าพนักงานนำหนังสือบอกเจ้านครหลวงพระบาง ทั้งต้นหนังสือญวนเก้าฉบับ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ล่ามญวนและล่ามลาวแปลหนังสือญวนเก้าฉบับนั้นออกเป็นภาษาไทย ใจความคล้ายกันทั้งเก้าฉบับ คือ
ญวนเจ้าบ้านผ่านเมืองและนายด่านหรือขุนนางนายทัพนายกองก็ยกย่องสรรเสริญเกียรติยศเจ้านายฝ่ายญวนต่าง ๆ เหลือที่จะพรรณนา แล้วญวนกล่าวความติเตียนเจ้านายฝ่ายไทยเป็นอันมากเหลือที่จะพรรณนาให้ละเอียด แต่จะกล่าวไว้บ้างเล็กน้อยคือญวนว่า ไทยไม่ตั้งอยู่ในทางยุติธรรม ไม่มีเหตุสิ่งไรในข้อวิวาทเลย ไทยก่อเหตุยกกองทัพไปทำศึกกับญวนก่อน แล้วไทยยกกองทัพไปตีต้อนพาครัวพลเมืองญวนมาก็มาก และไทยไปเบียดเบียนยึดหัวเมืองปลายเขตแดนของญวนไปหลายตำบลหลายบ้านหลายเมือง ญวนก็ไม่ว่า เพราะเห็นแก่บุญคุณไทยอยู่แล้ว ในหนังสือญวนกล่าวความยุยงลาวว่า พวกลาวหัวเมืองเหล่านี้โง่งมซมเซอะ ยอมตัวให้ไทยใช้สอยเหมือนกับวัวควาย พวกลาวหลงเชื่อลิ้นลมไทย ยอมให้ไทยมาเก็บส่วยสาอากรในบ้านเมืองลาว ลาวหาควรให้เก็บส่วยไม่ เพราะเมืองลาวเป็นแต่เมืองพึ่งบุญ ไม่ใช่เมืองเชลยของไทย พวกลาวโง่ยอมเสียส่วยให้แก่ไทยทำไม หาควรไม่ ถ้าเมืองลาวทั้งปวงเหลานี้มีใจยินดีชักชวนให้พร้อมใจกันทุกเมือง แล้วกลับใจมาขึ้นกับญวน ญวนก็จะไม่เก็บส่วยแก่ลาวเลย แล้วญวนก็จะไม่กะเกณฑ์ผู้คนลาวไปใช้สอยที่เมืองญวน ญวนจะขอให้ลาวจัดดอกไม้ธูปเทียนกับของป่าเล็กน้อยเป็นบรรณาการ ไปถวายพระเจ้าเวียดนามสามปีครั้งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งลาวจะมาเป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเวียดนาม กรุงเวียดนามจะไม่เบียดเบียนพวกลาวเหมือนพระเจ้าแผ่นดินไทย ขออย่าให้พวกลาวมีความสงสัยอย่างอื่น ๆ เลย ให้ลาวพวกนี้เที่ยวสืบถามตามหัวเมืองลาวสิบสองปันนาที่ขึ้นแก่ญวนดูเถิด
เจ้าพนักงานนำข้อความตามหนังสือของญวนเก้าฉบับที่ส่งมาและแขวนไว้นั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเสนาบดี และขุนนางผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกัน คิดหนังสือตอบญวนบ้าง ทั้งทางบกและทางเรือเหนือใต้ทุกทาง เป็นใจความว่า
“หนังสือท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ซึ่งรักษาพระนครกรุงพระมหานครศรีอยุธยา แจ้งความมาถึงขุนนางญวนทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่ให้ทราบ ด้วยเราได้รับหนังสือของญวนแม่ทัพและเจ้าเมืองหรือนายด่าน ที่ส่งมาแต่ทางเมืองเขมรและทางทะเลหรือทางเหนือกับทั้งฝ่ายเมืองลาวก็หลายฉบับ ได้พิเคราะห์ตรวจดูข้อความตามหนังสือทุกฉบับแล้ว ครั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ไม่ได้ เพราะเนื้อความในหนังสือของญวนทุกฉบับนั้น เหลวไหลไม่มีประมาณถ้อยคำเป็นหลักฐานทางราชการบ้านเมืองเลย เห็นว่าไม่ควรจะนำขึ้นถวายให้ขุ่นเคืองใต้เบื้องฝ่าละอองธุลีพระบาทพระเจ้าแผ่นดินไทย ครั้นอ่านหนังสือของญวนแล้ว ไทยจะไม่ตอบให้ญวนรู้บ้าง ญวนก็จะเข้าใจว่าไทยกลัวอำนาจญวนที่พูดจาหลอกลวงมานั้น หรือบางทีญวนจะคิดสงสัยว่าหนังสือของญวนทุกฉบับหาถึงไทยไม่ ญวนก็จะเขียนหนังสือส่งมาอีกหรือนำมาแขวนทิ้งอีก ไทยขี้เกียจอ่านหนังสือของญวนรำคาญหูนัก เพราะฉะนั้นไทยจึงได้มีหนังสือตอบชี้แจงมาให้ญวนรู้ว่า ซึ่งญวนมีหนังสือมาติเตียนไทยว่า ไทยทิ้งความดีหาที่ร้าย และไม่มีเหตุผลทางวิวาทซึ่งจะโกรธกัน ญวนว่าไม่ได้คิดทำลายล้างทางไมตรีแก่ไทย ไทยก่อการวิวาทกับญวนก่อน แล้วไทยยกกองทัพบกและเรือไปทำศึกกับญวนให้เสื่อมเสียทางไมตรีกัน ซึ่งญวนว่ามานั้นไทยก็ไม่เห็นจริงด้วย ถึงแม้ว่านานาประเทศที่เข้าไปค้าขายอยู่ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยาก็มีมากต่าง ๆ ชาติกัน พวกเหล่านั้นเขาก็ยอมรู้และเห็นว่า ญวนยกตัวสูงเกินกับอำนาจบ้านเมืองของญวนไป แล้วญวนก็เก็บรวมแต่ความดีของญวนมาพูดว่าเล่นตามชอบใจญวนฝ่ายเดียว ญวนจงคิดดูบ้างเป็นไร ข้อที่ญวนก่อเหตุร้าวฉานให้เสื่อมเสียทางไมตรีกับไทยก่อนนั้น ญวนก็นิ่งเสียไม่พูดบ้าง ถึงญวนไม่พูดนั้น นานาประเทศเขาก็ย่อมรู้อยู่ว่า ญวนมีหนังสือเข้ามาหมิ่นประมาทล่วงเกินบังคับบัญชาต่อไทย ด้วยการพูดจาต่าง ๆ ญวนทำท่วงทีเหมือนกรุงพระมหานครศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นเมืองอกกับญวน เนื้อความข้อนี้ญวนไม่รู้สึกนึกคิดได้บ้างหรือ จึงไม่หยิบยกขึ้นมาพูดบ้าง ถ้าไม่มีเหตุผลแต่หลังดังนั้นแล้ว ไทยหรือจะคิดทำลายล้างทางไมตรีกับญวนก่อน ไม่มีเลย กรุงพระมหานครศรีอยุธยากับกรุงเว้เวียดนามถ้อยทีถ้อยรักษาทางพระราชไมตรีกันและกันมาช้านาน แต่ครั้งนี้ไทยทำให้ทางพระราชไมตรีร้าวฉานไปดังนั้น ก็เพราะ ญวนก่อเหตุการณ์ก่อน ไทยจึงต้องเดินตามเหตุที่ญวนก่อนั้นเอง หาใช่อื่นไม่ เหตุที่ทางพระราชไมตรีเสียไปด้วยเหตุอะไรนั้น เนื้อความก็ย่อมรู้อยู่กับใจญวนสิ้นทุกประการแล้ว ให้เสนาบดีญวนตรึกตรองดูเถิด ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าให้ญวนมีหนังสือมาพูดจาว่ากับไทยดังเช่นนี้ต่อไป ถ้าญวนขืนมีหนังสือส่งทิ้งแขวนมาตามหัวเมืองลาว หรือเมืองฝ่ายเหนือใต้ในเขตแดนไทยเช่นนี้ต่อไปอีก แล้วไทยเก็บหนังสือของญวนได้ จะไม่อ่านไม่ดู แล้วจะเผาไฟเสียทุกฉบับ หรือบางทีไม่เผาไฟบ้าง แต่จะเก็บต้นหนังสือของญวนส่งไปประกาศความชั่วของญวนให้ปรากฏขึ้นในกรุงปักกิ่งแผนดินจีนให้เห็นเป็นพยานด้วย”
ครั้นแต่งหนังสือนี้เสร็จแล้ว จึงเขียนเป็นอักษรจีนภาษาญวน เนื้อความถูกต้องกันทั้งเก้าฉบับ ประทับตราเสนาบดีแล้วส่งขึ้นไปให้หัวเมืองลาวทั้งเก้าเมือง ให้นำหนังสือนี้ไปส่งให้แก่ญวนและลาวที่เป็นหัวเมืองขึ้นแก่ญวนทั้งเก้าเมือง แล้วเขียนอีกสามฉบับแต่เนื้อความต้องกันกับหนังสือเก้าฉบับนั้น แล้ว ส่งออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบองฉบับหนึ่ง ให้แต่งเขมรไปส่งให้กับญวนที่เมืองพนมเปญ อีกฉบับหนึ่งส่งไปให้เจ้าพระยาพระคลังที่เมืองจันทบุรี ให้แต่งกรมการเมืองตราดนำหนังสือนั้นไปให้ญวนที่เมืองบันทายมาศฉบับหนึ่ง อีกฉบับหนึ่งส่งไปให้จมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ซึ่งเป็นนายกองเรือตระเวนทะเลตั้งอยู่ที่เกาะกงแขวงเมืองตราด ให้แต่งเรือใบนำหนังสือนี้ไปแขวนไว้ที่เกาะคูหลุนหน้าเมืองกำปอด ซึ่งเป็นถิ่นที่เจ้าภาษีรังนกของญวนมาตั้งทำอยู่ที่เกาะนั้น......”
** เจ้าเล่ห์เจ้ากลแล้วเห็นจะไม่มีใครเกินญวนกระมัง แม่ทัพเรือมีหนังสือมาทำนองว่าขอสงบศึก แต่กลับไปเขียนหนังสือติดประกาศชักชวน เกลี้ยกล่อมลาวให้ตีจากไทยไปอยู่ในปกครองญวน ช่างร้ายกาจจริง ๆ เสนาบดีไทยเพิ่งจะมีหนังสือตอบโต้แรง ๆ คราวนี้เอง หลังจากส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้ญวนแล้ว ญวนจะสงบเสงี่ยมหรือไม่อย่างไร ค่อยมาอ่านกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, Paper Flower, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, ชลนา ทิชากร, Thammada, หนูหนุงหนิง, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๘ -
ทัพสุดท้ายไทยยกไม่เร่งด่วน รบไล่ญวนทั้งหมดหมายปลดเปลื้อง ลาวที่ญวนยึดไปไทยแค้นเคือง ถือเป็นเรื่องญวนทอดแหรังแกไทย
เจ้าเมืองพวนหวนมาสวามิภักดิ์ ด้วยญวนหักหลังช้ำจดจำได้ ที่เจ้าเมืองพวนเก่าจับเอาไป ฆ่าโดยไม่ทวนถามหาความจริง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุด เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ เสนาบดีฝ่ายไทยประชุมโต้ตอบหนังสือญวนทั้งเก้าฉบับ แล้วสรุปว่าขออย่าให้ญวนเขียนหนังใส่ร้ายไทย โกหกลวงโลกกระทำการดังเช่นที่แล้วมาอีก ไทยจะไม่สนใจอ่านหนังสืออันไร้สาระของญวนอีกแล้ว ขืนเขียนมาอีกก็จะเผาไฟทิ้งเสียบ้าง หรือส่งต้นฉบับญวนไปประจานไว้ที่กลางกรุงปักกิ่ง ให้ชนชาวจีนและนานาประเทศได้รู้เห็นความเจ้าเล่ห์ชั่วร้ายของญวนบ้าง เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงคัดลอกข้อความตรงกันทั้งเก้าฉบับส่งไปตามหัวเมืองลาวที่ญวนนำหนังสือใส่ร้ายไทยมาส่งนั้น พร้อมกับอีกสามฉบับ ให้เจ้าพระบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง และจมื่นมหาดเล็กนายกองเรือตระเวนที่เกาะกง ส่งต่อไปให้ญวนด้วย วันนี้มาอ่านกันต่อครับ......
“ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาซึ่งตั้งพักพลอยู่ที่เมืองพระตะบองนั้น สั่งให้พระยาวิเศษเจ้าเมืองฉะเชิงเทราคุมไพร่พลร้อยหนึ่ง พาช้างพลายสีประหลาดซึ่งเป็นช้างของนักองจันทร์เขมรนั้นนำมาส่งยังกรุงเทพฯ ช้างถึงกรุง ณ วันศุกร์เดือนห้าแรมสิบเอ็ดค่ำ ปีมะเมียฉศก เจ้าพนักงานนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปลูกโรงรับช้างมาสมโภชที่ท้องสนามไชย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท ตั้งพระราชพิธีสงฆ์และพราหมณ์สามวัน แล้วโปรดให้มีการมรหสพสมโภชอีกสามวัน ครั้งนั้นมีละครอิเหนาโรงใหญ่ผู้ชายของพระน้องยาเธอกรมขุนพิพิธภูเบศร์ เล่นประชันกันกับงิ้วโรงใหญ่เจ๊สัวหงหน้าพลับพลาสูง สนุกเหลือที่จะพรรณนา โปรดเกล้าให้ช้างพลายสีประหลาดขึ้นระวาง พระราชทานนามกรว่า “พระยามงคลหัศดินทร์ คชินทรศรีก้านสัตบุศย์ กำพุชพ่ายแพ้อภินิหาร สู่สมภารสมโพธิอะโยทธิยา พาหนะนาถ ถาวรวิลาศเลิศฟ้า” เสร็จการสมโภชแล้วโปรดเกล้าให้ไปยืนในโรงพระบรมมหาราชวัง
ฝ่ายพระมหาเทพ (ป้อม) กับพระราชวรินทร์ (ขำ) ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพฝ่ายทางเมืองลาวตะวันออก ยกขึ้นไปพร้อมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่ก่อนนั้น พระมหาเทพยกทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม พระราชวรินทร์ยกทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองหนองคาย พระมหาเทพมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯว่า
“จะยกไปตีเมืองล่าน้ำ ซึ่งญวนเรียกว่าแง่อาน ได้ยกกองทัพใหญ่ไปถึงด่านกีเหิบ เป็นทางช่องแคบ แล้วมีน้ำเหนือหลากมาเดินทางช่องแคบลำบากมาก จึงเดินกองทัพลงไปตีเมืองล่าน้ำไม่ได้ แล้วก็ยกทัพไปตีได้สี่เมือง คือเมืองมหาไชยกองแก้ว ๑ เมืองพวง ๑ เมืองพลาน ๑ เมืองชุมพร ๑ สี่เมืองนี้ตีได้แต่ ณ เดือนสามข้างขึ้น ในปีมะเส็งเบญจศกนั้นแล้ว ได้กวาดต้อนครอบครัวลาว ๖,๐๐๐ คนซึ่งเป็นคนอยู่เขตแดนญวนนั้นข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมา แล้วตีกวาดพาคนตามเมืองเล็กน้อย ในแดนลาวขึ้นแก่ญวนมาได้อีก ๒,๐๐๐ รวม ๘,๐๐๐ คน ส่งไปไว้เมืองนครราชสีมาแต่เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำในปีมะเส็งเบญจศก แล้วจะตีเขตแดนญวนต่อไปอีก”
ฝ่ายพระราชวรินทร์มีใบบอกลงมาว่า “พระราชวรินทร์กับพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคาย และพระพิทักษ์เขตขันธ์ คุมไพร่พลยกขึ้นไปบ้านโพธิงาม ได้แต่งให้ลาวท้าวเพี้ยไปสืบราชการที่เมืองพวนได้ความว่า แม่ทัพญวนคุมไพร่พลญวน ๕๐๐ คนเศษ มาตั้งพิทักษ์รักษาเมืองพวนอยู่แล้ว แม่ทัพญวนกับลาวชื่อเพี้ยเมืองแสนเป็นลาวขึ้นกับญวน คุมไพร่พลญวน ๒๐๐ เศษ ลาว ๓๐๐ คน เป็น ๕๐๐ คน มารักษาเมืองเชียงคา ญวนตั้งค่ายด้วยหลายค่าย ฝ่ายพระราชวรินทร์ได้มีหนังสือใช้ให้เพี้ยมณีไชยถือไปเกลี้ยกล่อมท้าวเพี้ยเมืองเชียงขวาง ท้าวเพี้ยเมืองเชียงขวางใช้ให้พันศิริไชยบุตรท้าวเมืองเชียงขวางมาบอกว่า นายทัพญวนคุมไพร่พลมารักษาเมืองเชียงขวางอยู่ ๕๐๐ คน ญวน ๑๐๐ คนคุมอุปฮาดเมืองเชียงขวาง ย้ายไปอยู่เมืองซุ้ยแล้วแต่เดือนยี่แรมสิบห้าค่ำ และเจ้าเมืองเชียงขวางลอบบอกมาอ่อนน้อมกับพระราชวรินทร์ ขอยอมเข้าสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทย แล้วจัดกองทัพลาวไว้พร้อม ๑,๐๐๐ คน เข้าสมทบกับทัพพระราชวรินทร์ ยกมาช่วยกับไทยระดมตีทัพญวน ฆ่าญวนเสียครั้งนั้นตาย ๓๐๐ เศษ ที่จับเป็นมาได้ ๔๑ คน ที่แตกหนีไปได้บ้างเล็กน้อย แล้วพระราช วรินทร์จัดกองทัพใหญ่จะยกไปตีเมืองลาวที่ขึ้นกับญวนต่อไป ได้ยกมาจากเชียงขวางแล้วหลายวัน
ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาธิบดี (สมบุญ) เสนาบดีกรมวัง ซึ่งเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง ภายหลังกองทัพพระมหาเทพ เจ้าพระยาธรรมาธิบดีมีใบบอกลงมากรุงทพฯ ฉบับ ๑ ใจความว่า ได้ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง พักคอยกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ช้านาน แต่เดือนสามข้างแรมเดือนสี่ข้างขึ้น กองทัพไทยเมืองพิไชย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองแพร่ เมืองน่าน ยกขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง เจ้านครหลวงพระบางจัดให้เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตร แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ย นายทัพนายกองลาวมีชื่อ คุมกองทัพลาวเมืองหลวงพระบาง ๓,๐๐๐ เข้ามาบรรจบสมทบกองทัพไทย รวมไพร่พลครั้งนั้น ๑๒,๔๕๐ คน แต่ไพร่ ขุน หมื่น พัน ทนายต่างหาก
ครั้ง ณ เดือนสี่แรมแปดค่ำปีมะเส็งเบญจศก เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ ได้ยกกองทัพไทยลาวเดินทัพออกจากเมืองนครหลวงพระบาง ขึ้นไปหลายคืนถึงเมืองแถง
ครั้น ณ เดือนห้าขึ้นค่ำปีมะเมียฉศก พระยาสวรรคโลก แม่ทัพกองหนึ่ง จมื่นมหาสนิทหัวหมื่นมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงนายใจภักดิ์นายเวรมหาดเล็กในพระราชวังบวรฯ ๑ สองคนนี้เป็นข้าหลวงกำกับทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ พร้อมด้วยทัพพระยาพิไชย ๑ พระปลัดเมืองพิจิตร ๑ หลวงมหาดไทยเมืองพระพิษณุโลก ๑ หลวงสุภาวดีเมืองพระพิษณุโลก ๑ หลวงพรหมสภาเมืองพิไชย ๑ หลวงมหาพิไชยเมืองสวรรคโลก ๑ หลวงแพ่งเมืองสวรรคโลก ๑ พระแก้วเมืองแพร่ ๑ พระวังขวาเมืองแพร่ ๑ พระวังซ้ายเมืองแพร่ ๑ เจ้าอุปราชเมืองนครหลวงพระบาง ๑ พระยาเชียงเหนือเมืองนครหลวงพระบาง ๑ พระยาเมืองแผนเมืองนครหลวงพระบาง ๑ ท้าวมหาไชยเมืองนครหลวงพระบาง ๑ รวมพระยา พระ หลวง ท้าวพระยา นายทัพนายกอง ๑๘ คน เข้าชื่อในใบบอกส่งมายังเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ว่า
“ได้ส่งเจ้าอุปราช ๑ เจ้าเงิน ๑ เจ้าด้วง ๑ เป็นเจ้าลาวเมืองพวนสามคนลงมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง” ในใบบอกนั้นมีความว่า “พระยาสวรรคโลกแม่ทัพพร้อมด้วยพระยา พระ หลวง นายทัพนายกองไทยและลาว ยกขึ้นไปถึงด่านหลวงไกลจากเมืองนครหลวงพระบางทาง ๑๕ วัน จึงพักพลอยู่ที่ด่านหลวง ณ เดือนสี่แรมสามค่ำปีมะเส็งเบญจศก ยังทางอีกวันกับคืนหนึ่งจะถึงด่านท่าตือแขวงญวน พระยาสวรรคโลกแม่ทัพได้ปรึกษากับเจ้าราชบุตรเมืองหลวงพระบางเห็นพร้อมกัน ใช้พระยาสิงห์คุดเจ้าเมืองแผนซึ่งขึ้นกับเมืองหลวงพระบาง มีหนังสือไปถึงเจ้าสมุทเขต เจ้าลาวผู้เป็นเจ้าเมืองพวน ใจความในหนังสือพระยาเมืองแผนว่า
“อัครมหาเสนาบดีกรุงเทพมหานคร เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพไทยยกขึ้นมาเป็นอันมาก จะไปตีหัวเมืองลาวซึ่งขึ้นแก่ญวนให้แตกตลอดถึงแม่น้ำสาละวินจนถึงเมืองฮานอย ที่ญวนมาตั้งป้อมหินรักษาเขตแดนญวนให้ได้จนหมด พระยาเมืองแผนก็เป็นลาว จึงได้คิดรักใคร่เมืองพวนซึ่งเป็นลาวชาติเดียวกัน กลัวว่าเมืองพวนจะเสียบ้านเมืองครอบครัว ไพร่พลเมืองจะระส่ำระสายไปด้วยกองทัพไทย อย่าให้เจ้าเมืองพวนคิดสู้รบกับกองทัพไทยซึ่งเป็นกองทัพใหญ่เลย ให้เจ้าเมืองพวนออกมาอ่อนน้อมแม่ทัพไทย ขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯโดยดีเถิด เป็นข้าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองดีกว่าเป็นข้าญวน แล้วเมืองพวนกับเมืองนครหลวงพระบางจะได้เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันสืบไป”
ฝ่ายเจ้าเมืองพวนก็มีหนังสือตอบพระยาเมืองแผนมาว่า
“ซึ่งพระยาเมืองแผนมีหนังสือส่งมาชักชวนให้เมืองพวนไปเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง และเป็นทางเมตตาปรานีไพร่พลเมืองพวนซึ่งเป็นลาวด้วยกันนั้น ข้าน้อยได้ทราบแล้ว มีความยินหลากขากดีหาสิ่งใดจะเปรียบอุปมาได้ ข้าน้อยจะใคร่ปรนเปรอตามแต่ก่อนหนังสือพระยาเมืองแผนยังไม่มาถึงนั้น ข้าน้อยก็ได้รับหนังสือพระราชวรินทร์แม่ทัพไทย กับหนังสือพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายรวมสองมาด้วยกัน เป็นใจความเกลี้ยกล่อมเมืองพวนเช่นนี้ ข้าน้อยเจ้าเมืองพวนได้ทราบแล้วข้อความคล้ายกัน ข้าน้อยได้ใช้ให้พันแสนใจหาญ พันสะท้านธรณีบุตรพระยาเชียงดี คุมไพรพลร้อยเศษนำเสบียงอาหารไปส่งให้พระราชวรินทร์ แล้วให้ต้อนรับ นำกองทัพพระราชวรินทร์มาทางท่าข้ามช้างท่าดินดาน เพื่อจะให้กองทัพพระราชวรินทร์มาช่วยป้องกันกันเมืองพวนให้พ้นเงื้อมมือญวน บัดนี้ข้าน้อยเจ้าเมืองพวนได้แต่งให้เจ้าอุปราชเมืองพวน ๑ เจ้าราชบุตร ๑ เจ้าโงน ๑ เจ้าด้วง ๑ เจ้าหน่อคำ ๑ เจ้าทิพไพศาล ๑ เจ้านายหกคน คุมไพร่พล ๒๐๐ ถือธูปเทียนดกไม้ เสบียงอาหารมาคอยต้อนรับกองทัพพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปราชเมืองนครหลวงพระบาง ได้กำหนดนัดกองทัพเมืองพวนจะมาคอยรับทัพไทยอยูที่ตำบลบ้านซวด เป็นที่มีน้ำใช้สบาย แล้วจะเดินทัพเข้าเมืองพวน หนังสือสุภาพข้าน้อยเจ้าสมุทเขตเจ้าเมืองพวนไหว้กราบศิโรราบมาแทบเท้าเจ้านายฝ่ายไทย และเจ้าฟ้าพระมหานครศรีสัตตนาคะนะหุตร่มขาวหลวงพระบางด้วย”.......
** กองทัพไทยฝ่ายตะวันออก นครพนม หนองคาย หลวงพระบาง ดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะในภูมิภาคนี้เป็นคนลาวซึ่งถือได้ว่ามีสายเลือดเดียวกันกับไทย กองทัพเจ้าพระยาธรรมธิบดีร่วมกับพระเจ้าหลวงพระบางร่มขาวยกไปถึงเมืองพวน และเจ้าเมืองพวนยอมสวามิภักดิ์แล้ว เ รื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ ค่อยมาอ่านกันครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ชลนา ทิชากร, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ก้าง ปลาทู, Paper Flower, ปิ่นมุก, Thammada, หนูหนุงหนิง, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๐๙ -
ญวนตั้งค่ายคุมชาวลาวเมืองซุ้ย กลายเป็นปุ๋ยเมื่อไทยใจโหดยิ่ง สองร้อยคนรนหนีหาที่อิง ถูกฆ่าทิ้งไม่เหลือเป็นเชื้อพาล
ค่ายเมืองพวนห้าร้อยก็พลอยสิ้น ไทยลาวไล่ทุบดิ้นสิ้นสงสาร ญวนเจ็ดร้อยย่อยยับอัประมาณ ถูกสังหารวอดวายตายทุกคน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ กองทัพพระยาสวรรคโลกซึ่งเป็นกองหน้าของกองทัพเจ้าพระยาธรรมาธิบดีมีกองทัพเมืองหลวงพระบางสมทบยกไปเมืองพวน พระยาสวรรคโลก พระยา พระ หลวง ในกองทัพหน้า มอบหน้าที่ให้พระยาเมืองแผนมีหนังสือไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองพวนให้สวามิภักดิ์ไทย เจ้าเมืองพวนมีหนังสือตอบว่า ก่อนหน้านี้ได้รับหนังสือพระราชวรินทร์และพระประทุมเทวาเจ้าเมืองหนองคายส่งมาเกลี้ยกล่อมเช่นเดียวกัน และตนได้ตกลงใจสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑเสมาไทยแล้ว จากนั้นเจ้าเมืองพวนได้จัดการต้อนรับกองทัพพระยาสวรรคโลกเข้าเมืองพวน วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ....
“..........เมื่อพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปราชหลวงพระบางได้ทราบหนังสือเจ้าเมืองพวนดังนั้น จึงให้หลวงศุภมาตราเมืองสวรรคโลกกับหลวงพรหมเสนาข้าหลวงในกรุง คุมไพร่พล ๕๐๐ ยกไปดูพวกเมืองพวนจะมาเป็นกลอุบายหรือจะมาโดยสุจริต
ครั้งนั้นได้ให้พระยาปลัดเป็นแม่ทัพกำกับไปด้วย ทัพพระยาปลัดยกไปถึงด่านท่าตือเดือนสี่แรมหกค่ำ ได้พบกับเจ้าเมืองซุ้ยคุมไพร่พลลาว ๒๓ คน มีเครื่องศาสตราวุธ ปืน ดาบพร้อม เดินมาถึงท่าตือ เห็นไทยมาก็วางอาวุธทุกคน แล้วเข้ามาหากองหน้าหลวงพรหมเสนา หลวงพรหมเสนาให้ล่ามไปถามว่ายกมาแต่ไหน? จะไปไหน? เจ้าเมืองซุ้ยตอบว่า เจ้าเมืองพวนใช้ให้นำดอกไม้ธูปเทียนมาคอยทำคำนับรับกองทัพไทย พาเข้าไปในเมืองพวน เจ้าเมืองซุ้ยก็ส่งเครื่องศาสตราวุธมาให้ไทยทั้งสิ้น แล้วนำกองทัพไทยเดินไปถึงบ้านซวด
ขณะนั้นพบท้าวเพี้ยจันทร์คุมไพร่พลมาร้อยเศษ แบกเครื่องศาสตราวุธเดินตามกันมาเป็นแถว หลวงศุภมาตรากับหลวงพรหมเสนาคิดว่าเป็นข้าศึก กลอุบายอย่างใดจึงมีลาวถืออาวุธมามาก ก็สั่งให้ทหารไทยแยกออกเป็นปีกกาแล้วร้องว่า รีบซีพ่อให้ยกปีกกาออกนำปืนคาบศิลายิงระดมไปพักเดียวก็จะแตกดอกพ่อ ขณะนั้นเจ้าเมืองซุ้ยเห็นว่าไทยไม่ไว้ใจ สำคัญว่าข้าศึก จึงเข้าไปหาหลวงพรหมเสนา หลวงพรหมเสนาก็ไม่หยุด ยังร้องสั่งทหารให้ตระเตรียมการรบ เจ้าเมืองซุ้ยเห็นการจะเกิดวุ่นวายขึ้นทั้งสองฝ่าย จึงร้องบอกพวกเพี้ยจันทร์ให้วางอาวุธเสียก่อน ให้เข้ามาแต่นายเท่านั้น เมื่อเพี้ยจันทร์เข้ามาหาพระยาสวรรคโลกแม่ทัพแล้ว จึงแจ้งความว่า
เจ้าเมืองพวนคิดกลัวแม่ทัพไทยจะไม่ไว้วางใจเจ้าเมืองพวน เจ้าเมืองพวนจึงเก็บเครื่องสรรพาวุธหมดทั้งเมือง ให้เพี้ยจันทร์คุมมาส่งให้แม่ทัพไทย เพี้ยจันทร์ได้มอบเครื่องอาวุธให้แก่แม่ทัพไทยที่ตำบลบ้านซวดแล้ว จึงแจ้งความแก่พระยาสวรรคโลกต่อไปว่า เจ้าเมืองพวนใช้ให้ข้าพเจ้านำเครื่องอาวุธมาส่งให้แก่ท่าน แล้วก็ให้รับท่านไปในเมืองพวน แล้วบอกว่า บัดนี้ญวนคุมไพร่พลญวนมาตั้งค่ายรักษาเมืองซุ้ยอยู่ ๒๐๐ คนเศษ ขอให้แม่ทัพไทยรีบยกไปตีญวนสองร้อยที่เมืองซุ้ยให้แตกเสียโดยเร็วเถิด จะได้ไปเมืองพวนสบาย
ครั้งนั้น พระยาสวรรคโลกสั่งพระยาพิไชยให้แบ่งกองทัพไทยลาว ๕๐๐ ยกไปตีค่ายญวนที่เมืองซุ้ย พระยาพิไชยคุมกองทัพยกเข้าตีค่ายญวนในเมืองซุ้ย ตั้งแต่เช้าถึงน้องเพลได้ค่ายญวน ญวนตายประมาณ ๘๐ เศษ ที่หนีไปได้ก็มาก แต่กองทัพพระยาสวรรคโลกนั้นจะยกเข้าไปตีค่ายที่ตั้งรักษาเมืองพวน แต่พระยาพิไชยตีค่ายญวนเมืองซุ้ยแตกแล้ว ญวนที่เหลือตายก็แตกหนีต่อไปตั้งรับอยู่ที่ปลายแม่น้ำงึม ที่นั้นเป็นที่ป่ามีโรคไข้พิษมาก
ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระยาพิไชยยกทัพติดตามญวนที่แตกหนีไป ทัพญวนที่ตั้งรับอยู่ในดงป่าแม่น้ำงึม ญวนต่อสู้แข็งแรง ไทยยกไล่ไปจนถึงที่ชุมนุมญวน ญวนตั้งอยู่ในซุ้มไม้ ยิงปืนคาบศิลาออกมาจากซุ้มไม้ป่ารกถูกไทยล้มตายลงมาก ฝ่ายไทยยิงปืนเข้าไปบ้างหาถูกญวนไม่ เพราะซุ้มไม้ป่ารกบังอยู่มาก ขณะนั้นพระยาพิไชยว่า
“จะยิงปืนโต้ตอบกับญวนอยู่เช่นนี้เห็นจะเสียท่วงทีแก่ญวนเป็นแน่ ไทยจะตายเปลืองลงทุกที ญวนจะออกมาจากซุ้มไม้ไล่ฆ่าไทยตายหมด อย่านำปืนยิงกับมันเลย ให้ถือหอกดาบวิ่งกรูเข้าไปฟันแทงเดี๋ยวนี้จะดีกว่าใช้ปืน”
พูดเท่านั้นแล้ว ก็ไล่ต้อนพลทหารถือหอกดาบวิ่งกรูกันเข้าไปฟันแทงฆ่าญวนตาย ๔๐-๗๐ พักหนึ่ง แล้วไล่ต้อนลาวให้หนุนไทยเข้าไปอีกพวกหนึ่ง ลาวถือง้าวและหอกดาบฟันแทงญวนล้มตายลงอีกพักหนึ่ง ๒๐ คน ยังญวนที่เหลือตายมีอยู่ในซุ้มไม้อีก ๕๓ คน ก็แตกหนีออกจากซุ้มไม้วิ่งหนีไปในป่า พบทัพลาวเมืองซ่างเมืองซุ้ยยกสวนทางมาเจอะเข้าในป่าน้ำงึม พวกลาวไล่ฆ่าญวน ๕๓ คนตายหมด ญวน ๒๐๐ ที่เมืองซุ้ยตายทั้งสิ้นไม่เหลือเลย
ครั้นเวลาเย็น พลกองทัพพระยาสุโขทัยยกขึ้นไปถึงเมืองซุ้ย พร้อมด้วยพระยาพิไชยและทัพกองใหญ่ของไทยด้วย ในเวลาค่ำวันนั้น เจ้าเมืองพวนมีหนังสือใช้ให้ท้าวเพี้ยแสนสุริยามาตย์ ถือมาให้เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตรหลวงพระบาง ถึงเจ้าเมืองซุ้ย เจ้าเมืองซ่าง ด้วยรวมสี่ฉบับ เนื้อความต้องกันว่า
เจ้าเมืองพวนได้ใช้ให้ท้าวเพี้ยพลไชยไปรับกองทัพพระราชวรินทร์แม่ทัพไทยเข้ามาถึงเมืองพวนแล้วแต่เดือนสี่แรมสิบสามค่ำ ปีมะเส็งเบญจศก วันนั้นเวลาสามยามเศษ กองทัพพระราชวรินทร์พร้อมกับกองทัพเมืองพวนช่วยกันเข้าล้อมจับองตุ่นผ่องแม่ทัพญวนคุมไพร่พลทหารญวน ๕๐๐ คน ตั้งพิทักษ์รักษาอยู่ในเมืองพวนที่ด้านใต้ พระราชวรินทร์กับเจ้าเมืองจับญวนได้เท่าไรก็ฆ่าเสียสิ้น และฆ่าเมื่อมันต่อสู้บ้าง ได้ฆ่าญวนที่เมืองพวนตายหมดทั้ง ๔๐๐ แต่ญวนอีก ๑๐๐ ตั้งรักษาอยู่นอกเมืองพวนนั้นรู้ก็แตกหนีไป พระราชวรินทร์สั่งทหารไทยตามไปจับมาได้ทั้ง ๑๐๐ คน ให้ฆ่าเสียที่นอกเมืองพวนแล้ว ญวนตายครั้งนี้ที่เมืองพวน ๕๐๐ คน แต่ญวน ๒๐๐ คนที่รักษาเมืองซุ้ยนั้น เจ้าเมืองพวนมีหนังสือสั่งกำชับให้เจ้าเมืองซ่าง เจ้าเมืองซุ้ยคิดกับเจ้านายเมืองหลวงพระบางฆ่า ๒๐๐ คนเสียให้สิ้น อย่าให้เหลืออยู่เป็นเชื้อสายสืบต่อไปได้
พระยาสวรรคโลกให้เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตรหลวงพระบางเขียนหนังสือตอบเจ้าเมืองพวนไปเป็นใจความว่า
“ได้แต่งกองทัพไทยลาวไปฆ่าญวน ๒๐๐ ที่เมืองซุ้ยตายหมดแล้ว บัดนี้แม่ทัพไทยได้ยกมาพักอยู่ในเมืองซุ้ย รอฟังราชการอยู่ก่อน ให้เจ้าเมืองพวนและพระราชวรินทร์ข้าหลวงมีหนังสือมาแจ้งข้อราชการที่เมืองซุ้ยบ้าง”
เขียนแล้วมอบให้ท้าวแสนสุริยาตย์กลับไปให้เจ้าเมืองพวน
ฝ่ายพระยาสวรรคโลกแต่งหลวงนาเมืองสวรรคโลก ๑ พระยาเมืองแผนหลวงพระบาง ๑ พระยาเมืองแก้วหลวงพระบาง ๑ พระเมืองแก้วเมืองแพร่ ๑ พระวังขวาเมืองแพร่ ๑ หลวงนรินทร์ข้าหลวงกรุงเทพฯ เป็นผู้กำกับ นายทัพนายกองห้าคน เป็นหกทั้งข้าหลวงในกรุง คุมไพร่พลลาวหลวงพระบาง ๒๐๐ คนไทย๑๐๐ พาตัวเจ้าอุปราชเมืองพวน ๑ และ เจ้าเงิน ๑ เจ้าด้วง ๑ ท้าวพิมพิสาร ๑ เพี้ยกว้าน ๑ พระยาแสนโยธา ๑ รวมเจ้าสามขุนนางสาม รวม ๖ คน นำส่งเจ้าเมืองหลวงพระบาง แล้วแจ้งข้อราชการต่อเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ให้ทราบทุกประการ แต่ตัวเจ้าราชบุตรเมืองพวนนั้น พระยาสวรรคโลกพาตัวนำกองทัพขึ้นไปเมืองพวนแต่ในเดือนห้าปีมะเมียฉศก
ฝายพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ได้ทราบการดังนั้นแล้ว จึงให้พระยาปลัดเมืองพระพิษณุโลก กับพระยายกกระบัตรเมืองสุโขทัย คุมไพร่พล ๕๐๐ ให้จ่านิตมหาดเล็กกับนายฉลองในนารถมหาดเล็กหุ้มแพรในพระราชวังบวรฯ เป็นข้าหลวงกำกับทัพพระยาปลัดเมืองพระพิษณุโลก มีไพร่พลส่วนในวังหน้าอีก ๕๐๐ รวมไพรพล ๑,๕๐๐ คน เร่งรีบยกขึ้นไปตีเมืองลาวสิบสองปันนา และลาวหัวพันทั้งหก บรรดาเป็นหัวเมืองขึ้นแก่ญวน ให้ตีกวาดต้อนพาครัวมาให้สิ้นเชิง แล้วเจ้าพระยาธรรมาสั่งให้เจ้าอุปราชเมืองพวนคุมไพร่พลลาวพวนกลับขึ้นไปรวบรวมครอบครัวลาวที่แตกระส่ำระสายเข้าป่าดง ให้คงบ้านเมืองยังเดิม ให้เจ้าธรรมาราชเมืองหลวงพระบางกำกับเจ้าอุปราชเมืองพวนไปด้วย จะได้ช่วยคิดราชการพรักพร้อมด้วยพระราชวรินทร์แม่ทัพไทย........”
** เป็นอันว่ากองทัพสุดท้ายของไทยที่ยกไปไล่ล่าญวนที่เขามายึดครองหัวเมืองลาวนั้น ประสบความสำเร็จด้วยดี ไทยฆ่าญวนตายเรียบไปอีก ๗๐๐ คน คือที่ค่ายเมืองซุ้ย ๒๐๐ ค่ายใหญ่เมืองพวน ๕๐๐ ที่ต่อสู้ก็ฆ่า ที่จับเป็นได้ก็ฆ่า ไม่ให้เหลือเป็นเชื้ออย่างที่เจ้าเมืองพวนว่านั่นแหละ เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่สั่งให้ไปยึดคืนเมืองสิบสองปันนาและหัวพันทั้งหก จะสำเร็จหรือไม่ ตอนหน้ามาอ่านความกันต่อไปครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ปิ่นมุก, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, หนูหนุงหนิง, Thammada, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๐ -
ทุกทัพกลับกรุงดูอย่างผู้กล้า “พระยาธรรมา”กลับค่อนหย่อนเหตุผล โปรดให้ยกกลับไปพร้อมไพร่พล อย่าหลงกลลาวทั่วเมืองหัวพัน
ทรงเตรียมรับทัพญวนทุกทางน้ำ โดยจัดทำป้อมกำแพงให้แข็งขัน “เจ้าพระยาพระคลัง”สร้างเมืองจันท์ ปราการกั้นกำแพงใหม่ให้มั่นคง |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ได้เริ่มเรื่องอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับญวน ซึ่งเป็นความที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เรียบเรียงขึ้น โดยคัดลอกมาจากรายงานการทัพญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไว้ ๕๕ เล่มสมุดไทย เมื่อวันก่อนหน้านี้ได้ให้อ่านถึงตอนที่ .. พระยาสวรรคโลกกองหน้าทัพเจ้าพระยาธรรมายกไปเมืองพวน เจ้าเมืองพวนให้ขุนนางออกมาต้อนรับ เจ้าเมืองซุ้ยแจ้งให้ทราบว่ามีญวนจำนวน ๒๐๐ คนมาตั้งค่ายรักษาเมืองซุ้ย ขอให้พระยาสวรรคโลกตีค่ายญวนให้แตกเสียก่อนเดินทางเข้าเมือง พระยาสวรรคโลกสั่งให้พระยาพิไชยนำกำลัง ๕๐๐ เข้าตีค่ายญวนแตกไปอย่างรวดเร็ว ญวนถูกฆ่าตายสิ้นทั้ง ๒๐๐ คน ฝายเจ้าเมืองพวนก็ให้ขุนนางไปรับกองทัพพระราชวรินทร์เข้าเมืองพวน แล้วสมคบกันจับตัวแม่ทัพญวนที่มาตั้งค่ายรักษาเมืองพวนนั้นได้ แล้วฆ่าไพร่พลญวนตายสิ้นทั้ง ๕๐๐ คน เมื่อเจ้าพระยาธรรมาได้รับทราบข้อราชการสิ้นแล้ว จึงสั่งให้พระยาปลัดเมืองพระพิษณุโลกกับพระยกกระบัตรเมืองสุโขทัยคุมไพร่พลไทยลาว ๑,๕๐๐ คนให้ยกไปตีเมืองลาวสิบสองปันนาและหัวพันทั้งหกที่ญวนเข้ามายึดครองไว้นั้น ให้กวาดต้อนพาครัวมาให้สิ้นเชิง วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.....
 แล้วเจ้าพระยาธรรมากับเจ้านครหลวงพระบาง แต่งให้ท้าวคำสุกกับท้าวมงคลเมืองหลวงพระบาง และนายประพาสมณเฑียรปลัดวังขวา เป็นข้าหลวงคุมไพร่พลลาวไทย ๕๐ คน พาตัวเจ้าเงินเจ้าด้วงเมืองพวน กับคำให้การเจ้าอุปราชเมืองพวน กับทองคำก้อนหนึ่ง ทองหนักสิบสามตำลึงสามบาทสองสลึงเฟื้อง เป็นของเจ้าอุปราชเมืองพวนฝากลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร ปลัดวังขวาได้ลงมาถึงกรุงแต่ ณ เดือนหก แรมสิบสองค่ำ ปีมะเมียฉศก น้ำขึ้นทูลเกล้าถวาย
ฝ่ายราชการข้างเมืองเขมรนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการดำรัสสั่งพระยาศรีสหเทพมีท้องตราไปถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาใจความว่า
 เจ้าพระยาบดินทรเดชา : ละคร ข้าบดินทร์ พระยาอภัยภูเบศร์เขมรเจ้าเมืองพระตะบองนั้น ก็ถึงแก่อสัญกรรม จะตั้งพระพิทักษ์บดินทรและพระนรินทร์โยธาผู้บุตรพระยาอภัยภูเบศร์เป็นเจ้าเมืองพระตะบองก็ได้ หรือจะแต่งพระยาเขมรกรมการผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญา ยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมืองพระตะบองก็ได้เหมือนกัน แต่ทรงเห็นว่านักองอิ่มและนักองด้วงทั้งสองนี้ เป็นเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเขมรสืบมาแต่โบราณ ควรจะยกย่องขึ้นเป็นผู้ว่าราชการบ้านเมืองเขมร จะได้เป็นที่นับถือยำเกรงของพวกไพร่บ้านพลเมืองเขมรต่อไป จะได้เป็นกำลังศึกสงครามแก่กองทัพไทยที่จะทำแก่ญวนในภายหน้าด้วย
 นักองค์ด้วง : ละคร ข้าบดินทร์ เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองอิ่มผู้พี่ว่าราชการเมืองพระตะบอง ให้นักองด้วงผู้น้องว่าราชการเมืองมงคลบุรี แล้วให้เจ้าพระยานครราชสีมาคิดกับพระยาราชนิกูลข้าหลวงช่วยกันกวาดต้อนครอบครัวเขมรและข่าป่าดงไปไว้ตามบ้านเมืองที่ขึ้นแก่เมืองนครราชสีมา ให้เต็มทุกบ้านทุกเมือง เป็นการให้ทุนหนุนทุนที่พวกเมืองขึ้นไทยตายเสียในการทัพศึกนั้นก็มาก แล้วให้เจ้าพระยานครราชสีมากลับไปรักษาบ้านเมืองตนเถิด แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชากับพระยาราชนิกูล ขอให้เข้ามาแจ้งข้อราชการ ณ กรุงเทพมหานคร
 เจ้าพระยาพระคลัง : ละคร ข้าบดินทร์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษามีท้องตราให้หาเจ้าพระยาพระคลังแม่ทัพเรือ ซึ่งตั้งรั้งทัพอยู่ ณ เมืองจันทบุรี เข้ามาปรึกษาราชการ ณ กรุงเทพมหานคร ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังได้เข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ณ เดือนหกข้างแรมในปีมะเมีย ฉศก
ฝ่ายราชการเมืองลาวตะวันออกนั้น เจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพใหญ่ได้แต่งขุนนางไทยสามคน คือ พระยกกระบัตรเมืองสุโขทัย ๑ หลวงพิไชยเสนา ๑ จมิ่นจงรักษาองค์ ๑ กับพระยาเมืองซ้ายหลวงพระบาง ๑ ท้าวกุมารหลวงพะบาง ๑ ท้าวเพี้ยแสนพิงไชยเมืองแพร่ ๑ รวมเป็นข้าหลวง ๖ นายที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมพวกลาวเมืองหัวพันทั้งหก พวกลาวเมืองหัวพันทั้งหกก็รับว่าจะแต่งแสนท้าวพระยาลาวมาแจ้งข้อความว่าจะยอมสวามิภักดิ์ขึ้นต่อกรุงเทพฯ แล้วเจ้าพระยาธรรมาตั้งคอยลาวเมืองหัวพันทั้งหกอยู่ที่เมืองนครหลวงพระบาง จนเข้าฤดูฝนจึงป่วยเป็นไข้พิษ กลายเป็นไข้รากสาดไป จึงเลิกทัพกลับลงมากรุงเทพฯ
ครั้นพระยาธรรมาหายป่วยแล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
“กองทัพไทยได้ยกขึ้นไปตีเมืองซุ้ย, เมืองกอง, เมืองก่าง, เมืองย่างเงิน ได้เมืองลาวในเขตแดนญวนหลายเมืองแล้ว และทัพพระราชวรินทร์ก็ได้เมืองพวนด้วย”
และนายทัพนายกองไทย กับกองทัพเมืองนครหลวงพระบาง ได้ยกขึ้นไปจะตีเมืองหัวพันทั้ง ๖ และสืบได้ความว่า “เจ้าบ้านผ่านเมืองและท้าวเพี้ยไพร่พลเมืองหัวพันทั้ง ๖ อพยพครอบครัวหนีไปจากบ้านเมืองหมด” เจ้าราชบุตรหลวงพระบางจึงแต่งให้เพี้ยศรีอรรคหาตเมืองปากเหือง ๑ ท้าวมงคลหลวงพระบาง ๑ ทั้งสองคนนี้เคยเป็นล่ามลาวชาวเมืองหัวพันทั้ง ๖ มาแต่ก่อน ให้คนทั้งสองขึ้นไปสืบราชการพวกลาวหัวพันทั้ง ๖ ว่าจะหนีไปถึงไหนบ้าง เพี้ยศรีอรรคหาตกับท้าวมงคลมีหนังสือแจ้งข้อราชการมาถึงพระยาพิไชย พระยาสุโขทัย กับเจ้าหลวงนครหลวงพระบางใจความว่า
“เพี้ยศรีอรรคหาตกับท้าวมงคลได้ขึ้นไปถึงเมืองเหียม ได้พักไพร่พลลาวหลวงพระบาง ๒๕๐ คนอยู่ที่ด่านเมืองเหียม และลาวเจ้าเมืองหัวเมืองชำเหนือ เมืองชำใต้ เมืองซวน เมืองโชย เมืองเชียงตลุง เมืองเชียงค้อ เจ้าเมืองลาวทั้ง ๘ หัวเมืองนั้น ได้แต่งเพี้ยพระยาลาวทุกเมืองทั้ง ๘ หัวเมือง ให้มาหาเจรจากับเพี้ยศรีอรรคหาตและท้าวมงคล เป็นใจความว่า เจ้าบ้านผ่านเมืองและแสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยในเมืองหัวพันทั้ง ๖ คิดพร้อมใจกันกลับใจคืนมาสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพมหานครต่อไปอย่างครั้งเจ้าอนุเวียงจันทน์เหมือนแต่ก่อน” เจ้าเมืองหัวพันทั้ง ๖ จะแต่งให้แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยลงมาเจรจาความเมือง เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงสั่งพระยาพระหลวงนายทัพนายกองให้งดกองทัพไว้ หาได้ยกขึ้นไปตีเมืองหัวพันทั้ง ๖ ไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งขุนนางไทยลาวที่มีสติปัญญาได้ราชการ ให้ขึ้นไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเมืองหัวพันทั้ง ๖ ก็รับว่าจะว่าสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ การยังไม่ตกลงเป็นแน่ พอเข้าฤดูฝนข้าพระพุทธเจ้าก็ป่วยหนัก จึงได้เลิกกองทัพกลับลงมากรุงเทพฯ พร้อมกันทุกทัพทุกกอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามเจ้าพระยาธรรมากราบบังคมทูลดังนั้นแล้ว จึงมีพระราชดำรัสว่า
“เจ้าพระยาธรรมาจะถูกหลอกถูกลวงพวกเมืองหัวพันทั้ง ๖ เสียดอกกระมัง ถ้าเป็นจริงดังนั้นแล้ว ก็จะเสียพระเกียรติยศแผ่นดินกรุงเทพฯ ไปเป็นอันมาก” จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาเป็นแม่ทัพกลับขึ้นไปใหม่ ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาได้กราบถวายบังคมลายกทัพออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ เดือนอ้ายปีมะเมีย ฉศก ถือท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งเคยไปทำราชการด้วยกัน แต่ครั้งนี้กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ประชุมไพร่พลรอราชการอยู่ที่เมืองพิไชยบ้าง อยู่ที่บ้านปากลายบ้าง อยู่เมืองหลวงพระบางบ้าง
ฝ่ายกรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระมหาเทพชื่อป้อม เป็นพระยามหาอำมาตย์ โปรดเกล้าฯให้พระราชวรินทร์ชื่อขำเป็นพระพิเรนทรเทพ โปรดเกล้าฯ ให้พระกำจรใจราชแต่เดิมที่เป็นหมื่นหาญลูกกองพระยาอัษฎาเรืองเดช มีความชอบที่ต่อสู้กับข้าศึกญวนมีชัยชนะ แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งให้เป็นพระกำจรใจราชในระหว่างศึกนั้นแล้ว บัดนี้โปรดเกล้าฯ ให้พระกำจรใจราชเลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยามหานุภาพ จางวางกรมพระตำรวจหลังในพระราชวังหลวง
ราชการที่กรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริการรักษาพระนคร ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเลย ทรงพระวิตกว่าญวนจะยกกองทัพเรือเข้ามาตีหัวเมืองชายทะเลพระราชอาณาเขต เป็นการที่ญวนจะยกเข้ามาทำศึกตอบแทนบ้าง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองต่อเรือรบไว้สำหรับรักษาพระนคร แล้วให้ขอแรงพวกข้าราชการไม่ได้ไปทัพ กับพวกเจ้าสัวเจ้าภาษีนายอากรให้ช่วยต่อเรือรบ เป็นรูปเรือศีรษะป้อมอย่างญวนขึ้น ๘๐ ลำ พระราชทานเงินหลวงช่วยในการต่อเรือรบลำละ ๒๐ ชั่ง เรือ ๘๐ ลำเป็นเงินหลวง ๑,๖๐๐ ชั่ง ผู้ที่ถูกทำเรือรบนั้นก็ออกเงินของตนช่วยเพิ่มเติมบ้างทุก ๆ ลำ ลำละสิบชั่งลงมาเสมอห้าชังขึ้นไป ตามแต่จะฉลองพระเดชพระคุณ ครั้นเรือรบศีรษะป้อม ๘๐ ลำแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดอู่ทำโรงที่คลองสาระหงส์บางกะปิไว้เรือรบ ๔๐ ลำสำหรับรักษาพระนคร จ่ายไปรักษาหัวเมืองชายทะเล ๔๐ ลำ เป็นเรือลาดตระเวนท้องทะเล
 ป้อมไพรีพินาศ ครั้นการเรือรบแล้วเสร็จ ถึง ณ เดือนอ้ายปีมะเมียฉศก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรีให้มั่นคงไว้รับญวน เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเสียสิ้น เพราะด้วยเมืองเก่าตั้งอยู่ลึกเข้าไปในลำแม่น้ำ ไม่เป็นที่รองรับข้าศึกได้มั่นคง จึงให้สร้างเมืองใหม่เลื่อนออกไปใกล้ปากอ่าว ก่อกำแพงใหม่ลงที่เนินวง ให้ราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเก่าบ้าง ที่หลังเมืองใหม่บ้าง ทำเมืองใหม่ในที่นี้เป็นที่ป้องกันครอบครัวพลเมืองได้มาก แล้วเจ้าพระยาพระคลังสร้างวัดขึ้นสำหรับเมืองใหม่วัดหนึ่ง ตั้งนามชื่อ “วัดโยธานิมิต” แล้วสั่งให้จมื่นราชมาตชื่อขำ ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาพระคลังนั้น เป็นแม่กองทำป้อมใหญ่ ก่อด้วยศิลาเป็นป้อมปีกกา รูปป้อมอย่างยุโรป ทำลงที่หัวแหลมด่านปากน้ำเมืองจันทบุรีป้อมหนึ่ง พระราชทานชื่อ “ป้อมไพรีพินาศ” แล้วลงมือก่อป้อมใหญ่ด้วยศิลาที่ไหล่เขาแหลมสิงห์อีกป้อมหนึ่ง เป็นการเพิ่มเติมป้อมเก่าโบราณที่แหลมสิงห์ ให้เป็นของใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง แล้วพระราชทานชื่อ “ป้อมพิฆาตปัจจามิตร” รวมเป็นสองป้อมไว้สำหรับรักษาเขตแดนกรุงเทพฯ
 คุณชายช่วง (ช่วง บุนนาค) รับบทโดย การิน ศตายุ ในละคร "ข้าบดินทร์" ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นมหาดเล็กชื่อช่วง ซึ่งเป็นบุตรผู้ใหญ่ของเจ้าพระยาพระคลังนั้น ให้เป็นแม่กองไปต่อกำปั่นใบลำหนึ่งปากกว้างสิบศอกที่จันทบุรี ลองทำเป็นตัวอย่างลำหนึ่งแล้วเสร็จ เจ้าหมื่นไวยวรนาถนำเรือกำปั่นเข้ามาถวายตัว จึงพระราชทานชื่อกำปั่นนั้นว่า “แกล้วกลางสมุทร” ทรงพระกรุณาว่าถ้าต่อขึ้นหลายลำบรรทุกทหารไปรบกับญวนเห็นจะดี จึงโปรดเกล้าฯ เจ้าหมื่นไวยวรนาถกลับไปเมืองจันทบุรี ให้ต่อเรือกำปั่นอีกลำหนึ่งปากกว้างสี่วา เมื่อแล้วมีใบบอกเข้ากราบบังคมทูลพระกรุณาจึงพระราชทานนามกำปั่นว่า “ชื่อกระบิลบัวแก้ว” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ต่อกำปั่นใบใช้ในราชการอีกลำหนึ่ง
ครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่า เมืองฉะเชิงเทรานั้นเป็นปากน้ำทางลำแม่น้ำฝ่ายข้างตะวันออก เป็นช่องทางที่ข้าศึกญวนจะนำเรือรบเข้ามาทางปากน้ำบางปะกงได้แห่งหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงรักษ์รณเรศร์ เป็นแม่กองไปสร้างป้อมปีกกาใหญ่และมีกำแพงด้วย ทำลงที่เมืองฉะเชิงเทราตำบลหนึ่งกะไว้จะให้ชื่อว่า “ป้อมพิฆาตไพรี”
ครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเสพย์สุนทร ๑ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ๑ ทั้งสามพระองค์เป็นแม่กองไปทำการซ่อมแซมป้อมกำแพงที่เมืองสมุทรปราการ ซึ่งทำยังค้างครั้งศึกเวียงจันทน์นั้น ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้ทำกำแพงเชิงเทินขึ้นโอบหลังมาปลายป้อมปีกกาเก่า ให้ขุดคูล้อมกำแพงเมืองสมุทรปราการด้านหลังเป็นคูล้อมรอบเมืองกันข้าศึก ให้สร้างป้อมขึ้นที่ปากคลองบางปลากดอีกป้อมหนึ่ง พระราชทานชื่อว่า “ป้อมคงกระพัน” เป็นป้อมรับรองข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากน้ำสงขลาชายทะเล ทำการที่เมืองสมุทรปราการเสร็จ
อานามสยามยุทธจบเล่ม ๒ แต่เท่านี้” ------------------------------------------------
** เรื่องราวในราชการศึกสงครามระหว่างไทยกับญวนที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกไว้ เป็นเล่มที่ ๒ นำมาให้อ่านจนจบวันนี้ยาวไปหน่อย คงทนอ่านกันจนจบได้ ไม่ว่ากันนะครับ ตอนต่อไปจะนำความในเล่มที่ ๓ มาให้อ่านกันต่อ จะเป็นการรบกับเขมรและญวน ซึ่งตอนนี้ญวนเข้ามาครอบงำเขมร โดยใช้นักองจันทร์เป็นข้ออ้าง ฝ่ายไทยมีนักองอิ่ม นักองด้วง เป็นหลัก เรื่องราวน่ารู้มากครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, หนูหนุงหนิง, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, Thammada, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๑ -
นักองจันทร์พิราลัยไร้โอรส ญวนคิดคดหมายครองเขมรสิ้น ตั้งราชธิดาสามพี่น้องครองแผ่นดิน หวานถวิลรวมชาติราชวงศ์
เดชะบุญขุนเขมรมิเห็นด้วย ขอไทยช่วยเขมรที่มีประสงค์ กำจัดญวนให้สิ้นทั่วดินดง ขอพึ่งองค์เอกกษัตริย์ฉัตรชาติไทย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ แล้ว ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้นำมาเรียบเรียงและพิมพ์เผยแผ่ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้นต่อมาสำนักพิมพ์โฆษิต ได้นำมาพิมพ์เป็นครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งในที่นี้จบความในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ไปแล้ว จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเป็นการรบกับญวนในเขมรมาให้อ่านกันเป็นลำดับไป ดังนี้......
 “ฝ่ายองเตียนกุนเสนาบดีกรุงเว้ ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการบังคับบัญชาแม่ทัพญวนทุกกอง ซึ่งมาตั้งทัพล้อมองภอเบโคยลันเบียเจ้าเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเป็นขบถต่อกรุงเว้นั้น ทัพกรุงเว้มาตั้งล้อมรบล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่ถึงเก้าเดือนเศษ พวกเมืองไซ่ง่อนขัดสนเสบียงอาหารตายลงเสมอทุกวัน จะรักษาเมืองไว้มิได้ ก็แตกออกจากเมืองมาหากองทัพกรุงเว้ขออาหารกินบ้าง ที่แตกหนีเข้าป่าไปบ้าง เพราะฉะนั้นกองทัพกรุงเว้จึงเข้าเมืองไซ่ง่อนได้ ก็จับองภอเบโคยลันเบียหัวหน้าขบถกับพรรคพวกรวมคิดเป็นขบถด้วยกันนั้น จึงได้จับส่งไปกรุงเว้สิ้น ฝ่ายพระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งว่า องภอเบโคยลันเบียคนนี้ก่อเหตุเป็นขบถแต่ตัวยังหาพอไม่ กลับนัดหมายให้กองทัพไทยมาช่วยตีเมืองญวนอีกเล่า โทษองภอเบโคยลันเบียนี้มีมากนัก จึงตรัสสั่งให้พาบุตรภรรยาญาติพวกพ้ององภอเบโคยลันเบียไปฆ่าเสียสิ้นกว่าร้อยคน แต่องภอเบโคยลันเบียนั้นสั่งให้เชือดเนื้อวันละก้อนกว่าจะตาย ทำทรมานอยู่สี่ห้าวัน องภอเบโคยลันเบียก็ถึงแก่ความตาย
 ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่จึงยกกลับมาจากเมืองไซ่ง่อนมาตั้งอยู่เมืองพนมเปญ แล้วบังคับสั่งให้พระยาพระเขมรนุ่งกางเกงห่มเสื้อโพกศีรษะแต่งตัวอย่างเพศญวน สมทบกับนายทัพนายกองไปรักษาหัวเมืองใหญ่น้อยที่เป็นทางกองทัพไทยจะลงไปเมืองพนมเปญนั้น กองทัพญวนตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาด ๑ เมืองสะโทง ๑ เมืองกำพงสวาย ๑ สามเมืองนี้เป็นทัพใหญ่ มีค่ายญวนทุกเมือง และเมืองอื่นทั้งหลายนั้น ญวนก็ไปตั้งรักษาพร้อมด้วยพระยาพระเขมรทุกเมือง ด้วยองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่คิดกับนักพระองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาว่า “ไทยคงจะยกทัพมาตีเมืองเขมรอีกเป็นแน่”
ครั้น ณ เดือนยี่ขึ้นสิบเอ็ดค่ำปีมะเมียฉศกจุลศักราช ๑๑๙๖ นักพระองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาป่วยเป็นไข้พิษถึงแก่พิราลัยที่เมืองพนมเปญ พระชนมายุได้ ๔๔ ปี เมื่อได้อภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาแล้วนั้นชนมายุได้ ๑๖ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๘ ปี นักพระองจันทร์มีราชบุตรี ๔ องค์ เป็นหญิงทั้งสิ้น หามีราชกุมารไม่ ราชบุตรี ๔ องค์นั้น ที่ ๑ ชื่อนักนางแป้น ที่ ๒ ชื่อนักนางมี ที่ ๓ ชื่อนักนางเภา ที่ ๔ ชื่อนักนางสงวน นักนางสงวนนี้ยังเยาว์นัก ไม่ได้โสกันต์ นักองแป้นนั้นมารดาชื่อนักองเทพเทพี นักองเทพเทพีเป็นน้องสาวนักองแก้ว นักองแก้วกับนักองเทพเทพีตกเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อนักองจันทร์พระเจ้ากรุงกัมพูชาหนีไปเมืองญวน
 นักองมี รับบทโดย สโรชา วาทิตตพันธ์ ในละคร "ข้าบดินทร์" ครั้งนั้น พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งมาให้องเตียนกุนตั้งเจ้าเขมรผู้หญิงทั้งสามองค์ยกขึ้นเป็นผู้ปกครองแผ่นดินเขมร ตั้งนักองแป้นเจ้าผู้ใหญ่ให้เป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา แล้วให้นักองมีเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายหน้า ให้นักองเภาเป็นที่พระมหาอุปราชฝ่ายหลัง
ครั้นญวนยกย่องตั้งแต่งเจ้าเขมรผู้หญิงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรแล้ว แต่งขุนนางญวนอยู่กำกับราชการบ้านเมืองด้วย ชั้นแต่ขุนนางในตำแหน่งนอกตำแหน่งหัวเมืองทั้งปวงนั้น ญวนก็ตั้งแต่งเขมรขึ้นเต็มหน้าที่ทุกตำแหน่งไว้สำหรับรับกองทัพไทย
 ครั้งนั้นพระเจ้าเวียดนามคิดอยากได้แผ่นดินเขมรให้ขึ้นเป็นสิทธิ์ขาดอยู่ในใต้อำนาจญวนทีเดียว พระเจ้าเวียดนามจึงมีหนังสือรับสั่งเป็นการลับ ๆ มาถึงองเตียนกุนแม่ทัพให้ว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ว่า
“เมืองเขมรมีแต่เจ้าผู้หญิงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะว่าราชการเมืองให้ยืดยาวไปไม่ได้” ถ้ามีราชการทัพศึกสำคัญมาก็จะเป็นการเดือดร้อนแก่สมณพราหมณาจารย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินยิ่งนัก พระเจ้าเวียดนามมีพระราชประสงค์จะให้พระราชบุตรชายมาอภิเษกด้วยนักองแป้นเจ้าหญิงเขมร จะได้ช่วยว่าราชการปกครองแผ่นดินเขมรต่อไปให้เป็นการวัฒนาถาวรสืบกษัตริย์สัมพันธมิตรไมตรีกันไปชั่วฟ้าและดิน เมื่อพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยได้แจ้งถ้อยคำองเตียนกุนแม่ทัพญวนพูดดังนั้นแล้ว จึงพร้อมกับบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายเขมรพูดอ้อนวอนองเตียนกุนว่า
“เขมรกับญวนผิดชาติต่างภาษากัน แล้วเจ้าหญิงฝ่ายเขมรก็เป็นเมืองน้อย ไม่คู่ควรจะอภิเษกด้วยพระราชบุตร ฝ่ายญวนเป็นเมืองใหญ่ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศกรุงเวียดนามไป พระยาเขมรทั้งปวงไม่ยอมให้เจ้าหญิงเขมรเป็นภรรยาเจ้าชายฝ่ายญวน” เมื่อองเตียนกุนเห็นว่า “พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยพูดจาโต้ตอบขัดขืนแข็งแรงดังนั้นแล้ว องเตียนกุนจึงตรึกตรองว่า ถ้าหักหาญข่มขืนให้เจ้าหญิงเขมรอภิเษกกับเจ้าชายฝ่ายญวนให้ได้ กลัวพวกเขมรจะขัดใจก็จะเป็นกบฏขึ้นทุกบ้านทุกเมือง” ฝ่ายญวนจะระงับลงก็จะยากหนัก จึงได้นิ่งความสงบไว้ ไม่พูดจาตักเตือนประการใดต่อไป
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง จึงแต่งให้เขมรไปสืบราชการที่เมืองโปริสาดนั้น หลวงสมบัติบริบูรณ์เขมรไปสืบได้ความกลับมาแจ้งว่า
“นักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาป่วยเป็นไข้พิษ ถึงแก่พิราลัย ณ เมืองพนมเปญแล้ว”
บัดนี้ญวนคิดการใหญ่ จะให้เจ้าชายราชบุตรพระเจ้าเวียดนามมาอุปภิเษกด้วยนักองแป้นเจ้าหญิงฝ่ายเขมร พระยาพระเขมรไม่ยอมตามญวน ญวนก็ตั้งรักษาบ้านเมืองเขมรทุกทิศทุกทาง พวกเขมรได้ความเดือดร้อนมากอยู่แล้ว ตั้งแต่นักองจันทร์ถึงพิราลัยแล้วพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยก็สอดหนังสือลับมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นใจความว่า
 “พวกพระยาพระเขมรทั้งปวงไม่มีที่พึ่ง เพราะนักองจันทร์ถึงแก่พิราลัยแล้ว และไม่สมัครเป็นข้าญวน จะขอเป็นข้าพึ่งพระบารมีพระบรมโพธิสมภารพระเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพพระมหานครไปอย่างเดิม ขอให้กองทัพไทยยกลงไปตีญวน พวกเขมรจะช่วยเป็นไส้ศึกจับญวนฆ่าเสียให้สิ้นเชิง”
เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงส่งต้นหนังสือของพระยาพระเขมรเข้ามายังกรุงเทพฯ แล้วมีใบบอกขอท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ออกไปช่วยคิดราชการที่เมืองพระตะบองสักคนหนึ่ง ใช้ให้หลวงอภัยเสนาถือเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงทราบแล้วมีพระราชดำรัสว่า
“เมืองเขมรคราวนี้เป็นหายนะเสื่อมอำนาจลง เพราะนักองจันทร์ก็มาตายเสียกำลังระหว่างทัพศึกดังนี้ เป็นท่วงทีเราหนักหนา ควรจะคิดปราบปรามกัมพุชประเทศต่อไป”
 จึงโปรดให้มีตราตอบออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดอ่านจัดการตีเมืองเขมรมาขึ้นกรุงเทพฯ ให้ได้เหมือนอย่างแต่ก่อน ถ้าไม่ได้มาขึ้นก็ให้ทำลายล้างเมืองเขมรให้เป็นป่า ให้เหลือแต่แผ่นดินกับภูเขาแม่น้ำลำคลองเท่านั้น กวาดต้อนครอบครัวมาใส่บ้านเมืองไทยเสียให้หมดอย่าให้เหลือเลย ให้ทำเมืองเขมรให้เหมือนกับเมืองเวียงจันทน์ครั้งเจ้าอนุนั้นก็เป็นการดีเหมือนกัน ซึ่งจะให้เสนาบดีผู้ใดอออกไปช่วยคิดราชการนั้น ไม่ทรงเห็นว่าผู้ใดจะดีกว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นก็ไม่มีตัวแล้ว การงานบ้านเมืองเขมรทั้งนี้สุดแล้วแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะคิดราชการให้เป็นเกียรติยศแก่ไทยฝ่ายเดียวเถิด ทรงมอบพระราชดำริและพระราชประสงค์ไว้ในเจ้าพระยาบดินทรเดชาทั้งสิ้น ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (ชื่อโต) ออกไปเป็นแม่กองจัดคนลำเลียงเสบียงอาหารกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไม่ให้ขัดสนทุกทัพทุกกอง ครั้งนั้นพระยาราชสุภาวดีไปตั้งกองส่งเสบียงอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีและเมืองกบินทรบุรี ได้ส่งข้าวเกลือออกไปยังเมืองพระตะบองเนือง ๆ...”
 เขมรกลายเป็นเหมือน “กบเลือกนาย” นักองจันทร์ไม่พอใจไทยก็หนีไปพึ่งญวน เป็นการ “ชักศึกเข้าบ้าน” โดยแท้ พอกองทัพไทยล่าถอยกลับมาจากเขมร ญวนก็พานักองจันทร์กลับมาครองกรุงกัมพูชา แล้วญวนก็ปกครองเขมร ตั้งแต่งขุนนางญวนกำกับเขมรทุกบ้านทุกเมือง บังคับให้ขุนนางเขมรแต่งกายแบบขุนนางญวน ครั้นนักองจันทร์ถึงแก่พิราลัย ญวนก็ตั้งราชธิดานักองจันทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้ววางแผนฮุบเขมรทั้งชาติเป็นของญวน ด้วยการจะให้ราชบุตรญวนอภิเษกกับเจ้าหญิงเขมรที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร ดีที่พวกขุนนางเขมรไม่ยินยอม และเริ่มตีตัวออกหากจากญวน จึงมีหนังสือไปขอให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาช่วยปลดแอกญวนให้เขมรด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายหน้าที่จัดการบ้านเมืองเขมรให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคิดอ่านจัดการตามที่เห็นสมควร และอานามสยามยุทธยกที่ ๓ จึงได้เริ่มขึ้นแล้ว พรุ่งนี้มาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, กร กรวิชญ์, Thammada, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๒ -
ญวนจับพลตระเวนไทยเอาไปขัง “มินมาง”สั่งปล่อยปลอดรอดตัวได้ ฝากหนังสืออวดตัวดีทั่วไป ทั้งมีใจยึดมั่นกตัญญู
ชวนเขมรเตรียมย่ำจำปาศักดิ์ ไทยตั้งหลักยืนรอพร้อมต่อสู้ จัดกำลังนับพันเตรียมพันตู ให้ญวนรู้ฝีมือไทยฦๅชา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่.. ญวนยึดเมืองไซ่ง่อนได้ แล้วพระเจ้ามินมางประหารชีวิตพวกกบฏเสียสิ้น องเตียนกุนเสนาบดีใหญ่ยกมาตั้งอยู่ในเขมร บังคับให้ขุนนางเขมรแต่งกายแบบญวน ตั้งแต่งขุนนางญวนเข้าคุมขุนนางเขมรหมดทุกบ้านทุกเมือง ครั้นนักองจันทร์ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ามินมางสั่งให้องเตียนกุนตั้งราชธิดานักองค์จันทร์ปกครองกัมพูชา แล้วมีแผนยึดครองเขมรทั้งหมด โดยให้ราชบุตรของตนอภิเษกกับราชธิดานักองจันทร์ แต่ขุนนางเขมรไม่ยอมรับ จึงมีหนังสือลับถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาขอให้ช่วยขับไล่ญวน เขมรขอเป็นข้าขอบขัณฑเสมาไทยอย่างเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายหน้าที่ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเขมรให้เป็นประโยชน์แก่ไทยต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ.......
 “ ฝ่ายจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ กับจมื่นมหาดเล็กหัวหมื่นมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ สองนายนี้เป็นแม่กองนายเรือตระเวนรักษาด่านทางข้างทะเล ตั้งที่ชุมนุมอยู่ที่เกาะกงหน้าเมืองตราดนั้น จึงแต่งให้ขุนตระเวนนาเวศร์กับนายเพ็งคุมไพร่ไทย ๒๐ จีน ๑๓ รวม ๓๓ คน ลงเรือรบเล็กไปสืบราชการที่เมืองบันทายมาศ แต่ยังไม่ถึงเมืองบันทายมาศ แล่นใบไปถึงเขาช่องลม พอพบเรือกองตระเวนญวน ญวนจึงนำเรือรบใหญ่หลายลำเข้าไล่ล้อมจับเรือตระเวนไทยไปได้ พาไปส่งแม่ทัพญวนที่เมืองบันทายมาศ องตุ้มภู่แม่ทัพเรือฝ่ายญวนให้จีนล่ามถามขุนตระเวนนาเวศร์ ขุนตระเวนนาเวศร์ให้การรับสารภาพว่า
“จมื่นมหาดเล็กนายกองเรือตระเวนไทย ตั้งอยู่ที่เกาะกง ใช้ให้ข้าพเจ้ามมาสืบราชการทัพญวน”
องตุ้มภู่ให้ล่ามถามว่า “เมื่อญวนเข้าล้อมจับไทย ไทยได้ต่อสู้หรือเปล่า”
ขุนตระเวนนาเวศร์ให้การว่า “ไม่ได้สู้เลย ลดใบยอมให้จับโดยดี”
องตุ้มภู่ให้จีนล่ามถามอีกว่า “เมื่อลดใบลงแล้ว พวกญวนขึ้นบนเรือไปจับมัดมานั้น ไทยได้ตระเตรียมจับอาวุธสอดเครื่องรบหรือไม่?”
ขุนตระเวนนาเวศร์ให้การว่า “ไม่ได้จับต้องอาวุธเลย ญวนเรียกให้ขึ้นมาจากเรือไทย ให้ลงในเรือญวน พวกไทยก็เดินมาลงโดยดี”
องตุ้มภู่ให้เสมียนจดหมายถ้อยคำให้การไว้ทั้งสามครั้ง แล้วจึงถามพวกญวนเรือตระเวน สอบกับคำให้การไทย ญวนก็แจ้งความถูกต้องกันแล้ว องตุ้มภู่จึงสั่งญวนรับใช้พาไทยทั้งนายไพร่ไปจำตรวนขังตะรางไว้สองเดือนเศษ แล้วมีใบบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าเวียดนาม พระเจ้าเวียดนามมีรับสั่งให้เสนาบดีมีท้องตราตอบมายังองตุ้มภู่ใจความว่า
“พวกไทยตระเวนเรือมันไม่สู้รบ ให้ถอดจำ ปล่อยไปทั้งนายไพร่ เรือและสิ่งของในเรือก็ให้คืนให้ไปจนสิ้นให้ครบ”
 องตุ้มภู่ได้รับท้องตราบังคับมาจากกรุงเว้ดังนั้นแล้ว จึงให้ชำระพาสิ่งของในเรือไทยคืนมาให้หมด มอบให้ขุนตระเวนนาเวศร์คุมเรือกลับมา ครั้งนั้นองตุ้มภู่จ่ายเสบียงอาหารให้ขุนตระเวนนาเวศร์พอกินกลับมายังเกาะกง องตุ้มภู่ฝากหนังสือฉบับหนึ่งมาถึงเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีไทย ขุนตระเวนนาเวศร์ก็กลับมายังจมื่นมหาดเล็ก จมื่นมหาดเล็กส่งต้นหนังสือญวนกับตัวขุนตระเวนนาเวศร์เข้ามาให้เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังให้ล่ามแปลหนังสือญวนออกเป็นภาษาไทยใจความว่า
“ฝ่ายญวนตั้งอยู่ในความกตัญญูไทยมาก ญวนคิดถึงพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกศที่เสด็จสวรรคตแล้วนั้น (คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ท่านได้ทรงช่วยทำนุบำรุงพระเจ้าเวียดนามยาลวง (คือองเชียงสือ) ต้นวงศ์ญวนนี้มาจนได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินญวนกรุงเว้ เพราะฉะนั้นญวนจึงไม่อยากจะคิดฆ่าฟันไทยให้ถึงแก่ความตาย กลัวจะเสียทางกตัญญูเดิมไป เมื่อกองทัพไทยยกไปตีเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนกลัวจะต้องฆ่าไทย จึงได้ทิ้งเมืองบันทายมาศเสีย ล่าถอยไปตั้งพักพลอยู่ที่เมืองโจดก กองทัพไทยก็กำเริบยกไล่เข้าไปถึงเมืองโจดก ญวนก็ทิ้งเมืองโจดก ล่าถอยไปตั้งอยู่ที่ปากคลองวามะนาว กองทัพไทยก็รุกไล่ต่อไปอีกถึงปากคลองวามะนาว ฝ่ายญวนไม่อยากจะรบราฆ่าฟันไทย จึงได้ทิ้งค่ายปากคลองวามะนาวเสีย ล่าถอยเป็นคำนับไทยถึงสามครั้ง จึงถอยไปตั้งอยู่ที่ค่ายเก่า “เจียนทราย” คือเกาะแตง ฝ่ายกองทัพไทยก็ยิ่งรุกไล่ตีต่อไปไม่หยุด ฝ่ายญวนเห็นว่าถอยทัพเป็นการคำนับถึงสามครั้งแล้ว ไทยก็ไม่ฟัง ยังไล่ติดตามตีอยู่เสมอ ฝ่ายญวนเหลือที่จะรักษาชีวิตไว้ต่อสู้ความกตัญญูได้ จึงได้สู้รบบ้างพอเป็นการป้องกันรักษาชีวิตเท่านั้น ไม่ได้คิดจะต่อสู้ให้ไทยแตกตายก็หาไม่ กองทัพไทยก็ตกใจกลัวรีบถอยหนีแตกไปเอง ถึงเช่นนั้นนายทัพนายกองญวนก็ไม่ได้ซ้ำเติมตามตีไทยเลย ถ้าญวนจะนำทัพบกทัพเรือออกก้าวสกัดตามตีไทย ที่ไหนไทยจะหนีรอดไปได้ เพราะเรือรบไทยไทยก็ทิ้งเสียหมดไม่พาไปเอง ใช่ญวนแย่งชิงเรือรบของไทยไว้เมื่อไรเล่า ขณะไทยทิ้งเรือรบและทิ้งค่ายบกช้างม้าเสียมากตกใจตื่นแตกหนีไปนั้น ฝ่ายญวนมีไพร่พลพร้อมอยู่ทั้งทัพบกและทัพเรือถึงสิบหมื่น (คือแสนหนึ่ง) มีเรือรบใหญ่น้อยอยู่ถึงพันลำเศษ มีช้างถึงแปดร้อย มีม้าถึงสี่พัน ถ้าญวนจะติดตามตีขนาบไปทั้งทางบกและทางเรือพร้อมกัน ก็จะไม่ได้ชัยชนะแก่ไทยบ้างหรือ การที่แม่ทัพญวนไม่ได้ยกใหญ่ไล่ติดตามจับไทยมาเป็นเชลยนั้น เพราะแม่ทัพญวนถือรับสั่งพระเจ้าเวียดนามมินมางพระองค์ใหม่นี้ว่า พระเจ้าเวียดนามยาลวงพระองค์ก่อนสั่งไว้ ไม่ให้ญวนทำอันตรายแก่ไทยตามหมายประกาศพระเจ้าเวียดนามยาลวง มีรับสั่งไว้ให้แม่ทัพญวนทั้งบกและเรือให้รู้ทั่วกันว่า “ไทยมีพระคุณกับพระองค์ท่านมาก ถ้าไทยมาก่อการศึกก่อน ให้ญวนรักษาแต่เขตแดนไว้ให้มั่นคง อย่าให้ญวนก่อเหตุนอกรับสั่งไป ไม่ให้ทำอันตรายแก่ไทยผู้มีพระคุณ ให้ญวนรักษาหมายประกาศประพฤติตามรับสั่งพระเจ้ายาลวงดังนี้ชั่วฟ้าและดิน บนฟ้ามีเทพยดา ที่ดินมีมนุษย์เห็นความดีและชั่ว”
 (สิ้นความในหนังสือญวนเท่านี้ ครั้นพิเคราะห์ดูข้อความตามที่ญวนยกตัวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในความกตัญญู คิดถึงบุญคุณไทย ไม่ทำอันตรายแก่ไทยนั้น เนื้อความข้อที่ญวนพูดมานี้ ก็ไม่สมกับเมื่อญวนรบกับไทย ไทยฆ่าญวน ญวนก็ฆ่าไทยเหมือนกัน กิริยาญวนเมื่อล่าถอยหนีไทย และเมื่อรบกับไทยนั้น ไม่สมกับถ้อยคำญวนพูดมานี้เลย จึงเห็นว่าญวนกล่าวเท็จไม่จริงทั้งสิ้น อนึ่งเมื่อรบกันที่เมืองโจดก, เมืองบันทายมาศ, ปากคลองวามะนาว, ปากคลองสี่แยกสะแดก, ทุกแห่งนั้น ญวนก็สู้รบเป็นสามารถทุกแห่ง ถึงการที่ญวนทิ้งเมืองทั้งสองและทิ้งค่ายทั้งสองแห่งเสีย แล้วญวนล่าทัพถอยหนีนั้น สืบถามญวนเชลยที่จับเป็นมาได้ ก็บอกว่าทิ้งเมืองทิ้งค่ายหนีไปเพราะไพร่พลมีน้อย ไม่พอจะรับรองไทย ด้วยไพร่ญวนเกณฑ์ไปล้อมเมืองไซ่ง่อนอยู่มาก ญวนสู้ไทยไม่ได้จึงทิ้งเมืองและค่ายหนีไป เมื่อไทยเสียทีแก่ญวนที่เกาะแตงนั้น ไทยล่าถอยหนีมา ฝ่ายญวนก็ตามตีตามตีถึงสองครั้งสามครั้งโดยสามารถทุกที ญวนทำการไม่สมกับที่พูดว่าไม่ได้ตามตีไทยนั้น ญวนพูดไม่จริงเลย)
 ลุจุลศักราช ๑๑๙๗ ปีมะแม สัปตศก เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ ครั้งนั้นพระยาบำเรอภักดิ์กับหลวงราชมานู ข้าหลวงอยู่ช่วยราชการรักษาเมืองจำปาศักดิ์ ครั้งนี้เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ คิดราชการกับพระยาบำเรอภักดิ์ เกณฑ์ลาวหัวเมืองขึ้น ๑,๐๐๐ คน มารักษาบ้านเมือง เพราะได้ข่าวว่าเขมรจะยกมาตีเมืองลาว
 ครั้งนั้นองเตียนกุนแม่ทัพญวนใช้ให้องเยื่อนเป็นแม่ทัพ ให้สมเด็จเจ้าพระยาเขมรกับพระยาสุภาธิราชผู้ช่วยราชการเป็นสามนายด้วยกัน คุมไพร่เขมรพันหนึ่ง ญวนสามร้อยคน ยกมาตั้งรักษาด่านทางอยู่ที่เมืองกำพงสวาย และบ้านท่ามะนาว พระยาบำเรอภักดิ์กับหลวงราชมานูข้าหลวงบอกลงมากรุงเทพฯว่า “ทัพญวนเขมรยกมาใกล้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองนครจำปาศักดิ์ได้เกณฑ์ไพร่ลาวไปตั้งรักษาด่านทางอยู่บ้าง”
 เมื่อได้ทรงทราบดังนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า “พระยาบำเรอภักดิ์มีไพร่พลแต่ลาวหาแข็งแรงไม่ จึงโปรดให้มีตราเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเหนือชั้นในเป็นคนพันเศษ ให้ยกขึ้นไปเข้าในกองทัพพระยาราชนิกูล พระยาราชนิกูลเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองอุบลราชธานี”.........
 ** หนังสือ (จดหมาย) ญวนก็เป็น “แผ่นเสียงตกร่อง” อยู่นั่นแหละ ไม่มีความอะไรใหม่เลย กล่าวโกหกมดเท็จอย่างหน้าตาเฉย เฉพาะในข้อที่ว่าไม่ได้ยกตามตีไทย แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ชัดเจนว่า ญวนยกทัพบกตามตีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา แล้วถูกเจ้าพระยาบดินทรเดชาวางกลอุบาย “ค่ายนรกแตก” ที่โคกสะแก ฆ่าญวนตายเกือบหมดสิ้นทั้งกองทัพ ตายคาค่าย ๑,๔๑๕ เจ็บป่วยลำบาก ๔๑๖ จับเป็นได้ ๑๖๔ ญวนสี่ทัพ ๒,๒๐๐ คน หนีรอดไปได้เพียง ๓๖ คนเท่านั้น อีกทัพหนึ่งของญวนยกตามไปฆ่าไทยกองทัพพระยานครสวรรค์เสียสิ้นทั้ง ๑,๐๐๐ คน อีกทัพหนึ่งของญวนยกตามตีทัพเจ้าพระนครราชสีมาไปถึงเมืองบาพนม ถูกเจ้าพระยานครราชสีมาวางกลอุบายเช่นเดียวกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา ฆ่าทัพหน้าญวนเสียสิ้นไป ๘๐๐ คน แล้วยังมีทัพใหญ่ญวนที่ไล่ตามตีทัพพระยามณเฑียรบาลวังหน้าอีกเล่า เรื่องเหล่านี้ญวนมิได้นำมากล่าวในหนังสือจดหมายของเขาเลย และตอนนี้ญวนเชิดหุ่นเขมรเตรียมตีนครจำปาศักดิ์ของไทยแล้ว ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, น้ำหนาว, ลิตเติลเกิร์ล, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ก้าง ปลาทู, Thammada, ลายเมฆ, ชลนา ทิชากร, ปิ่นมุก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๓ -
เขมรไม่ล่วงล้ำจำปาศักดิ์ ถอยตั้งหลักพนมเปญงดเข่นฆ่า แม่ทัพไทยจัดการงานนานา ไร้ปัญหาพระตะบองสนองงาน
มีท้องตราเรียกกลับกรุงเข้าเฝ้า “พระนั่งเกล้า”ทรงปฏิสัณฐาร ทูลขอตั้ง“นักสุราย”หนึ่งชายชาญ ทรงประทานยศพระยาด้วยป |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... กองลาดตระเวนจากเกาะกงนำเรือเล็กออกลาดตระเวนไปสืบราชการเมืองบันทายมาศถูกญวนจับได้ นำไปขังตะรางไว้สองเดือน พระเจ้ามินมางได้รับทราบรายงานแล้วทรงสั่งให้ปล่อยตัว องตุ้มภู่แม่ทัพญวนเมืองบันทายมาศจึงปล่อยตัวพร้อมฝากหนังสือญวนให้เจ้าพระยาพระคลังฉบับหนึ่ง ความในหนังสือไม่มีอะไรใหม่ มีแต่ยกย่องตนเองว่าเป็นคนเก่งคนดีมีความกตัญญูรู้บุญคุณไทย เจ้าพระยาพระคลังอ่านแล้วก็เพิกเฉยเสีย ต่อมาพระยาบำเรอภักดิ์ข้าหลวงอยู่ช่วยราชการนครจำปาศักดิ์มีรายงานเข้ากรุงเทพฯว่า ญวนร่วมกับเขมรยกมาตั้งกองกำลังอยู่ใกล้นครจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองไม่ไว้ใจแก่ราชการ จึงเกณฑ์ไพร่พลลาวได้ ๑,๐๐๐ คนตั้งรักษาเมืองอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ไพร่พลลาวที่เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์เกณฑ์มานั้นไม่แข็งแรงพอ จึงโปรดให้เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเหนือชั้นในได้คนพันเศษ ให้เข้าในกองทัพพระยาราชนิกูล พระยาราชนิกูลเป็นแม่ทัพยกไปรักษาเมืองนครจำปาศักดิ์ วันนี้มาอ่านความต่อครับ.....
 “ฝ่ายพระยาราชนิกูล (เสือ) ยกขึ้นไปถึงเมืองลาวแล้ว จึงมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯว่า “ได้แต่งให้พระจันทราทิตย์กับหลวงเพชรไพโรจน์ข้าหลวงในพระราชวังหลวง และจมื่นศักดิ์บริบาลปลัดกรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ” เป็นข้าหลวงสามนาย กำกับทัพเมืองพิจิตรยกขึ้นไปถึงเมืองอุบลราชธานีแล้ว ได้เร่งรัดให้พระพรหมราชวงศ์อุปฮาด ท้าวเพี้ยเมืองอุบลราชธานี ทำค่ายเสาไม้แก่นยาวสามสิบเจ็ดเส้น กว้างสิบสี่เส้น สูงเจ็ดศอก มีป้อมเจ็ดป้อม, มีหอรบประจำทุกประตู และขุดสนามเพลาะรอบค่าย ได้ปลูกยุ้งฉางข้าวหลังหนึ่ง จุข้าวประมาณพันเกวียน และได้ปลูกโรงปืนศาลาพักทหารสี่หลัง แล้วก่อตึกดินดำหลังหนึ่ง ทำการค่ายไว้สำหรับรักษาเมืองพร้อมทุกสิ่งแล้ว จึงให้ข้าหลวงสามนายคุมทัพเมืองพิจิตร พร้อมด้วยพระปลัดเมืองพิจิตรอยู่รักษาเมืองอุบลราชธานี พระพรหมราชวงศาเจ้าเมืองอุบลราชธานีเกณฑ์ไพร่พลลาวมาเข้าสมทบกับกองทัพไทยด้วย
พระยาราชนิกูลก็ยกขึ้นไปถึงเมืองอุบลราชธานี ได้ตรวจตราค่ายคูประตูหอรบ แล้วสั่งกำชับเจ้าเมืองและข้าหลวงสามนายให้อยู่ป้องกันรักษาบ้านเมืองให้มั่นคง ถ้ามีข้าศึกมาหนักเบาให้บอกขึ้นไปจะได้จัดให้กองทัพเพิ่มเติมมาช่วยราชการอีก แล้วพระยาราชนิกูล พระ หลวง หัวเมืองเหนือก็ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายพระยาบำเรอภักดิ์กับหลวงราชมานูอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ก่อนนั้น จึงมาแจ้งข้อราชการแก่พระยาราชนิกูลว่า
 “เมื่อนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชายังไม่ถึงแก่พิราลัยนั้น พระยาเดโชรามเขมรมีหนังสือบอกลงไปถึงนักองจันทร์ที่เมืองพนมเปญว่า ครอบครัวเขมรอพยพหนีไปอยู่ในเขตแดนเมืองลาวที่ขึ้นแก่กรุงเทพฯนั้นเป็นอันมาก” ฝ่ายนักองจันทร์เจ้ากรุงกัมพูชาจึงใช้ให้สมเด็จเจ้าพระยา กับเจ้าพระยาราชไมตรี และพระยาสุภาธิราช สามคนเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลเขมร ๓,๕๐๐ คน ยกมาตั้งรักษาด่านทางเมืองกำแพงสวาย แล้วสมเด็จเจ้าพระยาเขมรแบ่งไพร่พลในกองออก ๕๐๐ แล้วให้สนองน้อยคนหนึ่ง กับไกรแบนคนหนึ่ง เป็นแม่กองคุมไพร่ ๕๐๐ ยกมาตั้งรักษาเมืองสะโทงใกล้บ้านไตรปิง เมื่อก่อนหน้ากองทัพกรุงเทพฯจะยกขึ้นถึงเมืองจำปาศักดิ์นั้น สมเด็จเจ้าพระยาเกณฑ์ไพร่เขมรป่าดง ๕๐๐ ให้พระอนุชิตสงครามเขมรคุมไพร่เขมร ๕๐๐ กับช้าง ๓๐ เดินมาลาดตระเวนถึงบ้านขันแตกพรมแดนเมืองลาวขึ้นแก่กรุงเทพฯ นั้น เกือบจะได้รบกับพวกลาวชาวด่านบ้านขันแตก ทัพช้างเขมรยกมาวันหนึ่งก็ถอยทัพกลับไป ตั้งรออยู่ที่บ้านปากทางในเขตแขวงเขมร
 พระยาราชนิกูลได้ทราบดังนั้นแล้วจึงพูดว่า “สมเด็จเจ้าพระยาเขมรมีไพร่พลเขมรมามาก รวมสามทัพถึง ๔,๐๐๐ คนนั้น ไม่ไว้ใจแก่ราชการ เห็นว่าเมืองจำปาศักดิ์ชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว ไม่เป็นที่รับทัพข้าศึกได้มั่นคง ถ้าเกลือกว่ามีทัพเขมรหรือญวนมาย่ำยีเมืองจำปาศักดิ์ แล้วก็จะเสียท่วงทีแก่ข้าศึก พระยาราชนิกูลจึงเกณฑ์ลาวทำค่ายเสาไม้แก่นขึ้นค่ายหนึ่งยาวสามสิบเจ็ดเส้น กว้างเก้าเส้นสิบวา สูงเจ็ดศอก มีป้อมหกป้อม มีหอรบทุกประตู ขุดสนามเพลาะคูรอบค่าย ให้ปลูกฉางข้าวเจ็ดหลัง ปลูกโรงปืนและศาลาพักไพร่พลสี่หลัง ก่อตึกไว้ดินดำพร้อม สำหรับรักษาบ้านเมืองจำปาศักดิ์ให้มั่นคงแข็งแรง จึงมอบให้เจ้าเมืองจำปาศักดิ์กับพระยาบำเรอภักดิ์ หลวงราชมานู อยู่รักษาค่ายและบ้านเมือง
พระยาราชนิกูลก็เดินทัพต่อไปใกล้บ้านขันแตก ตั้งพักทัพอยู่ที่ด่านนอกบ้านโพนเสม็ดเขตแดนลาว ครั้งนั้นใช้ให้ท้าวเกิดกับหลวงชัยสงครามเขมรเมืองอัตปือลอบลงไปสืบทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมร กลับมาแจ้งความว่า
“สืบได้ข่าวว่า กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมรยกเลิกกลับไปเมืองพนมเปญหมดแล้ว”
 พระยาราชนิกูลก็เดินทัพไปถึงเมืองพระตะบอง แล้วแจ้งราชการต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดราชการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยเป็นปรกติ จึงมอบบ้านเมืองเขมรให้นักองอิ่มและนักองด้วงเสร็จแล้ว จึงมีใบบอกให้หลวงเสนาภักดีถือเข้ามายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้มีตราหาตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาแจ้งราชการบ้านเมืองเขมรยังกรุงเทพฯ
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาและพระยา พระ หลวง นายทัพนายกอง พร้อมกันยกทัพกลับเข้ามายังกรุงเทพฯ พระยาศรีสหเทพนำเจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพเข้าเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสัณฐารปราศรัยว่า
“ฉันเห็นหน้าพี่บดินทรแล้วก็กินข้าวได้”
แล้วทรงจับพระเขนยอิงซึ่งทรงพิงพระขนองอยู่นั้นโยนไปพระราชทานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชารองศอก หมอบเฝ้าหน้าแท่นในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มิได้หมอบบนพระเขนยอิงร่วมพระราชูปโภค กราบถวายบังคมแล้วรับพระเขนยอิงมาวางไว้ตรงหน้าที่เฝ้านั้น แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชากราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยข้อราชการบ้านเมืองเขมรเสร็จสิ้นทุกประการแล้ว จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้นักสุรายเขมร ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้านายเขมรมาแต่ก่อน และเป็นผู้สวามิภักดิ์ได้ราชการทัพศึกมากด้วย ขอพระราชทานให้นักสุรายเป็นพระยาสวรรคโลก ตำแหน่งขุนนางใหญ่ฝ่ายเขมร จะได้อยู่ดูแลช่วยราชการบ้านเมืองกับนักองอิ่มและนักองด้วง เป็นกำลังราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราตั้งนักสุรายให้เป็นพระยาจำนงภักดีศรีสวรรคโลกาธิบดีอภัยพิริยะพาหะ ถือศักดินา ๕,๐๐๐ ไร่ ตำแหน่งข้าหลวงกรุงเทพฯ กำกับช่วยราชการเจ้าเขมรต่อไปในเมืองเขมร พระราชทานเครื่องยศพระยาอภัยภูเบศร์เขมรที่ถึงแก่กรรมนั้น ให้แก่พระยาจำนงภักดีฯ คือคนโททอง ๑ แต่พานทองนั้นโปรดเกล้าฯ ให้เอาถาดหมากทองเปลี่ยนออกไปแทน คงเครื่องยศถาดหมากคนโททอง..”
 ** จะว่าพระยาบำเรอภักดิ์เป็น “กระต่ายตื่นตูม” หรือเป็นเพราะเขมร “ท่าดีทีเหลว” ก็มิรู้ได้ กองทัพพระยาราชนิกูลยกไปนครจำศักดิ์แล้วพบว่า กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมรที่ยกไปตั้งท่าจะตีเมืองจำปาศักดิ์นั้น ยกกลับพนมเปญเสียสิ้นแล้ว พระยาราชนิกูลจึงเดินทัพเลยไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบอง ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้นจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว จึงมอบเมืองให้นักองอิ่ม นักองด้วงปกครอง แล้วมีในบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้าเฝ้าถวายรายงานข้อราชการเมืองเขมร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนักสุรายเชื้อสายเจ้าเขมรให้เป็นพระยาสวรรคโลกเขมรตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบทูลขอพระราชทาน ให้ช่วยราชการในนักองอิ่มนักองด้วงต่อไป ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, Thammada, ปลายฝน คนงาม, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๔ -
เมืองหัวพันทั้งหกหวนคืนกลับ มายอมรับไทยปกครองอย่างน้องพี่ ข้าขอบขัณฑเสมาใต้บารมี ขอภักดีถือพิพัฒน์สัตยา |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... กองทัพสมเด็จเจ้าพระยาเขมรที่ยกไปตั้งท่าจะตีเมืองจำปาศักดิ์นั้น ยกกลับพนมเปญเสียสิ้นแล้ว พระยาราชนิกูลจึงเดินทัพเลยไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองพระตะบอง ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาครั้นจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว จึงมอบเมืองให้นักองอิ่มนักองด้วงปกครอง และมีในบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีตราหาตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้าเฝ้าถวายรายงานข้อราชการเมืองเขมร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งนักสุรายเชื้อสายเจ้าเขมรให้เป็นพระยาสวรรคโลกเขมรตามที่เจ้าพระยาบดินทรเดชากราบทูลขอพระราชทาน ให้ช่วยราชการในนักองอิ่มนักองด้วงต่อไป วันนี้มาอ่านกันต่อครับ...
“ ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมายกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิไชย พบท้าวอ่อนเมืองหลวงพระบางพาพวกลาวเมืองหัวพันทั้งหกซึ่งจะสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ลงมาถึงเมืองพิไชย ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาเห็นว่า
 “พวกเมืองหัวพันทั้งหกที่มาเป็นแต่ท้าวเพี้ยเล็กน้อย หาสมควรจะมาเจรจาการบ้านเมืองไม่ จึงได้พาตัวพวกนั้นกลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง ครั้นถึงที่ ณ เมืองหลวงพระบางแล้ว เจ้าพระยาธรรมาและเจ้านครหลวงพระบาง เจ้าอุปราช เจ้าราชบุตร จึงปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า เมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้แต่ก่อนเป็นหัวเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ และเป็นหัวเมืองปลายเขตแดนข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯมาแต่เดิม หาได้เป็นหัวเมืองขึ้นหัวเมืองออกแก่ญวนไม่ เมื่อครั้งเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถต่อกรุงเทพฯ เจ้าอนุหนีไปพึ่งญวน เจ้าอนุจึงนำเมืองหัวพันทั้งหกไปยกให้ขึ้นกับญวนเหมือนเมืองพวน ฝ่ายญวนก็ถือว่าเจ้าอนุยกให้ญวน ญวนจึงได้มาปกครองครอบงำเมืองพวนและเมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้ไว้ในอำนาจญวนทั้งสิ้น ครั้นกองทัพไทยยกขึ้นไปปราบปรามเมืองพวนอยู่ในอำนาจ พระมหาเทพ (ชื่อป้อม) แม่ทัพใหญ่ และพระราชวรินทร(ชื่อขำ) แม่ทัพรองดังนั้นแล้ว ครั้งนั้นพวกเมืองหัวพันทั้งหกกลัวกองทัพไทยจะยกขึ้นไปตีบ้านเมืองหัวพันทั้งหก เมืองหัวพันทั้งหกจึงคิดอ่านกลับใจออกห่างจากญวน มาขึ้นกับเมืองหลวงพระบางขอเป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ ตามเดิม ครั้นจะแต่งกองทัพไทยยกขึ้นไปตีบ้านเมืองหัวพันทั้งหกนั้นเล่า ก็เห็นว่าเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย จะพลอยยับเยินไปเสียเปล่า ๆ จึงให้เพี้ยศรีอรรคฮาชกับท้าวมงคลพาพวกเพี้ยท้าวเมืองหัวพันทั้งหกที่ลงมานั้น ให้กลับคืนขึ้นไปบ้านเมืองหัวพันทั้งหกแล้ว จะได้บอกเจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ให้ลงมาหาแม่ทัพที่เมืองหลวงพระบาง จึงจะรับเป็นไมตรีบ้านพี่เมืองน้องกัน”
ฝ่ายเพี้ยศรีอรรคฮาชกับท้าวมงคล ซึ่งเป็นข้าหลวงขึ้นไปถึงเมืองหัวพันทั้งหกอีกในครั้งที่สามนี้แล้ว จึงได้พาเจ้าเมืองเหียม ๑ ปลัดเมืองหัว ๑ ปลัดเมืองซอน ๑ ท้าวพลไชยเมืองซำเหนือ ๑ ท้าวเพี้ยศิริจันทรเมืองซำใต้ ๑ และท้าวพระยาลาว ท้าวเพี้ยมีชื่อทั้งปวง ก็พากันมาหาเจ้าพระยาธรรมาที่เมืองหลวงพระบาง แสนท้าวพระยาลาวท้าวเพี้ยจึงแจ้งความต่อเจ้าพระยาธรรมาและเจ้านครหลวงพระบางว่า
“เจ้าเมืองกรมการแสนท้าวพระยาลาวเมืองหัวพันทั้งหก ปรึกษาพร้อมกันทุกเมืองตกลงจะยอมสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณเสมากรุงเทพฯ จะขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ขึ้นกับเมืองนครหลวงพระบางต่อไปให้เหมือนกับเมื่อครั้งเคยขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์มาแต่ก่อน”
เจ้าเมืองเหียมแจ้งต่อไปว่า “เจ้าเมืองกรมการเมืองซำใต้ เมืองไชย เมืองเชียงค้อ เมืองเชียงคาน เมืองซวย และเมืองทั้งหลายหัวพันทั้งหก จะจัดกันตามมาภายหลัง คงจะถึงเมืองหลวงพระบางในเดือนหน้า”
 ฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพสั่งให้พระหฤทัยกับหลวงราชเสวก นายจ่าเนตรมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรฯ สามนายเป็นข้าหลวงกำกับท้าวมหาไชยพระยาเมืองแผน ท้าวคำอ่อน ท้าวพันธุแสน ท้าวเมืองหลวงพระบาง คุมทัพพาตัวเจ้าเมืองเหียม ๑ ปลัดเมืองหัว ๑ ปลัดเมืองซอน ๑ ท้าวพลไชยเมืองซำเหนือ ๑ ท้าวเพี้ยมีชื่อเมืองหัวพันทั้งหก ยกลงมาแจ้งข้อราชการกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาให้ถามเจ้าเมืองเหียมปลัดเมืองหัวปลัดเมืองซอน ท้าวพลไชยเมืองซำเหนือ ให้การต้องคำกันว่า
“แต่ก่อนเมืองหัวพันทั้งหกคือ เมืองเหียม ๑ เมืองหัว ๑ เมืองซำเหนือ ๑ เมืองซำใต้ ๑ เมืองเชียงค้อ ๑ เมืองเชียงคาน ๑ เมืองซอน ๑ เ มืองโซย ๑ เมืองซัน ๑ กับหัวเมืองขึ้นอีก ๔๑ เมือง เมืองเหล่านี้เป็นหัวเมืองขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์มาแต่เดิมแล้ว หาได้เคยเป็นเมืองขึ้นเมืองออกแก่ญวนไม่ ครั้นเมื่อเจ้าอนุเวียงจันทน์คิดขบถต่อกรุงเทพฯ เจ้าอนุสู้รบกองทัพไทยไม่ได้ จึงแตกหนีไปพึ่งญวน เจ้าอนุจึงนำเมืองหัวพันทั้งหกนี้ไปยกให้ขึ้นกับเมืองญวน พระเจ้าเวียดนามจึงแต่งขุนนางญวนมาจัดการบ้านเมืองลาวเหล่านี้ ให้เจ้าเมืองหัวพันทั้งหกมาขึ้นกับเมืองญวน ชื่อเมืองซือเง้ ชื่อเมืองซือเท่ง เจ้าเมืองซือเง้ และเจ้าเมืองซือเท่ง ก็พาตัวเจ้านายลาวหัวพันแต่ผู้ใหญ่แปดนายลงไปเฝ้าพระเจ้าเวียดนามที่กรุงเว้ แล้วก็กลับมารักษาบ้านเมืองอย่างเดิม ครั้งนั้นเจ้าเมืองท้าวเพี้ยพวกหัวพันทั้งหกหามีที่พึ่งไม่ กลัวอำนาจญวน จึงต้องเสียส่วยให้แก่ญวนต่อมา จึงได้เป็นเมืองขึ้นกับญวน
อนึ่งเมื่อปีมะเส็งเบญจศกจุลศักราช ๑๑๙๕ ปีนั้น กองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองพวนซึ่งขึ้นกับญวนนั้นได้แล้ว ฝ่ายพวกเมืองหัวพันทั้งหกกลัวกองทัพพระมหาเทพและพระราชวรินทรจะยกกองทัพไทยเลยขึ้นไปตีบ้านเมืองหัวพันทั้งหก เมืองหัวพันทั้งหกจึงคิดพร้อมใจกันกลับใจออกห่างจากญวน มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ ต่อไปอย่างเดิม ไม่สมัครขึ้นกับญวน จะขอทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ขึ้นกับเมืองหลวงพระบางต่อไปอย่างเดิม จะได้พึ่งพระบารมีพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ บ้านเมืองหัวพันทั้งหกจะได้ตั้งอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป เหมือนแต่กาลก่อน”
ฝ่ายเจ้าพนักงานจึงนำคำให้การท้าวพระยาลาวเมืองหัวพันทั้งหกขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า
 “เมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้ เป็นแต่ช่วงเมืองกิ่งเมืองอยู่ปลายเขตแดนลาว พวกเหล่านี้หาได้ร่วมคิดเป็นขบถด้วยเจ้าอนุไม่ พวกเหล่านี้ไปขึ้นกับญวนก็เพราะเจ้าอนุชักนำพาเขาไป บัดนี้พวกเมืองหัวพันทั้งหกเขาไม่คิดขัดขืนแข็งแรงต่อสู้กับทัพไทย เพราะเขากลัวกองทัพไทยจะเข้าไปย่ำยีบ้านเมืองของเขาให้ยับเยิน เขาจึงได้ปรึกษาหารือกันกลับใจมาสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ เหมือนแต่ก่อน พวกเหล่านี้เขาก็อ่อนน้อมยอมมากับกองทัพไทยโดยดี ไม่ต้องถูกตีถูกรบลำบากแก่ไพร่พลทั้งสองฝ่าย แล้วเจ้าเมืองเหียมปลัดเมืองหัวปลัดเมืองซอน และท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ก็ได้ลงมาจนถึงกรุงเทพฯ แล้ว ให้พวกเหล่านี้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานุสัตย์เสียทุกคน ก็ต้องงดกองทัพซึ่งจะยกไปตีเมืองหัวพันทั้งหกไว้ก่อน ลองดูใจพวกเมืองหัวพันทั้งหกไปว่า จะสวามิภักดิ์โดยสุจริตจริงหรือไม่ เมื่อพวกเมืองหัวพันทั้งหกสวามิภักดิ์โดยสุจริตจงรักภักดีแท้แน่นอนแล้ว บ้านเมืองของเขาก็จะอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป ไม่ประพฤติตามอย่างธรรมเนียมที่ให้ความสัตย์สัญญาไว้นั้นไซร้ ก็เห็นว่าเมืองหัวพันทั้งหกเหล่านี้ มันก็หาพ้นเงื้อมมือทแกล้วทหารไทยไม่ ซึ่งเมืองหัวพันทั้งหกจะสมัครขึ้นกับเมืองหลวงพระบางนั้น ก็ให้ตามใจสมัครเถิด”
จึงโปรดเกล้าฯให้ท้าวคำอ่อน, ท้าวเล็ก, ท้าวพันธุแสน, ท้าวมหาไชย, พระยาเมืองแผน ชาวเมืองหลวงพระบาง พาพวกเมืองหัวพันทั้งหกกลับขึ้นเมืองหลวงพระบาง
ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ กรมมหาดไทยมีท้องตราพระราชสีห์บังคับขึ้นไปถึงเจ้าพระยาธรรมาแม่ทัพและเจ้านครหลวงพระบางว่า
 “ให้แต่งขุนนางลาวที่มีสติปัญญาขึ้นไปสืบสวนดูกิจการในเมืองหัวพันทั้งหกให้รู้หนักเบา เพราะว่าพวกนี้มันแตกร้าวจากเราพึ่งญวนอยู่หลายปีแล้ว มันพึ่งจะกลับใจมาสวามิภักดิ์ต่อไทยในเร็ว ๆ นี้ เพราะมันกลัวกองทัพไทยจะไปทำย่ำยีบ้านเมืองมัน มันจึงหันมาหาเรา จะเป็นการภักดีโดยสุจริตจริง หรือมันจะคิดเป็นใจหนึ่งสองใจประการใดก็ให้สืบมาให้รู้ด้วย ถึงมาทว่ามันจะสวามิภักดิ์จริงไซร้ ก็ให้ทดลองมันดูก่อน ให้เกณฑ์กองทัพเมืองหัวพันทั้งหกให้ยกมาสมทบกับทัพเมืองหลวงพระบาง ให้เจ้าอุปราชเป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองพวนที่ยังกระด้างกระเดื่องไม่ราบคาบต่อไปอีก ถ้าพวกเมืองหัวพันทั้งหกสวามิภักดิ์โดยจริงแล้ว มันก็คงจะยกกองทัพมาตามเกณฑ์ ถ้ามันไม่ไว้ใจแก่เรา หรือมันกลัวว่าเราจะแกล้งเกณฑ์พวกมันมาแล้ว ก็จะจับตัวเจ้าเมืองนายทัพกับไพร่พลที่ฉกรรจ์นั้นไว้เสียสิ้น มันจะคิดไปต่าง ๆ นานา โดยความไม่ไว้ใจ กลัวพวกเราจะหลอกลวงแก่มัน ถ้ามันคิดดังที่ว่ามานี้มันก็จะไม่ยกกองทัพมาช่วยเราคราวนี้เป็นแน่ เราก็จะเห็นใจมันว่ามันไม่สมัครสวามิภักดิ์แก่เราโดยแท้ ถ้าเป็นดังที่ว่าไปนี้แล้ว ก็ให้เจ้าพระยาธรรมากับเจ้านครหลวงพระบางคิดอ่านยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปตีกวาดต้อนพาครอบครัวเมืองหัวพันทั้งหกลงมาให้ได้ กับให้เกลี้ยกล่อมเมืองลาวนอกจากเมืองหัวพันทั้งหกนั้น เมืองไหนที่ยังไม่อ่อนน้อมก็ให้คิดใช้คนไปพาลงมาเฝ้าให้สิ้นเชิง ถ้าราชการข้างเมืองเขมรจะผันแปรไปประการใด จึงจะมีท้องตราขึ้นไปแจ้งราชการ ณ กรุงเทพฯต่อภายหลัง”......
** ปล่อยข้อความเรื่องให้อ่านยาว ๆ เพื่อให้เห็นพระราชดำริอันเฉลียวฉลาดการศึกสงครามในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ปิ่นมุก, ลมหนาว ในสายหมอก, Thammada, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ปลายฝน คนงาม, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๕ -
เจ้ามินมางสั่งเตียนกุนกุมเขมร วางกำหนดกฎเกณฑ์การเข่นฆ่า ทัพเหี้ยมโหดโทษตายหลายอัตรา เหมือนสัตว์ป่ากระหายตายไม่กลัว |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... เจ้าพระยาธรรมา(สมบุญ) ยกทัพกลับไปตีเมืองหัวพันทั้งหกตามรับสั่งอีกครั้ง เดินทัพไปถึงเมืองพิชัย (อุตรดิตถ์) พบว่าท้าวเพี้ยเมืองหลวงพระบางพาเจ้าเมือง ปลัดเมืองหัวพันทั้งหกส่วนหนึ่งเดินทางลงมา แต่เจ้าพระยาแม่ทัพยังไม่ไว้ใจในราชการจึงพากลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง แล้วให้เพี้ยศรีอรรคฮาชขึ้นไปเมืองหัวพันทั้งหกอีกครั้ง แล้วพาเจ้าเมืองเหียมและปลัดเมืองต่าง ๆ ลงมาเมืองหลวงพระบาง เจ้าพระยาธรรมาให้ข้าหลวงกำกับขุนนางเมืองหลวงพระบางพาเจ้าเมืองเหียมและพวกลงมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอบถามได้ความเป็นที่พอพระทัยแล้วให้พากลับไปปกครองบ้านเมืองตามเดิม พร้อมกับมีท้องตราบังคับขึ้นไปให้เจ้าพระยาธรรมาและเจ้านครหลวงพระบางทำตามพระราชดำริ “ลองใจ” ชาวเมืองหัวพันทั้งหกด้วย วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....
“ ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๙๗ ปี พระยาจำนงภักดีศรีสวรรคโลกาธิบดี (ชื่อสุรายเขมร) ซึ่งเป็นข้าหลวงกำกับช่วยราชการอยู่ ณ เมืองพระตะบองนั้น มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “ได้ใช้ให้คนสนิทที่เป็นเขมรพ่อค้าพูดภาษาญวนได้มาก ปลอมเป็นพวกพ่อค้า มีสินค้าลงไปตั้งการค้าขายอยู่ตามหัวเมืองเขมรตลอดถึงเมืองพนมเปญที่แม่ทัพญวนตั้งอยู่นั้น สืบได้ความว่า พระเจ้าเวียดนามมินมาง มีหนังสือรับสั่งมาถึงองเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ที่อยู่เมืองพนมเปญนั้น ใจความว่า ทุกวันนี้บ้านเมืองเขมรทั้งปวงก็ได้เป็นเขตแดนแผ่นดินญวนเสร็จแล้ว กองทัพไทยก็เลิกถอนไปหมดสิ้น ไม่มีที่กีดขวางเลย ให้องเตียนกุนเกณฑ์ไพร่พลเขมรสี่ส่วน ญวนส่วนหนึ่ง ให้ขุนนางญวนเป็นนายทัพใหญ่ ให้ขุนนางเขมรเป็นนายรอง คุมกองทัพไปรักษาเขตแดนบ้านเมืองเขมรไว้ให้มั่นคง อย่าให้เขมรคุมกันเป็นขบถขึ้นได้ ถ้าองเตียนกุนรักษาบ้านเมืองเขตแดนเขมรไว้ได้ ไม่เป็นอันตรายแล้ว จะให้องเตียนกุนเป็นผู้สำเร็จราชการสิทธิขาดครอบครองแผ่นดินเขมรสืบต่อไป เหมือนเมืองลงฝ่ายลาวก็ได้ให้ขุนนางญวนไปเป็นใหญ่ในเขตแดนฝ่ายเหนือลาวนั้นเป็นตัวอย่างมีมาแล้ว ให้องเตียนกุนคิดจัดการบ้านเมืองเขมรให้เป็นเกียรติยศแก่ญวน”
 ครั้งนั้นองเตียนกุนจึงมีหนังสือบังคับไปถึงองอานภู่แม่ทัพญวนซึ่งเป็นที่สอง และเจ้าเมืองกรมการญวนและเขมรทุกหัวเมือง ให้รักษาบ้านเมืองเขตแดนไว้ให้มั่นคง อย่ามีเหตุเภทภัยอันตรายเกิดขึ้นได้ ถ้าบ้านใดเมืองใดเกิดขบถขึ้นหรือรักษาเมืองไม่ดี ทำให้บ้านเมืองเสียแก่ข้าศึกศัตรู จะลงโทษเจ้าเมืองกรมการเขมรและญวนข้าหลวงนั้น ๆ ถึงตาย ฝ่ายองเตียนกุนแม่ทัพก็อุตสาหะตั้งกองฝึกหัด ซ้อมทหารญวนและเขมรให้ทำเพลงอาวุธชำนิชำนาญอยู่ที่เมืองพนมเปญ แล้วองเตียนกุนทำกฎหมายข้อบังคับสำหรับกองทัพ แจกไปทั่วทุกหัวเมืองใหญ่น้อยทุกทัพทุกกองใจความว่า
“กองทัพกองหนึ่งให้มีไพร่ห้าร้อยคน แล้วให้มีจันเกอติดเบียนคนหนึ่ง ภอเกอคนหนึ่ง ถ้ามีการศึกสงครามมา ให้ไพร่ถือปืนใหญ่น้อยสองร้อยคน ให้ถือทวนง้าวดาบสองมือสองร้อยคน ให้มีนายหมวดสิบหกคนคุมไพร่ที่ถือปืนและทวนง้าวดาบออกรบข้าศึก ให้มีคนถือธงสำหรับทัพกองหนึ่ง ธงใหญ่สามต้น ธงเล็กสิบหกต้น ให้ใช้คนหามกลองศึกใบละสองคน ถือม้าล่อสองคน คนกั้นร่มจันเกอคนหนึ่ง ถือกันฉิ่งไปหน้าจันเกอสองคัน คันละคน กั้นร่มภอเกอคนหนึ่ง ให้มีคนสำหรับรับใช้ภอเกอและจันเกอข้างละสิบคน เป็นยี่สิบคน ไพร่จ่ายใช้สอยในกำลังกองทัพยี่สิบคน ไพร่ที่ยังเหลืออยู่อีกเจ็ดคนให้เลี้ยงม้าจันเกอ ภอเกอ และถือเครื่องกินเครื่องยศภอเกอ จันเกอเป็นคนห้าร้อย ไพร่พลทหารให้ฟังเสียงกลองศึกและเสียงม้าล่อ ให้สังเกตดูธงใหญ่จะโบกใช้ทำอุบายสัญญาอย่างไร ก็ให้ทหารประพฤติตามความสัญญาธงทุกประการ ถ้าไพร่พลญวนเขมรขลาดกลัวข้าศึก ย่อท้อถอยหลัง หรือแอบแฝงบังกระสุนปืนข้าศึก ให้นายหมวดสืบจับตัวไพร่ที่ขลาดมาให้จันเกอฆ่าเสียเดี๋ยวนั้น อย่าให้ทันล่วงเวลาได้เลย ถ้านายหมวดนายกองนายร้อยกลัวข้าศึก ก็ให้จันเกอ ภอเกอจับตัวมาชำระไต่ถาม ได้ความเป็นสัจแล้วก็ให้ฆ่าเสียเดี๋ยวนั้น ถ้าเมื่อกำลังรบกับข้าศึกนั้น นายหมวดถูกอาวุธข้าศึกตายหรือเจ็บป่วยจะทำการรบต่อไปในทันใดไม่ได้ ก็ให้บ่าวไพร่ที่แข็งแรงเข้ารับการแทนหน้าที่นายหมวดที่ป่วยตายต่อไป ถ้าจันเกอหรือภอเกอป่วยเจ็บไข้ ถูกอาวุธข้าศึกในระหว่างรบกันนั้น ให้องโดยหรือองดายผู้หนึ่งผู้ใดที่มีสติปัญญา ก็ให้ขึ้นแทนที่จันเกอ ภอเกอต่อไป ถ้านายไพร่ไม่ประพฤติตามกฎหมายข้อบังคับนี้ มีโทษถึงตาย เมื่อสู้รบกับข้าศึกนั้นถ้าไพร่ตายมากน้อยเท่าใดก็ดี เสียงกลองศึกสัญญายังไม่ตีเพลงให้ถอยทัพ ไพร่จะถอยออกมาเสียก่อนเสียงกลองไม่ได้ โทษถึงตาย จันเกอก็ดี ภอเกอก็ดี นายหมวดนายร้อยก็ดี ถ้ารู้เห็นว่าไพร่หนีกองทัพ นิ่งความไว้ไม่บอกแม่กองใหญ่ โทษถึงตายทั้งนายและไพร่ ถ้ารู้เห็นว่าไทยยังตกค้างอยู่บ้านใดเมืองใดก็ให้เขมรสืบจับไทยมาส่งให้แม่ทัพใหญ่จนสิ้นเชิง อย่าให้ไทยเหลืออยู่แต่สักคนหนึ่งได้เลยเป็นอันขาด”
 นักองราชาวดี (พระบาทสมเด็จพระนโรดม) ครั้น ณ วันศุกร์เดือนสามแรมค่ำปีมะแมสัปตศก นักองด้วงมีแม่นางบาทบริจาริกาคนหนึ่ง ชื่อนักนางแป้น เป็นบุตรีพระยาศุภาธิบดีเขมร นักนางแป้นมีครรภ์สมภพบุตรชายองค์หนึ่ง นักองด้วงบิดาตั้งชื่อกุมารที่คลอดนั้น ชื่อว่านักองราชาวดี (คือสมเด็จพระนโรดมพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี ที่อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส)
 ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมา (ชื่อทองอิน) ซึ่งเป็นแม่ทัพไปปราบปรามเขมรและญวนเสร็จราชการแล้ว กลับมายังเมืองนครราชสีมาแล้วได้ข่าวว่า ที่หัวเมืองขึ้นมีช้างพลายเชือกหนึ่ง สีขาวเหมือนช้างเผือก จึงใช้กรมการไปนำมาดู เห็นว่าเป็นช้างพลายรูปงาม สีหนังช้างนั้นขาวบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาวเทศอย่างดี จึงมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งใจความว่า
“ช้างพลายสูงสามศอกคืบกับนิ้วหนึ่ง เดิมเป็นช้างดำตามธรรมเนียมปรกติ ครั้นใช้สอยบรรทุกเกลือและปลาร้าไปค้าขายเมืองลาวหลายปี หนังกลับลอกออกเป็นสีขาวบริสุทธิ์ทั่วทั้งกาย ขนตามหนังก็ขาวบริสุทธิ์เหมือนสีเนื้อ แต่ขนหางและจักษุกับเล็บดำเหมือนช้างดำตามธรรมเนียม”
จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา ให้นำช้างพลายประเสริฐเดินมาลงแพที่บ่อโพงกรุงเก่า แล้วให้กรมการทำแพนำพระยาช้างพลายประเสริฐลงมายังกรุงเทพฯ แล้วมีตราหาตัวเจ้าพระยานครราชสีมาลงมาเฝ้าด้วย จะพระราชทานเสลี่ยงพนักงาน พานทองกลมรองล่วมหมากเพิ่มเกียรติยศความชอบในราชการทัพศึก เจ้าพระยานครราชสีมานำช้างพลายประเสริฐลงมาถึงกรุงเทพฯ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามแรมเก้าค่ำ ปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๙๖ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทอดพระเนตรแล้ว มีพระราชโองการดำรัสว่า
“สีหนังขาวบริสุทธิ์เหมือนสีสังข์ขาวทั่วทั้งตัวเหมือนผ้าขาว ขัดอยู่แต่ที่จักษุกับขนหางดำไป ไม่ขาวเหมือนสีที่หนังตัว ถ้าจะว่าตามในพระราชพงศาวดารสยามฝ่ายเหนือก็มีช้างเผือกงาดำ ครั้งนี้จะเป็นช้างเผือกหางดำไม่ได้หรือ”
 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปลูกโรงสมโภชที่ท้องสนามหน้าจักรวรรดิหน้าพระที่นั่งสุทไธสวริยปราสาท แล้วตั้งพระราชพิธีพราหมณ์สามวัน แล้วมีการมหรสพสมโภชสามวันสามคืน ครั้งนั้นมีละครอิเหนาโรงใหญ่กรมหลวงรักษ์รณเรศร์ แล้วมีโขนอุโมงค์โรงใหญ่กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ แล้วขึ้นระวางพระราชทานนามกรว่า “พระยามงคลนาคินทร์ ไอยราวรรณ พรรณสีสังข์ประเสริฐเศวตกัมเลศรังสฤษฏ์ อิศรรังรักษ์ จักรกฤษณราชรังสรรค์ มหันตะมหาวัฒนานุคุณ วิบุลยลักษณ์เลิศฟ้า” แล้วพระราชทานเสลี่ยงพนักงาสัปทนคันยาว กับพานทองคำกลมรองล่วมหมากหักทองขวาง แก่เจ้าพระยานครราชสีมา........”
** ญวนแสดงตนชัดเจนแล้วว่าเป็นผู้ครอบครองเขมร และเป็นอริราชศัตรูไทย หลังจากที่องเตียนกุนออกกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว เรื่องราวระหว่างญวนกับไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร ติดตามอ่านกันนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, ฟองเมฆ, ปิ่นมุก, ก้าง ปลาทู, น้ำหนาว, ปลายฝน คนงาม, กร กรวิชญ์, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 นักองค์ด้วง : ละคร "ข้าบดินทร์" - อานามสยามยุทธ ๑๑๖ -
ได้ช้างพลายปรากฏเป็นคชกระ แปลกเกินจะอธิบายให้ถ้วนทั่ว “พระบรมไกรสร”ยืนซ่อนตัว อยู่ในรั้วในวังยั่งยืนชนม์
สร้างเมืองพระตะบองใหม่ได้ลุล่วง “นักองด้วง”ก่อหวอดวุ่นสับสน เป็นผู้นำกัมพูชาจลาจล ประพฤติตนเบือนบิดผิดร่องรอย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระเจ้ามินมางสั่งองเตียนกุนดำเนินการครอบงำเขมรทั้งหมด ถ้าจัดการเขมรให้สงบเรียบร้อยแล้ว จะตั้งให้เป็นใหญ่ในเขมรต่อไป องเตียนกุนจึงออกกฎหมายจัดระเบียบกองทัพอย่างเข้มงวด แล้วสั่งเขมรสืบเสาะดูทุกบ้านเรือนทุกซอกทุกมุม หากพบคนไทยให้จับกุมส่งแม่ทัพใหญ่ญวน อย่าให้มีหลงเหลืออยู่ในเขมรได้เป็นอันขาด ส่วนทางเมืองไทยนั้น เจ้าพระยานครราชสีมาพบช้างพลายมีสีตัวขาวผ่องบริสุทธิ์ จึงมีใบบอกเข้ากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้นำช้างนั้นเข้ากรุงเทพฯ แล้วทำพิธีสมโภชขึ้นระวางตามพระราชประเพณี วันนี้มาอ่านต่อครับ.....
 ลุจุลศักราช ๑๑๙๘ ปีวอก อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๗๙) เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ พระยาราชนิกูล (เสือ) ได้ช้างพลายช้างหนึ่งที่แขวงเมืองจำปาศักดิ์ สีหนังช้างนั้นดำตามธรรมเนียม แต่มีจุดขาวเต็มพืดไปทั่วทั้งกาย เป็นช้างกระ สูงสี่ศอกสิบนิ้ว เมื่อจะกลับลงมากรุงเทพฯ ด้วยสิ้นราชการแล้ว จึงนำช้างกระนั้นลงมาด้วย ได้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อขึ้นระวางชื่อ “พระบรมไกรสร กุญชรชาติอำนวยพงศ์ มงคลคชยศอนันต์ มหันตะคุณ วิบุลย์ลักษณเลิศฟ้า” (ช้างกระที่ชื่อพระบรมไกรสรนั้น มีอายุยืนยาวอยู่มาจนปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบรมไกรสรแก่ชราลงแล้วจะเดินลงอาบน้ำ หรือเดินขบวนแห่คเชนทรสนาน คนแลดูห่าง ๆ สีหนังผ่องขาวเหมือนช้างเผือกอย่างเอก เว้นเสียแต่จักษุและขนดำทั้งสิ้น ครั้นเมื่อพระยาราชนิกูล (เสือ) ได้เป็นเจ้าพระยาในรัชกาลที่ ๔ ก็ยังได้เห็นพระบรมไกรสรอยู่เป็นคู่ยศด้วยกันกับท่านสืบมา)
 ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังไปทำเมืองจันทบุรีใหม่เสร็จแล้ว กลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนหก ขึ้นสี่ค่ำ ปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ ปี ครั้งนั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถหัวหมื่นมหาดเล็ก (ชื่อช่วง) เป็นบุตรผู้ใหญ่ในเจ้าพระยาพระคลัง ได้รับพระราชโองการเป็นนายช่าง ไปต่อกำปั่นใบที่เมืองจันทบุรีอีกลำหนึ่ง ปากกว้างสี่วาสองศอก เป็นกำปั่นขนาดใหญ่ในครั้งนั้น ครั้นทำเสร็จแล้วในปีวอกอัฐศก จึงได้นำกำปั่นลำนั้นมาถวาย พระราชทานชื่อกำปั่นว่า “วิทยาคม” ให้เตรียมการไว้ใช้เป็นเรือรบทะเลไปทำศึกกับญวนอีกสักคราวหนึ่งให้ได้เมืองญวน
 ในปลายปีวอกอัฐศกศักราช ๑๑๙๘ ปีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริถึงหัวเมืองลาวและเขมรป่าดง ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยามตามหัวเมืองลาวเขมรฝายตะวันออกหลายเมือง ยังไม่ได้ทำบัญชีจำนวนชายฉกรรจ์ให้รู้เป็นแน่ เมืองหนึ่งมีไพร่พลชายฉกรรจ์เท่าใดแน่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปทำบัญชีลาวและเขมรเมืองตะวันออกคือ เมืองขุขันบุรี เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองศีรษะเกษ เมืองเดชอุดม เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลราชธานี เมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองศรีทันดร เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองอัตปือ รวม ๑๓ หัวเมือง
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่อป้อม) กับพระพิเรนทร์เทพ (ชื่อขำ) ขึ้นไปทำบัญชีชำระเลกหัวเมืองที่เป็นลาวเก่าหรือลาวที่กวาดต้อนมาใหม่ ให้พระยามหาอำมาตย์ไปชำระตัวเลขเมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองสกลนคร เมืองไชยบุรี เมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมุกดาหาร เมืองเขมราฐ เมืองขงเจีย ม เมืองสะเมีย เมืองสาละวัน เมืองทองคำใหญ่ รวม ๑๒ เมือง
ให้พระพิเรนทร์เทพชำระตัวเลขเมืองหนองคาย เมืองหนองละหาน เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองภูเวียง เมืองปากเหือง รวม ๖ เมือง
เจ้าพระยาบดินทรเดชากับพระยามหาอำมาตย์ และพระพิเรนทร์เทพ ทั้งสามกราบถวายบังคมลายกขึ้นไปเมืองลาวและเมืองเขมรป่าดงพร้อมกันทั้งสามกอง แต่ ณ เดือนยี่ ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๙๘ ปี
 ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชายกออกไปถึงเมืองพระตะบอง ณ เดือนสาม ขึ้นห้าค่ำ ในปีวอกอัฐศกนั้น มีใบบอกเข้ามาว่า
“ค่ายเก่าที่เมืองพระตะบองได้ทำไว้แต่ก่อนนั้น โดยยาวยี่สิบสามเส้นกับสิบว่า กว้างสิบเส้น บัดนี้ค่ายเก่านั้นชำรุดหักพังเสียยับเยินไปเป็นอันมาก ที่หน้าเมืองพระตะบองเก่านั้น ถ้าถึงฤดูฝนตกแล้ว ดินหน้าตลิ่งพังเสมอทุกปี จะทำบ้านเมืองตั้งค่ายที่ฝั่งตลิ่งพังไม่ถาวรมั่นคง จะขอพระราชทานทำอิฐเผาปูนก่อป้อมกำแพงสร้างเมืองขึ้นใหม่ แต่จะเลื่อนขึ้นไปสร้างข้างเหนือน้ำ พ้นเมืองเก่าไปมาก ควรจะทำเมืองที่นักองอิ่มตั้งอยู่นั้น เป็นที่ดอนดี น้ำไม่ท่วมตลิ่ง ตลิ่งไม่พัง ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมืองก่อด้วยอิฐแล้ว ขอพระราชทานแบบอย่างป้อมกำแพงประตูหอรบ ออกไปให้ช่างดูจะได้ทำขึ้น”
ครั้นทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราอนุญาตพระราชทานแบบตัวอย่างป้อมค่ายหอรบกำแพงใบสีมาออกไป ยอมให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างเมืองพระตะบองขึ้นใหม่ จะได้เป็นที่ป้องกันพระราชอาณาเขตฝ่ายหัวเมืองเขมรด้วย แล้วจะได้เป็นพระเกียรติยศแผ่นดินสืบไปชั่วฟ้าและดิน ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบท้องตราอนุญาตออกไปแล้ว จึงกะที่ทางจะสร้างเมืองพระตะบองใหม่ แล้วเกณฑ์เลขเขมรหัวเมืองขึ้นให้ทำอิฐเผาปูนตระเตรียมไว้
 ลุจุลศักราช ๑๑๙๙ ปีระกานพศก (พ.ศ.๒๓๘๐) เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกกองทัพออกจากเมืองพระตะบอง เดินทัพขึ้นไปเมืองขุขันบุรี ตั้งพักกองทัพอยู่ที่นั้นแล้ว จึงแต่งให้ข้าหลวงหลายนายแยกย้ายกันไป ทำบัญชีไพร่พลเมืองที่ฉกรรจ์ตามหัวเมืองที่โปรดให้ชำระนั้น ให้ได้จำนวนชายฉกรรจ์ไว้ให้แน่นอน ฝ่ายพระยามหาอำมาตย์และพระพิเรนทรเทพก็ได้แต่งให้ข้าหลวงไปทำบัญชีพลเมืองในหน้าที่ของพระยามหาอำมาตย์และพระพิเรนทรเทพทุกแห่ง
ครั้งนั้นทั้งสามกองได้ทำบัญชีไพร่พลเมืองได้คนฉกรรจ์ถึงสิบหมื่น (คือแสนคน) แล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็กลับมาเมืองพระตะบอง ทำการป้อมกำแพงสร้างเมืองใหม่ โดยยาวตามลำแม่น้ำใหญ่นั้น ยาวสิบสามเส้น ด้านสกัดขึ้นไปบนบกกว้างสิบหกเส้น ก่อป้อมตามกำแพงเมืองหกป้อม มีประตูหอรบรอบกำแพง ขุดคูเป็นคลองใหญ่ด้านสกัดทั้งสอง และด้านหลังเมืองเป็นเขตขัณฑ์ มีโรงปืนและฉางข้าว สระน้ำ ศาลาเสร็จ
 ครั้น ณ วันศุกร์เดือนสิบสองแรมห้าค่ำปีระกานพศก พระยาณรงค์วิชัย ๑ พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระยาศาสตราฤทธิรงค์ ๑ พระศรีภวังค์ ๑ พระภักดีบริรักษ์ ๑ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ๑ หลวงศรีเสนา ๑ หลวงพิชัยเสนา ๑ รวมข้าหลวงในกรุงแปดนาย กับนักองอิ่ม ๑ พระยาจำนงค์ภักดีศรีสวรรคโลกาธิบดีเขมร ผู้ช่วยเมืองพระตะบอง ๑ พระยาปลัดเมืองพระตะบอง ๑ พระยายกกระบัตรเมืองพระตะบอง ๑ พระสุรเดชาแม่กองช้างเมืองพระตะบอง ๑ พระเทพาวุธแม่กองทหารรักษาเมืองพระตะบอง ๑ รวมนายทัพเมืองพระตะบองหกนายเป็น ๑๒ นาย ทั้งข้าหลวงเข้าชื่อกันมีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯว่า
“นักองด้วง ๑ พระพิทักษ์บดินทร์ ๑ พระนรินทร์โยธา ๑ พระมหาดไทย ๑ พระพล ๑ ร่วมคิดกันจะประทุษร้ายแก่เมืองพระตะบอง นักองด้วงใช้ให้อ้ายโพกเขมรคนสนิทไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมชาวบ้านชาวเมืองพระตะบองให้มาเข้าด้วยนักองด้วง นักองด้วงจะกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองเขมรหนีไปเมืองพนมเปญ ข้าหลวงจะคิดจับอ้ายโพกมาชำระไต่ถามให้ได้ความจริง อ้ายโพกก็ไม่อยู่ที่เมืองพระตะบอง เพราะนักองด้วงใช้ให้อ้ายโพกไปเมืองระสือ”
แล้วพระยาปลัดเมืองพระตะบองแจ้งความว่า “ได้สืบรู้ว่านักองด้วงตระเตรียมได้ไพร่พลพร้อมแล้วจึงจะลงมือทำการจลาจลแก่บ้านเมือง ณ วันพฤหัสบดีเดือนสิบสองแรมสี่ค่ำ”.........
 ** พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ ยังมิเลิกละพระทัยที่จะยกทัพไปตีเมืองญวนให้จงได้ มีพระราชดำรัสให้เตรียมเรือ “วิทยาคม” ที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ช่วง บุนนาค) ต่อใหม่ ไว้ยกไปรบญวน จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้สำรวจชายฉกรรจ์ในหัวเมืองลาวเขมรป่าดงขึ้นบัญชีไว้ถึงหนึ่งแสนคน และโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างเมืองพระตะบองใหม่ สร้างเมืองแล้วเสร็จมิทันไร ก็มีใบบอกร้องเรียนว่า นักองด้วงเตรียมการเป็นขบถ จะกวาดต้อนครัวเขมรไปพนมเปญ เรื่องยุ่งในเขมรเริ่มมีเค้าขึ้นแล้ว ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, Thammada, ลิตเติลเกิร์ล, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
 รูปหล่อของนักองค์ด้วง - อานามสยามยุทธ ๑๑๗ -
นักองด้วงสารภาพรับเรื่องถ้วน ว่าถูกชวนเป็นเจ้าคราวญวนถอย ฟ้าทละหะปวงพระยาตั้งตาคอย วันปลดปล่อยอำนาจพ้นทาสญวน
เชื่อคำชวนญวนบอกหลอกเขมร จึงคิดเข่นฆ่าพี่มิสอบสวน ครั้นถูกจับรับผิดจำติดตรวน ดีไม่ด่วนถูกฆ่าชีวาวาย
|
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา พระยามหาอำมาตย์ พระพิเรนทร์เทพ ออกไปทำบัญชีชายฉกรรจ์ในหัวเมืองลาวและเขมรป่าดง ได้ตัวเลขชายฉกรรจ์ทั้งหมดหนึ่งแสน เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกเข้ามาจากเมืองพระตะบอง ทูลขอพระราชานุญาตสร้างเมืองพระตะบองใหม่ เพราะค่ายเก่าชำรุดทรุดโทรมผุพัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราอนุญาตให้สร้างเมืองใหม่ได้ ในปีนี้มีใบบอกเข้ามาว่านักองด้วงกำลังเกลี้ยกล่อมชาวเมืองพระตะบอง จะพาไปอยู่เมืองพนมเปญ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร วันนี้มาอ่านต่อครับ
ฝ่ายพวกข้าหลวงในกรุงหกนาย กับพระยาเขมรเมืองพระตะบองหกคน พร้อมกันใช้หลวงมหิศรแผลงเขมรให้ไปเชิญนักองด้วง กับพระพิทักษ์นรินทร์เขมร ๑ พระนรินทร์โยธาเขมร ๑ พระมหาดไทยเขมร ๑ พระพลเขมร ๑ ทั้งห้าคนมาไต่ถาม คนทั้งห้าให้การต้องกันว่า
“นักองด้วงได้เป็นต้นคิดร่วมใจกันกับพระพิทักษ์บดินทร์ พระนรินทร์โยธา พระมหาดไทย พระพล และพระยาพระเขมรกรมการอื่นอีกหลายนายที่ในเมืองพระตะบองแทบจะทั้งเมือง เว้นเสียแต่พวกพระยาพระเขมรของนักองอิ่มเท่านั้น ไม่ได้ชักชวนเข้าร่วมคิด ด้วยกลัวเนื้อความจะแพร่หลายไป เมื่อนักองด้วงคิดจะลงมือทำร้ายฆ่านักองอิ่มพี่ชายก่อน แล้วจึงจะจับพระยาพระเขมรพวกพ้องนักองอิ่มฆ่าเสียด้วย แล้วนักองด้วงจะกวาดต้อนไพร่พลเขมรไปเมืองพนมเปญ ซึ่งคิดจะฆ่านักองอิ่มพี่ชายนั้น เพราะนักองด้วงโกรธนักองอิ่มพี่ชายว่า นักองอิ่มไปนับถือเชื่อถ้อยฟังคำพระยาปลัดแก้ว ซึ่งเป็นผู้อื่นหาใช่ญาติไม่ ส่วนนักองด้วงผู้น้องนั้นหาเชื่อถ้อยฟังคำไม่ เมื่อจะยกไปทำร้ายแก่นักองอิ่มนั้น ถ้าพวกข้าหลวงไทยไปช่วยแก้ไขนักองอิ่มแล้ว นักองด้วงจึงจะคิดต่อสู้พวกข้าหลวงบ้าง พอเป็นการกันตัวรอดจะได้หนีไปได้ ถ้าหลวงไทยไม่ช่วยนักองอิ่มแล้ว นักองด้วงก็ไม่คิดจะทำร้ายพวกไทย”
นักองอิ่มกับพวกข้าหลวงไทยจึงสั่งให้ผู้คุมคุมตัวนักองด้วง พระพิทักษ์บดินทร์ พระนรินทร์โยธา พระมหาดไทย พระพล ห้าคนนี้ไปจำตรวนขังไว้ก่อน
ครั้น ณ วันพุธ เดือนสิบสอง แรมสามค่ำ พระยามโนไมตรีเจ้าเมืองระสือยกกองทัพเขมรเข้ามาใกล้เมืองพระตะบอง ข้าหลวงไทยได้ทราบว่าพระยามโนไมตรียกเข้ามา หาได้มีหนังสือบอกล่วงหน้าเข้ามาก่อนไม่ ผิดด้วยอัยการศึก จึงใช้ให้หลวงวาสุเทพกับสนองโสคุมเขมรและไทย ๒๐๐ คน ไปหาตัวพระยามโนไมตรีเข้ามาในเมืองพระตะบอง พระยาณรงค์วิชัยมีกระทู้ถามพระยามโนไมตรีว่า
“ได้มีตราบังคับสั่งไปให้พระยามโนไมตรีคุมกองทัพอยู่รักษาด่านทางที่เมืองระสือ แล้วทิ้งหน้าที่เข้ามาด้วยเหตุใด? เมื่อเข้ามาหาได้บอกล่วงหน้าเข้ามาให้รู้ก่อนไม่ ผิดด้วยอัยการศึกดังนี้จะว่ากระไร?”
พระยามโนไตรีให้การสารภาพรับว่า “นักองด้วงใช้ให้อ้ายโพกถือหนังสือไปว่า ให้ยกเข้ามาเมืองพระตะบองโดยเร็ว นักองด้วงจะคิดหนีไปเมืองพนมเปญ เพราะฉะนั้นจึงได้ยกเข้ามาตามคำนักองด้วงสั่ง”
พระยาณรงค์วิชัยถามนักองด้วง สอบกับคำให้การพระยามโนไมตรี นักองด้วงรับสารภาพว่า “ได้มีหนังสือนัดให้พระยามโนไมตรีเข้ามาจริง แต่ที่จะได้คิดประทุษร้ายฆ่าฟันกองทัพไทยนั้นหามิได้ เป็นความสัตย์จริง”
พระยาณรงค์วิชัย พระยาบำเรอบริรักษ์ พ ระยาสาสตราฤทธิรงค์ นักองอิ่ม สั่งให้ผู้คุมนำตัวพระยามโนไมตรีเขมรไปจำตรวนขังไว้ แล้วสั่งพระสุนทรานุรักษ์ราษฎร์บำรุงปลัดเมืองระสือให้คุมกองทัพเขมรกลับไปรักษาด่านทางอย่างเดิม (เดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ปกเกล้าปกกระหม่อมนายทัพนายกองอยู่มาก จึงเผอิญให้พวกไทยรู้ความลับของเขมรเสียก่อน แล้วจึงได้คิดการระงับลงได้ง่าย ถ้าไม่รู้ความความก่อนแล้วที่ไหนคงจะเกิดการรบพุ่งฆ่าฟันกันใหญ่โตยืดยาวไปอย่างไรก็ไม่รู้แน่ได้)
นักองอิ่มคิดด้วยข้าหลวงว่า “ครั้นจะชำระที่เมืองพระตะบอง ก็เกรงเนื้อความจะเอิกเกริกฟุ้งเฟื่องไปถึงญวนข้าศึก หาสู้ดีไม่” จึงได้ให้พระวิชิตภักดี หลวงวิชิตราชา หลวงวาสุเทพ ข้าหลวงกับพระยามหาธิราช พระเมือง หลวงอินทรเสนา เขมร ๓ นาย รวม๖ คน คุมไพร่เขมรร้อยหนึ่ง ไทยห้าสิบ คุมตัวนักองด้วง ๑ พระพิทักษ์บดินทร์ ๑ พระนรินทร์โยธา ๑ พระมหาดไทย ๑ พระพล ๑ หลวงพลหลานพระพิทักษ์บดินทร์ ๑ หลวงอนุรักษ์มนตรีบุตรพระบดินทร์ ๑ หลวงราชเสน่หาบุตรพระพิทักษ์ ๑ หลวงปราบพลพ่ายบุตรพระมหาดไทย ๑ รวมเก้าคน ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพฯ
เจ้าพนักงานนำใบบอกข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ ณ เมืองพระตะบอง ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาเทพ (ชื่อปาน) เป็นตุลาการถามนักองด้วง นักองด้วงให้การว่า
“เมื่อญวนกวาดต้อนพาครอบครัวเขมรกับเจ้าผู้หญิงเขมรลงไปไว้ ณ เมืองไซ่ง่อนนั้น พวกพระยาเขมรไม่มีเจ้านายเป็นที่เคารพ จึงได้ระส่ำระสายแตกตื่นไปต่าง ๆ เขมรไม่สมัครเป็นข้าญวน ฝ่ายฟ้าทละหะเสนาบดีใหญ่ฝ่ายเขมรจึงได้ใช้ให้คนสนิท (ชื่อตั้งคาสุก) คนหนึ่ง กับไพร่สองคน หนีญวนเล็ดลอดมาถึงเมืองพระตะบอง แจ้งความกับนักองด้วงว่า ฟ้าทละหะได้ข่าวว่าองเตียนกุนแม่ทัพญวน ซึ่งมาสำเร็จราชการอยู่ที่เมืองพนมเปญนั้น มีหนังสือมาถึงนักองอิ่มให้หนีไทยลงไปหาญวนที่เมืองพนมเปญโดยเร็วเถิด องเตียนกุนจะจัดแจงแต่งตั้งนักองอิ่มเป็นเจ้าแผนดินเขมร จะยกแผ่นดินเขมรให้ แล้วองเตียนกุนก็จะกลับไปกรุงเว้ แต่ฟ้าทละหะไม่เต็มใจให้นักองอิ่มเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา ถ้านักองด้วงจะรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรแน่แล้ว ฟ้าทละหะจะเป็นผู้ช่วยคิดราชการให้นักองด้วงได้แผ่นดินในคราวนี้
 นักองด้วงจึงตอบไปว่า บ้านเมืองเป็นของปู่และบิดารักษาสร้างสมต่อ ๆ มา ก็อยากจะได้สืบเชื้อสายวงศ์ต่อไป แต่กลัวญวนจะไม่ยอมให้จริง ๆ ดอกกระมัง ภายหลังฟ้าทละหะให้เขมรคนใช้อันสนิท (ชื่อตั้งคาสุก) กลับมาแจ้งความแก่นักองด้วงว่า พระยาพระเขมรทั้งปวงมีความยินดีพร้อมใจกันเป็นอันมากแล้ว ที่จะให้นักองด้วงเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร ถ้าว่านักองด้วงคิดการหนีไทยลงไปถึงเมืองงพนมเปญเมื่อใดแล้ว พระยาพระเขมรจะกลับใจออกห่างจากญวน จะจัดกองทัพใหญ่มาช่วยป้องกันรักษาครอบครัวนักองด้วงและจัดการสู้รบต่อญวน ให้ญวนพ่ายแพ้ไปจนสิ้นทุกตำบลให้จงได้ เมื่อจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยราบคาบสมดังที่คิดนั้นแล้ว จะให้นักองด้วงเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา แล้วก็จะแต่งขุนนางเขมรผู้ใหญ่ให้คุมสิ่งของบรรณาการเข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ตามเคยมาแต่ก่อน เพราะเหตุการณ์เป็นดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านักองด้วงจึงได้คิดการที่จะหนีไปนั้น พระราชอาชญาไม่พ้นเกล้าฯ”
พระยามหาเทพนำคำให้การนักองด้วงขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชดำรัสสั่งพระยามหาเทพให้พาตัวนักองด้วงกับพรรคพวกที่ร่วมคิดด้วยนักองด้วงนั้น ไปจำตรวนไว้ที่ทิมตำรวจ ครั้นภายหลังครั้งเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปราชการ ณ เมืองพระตะบองนั้น ฝ่ายพระยาศรีสหเทพ (ชื่อเพ็ง) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
“นักองด้วงผู้มีความผิดต้องรับพระราชอาชญาจำอยู่ในทิมตะรางอย่างไพร่ ๆ ได้ความลำบากมากนัก คิดด้วยเกล้าฯ ว่านักองด้วงจะมีความโทมนัสตรอมใจตาย ราชการทัพศึกที่เมืองเขมรและญวนก็ยังมีเกี่ยวข้องกันอยู่มาก หากว่านักองด้วงตายเสียในกรุงนี้ ก็จะสิ้นเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเขมรเสียหมด พระยาพระเขมรที่มาสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ก็จะพากันไปเข้าด้วยญวนเสียสิ้น กำลังทัพญวนก็จะมากขึ้น จะขอรับพระราชทานให้นักองด้วงพ้นจากเวนจำแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับตัวนักองด้วงไปคุมไว้ที่บ้านข้าพระพุทธเจ้า”
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนักองด้วงให้แก่พระยาศรีสหเทพไปคุมไว้ที่บ้านพระยาศรีสหเทพ พระยาศรีสหเทพให้นักองด้วงอยู่ที่เรือนขุนจำนงค์อักษร (กลิ่น) ขุนจำนงอักษรเป็นผู้คุมนักองด้วง จึงส่งกับข้าวของกินเลี้ยงนักองด้วงเป็นอนาทร.....”
** ข้อความจากคำรับสารภาพให้การจากนักองด้วง ดูรูปการแล้วน่าเป็นอุบายขององเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวนที่ปกครองเขมรอยู่นั้น วางแผนให้เจ้าเขมรพี่น้องแตกแยกกัน นักองด้วงเชื่อฟ้าทละหะที่ถูกญวนปั่นหัวใช้เป็นเครื่องมือเป็นแน่ นักองด้วงเจ้าเขมรองนี้ยังมีความสำคัญต่อไทย-เขมรอยู่มาก ติดตามอ่านเรื่องราวของท่านต่อไปนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, Thammada, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, ก้าง ปลาทู, กร กรวิชญ์, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๘ -
ให้ขุดคลองยาวกว้างทางไม่แคบ เรียก“แสนแสบ”เชื่อมโยงจำนงหมาย กรุงเทพฯฉะเชิงเทรายาวต้นปลาย มีนิยายหลากเรื่องเล่าสู่กัน
ศึกสงครามยามนี้ไม่มีรบ แม้สงบแต่ว่าน่าหวาดหวั่น ญวนยุแย่ยั่วเขมรไม่เว้นวัน จะโรมรันเมื่อไรยังไม่รู้ |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... นักองด้วงรับสารภาพว่าคิดจะฆ่านักองอิ่มแล้วกวาดต้อนครัวไปพนมเปญจริง จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งนำตัวไปจำตรวนไว้ที่ทิมตำรวจ ต่อมาพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานให้นักองด้วงพ้นจากเวนจำ แล้วขอนำไปควบคุมตัวไว้ที่บ้านตนเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตามที่ขอ วันนี้มาอ่านกันต่อไปครับ.....
 ครั้นถึง ณ เดือนยี่ขึ้นสี่คำ ในปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๑๙๙ ปี เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ชื่อทัด) เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่ตำบลหัวหมาก ต่อคลองบางกะปิไปทางตะวันออก ทะลุที่บางกะหนากฝั่งแม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา รางวัดทางยาว ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา ราคาค่าจ้างขุดเส้นละเจ็ดสิบบาท รวมเงินทั้งค่าฟันตอไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงข้างปลาย รวมเป็นเงินพันสองร้อยหกชั่งสิบสามตำลึงสองบาทสลึงเฟื้อง ขุดอยู่ถึง ๔ ปีเศษจึงสำเร็จแล้วตลอด เป็นลำคลองเรือเดินได้เมื่อปลายปีชวดโทศกจุลศักราช ๑๒๐๒ ปี เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ชนสามัญเรียกว่า “คลองแสนแสบ”
ครั้น ณ เดือนสี่ปลายปีระกานพศกศักราช ๑๑๙๔ ปีนั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งทำการเมืองพระตะบองอยู่ จึงมีใบบอกให้ขุนอุดมสมบัติถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “ได้ทำการสร้างเมืองพระตะบองนั้น ได้ขุดคูรอบเมือง ถมดินเป็นเชิงเทิน ก่อกำแพงตั้งป้อม มีประตูหอรบครบตามแบบอย่างนั้นแล้ว กับได้ทำทุ่นต้นโกลนแล่นสายโซ่สำหรับขึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไว้ที่หน้าป้อมหน้าเมืองแห่งหนึ่ง และทำศาลเจ้าหลักเมืองปลูกไว้ที่ตรงหลักโกลน ปลูกฉางข้าวใหญ่และก่อตึกดินดำหลังหนึ่ง แล้วทำวังให้นักองอิ่มอยู่ ก่อกำแพงรอบตำหนักและทำที่พักของข้าหลวงว่าราชการในเมือง เป็นศาลาดินใหญ่หลังหนึ่ง ครั้น ณ เดือนสี่ขึ้นเก้าค่ำ ได้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ตามไสยสาสตราคมทุกประการ แล้วจึงฝังอาถรรพณ์หลักเมืองเชิญบัตรแผ่นทองคำและศิลาลงสู่ภูมิภาค อัญเชิญเทพยดามาสถิตหลักเมือง แล้วมีการสมโภชเวียนเทียนตามตำราจดหมายท้องตราซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานอกไปนั้นทุกประการแล้ว
อนึ่งซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระความเรื่องนักองด้วงและพระยาพระเขมรผู้ร่วมคิดที่ส่งออกมาสี่นายนั้น คือ พระพิทักษ์บดินทร์ ๑ พระนรินทร์โยธา ๑ พระมหาดไทย ๑ พระพล ๑ ทั้งสี่นายนี้คบคิดกันกับนักองด้วงจะหนีไปนั้น ได้นำตัวพระยาพระเขมรนายทัพนายกองมาสืบถามได้ความว่า นักองด้วงเป็นต้นคิดใช้ให้อ้ายโพกไปเที่ยวชักชวนพระยาพระเขมรและพระยามโนไมตรีเจ้าเมืองระสือ ชำระได้ความจริงว่า อ้ายโพกเป็นผู้ก่อความก่อเหตุให้เอิกเกริกขึ้น ควรจะทำโทษอ้ายโพกตามกฎหมายให้จงหนัก เพราะอ้ายโพกเป็นกรณีเหตุ กับได้ชำระพระพิทักษ์บดินทร์ พระนรินทร์โยธา พระมหาดไทย พระพล ได้ความชัดว่า คนทั้งสี่นี้เป็นผู้ประจบประแจงพลอยตื่นเข้าฝากตัวกับนักองด้วงนั้น คนทั้งสี่นี้ก็ตกอยู่ในระหว่างผู้ผิดคิดมิชอบ มีโทษตามปลายเหตุ โทษคนทั้งสี่นั้นจะควรประการใด ก็แล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”
 ครั้น ณ เดือนห้าขึ้นห้าค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ เจ้าพนักงานนำใบบอกเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสหเทพมีท้องตราตอบออกไปใจความว่า
“ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้มีความอุตสาหะ สร้างเมืองพระตะบองพร้อมด้วยค่ายคูประตูหอรบป้อมกำแพง การเมืองพระตะบองทั้งสิ้นแล้วเสร็จในปีเดียวนั้น ก็เป็นพระเกียรติยศแก่แผ่นดิน และเกียรติยศแก่เจ้าพระยาบดิทรเดชาด้วย สืบไปภายหน้าจนสิ้นกาลนานชั่วฟ้าและดิน และทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ชำระความพระพิทักษ์บดินทร์ พระนรินทร์โยธา พระมหาดไทย พระพล ได้ความว่าพระยาพระเขมรทั้งสี่คนนี้เป็นแต่ประจบประแจงฝากตัวนักองด้วงนั้น คนทั้งสี่นี้ก็มีความผิดอยู่บ้าง ควรจะลงโทษตามควรแต่พอให้เข็ดหลาบตามกฎหมาย ครั้นจะลงโทษคนทั้งสี่เหล่านั้นเล่า ก็เห็นว่าเป็นบุตรหลานของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมร ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมแผ่นดินต้นพระพุทธเจ้าหลวง (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ด้วยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เขมรมีความชอบต่อราชการแผ่นดินมามาก เพราะฉะนั้นจึงให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาภาคทัณฑ์คาดโทษคนทั้งสี่ไว้ครั้งหนึ่งก่อน แล้วให้ถอดจำออกให้รับราชการแก้ตัวต่อไป แต่นักองด้วงต้นเหตุนั้น ยังปล่อยออกไปไม่ได้ ต้องคุมตัวไว้ในกรุงเทพฯ ก่อน ให้นักองอิ่มว่าราชการบ้านเมืองเขมรไปพลาง กว่าจะจัดราชการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงจะได้อภิเษกนักองอิ่มให้เป็นเจ้ากรุงกัมพูชา สืบราชประเพณีต่อไปตามโบราณ
อนึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการบ้านเมืองเขมรเรียบร้อยแล้ว ถ้าทัพศึกญวนไม่มี เห็นว่าเขมรสงบอยู่แล้ว ก็ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งพระยา พระ หลวงฝ่ายไทยอยูกำกับพระยาพระเขมรทุกบ้านทุกเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามาเฝ้าพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครสักครั้งหนึ่งก่อน จะได้กราบบังคมทูลชี้แจงข้อราชการบ้านเมืองเขมรต่อไป”
โปรดเกล้าฯ ให้หลวงศรีพิทักษ์เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราออกไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบข้อราชการตามท้องตราแล้ว ก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือนหก ขึ้นหนึ่งค่ำ ทันช่วยในการพระเมรุท้องสนามหลวง พระบรมศพกรมสมเด็จระศรีสุลาลัยพระราชชนนีพระเจ้าอยู่หัว........”
 ** เป็นความรู้มาย้ำให้จำกันว่า “คลองแสนแสบ” นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลในแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา (ทัด) เป็นแม่กองทำการขุดขึ้นเมื่อปีจุลศักราช ๑๑๙๙ ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๓๘๐ โดยจ้างคนชาวจีนทำการขุด เริ่มต้นตั้งแต่ หัวหมาก ต่อคลองบางกะปิออกไปทางทิศตะวันออก ทะลุไปถึงบางกะหนาก (ขนาก) แม่น้ำเมืองฉะเชิงเทรา ระยะทางยาว ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก ใช้เวลาขุดอยู่นานถึง ๔ ปีเศษ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา เมื่อสร้างเมืองพระตะบองเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราหาตัวกลับเข้ากรุงเทพฯก่อน ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, Thammada, ข้าวหอม, กร กรวิชญ์, ก้าง ปลาทู, ลมหนาว ในสายหมอก, ปิ่นมุก, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๑๙ -
ทรงดำริเสริมสร้างสิ่งยังขาด เมืองเสียมราฐไร้กำแพงโล่งแจ้งอยู่ โปรดให้สร้างกำแพงป้อมพร้อมคลองคู กันศัตรูจู่โถมเข้าโจมตี
นักองอิ่มน้อยใจไทยไม่ตั้ง เป็นเจ้าดังฝันหวานทุกวันวี่ จึงแปรภักดิ์จากไทยไปทันที ยอมเป็น“ขี้ข้าญวน”อย่างส่วนเกิน |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทำการขุดคลองซึ่งชาวบ้านชาวเมืองเรียกกันว่า “คลองแสนแสบ” เริ่มจากหัวหมากทะลุถึงบางขนากเมืองฉะเชิงเทรา เจ้าพระยาบดินเดชาก็สร้างเมืองพระตะบองเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีท้องตราหาตัวให้กลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลข้อราชการเมืองเขมรต่อ วันนี้มาอ่านความกันต่อครับ.....
 ครั้น ณ เดือนเก้าในปีจอสัมฤทธิศกนั้น ทรงพระราชดำริว่า “เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับเข้ามากรุงเทพฯ แล้ว ราชการข้างเมืองเขมรก็มีแต่นายทัพนายกองผู้น้อย หามีผู้ใหญ่อยู่รักษาราชการบ้านเมืองไม่ จะไว้ใจแก่ราชการมิได้” จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (ชื่อโต) ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมนั้น เป็นแม่ทัพออกไปฟังราชการ ขัดตาทัพอยู่ ณ เมืองเขมรไปพลางก่อน แต่เมืองนครเสียมราฐนั้นยังมิได้มีป้อมกำแพงเป็นที่ป้องกันข้าศึกเหมือนเมืองพระตะบองไม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่กองทำเมืองนครเสียมราฐด้วย โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลไทยในกรุง ๑,๘๐๐ คน ให้เกณฑ์ไพร่พลรามัญเมืองปทุมธานี เมืองนนทบุรี เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสาครบุรี รวมรามัญ ๑,๐๘๓ คน รวมไทยมอญ ๒,๘๘๓ คน และให้เกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองฝ่ายทางตะวันออกอีก ๗,๑๑๗ คน รวมไพร่พลทั้งไทย มอญ ลาวในกรุง และหัวเมืองเป็นคน ๑๐,๐๐๐ ให้พระยาราชสุภาวดีกราบถวายบังคมลา ยกออกจากกรุงเทพฯ แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ในปีจอสัมฤทธิศก ยกไปถึงเมืองนครเสียมราฐแล้ว ให้จับการทำอิฐเผาปูนแล้วลงมือทำป้อมก่อกำแพงเมืองนครเสียมราฐ ยาวตามลำแม่น้ำ ๑๒ เส้น ด้านสกัดขึ้นไปบนบกกว้าง ๑๐ เส้น ทำทุ่นโกลนขึงสายโซ่ข้ามลำแม่น้ำไว้ที่หน้าป้อมหน้าเมืองแห่งหนึ่ง ได้ลงมือก่อป้อมกำแพงแต่ ณ เดือนสี่ขึ้นเก้าค่ำปลายปีจอสัมฤทธิสกนั้นแล้ว
ครั้น ณ เดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ นั้น พระยาราชสุภาวดีมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
 “การที่ทำป้อมกำแพงเมืองนครเสียมราฐแล้วไปสามส่วน ยังไม่แล้วอีกส่วนหนึ่ง ต่อเดือนห้าข้างแรมหรือเดือนหกข้างขึ้นป้อมกำแพงเมืองนครเสียมราฐก็จะแล้วเสร็จ บัดนี้กำลังให้ขุดคูรอบกำแพงเมือง ขนมูลดินขึ้นถมเชิงเทินทั้งสี่ด้าน กับได้แต่งให้พระยาสีหราชเดโชเป็นแม่ทัพ คุมพลทหารอยู่รักษาเมืองนครเสียมราฐ ให้พระพรหมบริรักษ์กับพระอรรคเนศร และหลวงราชโยธาเทพ ข้าหลวงฝ่ายพระราชวังหลวง ๓ นาย กับพระอร่ามมณเฑียร ๑ พระกำจรใจราช ๑ หลวงเทพเสนี ๑ ข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๓ นาย รวมเป็นข้าหลวง ๖ นาย อยู่จัดการดูแลนายด่านนายงาน กำกับหัวเมืองทำการก่อป้อมกำแพงขุดคูต่อไป ให้สำเร็จแล้วในเดือนหกให้จงได้ แล้วพระยาราชสุภาวดีแต่งให้พระยารามกำแหง ๑ พระชาติสุเรนทร์ ๑ จมื่นอินทรเสนา ๑ หลวงศรีสิงหนาท ๑ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ๑ หลวงวิเศษธานี ๑ เป็นข้าหลวง ๖ นาย คุมไพร่พล ๕๐๐ ยกลงไปสืบราชการทัพญวน ได้ข่าวว่าทัพญวนก็สงบอยู่ จึงมีตราบังคับสั่งให้ข้าหลวงทั้ง ๖ นายตั้งขัดตาทัพรักษาด่านทางอยู่แล้ว พระยาราชสุภาวดีเห็นราชการทัพศึกญวนเขมรก็สงบเงียบอยู่แล้ว จะขอกลับเข้ามาเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการ ณ กรุงเทพฯ”
หลวงพิไชยเสนากับขุนวิสุทธิเสนี เชิญใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ครั้นการเมืองนครเสียมราฐร่วมมากแล้ว พระยาราชสุภาวดีก็ยกทัพกลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณ เดือนหกแรมสิบสี่ค่ำ ในปีจอสัมฤทธิศก
ฝ่ายข้างเมืองเขมรนั้น นักองอิ่มอยู่ที่เมืองพระตะบอง ได้ข่าวว่าญวนยกนักองแป้นเจ้าหญิงบุตรนักองจันทร์ ให้เป็นใหญ่ในเมืองพนมเปญ ให้ว่าราชการบ้านเมืองเขมรอยู่ แต่ขุนนางญวนกำกับช่วยว่าราชการ เพราะเป็นเจ้าผู้หญิง พระเจ้าเวียดนามมินมางมีรับสั่งมาให้พระยาเขมรที่เมืองพนมเปญแต่งตัวอย่างญวนเรียกว่า “ญวนใหม่” แล้วบังคับให้เขมรใช้กฎหมายฝ่ายญวน ฝ่ายพระยาพระเขมรและราษฎรเขมรไม่เต็มใจเป็นข้าญวน เพราะได้ความเดือดร้อนยิ่งหนัก พวกเขมรก็พากันระส่ำระสาย เกือบจะเป็นขบถขึ้นทุกบ้านทุกเมือง ฝ่ายแม่ทัพญวนก็รู้ระแคะระคายเข้าบ้างแล้ว ครั้นจะจัดการระงับก็ยังไม่มีเหตุขึ้น กลัวจะเกิดการจลาจลใหญ่โตไปก็จะระงับยาก เพราะฉะนั้นญวนจึงนิ่งคุมเชิงเขมรอยู่
 ครั้นนักองอิ่มทราบข่าวดังนั้นแล้วจึงคิดว่า ถ้านักองอิ่มได้หนีไทยลงไปหาญวน ญวนก็คงจะยกย่องตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรให้ปราบปรามพวกพระยาพระเขมรที่จะคิดการจลาจลแก่ญวน นักองอิ่มคิดดังนั้นแล้ว จึงมีหนังสือลับใช้ให้อ้ายถึกถือไปให้พระวิบุลราชเขมร นำลงไปให้องญวนแม่ทัพใหญ่ที่เมืองพนมเปญใจความว่า
“นักองอิ่มอยู่กับไทย ไทยก็ไม่ยกขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมรตามวงศ์ตระกูลเดิม บัดนี้นักองอิ่มสมัครลงไปทำราชการด้วยองญวนผู้ใหญ่แม่ทัพที่เมืองพนมเปญ ถ้าว่าองญวนผู้ใหญ่ยังเคลือบแคลงสงสัยไม่ไว้ใจแก่นักองอิ่ม นักองอิ่มจะจับพระยาปลัด พระยายกกระบัตรกรมการผู้ใหญ่เมืองพระตะบอง และครอบครัวเมืองพระตะบองลงไปให้องญวนเห็นความจริงที่สวามิภักดิ์ต่อองญวนโดยสัจธรรม”
ฝ่ายองญวนแม่ทัพจึงมีหนังสือตอบขึ้นมาถึงนักองอิ่มใจความว่า “ถ้านักองอิ่มจะหนีไทยลงไปหาญวน ญวนจะยกแผ่นดินเขมรให้นักองอิ่ม เป็นเจ้ากรุงกัมพูชาตามประเพณีโบราณ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีเจ้าชายฝ่ายเขมรจะปกครองแผ่นดินเขมร ญวนจึงได้ยกเจ้าหญิงให้ว่าราชการไปพลางก่อน”
 ครั้น ณ เดือนอ้ายแรมสามค่ำในปีกุน เอกศกเวลาย่ำรุ่งนั้น นักองอิ่มคุมไพร่พลเป็นอันมากถืออาวุธครบมือกัน แล้วก็พากันไปถึงบ้านพระยาปลัด แต่บานประตูยังปิดแน่นหนาอยู่ นักองอิ่มขึ้นม้าถือดาบสองมือ ยืนม้าอยู่ตรงประตูบ้านพระยาปลัด นักองอิ่มร้องเรียกคนเฝ้าประตูให้เปิดประตูรับ คนซึ่งเฝ้าประตูพระยาปลัดมองดูเห็นนักองอิ่มและพวกนักองอิ่มถือเครื่องศาสตราวุธมามากผิดปรกติ จึงไม่เปิดประตูรับ พวกนักองอิ่มจึงพาดพะองไม้ไผ่แล้วปีนรั้วขึ้นไปยิงด้วยปืน ถูกคนเฝ้าประตูตายคนหนึ่ง วิ่งหนีไปได้สองคน แล้วนักองอิ่มร้องสั่งว่าให้ยิงขึ้นไปบนเรือนพระยาปลัดสักสองสามนัด กระสุนปืนก็ไปถูกหญิงลูกอ่อนบนเรือนพระยาปลัดตายคนหนึ่ง ขณะนั้นทหารนักองอิ่มฟันบานประตูด้วยขวานทำลายลง แล้วพวกทหารก็กรูกันเข้าไปเต็มลานบ้านพระยาปลัด บ้างก็พากันล้อมเรือนพระยาปลัดอยู่โดยรอบ นักองอิ่มยิงปืนขานกยางขึ้นไปบนเรือน กระสุนปืนถูกฝากระดานเรือนทะลุเข้าไปถูกภรรยาน้อยพระยาปลัดตายสามคน ลำบากสองคน ฝ่ายพระยาปลัดจับดาบได้ วิ่งออกมาจะต่อสู้กับนักองอิ่ม ขณะนั้นภรรยาหลวงของพระยาปลัดวิ่งสวนออกมาห้ามสามีไว้ว่า “อย่าสู้เขาเลย พวกพ้องข้างเขามากนัก ถ้าขืนสู้รบเขาแล้วลูกเมียจะตายหมดทั้งเรือนเป็นแน่”.....
 ไทยคนใดไปเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เห็นเมือง กำแพงเมือง ทั้งคู ประตูหอรบที่ยังหลงเหลืออยู่ ขอได้รู้เถิดว่า นั่นเป็นฝีมือการก่อสร้างของไทยเมื่อสมัยรัชการแผ่นดินที่ ๓ กรุงเทพฯ เมืองพระตะบองอำนวยการสร้างโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา เสียมราฐ (เสียมเรียบ) อำนวยการสร้างโดยพระยาราชสุภาวดี (โต) และแล้วบรรยากาศอันสงบเงียบก็ถูกทำลายเสียโดยนักองอิ่มคิดอยากเป็นเจ้าแผ่นกัมพูชาโดยเร็ว จึงขอสวามิภักดิ์องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรขอพักไว้ก่อน ค่อยมาอ่านกันต่อนะครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ก้าง ปลาทู, ปิ่นมุก, กร กรวิชญ์, Thammada, ฟองเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, น้ำหนาว, ลมหนาว ในสายหมอก, ปลายฝน คนงาม, เฒ่าธุลี, Paper Flower
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: - อานามสยามยุทธ -
- อานามสยามยุทธ ๑๒๐ -
นักองอิ่มปล้นพระยาและพระหลวง ผูกเป็นพวงต้อนพาระหกระเหิน แลกตำแหน่งเจ้าแผ่นดินถิ่นจำเริญ เป็นการเดินทางเถื่อนเหมือนคนพาล
แม่ทัพใหญ่ไทยประจักษ์มิชักช้า ยกโยธาไปป้องคุ้มครองบ้าน แต่งกำลังตั้งสู้ผู้รุกราน ขุนทหารพร้อมเพรียงอยู่เรียงราย |
อภิปราย ขยายความ ..........................
ความในอานามสยามยุทธในเล่มที่ ๑ ที่ ๒ ว่าด้วยไทยรบกับลาวต่อด้วยรบกับญวน ที่ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) บันทึกลงสมุดไทยไว้ จากนี้ไปเป็นความในเล่มที่ ๓ ซึ่งเมื่อวันวานนี้ให้อ่านกันถึงตอนที่... มีพระราชดำริว่าเมืองเสียมราฐไม่มีกำแพงป้องกันข้าศึกศัตรู จึงรับสั่งให้พระยาราชสุภาวดี (โต) ยกกองกำลังไทยมอญลาวเขมรไปสร้างกำแพงป้อมคูประตูหอรบเมืองนครเสียมราฐ พระยาราชสุภาวดีอำนวยการสร้างกำแพงตามพระราชดำริเสร็จเรียบร้อยในปีเดียว แล้วยกทัพกลับเข้ากรุงเทพฯ ฝ่ายทางเมืองพระตะบองนั้นนักองอิ่มคิดอยากเป็นเจ้าแผ่นกัมพูชาโดยเร็ว จึงขอสวามิภักดิ์องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ญวน จะยืนยันความภักดีต่อญวนด้วยการจับตัวพระยาปลัดพระยายกกระบัตรเมืองพระตะบอง กวาดต้อนครัวลงไปเมืองพนมเปญ วันนี้มาอ่านเรื่องราวต่อครับ....
 “ฝ่ายนักองอิ่มจึงให้นายแก้วพี่ภรรยานักองอิ่ม ๑ กับอ้ายรามโยฝรั่งเข้ารีต ๑ ถือดาบสองมือนำหน้าทหารกรูกันขึ้นไปบนเรือนจับตัวพระยาปลัด ๑ กับภรรยาหลวง ๑ ภรรยาน้อย ๆ เจ็ดคนมัดมือมาคุมตัวไว้ แล้วเก็บทรัพย์สมบัติพระยาปลัดมาหมดเรือน และกวาดต้อนผู้คนบ่าวไพร่ชายหญิงมาคุมไว้ทั้งบ้าน แล้วก็แบ่งเป็นกอง ๆ แยกย้ายกันไปตีปล้นจับตัวพระยายกกระบัตร ๑ พระยานราธิวาส ๑ พระยาโกษา ๑ พระภักดีบริรักษ์ ๑ พระศาสตราธิบดี ๑ พระมหาพิมณฑ์สมบัติบดีพระคลัง ๑ พระบวรนายก ๑ หลวงอภัยภักดีบุตรพระยาปลัด ๑ หลวงภักดีชุมพล ๑ หลวงเพชรสงคราม ๑ หลวงเสน่หานายก ๑ หมื่นภักดีสมบัติ พระคลังปลัดฝรั่งเข้ารีต ๑ รวมพระยาพระเขมร ๑๓ คน นำตัวมาจำตรวนไว้ที่วังนักองอิ่ม นักองอิ่มสั่งให้ทหารเก็บริบพาสิ่งของทรัพย์สมบัติของพระยาพระเขมรทั้ง ๑๓ คนไปจนสิ้น แต่ทรัพย์สมบัติพระมหาพิมณฑ์ สมบัติพระคลังนั้น มีมากกว่าขุนนางเขมรทั้งปวงเพราะเป็นพ่อค้า แล้วนักองอิ่มแต่งให้พระยาพระเขมรนายทัพนายกองคุมไพร่พลแยกย้ายกันไปกวาดต้อนครอบครัวเขมรเมืองพระตะบองและเมืองระสือ ได้ครอบครัวทั้งสองเมืองประมาณหกพันเศษ ให้ต้อนครอบครัวไปทั้งทางบกและทางเรือ แล้วแต่งกองทัพพันหนึ่งให้อยู่รั้งหลังระวังกองทัพไทยพวกข้าหลวงเมืองพระตะบองจะตามมาข้างหลัง ให้ต่อสู้ให้เต็มมือ นักองอิ่มอพยพเทครัวออกจากเมืองพระตะบองในวันนั้นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ
 ครั้นนักองอิ่มต้อนครัวเดินไปถึงเมืองโปริสาด ขณะนั้นองอันภู่แม่ทัพญวนซึ่งตั้งทัพรักษาด่านอยู่ ณ เมืองโปริสาดนั้น องอันภู่จึงแต่งขุนนางญวนให้คุมครัวนักองอิ่มแยกย้ายครัวเขมรที่นักองอิ่มกวาดต้อนมานั้น แบ่งให้ไปอยู่เมืองขลุงบ้าง เมืองครองบ้าง เมืองตะครัวบ้าง เมืองลากบเอียบ้าง แต่ครอบครัวนักองอิ่ม และพระยาปลัด พระยายกกระบัตร พระยานราธิวาสพระยาโกษาธิบดี หลวงเสน่หานายกกับครอบครัวนักองอิ่มสามร้อยคนเศษด้วย องอันภู่สั่งให้องเดกโปคุมตัวนักองอิ่มและครัวนักองอิ่ม กับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ห้านายนี้ พาลงไปส่งให้องเตียนกุนแม่ทัพใหญ่ที่เมืองพนมเปญแต่ในคราวนั้น
 ครั้น ณ เดือนอ้ายแรมสิบสองค่ำ พวกข้าหลวงไทยกับกรมการเมืองพระตะบองที่หนีเข้าป่าหายไปครั้งนักองอิ่มนั้น จึงเหลืออยู่บ้าง ครั้นนักองอิ่มกวาดต้อนครัวไปแล้วก็กลับมาบ้านเมือง จึงมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
“นักองอิ่มคิดประทุษร้ายเป็นขบถยกทัพเข้าตีปล้นบ้านพระยาพระเขมร กวาดต้อนพาครอบครัวเมืองพระตะบองและเมืองระสือประมาณหกพันเศษ อพยพหนีไปหาญวนที่เมืองพนมเปญ”
 เจ้าพนักงานนำหนังสือบอกเมืองพระตะบองขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเร่งรีบยกกองทัพออกไปฟังราชการทางเมืองเขมรโดยเร็ว แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ทัพเพิ่มเติมออกไปอีกต่อภายหลัง ทั้งพระยา พระ หลวง ฝ่ายพระราชวังบวรฯ และหัวเมืองฝ่ายเหนือด้วย จะให้รีบยกตามออกไปเนือง ๆ กันให้ทันในเดือนสามให้เสร็จ เจ้าพระยาบดินทรเดชายกออกจากกรุงเทพฯ เร่งรีบเดินทัพไปถึงเมืองพระตะบองแล้ว ได้ตรวจดูผู้คนทั้งนายและไพร่ที่นักองอิ่มกวาดไปนั้น ประมาณดูมากน้อยเท่าใดแล้ว จึงมีใบบอกให้พระยาราชภักดีเขมร ๑ พระศรีบุรินทรานุรักษ์เขมร ๑ ถือเข้ามายังกรุงเทพฯ ใจความว่า
“ได้ตรวจดูไพร่พลแล้วทำบัญชีครอบครัวพลเมืองที่นักองอิ่มกวาดต้อนพาหนีไปนั้น พระยา ๔ คน พระ ๑๓ คน หลวง ๒๐ คน ขุนหมื่น ๑๓๑ คน กำนัล ๑๔ คน รวมแต่ตัวนายเขมร ๑๘๒ คน นับหลังคาเรือนพลเมืองพระตะบองได้เรือน ๕๑๓ หลัง เมืองระสือ ๓๑๖ หลัง รวมเรือนที่ครอบครัวไปกับนักองอิ่มทั้งสองเมืองเป็น ๘๒๙ เรือน จะเป็นสำมะโนครัวเขมรมากน้อยเท่าใดหาทราบไม่ เพราะบัญชีสำมะโนครัวสำหรับเมืองไม่มี เป็นแต่คาดคะเนดูไพร่พลที่ยังเหลือทั้งสองเมืองนั้นประมาณสามหมื่นเศษ ที่นักองอิ่มกวาดต้อนไปนั้นประมาณหมื่นเศษ แต่ตัวนายเขมรที่ยังเหลืออยู่นั้น พระยา ๑ คน พระ ๙ คน หลวง ๑๑ คน ขุนหมื่น ๙๘ คน รวมเข้ากัน ๑๑๙ คน อนึ่งเสบียงอาหารที่เมืองเขมรขัดสนหนัก ครั้นจะเกณฑ์กองทัพหัวเมืองมามากก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีข้าวจะจับจ่ายให้ไพร่พลรับพระราชทานหาพอไม่ ขอพระราชทานโปรดให้มีข้าหลวงใหญ่จัดกองลำเลียงขึ้นมาส่งจึงจะทำการได้ตลอด”
 อนึ่งเมื่อ ณ เดือนยี่ขึ้นสิบห้าค่ำในปีกุนนี้ หลวงรักษาเทพเจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ กับหลวงหัสนัยณรงค์ และนายฉลองนัยนาถมหาดเล็กหุ้มแพรฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นข้าหลวงสามนายคุมกองทัพเมืองขุขันบุรี ๑,๕๐๐ คน เมืองสุรินทร์ ๑,๐๐๐ คน เมืองสังขะ ๗๐๐ คน เมืองศรีษะเกศ ๑,๐๐๐ คน เมืองเดชอุดม ๘๐๐ คน รวมไพร่พลห้าเมืองเป็นคน ๕,๐๐๐ คน มาถึงเมืองพระตะบองแล้ว ได้แต่งให้พระพรหมบริรักษ์เจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑ พระรามณรงค์ ๑ หลวงไกรนารายณ์ ๑ กับพระยาปราจีนบุรี ๑ หลวงศุภมาตราเมืองกบินทร์บุรี ๑ ห้านายคุมทัพไปรักษาเมืองระสือ
ได้แต่งให้พระพิเรนทรเทพเจ้ากรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑ พระพรหมสุรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑ จมื่นสิทธิแสนยารักษ์ปลัดกรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรฯ หลวงราชเสวก ๑ หลวงสิทธิสงคราม ๑ เป็นห้านาย ให้คุมกองทัพไปรักษาค่ายกำพงปรัก ได้แต่งให้พระยาราชนิกูล ๑ พระยาอภัยสงครามเจ้ากรมเขนทองในพระราชวังบวรฯ ๑ จมื่นไชยภูษาปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังหลวง ๑ จมื่นศักดิบริบาลปลัดกรมพระตำรวจในฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑ หลวงมหิมาโยธีในพระราชวังบวรฯ ๑ เป็นห้านายให้คุมกองทัพไปรักษาเมืองนครเสียมราฐ
ได้แต่งให้หลวงคชลักษณ์ ๑ หลวงชาติเสนี ๑ หลวงพิฦกโยธา ๑ สามนายเป็นข้าหลวงกำกับพระยาราชวรนายกเขมร ๑ พระพลภักดีเขมร ๑ หลวงสุรเสนาเขมร ๑ เป็นนายทัพหกคน คุมไพร่พลไทยเขมรรวมกันลงเรือรบที่ต่อขึ้นใหม่ห้าลำ เรือรบเก่าสาม รวมแปดลำ ออกทะเลสาบใช้ใบและแจวไปลาดตระเวนตั้งแต่เมืองพัชโลงแขวงเมืองโปริสาด ห่างจากปากน้ำเมืองโปริสาดทางครึ่งวัน เจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง จัดการบ้านเมืองถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารข้าวปลาเกลือเข้าไว้ในยุ้งฉางเมืองพระตะบอง แล้วตระเตรียมการยุทธนาพร้อมสรรพ.......”
 นักองอิ่มทำการสำเร็จตามเจตนา พาครอบครัวไปสวามิภักดิ์องเตียนกุน ณ เมืองพนมเปญแล้ว ทางเมืองพระตะบองที่ยังมีผู้คนหลงเหลือจากการกวาดต้อนอยู่ไม่น้อย จึงมีใบบอกเข้าไปกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเร่งรีบยกทัพไปเมืองพระตะบองโดยด่วน พร้อมกับทรงจัดทัพส่งตามไปอีกเนือง ๆ เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งตั้งนายทัพนายกองเข้าคุมสถานการณ์ตามหัวเมืองช่องทางต่าง ๆ และเตรียมการทำศึกอย่างพร้อมสรรพ สงครามไทย-เขมรจึงเริ่มต้นขึ้นแล้ว ค่อยมาอ่านกันต่อครับ.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ขอขอบคุณเจ้าของภาพที่นำมาประกอบนี้ในเน็ต |
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|